รวมความพยายาม "ปรองดอง-สมานฉันท์" ของรัฐบาลไทยในวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถือป้ายระบุข้อเรียกร้องระหว่างเดินขบวนจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถือป้ายระบุข้อเรียกร้องระหว่างเดินขบวนจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ประธานรัฐสภาสั่งหากลไกคลี่คลายวิกฤตการเมืองท่ามกลางการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนท้องถนน โดยถือเป็นอีกครั้งที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์สร้างความปรองดองขึ้นมาหาทางออก หลังเคยเกิดกรรมการทำนองนี้มาแล้วหลายชุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

สถาบันพระปกเกล้านัดประชุมภายในวันนี้ (30 ต.ค.) หลังได้รับมอบหมายจากชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ให้วางโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศ ก่อนนำเสนอรูปแบบต่อนายชวนในวันที่ 2 พ.ย.

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎว่ามี ส.ส. และ ส.ว. หลายคนลุกขึ้นเสนอทางออกด้วยการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ซึ่งอาจใช้กลไกรัฐสภา หรือองค์กรภายนอก หรือเปิดเวทีพูดคุยกัน

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองฯ ชุด 2563 โดยบอกเพียงว่า "ต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้ง"

ขณะที่นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า บอกใบ้ว่ารูปแบบของคณะกรรมการปรองดองฯ จะคล้ายกับสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นภายหลังเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ความพยายามสร้างความปรองดองนี้นับเป็นครั้งล่าสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมืองปี 2548 ซึ่งรัฐบาลในอดีตต่างก็เคยใช้ไพ่ "ปรองดอง-สมานฉันท์" นี้มาแล้วในหลากหลายรูปแบบ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยที่ประสบความสำเร็จ

บีบีซีไทยพาไปย้อนดูความพยามปรองดอง-สมานฉันท์นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" เมื่อปี 2553

  • 2553: คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ภายหลังเหตุสลายการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้ง "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)" โดยเชิญนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด มาเป็นประธาน ภารกิจหลักของ คอป. นอกจากตรวจสอบรากเหง้าของสาเหตุความขัดแย้งรวมถึงเหตุการณ์รุนแรง ยังรวมถึงจัดทำข้อเสนอในการสร้างความปรองดองในระยะยาว

ตำรวจปราบจลาจลประจันหน้ากับคนเสื้อแดง เมื่อ 12 เม.ย. 2553

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ตำรวจปราบจลาจลประจันหน้ากับคนเสื้อแดง เมื่อ 12 เม.ย. 2553

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ คอป. ตลอดระยะเวลา 2 ปี (เดือน ก.ค. 2553 - 2555) กลับไม่ได้รับการยอมรับจากบางฝ่ายที่มองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อฟอกความผิดให้กับฝ่ายบริหารขณะนั้น โดยเฉพาะการสรุปข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมที่มีการระบุถึง "ชายชุดดำ" ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงหลาย ๆ เหตุการณ์ ทั้งนี้ คอป. ได้อ้างถึงข้อจำกัดในการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เนื่องจาก คอป. จัดตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น จึงทำได้เพียง "ขอความร่วมมือ" ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 บทบาทของ คอป. ก็ลดน้อยถอยลงกระทั่งไม่มีความสำคัญใด ๆ ก่อนจะพ้นวาระไป ทิ้งไว้เพียงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีความหนาถึง 276 หน้า

  • 2554: คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)

หลังชนะการเลือกตั้งได้เพียง 3 เดือนเศษ รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ออกระเบียบสำนักนายกฯ จัดตั้ง "คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)" ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แม้ภารกิจหลักของ ปคอป. คือการนำข้อเสนอของ คอป. ไปสานต่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปคอป. ผลักดันเพียงบางข้อเสนอเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2548-2553 โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุดถึง 7.75 ล้านบาท และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางไว้ถึง 2,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการดังกล่าว

ผลจากการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ถูกฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบ โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ทำโดยไม่มีอำนาจเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช. ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหากับ ครม.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรทั้งคณะ ไปเมื่อกลางปี 2558

  • 2554: คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง)

ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้ ปคอป. เป็นกลไกในการสร้างความปรองดอง สภาผู้แทนราษฎรที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก ก็มีการสร้างกลไกในการสร้างความปรองดอง โดยมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาชุดหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ" หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "กมธ.ปรองดอง"

ความพิเศษของ กมธ. วิสามัญชุดนี้ คือมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 มาเป็นประธาน และมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำงานวิจัยเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้นมา เพื่อประกอบการทำงาน แต่รายงานของ กมธ. ปรองดองที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนช่วงต้นปี 2555 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีข้อเสนอที่ไม่เพียงให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ยังเสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งในผู้จะได้รับผลโยชน์ก็คือ นายทักษิณ พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ขณะนั้น

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

เสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงทำให้สถาบันพระปกเกล้า ยื่นเงื่อนไขต่อ กมธ.ปรองดอง ไม่ให้นำงานวิจัยไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดความปรองดอง อย่างไรก็ตาม กมธ.ปรองดอง ก็ยังนำเนื้อหาบางส่วนไปใช้ในการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. .... หรือ "พ.ร.บ.ปรองดอง" ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งล่าสุด ที่ทำให้ คสช.เข้ามายึดอำนาจในปี 2557

  • 2555-2556: ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

หลังจาก กมธ.ปรองดอง นำโดย พล.อ.สนธิ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ให้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย กลางเดือน พ.ค. 2555 ก็มีผู้ยื่นร่าง พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงตามมา รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ (เป็น พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก 3 ฉบับ) ที่แม้ร่าง พ.ร.บ. แต่ละฉบับจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่หัวใจก็ยังเป็นการนิรโทษกรรม และส่วนใหญ่จะอ้างเหตุผลเรื่องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

แม้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสามารถชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองในระยะแรกได้ แต่พอถึงเดือน ส.ค. 2556 ที่ประชุมสภาฯ ที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมากก็หยิบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ซี่ง มีดีกรีการนิรโทษกรรมอ่อนที่สุดในบรรดาทั้ง 7 ฉบับ คือให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่รวมถึงแกนนำ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง โดยเฉพาะนายทักษิณ แต่ในการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กลับมีการเปลี่ยนใจความสำคัญ นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย จนสื่อมวลชนเรียกว่าเป็นฉบับ "เหมาเข่ง-สุดซอย"

ผลคือมีผู้ไม่พอใจร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง-สุดซอยนี้เป็นจำนวนมาก เริ่มจากแสดงออกในโลกออนไลน์ ต่อมาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์จัดการชุมนุมต่อต้านก็มีผู้ออกมาร่วมชุมนุม กระทั่งมีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปเป็นขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)"

แม้ต่อมาสภาฯ จะลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมทุกฉบับ กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา ก็ไม่อาจยุติวิกฤตครั้งนี้ได้ ที่สุด คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จึงเข้ายึดอำนาจการปกครอง ในวันที่ 22 พ.ค. 2557

  • ความพยายามปรองดองในยุค คสช.

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร มีความพยายามในการเสนอแนวทางการสร้างความปรองดองขึ้นมาหลายครั้ง แต่แทบทุกครั้งหากไม่ได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้ง ก็ถูกเบรกหรือคว่ำโดยผู้มีอำนาจเสียเอง

- คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน เสนอผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง 6 แนวทาง โดยกำหนดให้นิรโทษกรรมเฉพาะคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตหรือคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่หลังส่งรายงานให้กับรัฐบาลก็เงียบหาย

- กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน มีข้อเสนอแนวทางปรองดองต่อรัฐบาล 2 ระดับ แต่ข้อเสนอถูกคัดค้านจากฝ่ายการเมือง เพราะกำหนดเงื่อนไขรอการลงโทษว่าจะต้องรับผิดในชั้นศาล พร้อมวางกลไกไม่ให้กลับไปทำผิดซ้ำที่เข้มงวดมาก

- กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กำหนดให้มีกลไกพิเศษชื่อ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)" ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้ปฏิรูปประเทศต่อเนื่อง ระงับความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ รวมถึงสร้างความปรองดอง แต่ท้ายที่สุดก็ถูกที่ประชุม สปช. ลงมติคว่ำ

- ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.กอ.รมน.) รายงานว่ามีการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ 80,944 ครั้ง ทำกิจกรรมสร้างบรรยากาศปรองดอง 91,977 ครั้ง รวมไปถึงแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 7,927ครั้ง แต่หลายฝ่ายก็มองว่าผลที่ออกมาก็ยังไม่เป็นรูปธรรม

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • 2560: คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในขณะนั้นได้ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 เพื่อจัดตั้ง "คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง" (ป.ย.ป.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560

คณะกรรมการ ป.ย.ป. มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นรองประธาน ป.ย.ป. ประกอบด้วยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาทำภารกิจต่าง ๆ 4 คณะ ซึ่งคณะที่ทุกฝ่ายจับตามากที่สุด คือ "คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง" ซึ่ง พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

นอกจากนี้ยังมีการตั้งสำนักงาน ป.ย.ป. ขึ้นมาโดยมีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ป.ย.ป. ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งที่ประชุมได้รายงาน "ผลงานสำคัญ" ของสำนักงาน ป.ย.ป. ในช่วงที่ผ่านมา เช่น การปรับปรุงพัฒนากฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, การขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำ, บูรณาการข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้พิการ และการป้องกันและบรรเทาปัญหาฝุ่นควันนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่