งบ 2565 : รัฐบาลตั้งงบ 3.1 ล้านล้านบาท หั่นงบ 28 หน่วย ไม่เว้นกลาโหม-ส่วนราชการในพระองค์

นายกฯ ฟังผู้นำฝ่ายค้านในสภาอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ เมื่อปีก่อน

ที่มาของภาพ, Tha News Pix

คำบรรยายภาพ, นายกฯ ฟังผู้นำฝ่ายค้านในสภาอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ เมื่อปีก่อน
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม จะนำเสนอหลักการต่อที่ประชุมสภาในวันที่ 31 พ.ค. แล้วเปิดให้อภิปรายกัน 3 วัน รวมเวลา 47 ชม. 30 นาที โดยคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ตกลงกันว่าจะจัดสรรเวลาให้อภิปรายฝ่ายละ 22 ชม. ส่วนที่เหลืออีก 3 ชั่วโมงครึ่งเป็นเวลาของประธาน

ทว่ายังไม่ทันเปิดอภิปราย พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค ก็ออกมาแถลงเมื่อ 23 พ.ค. ว่า พท. เตรียมลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ ก็จัดเตรียม "ขุนพล" เปิดอภิปรายชี้ให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลในการจัดทำงบประมาณที่ "ไม่ตอบโจทย์ต่อความเดือดร้อนของประชาชน" ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นทุกปี ซี่งถ้านำไปรวมกับเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท (ปี 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้าน) ก็ทำให้ฐานะการคลังอยู่ในภาวะ "สุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยการเงินการคลัง"

รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งกรอบงบประมาณปี 2565 ไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.87% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากปีก่อน 185,962.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.66% ทั้งนี้รัฐบาลประมาณการรายได้ไว้ที่ 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.04% ของจีดีพี

การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 4-5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มกลับสู่ภาวะปกติภายใต้เงื่อนไขการคิดค้นวัคซีนสำเร็จและสามารถใช้แพร่หลายทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 มีแนวโน้ม "อยู่ในเกณฑ์ดี" คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.3% ของจีดีพี ตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว

ร้านค้าในตลาดกลาง กทม. ปิดตัวลงชั่วคราว เมื่อโควิดระบาดระลอกใหม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ร้านค้าในตลาดกลาง กทม. ปิดตัวลงชั่วคราว เมื่อโควิดระบาดระลอกใหม่

รัฐบาลตั้งงบกลางปี 2565 ไว้ที่ 571,047.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.4% ของงบประมาณรวมทั้งหมด โดยงบก้อนนี้มักถูกเปรียบเปรยว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" เนื่องจากมีเฉพาะ "หัวข้อ" กับ "วงเงิน" แต่ไม่ระบุรายละเอียดของโครงการ ทำให้สภาไม่มีโอกาสตรวจสอบและกลั่นกรอง

อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณหน้า รัฐบาลได้ตัดงบกลางในรายการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ออกไป หลังเคยขอตั้งงบนี้ครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อปีก่อน วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท

งบ
คำบรรยายภาพ, ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเปรียบเทียบกับงบประมาณย้อนหลัง 2 ปี (หน่วยเป็น ล้านบาท) ทั้งนี้ส่วนที่มีดอกจัน (*) คืองบในความดูแลของสำนักงบประมาณ ส่วนที่เหลือเป็นงบในความดูแลของกรมบัญชีกลาง

การจัดทำงบปี 2565 ของรัฐบาลยังอยู่ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลักอย่างเช่นทุกปี

งบปี 65 จำแนกตามยุทธศาสตร์. .  .

ส่วนงบที่ตั้งไว้ตามแผนงานบูรณาการ 11 แผนงาน ภายใต้งบประมาณรวม 208,177.3 ล้านบาท พบว่า รัฐบาลยังคงทุ่มงบไปกับการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์แบบทุกปีที่ผ่านมา ภายใต้วงเงินรวม 110,415.1 ล้านบาท รองลงมาคือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 63,251.6 ล้านบาท และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 12,275.4 ล้านบาท ปีนี้ยังเป็นอีกครั้งที่งบขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกปรับลดลง จนเหลือ 7,144.3 ล้านบาท

ตัดงบกลาโหมกว่าหมื่นล้าน

เมื่อภาพรวมของงบประมาณแผ่นดินปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ที่ 5.66% ทำให้การจัดสรรงบของหน่วยขอรับงบประมาณต่าง ๆ ถูกปรับลดลงถึง 28 รายการ ไม่เว้นกระทั่งส่วนราชการในพระองค์ที่ถูกปรับลดงบลง

กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบในสัดส่วนสูงสุดถึง 28.7% รองลงมาคือจังหวัดและกลุ่มจังหวัด งบลดลง 24.7% และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) งบหายไป 15.9%

ขณะที่กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบ "ทะลุแสนล้านบาท" ก็ยังคงเป็น 8 กระทรวงเดิม โดยมีกระทรวงศึกษาธิการรั้งตำแหน่งหน่วยงานที่ขอตั้งงบสูงสุด 332,398.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.7% ของงบทั้งหมด แม้ปีนี้จะถูกปรับลดงบลงจากปีก่อนถึง 24,051.1 ล้านบาท (ลดลง 6.7%) ก็ตาม

8 กระทรวงตั้งงบทะลุแสนล้าน. .  .

เช่นเดียวกับกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 203,282 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.6% ของงบทั้งหมด แต่ก็ถูกหั่นงบจากปีก่อนถึง 11,248.6 ล้านบาท (ลดลง 13.4%) โดยทุกเหล่าทัพปรับลดงบตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ หรือรู้จักในชื่อเรียกว่า "งบจัดหาอาวุธ" ลงหมด แต่ถึงกระนั้นงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งหมด

  • กองบัญชาการกองทัพไทย ขอตั้งงบบุคลากร 7,100.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 5,605.1 ล้านบาท (ลดลง 2,000.7 ล้านบาท)
  • กองทัพบก ขอตั้งงบบุคลากร 58,891.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 22,334.5 ล้านบาท (ลดลง 5,994.1 ล้านบาท)
  • กองทัพเรือ ขอตั้งงบบุคลากร 21,282.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 14,612.8 ล้านบาท (ลดลง 460.7 ล้านบาท)
  • กองทัพอากาศ ขอตั้งงบบุคลากร 13,457.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 366 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 19,615.6 ล้านบาท (ลดลง 1,145.5 ล้านบาท)
พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก วันส่งมอบตำแหน่งเมื่อปี 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก วันส่งมอบตำแหน่งเมื่อปี 2563

ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มมีเพียง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท ได้งบเพิ่มจากปีก่อน 5,273.6 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2%), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,664.8 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 2,323 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10.4%), กระทรวงพลังงาน 2,717.5 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 438.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19.2%) และหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 18.468.6 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 704.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4%)

ลดงบส่วนราชการในพระองค์ครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ขอตั้งงบประมาณ 8,761.4 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของงบภาพรวมทั้งประเทศ ลดลงจากปีก่อน 219.5 ล้านบาท โดยถือเป็นปีแรกที่มีการปรับลดงบของส่วนราชการในพระองค์ นับจากปรับรูปองค์กรและจัดระเบียบบริหารใหม่ด้วยการตรา พ.ร.บ. เฉพาะตัวเมื่อปี 2560

งบส่วนราชการในพระองค์ . .  .
งบปี 65 จำแนกตามหน่วยขอรับงบ. .  .