งบ 2566 : รวมไฮไลท์อภิปราย สภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท

TPchannel

ที่มาของภาพ, TPchannel

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติให้ความเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 258 ต่อ 180 งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ในวาระ 2 และลงมติในวาระ 3 เมื่อเวลา 22.40 น. ของคืนวันที่ 23 ส.ค. หลังจากพิจารณามาแล้ว 5 วัน ขั้นตอนต่อไปคือการส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาภายใน 20 วัน

ก่อนหน้านี้ หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ผ่านวาระแรก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ได้ตัดลดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 7,644 ล้านบาท และนำไปเพิ่มให้กับอีก 10 หน่วยงาน โดยหน่วยงานที่ปรับลดมากที่สุด 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่หน่วยงานที่ไม่มีการปรับลดงบประมาณ คือ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และส่วนราชการในพระองค์

หน่วยงานที่ถูกปรับลดมากที่สุด 5 อันดับ

1. กระทรวงกลาโหม ลดลง 2,778 ล้านบาท  (มาตรา 8) ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับการปรับลด 216 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (มาตรา 33) ลดลง 742 ล้านบาท ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไข ด้วยคะแนน 257 เสียง และมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 252 เสียง

3. กระทรวงศึกษาธิการ (มาตรา 34) ลดลง 737 ล้านบาท

4. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกฯ (มาตรา 27) ปรับลด 458 ล้านบาท

5. กระทรวงมหาดไทย (มาตรา 20) ปรับลด 336.7 ล้านบาท

TPchannel

ที่มาของภาพ, TPchannel

ผ่านงบกลาโหม 85,000 ล้าน หลังปรับลด 2,778 ล้าน

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในส่วนของกระทรวงกลาโหม ตามมาตรา 8 ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2566 ซึ่งมีการตั้งของบประมาณไว้ 88,166 ล้านบาท ก่อนถูก กมธ. พิจารณางบฯ ปี 2566 ปรับลดกว่า 2,700 ล้านบาท คงเหลือ 85,387 ล้านบาท ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับการปรับลด 216 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง

สำหรับประเด็นของงบประมาณกระทรวงกลาโหม กมธ. พิจารณางบฯ ชุดใหญ่อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบินโจมตีเอฟ-35 เอ จำนวน 2 ลำ ตามที่กองทัพอากาศ (ทอ.) อุทธรณ์มาของบประมาณ 369.1 ล้านบาท จาก 738.2 ล้านบาท หลังจากมีการเข้าชี้แจงงบประมาณเมื่อวันที่ 18 ก.ค.

เดิม ทอ. มีแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ ใช้เงินงบประมาณกว่า 7,382.6 ล้านบาท แต่ในการชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯ ทอ. ระบุว่า กรณีโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน ระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ เป็นความคลาดเคลื่อนทางเอกสาร โดย ทอ. ตั้งใจว่าจะตั้งงบประมาณเพื่อจัดหา 2 ลำ จากเดิม 4 ลำ

ในส่วนของงบกลาโหม ในขั้นของ กมธ. ยังมีกรณีค่าใช้จ่ายเช่ารถยนต์ให้ผู้บริหารระดับสูงของกองทัพ รวม 36 คน เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดฯ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และที่ปรึกษากองทัพ โดยรถที่เช่าเป็นรถเบนซ์ S500 และ S400 ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ. สัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย อ้างว่าได้เอกสารจากกำลังพล ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมชี้แจงว่าเป็น “รถควบคุมสั่งการ” 

ในการพิจารณาวาระ 2-3 เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งคำถามถึงกระบวนการแปรญัตติว่า กระบวนการตรากฎหมายที่ผ่านชั้น กมธ. ถูกต้องตามขั้นตอนและกฎหมายหรือไม่ เพราะกองทัพอากาศของบคืน 5% ที่ต่ำกว่าที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่าต้อง 10% เป็นอย่างต่ำ ถือเป็นการผลักภาระให้รัฐบาลถัดไปตั้งงบประมาณมาซื้อเครื่องบินรบของ ทอ. หรือไม่ หากสภาลงมติให้ความเห็นชอบให้ปรับลด 5% แล้วหวังว่า ครม. ออกมติ ครม. ย้อนหลัง หากผิดพลาดขึ้นมามีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายจะตกทั้งฉบับ

ส.ส. ก้าวไกล อภิปรายงบขอซื้อรถเบนซ์  S-Class 8 ล้านของ ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ว่างบประมาณในส่วนหน่วยงานของศาลในมาตรา 31 กมธ.พิจารณางบฯ จะปรับลดลงเพียง 472,000 บาท ในส่วนของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า เป็นงบเงินอุดหนุนทั่วไปและค่าครุภัณฑ์

โดยสรุปแล้ว เหลืองบประมาณรวมของหน่วยงานของศาลที่ผ่าน กมธ.พิจารณางบฯ มาแล้ว จำนวนกว่า 7,762 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณของหน่วยงานศาล ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายโดย นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล (กก.)

TPchannel

ที่มาของภาพ, TPchannel

นายจิรัฏฐ์ ได้เสนอตัดงบประมาณของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 1% โดยในปี 2566 ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขอซื้อรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ S-Class S 560e AMG Premium ราคา 8 ล้านบาท

"ตัวท็อปเลย ภายในหรูหรา โก้ เหมาะกับประธานศาลรัฐธรรมนูญจริง ๆ ครับ เมื่อไม่กี่วันก่อนโครงการคนละครึ่ง ประชาชนได้คนละ 800 บาท ลงทะเบียนกันไม่ทัน 23 ล้านคนที่ได้ไปที่เหลือไม่ได้  800 บาท ยังต้องตาลีตาเหลือก มานั่งลงทะเบียนกันแทบเป็นแทบตาย นี่ 8 ล้านบาท จะมาเอากันง่าย ๆ"

รถยนต์ที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ 500e AMG Premium ราคา 6,674,069 บาท ซื้อมาเมื่อปี 2561 จำนวน 2 คัน ใช้ค่าบำรุงรักษาปีละ 1 แสนบาท ส่วนรถยนต์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ใช้รถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ E 350e ราคาคันละ 3.36 ล้านบาท

นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนรถยนต์คันเก่าของประธานศาลรัฐธรรมนูญคนก่อนใช้รถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ S 320 CDI L ซื้อเมื่อปี 2552 และใช้จนหมดวาระ เมื่อต้องการจัดซื้อรถคันใหม่ จึงนำคันเก่าไปขายทอดตลาด ขายครั้งที่ 1 ราคา 1.9 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ขาย 1.6 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ขาย 1.3 ล้านบาท และครั้งที่ 4 ขาย 9 แสนบาท จาก 1.9 ล้านบาท เหลือ 9 แสนบาท ในเวลา 3 เดือน

ส.ส. ก้าวไกล จ.ฉะเชิงเทรา อภิปรายต่อด้วยว่า ผลงานในปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาไป 48 คดี และเป็นคดีส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าตุลาการ 1 คน ทำแค่ 5 คดีกว่าเท่านั้น โดยค่าตอบแทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตกปีละ 64 ล้านบาท และตุลาการ 1 คนมีรายได้ 530,000 บาทต่อเดือนเป็นอย่างน้อย ประกอบด้วย เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง มีค่ารับรองเหมาจ่าย บำเหน็จ ค่าเบี้ยประชุม ประกันสุขภาพ และเงินผู้ช่วย 10 คนของตุลาการแต่ละคน งบดูงานต่างประเทศ และรถประจำตำแหน่ง เหตุใดจึงต้องจัดหารถในราคาดังกล่าวอีก

"530,000 บาท ทำงานปีละ 5.3 คดี แล้วก็เที่ยวต่างประเทศทุกปี มีงบประมาณในการไปเที่ยวต่างประเทศปีหนึ่งเป็น 10 ล้านตลอด คิดดูนะครับว่า มีค่ารถประจำตำแหน่งแทนค่าจัดหาอยู่แล้ว แล้วทำไมยังต้องมีรถประจำตำแหน่งให้อีก" นายจิรัฏฐ์ กล่าวในสภา

ก้าวไกล อภิปรายงบส่วนราชการในพระองค์ ขอตัด 10-38% ชี้หน่วยงานกำลังพลซ้ำซ้อน

เนื้อหาการอภิปรายงบประมาณในมาตรา 36 ส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งมีการอภิปรายในช่วงค่ำของวันที่ 23 ส.ค. 2565 สำหรับงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ปี 2566 ถูกตั้งไว้จำนวน 8,611.67 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 1.7% หรือ 149 ล้านบาท

  • งบบุคลากรสูง สัดส่วน 92.3% ของงบส่วนราชการในพระองค์

น.ส. สุทธวรรณ อภิปรายเริ่มต้นในภาพรวมก่อนว่า งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ปี 2566 วงเงิน 8,611.67 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าแล้ว 1.7% และในปีนี้มีความก้าวหน้าในการชี้แจงรายละเอียดมากขึ้น โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด มีการเตรียมคลิปวิดีโออธิบายรายละเอียดโครงสร้างหน่วยงานและจำนวนบุคลากรในแต่ละสำนัก ทำให้คณะกรรมาธิการพิจารณางบฯ เห็นภาพมากยิ่งขึ้นกว่าในปีก่อน ๆ

น.ส. สุทธวรรณ อภิปรายต่อว่า แม้จำนวนบุคลากรจะลดลงจากปีก่อน แต่ยังมีถึง 14,457 คน จึงมีการตั้งงบประมาณบุคลากรเป็นสัดส่วนงบประมาณที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น ๆ ไว้ที่ 7,948.67 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92.3%

"อยากวิงวอนให้สภาช่วยกันทำให้การพิจารณางบส่วนราชการในพระองค์มีความโปร่งใส เราต้องพิจารณาเรื่องนี้กันให้เป็นเรื่องปกติ พูดคุยกันอย่างมีเหตุผล มีวุฒิภาวะ ทำให้งบส่วนราชการในพระองค์ เป็นเหมือนหน่วยรับงบประมาณอื่น ๆ ช่วยกันตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้งบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นงบที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความสง่างามต่อสถาบันฯ" น.ส. สุทธวรรณ กล่าว

  • งบประมาณซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมก่อนโอนอัตรากำลังพล

น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ขอแปรญัตติเพื่อลดงบประมาณลง 15% เป็นจำนวนเงิน 1,291 ล้านบาท

ส.ส.หญิงจากพรรค กก. อภิปรายว่าแม้งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์จะลดลงจากปี 2565 จำนวน 149 ล้านบาท หรือ 1.7% แต่ยังลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ทุกปี

ในปี 2566 ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตั้งงบประมาณให้ส่วนราชการในพระองค์ถึง 4,415 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 105% ภายใน 5 ปี

น.ส. เบญจา กล่าวว่าเหตุที่งบประมาณพุ่ง เพราะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2560 ได้ออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560  ให้โอนย้าย 5 หน่วยงานราชการมาสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการที่เคยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี สำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักงานตำรวจราชสำนัก ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานภาพและการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยทั้งสิ้น"

นอกจากนี้ ในปี 2562 ยังมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

TPchannel

ที่มาของภาพ, TPchannel

แม้สำนักงบชี้แจงว่างบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะมีการโอนบุคลากรจาก 5 หน่วยงานดังกล่าวมายังส่วนราชการในพระองค์ แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานราชการเดิมที่ย้ายไปสังกัดส่วนราชการแล้วก็ยังคงตั้งงบประมาณส่วนนี้เอาไว้อยู่ ขณะที่งบประมาณส่วนนี้ที่มีการโอนย้ายมาแล้วก็มีการตั้งงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดงบประมาณที่ไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม

"กรณีหน่วยงานอย่างกรมราชองครักษ์และหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยส่วนพระองค์ ซึ่งครั้งหนึ่งอยู่ภายใต้กระทวงกลาโหม ก่อนมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่วนราชการในพระองค์ ปี 61 จะเห็นว่างบปี 2560 ได้รับงบประมาณถวายความปลอดภัยอยู่ที่ราว ๆ  1,600 ล้านบาท แต่หลังจากมีการโอนเปลี่ยนแปลงหน่วยงานและบุคลากรไปแล้ว งบประมาณในส่วนของการถวายความปลอดภัยในปี 2561 กลับไม่ลดลงแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม งบก็กลับเพิ่มสูงขึ้นมาก จากที่เคยได้รับ 1,600 ล้าน ก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,500 ล้านบาท เท่ากับเพิ่มสูงขึ้นถึง 115%"

  • รังสิมันต์ ขอตัด 38% จากงบหน่วยงานกำลังพลที่โอนย้ายมา

นายรังสิมันต์ โรม อภิปรายต่อในงบประมาณส่วนเดียวกัน โดยระบุว่าจากการตรวจสอบ พบว่าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมยังมีการตั้งงบประมาณถวายความปลอดภัยอยู่ถึง 1,016 ล้านบาท ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึง 1,574 ล้านบาท มากกว่าก่อนโอนย้ายถึง 3 เท่า

TPchannel

ที่มาของภาพ, TPchannel

เมื่อรวมกับงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ 8,612 ล้านบาทแล้ว เท่ากับมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการในพระองค์ ทั้งในส่วนราชการในพระองค์และภายนอกราชการในพระองค์สูง  11,202 ล้านบาท

รังสิมันต์ ชี้ว่าเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในงบประมาณ จึงเห็นควรว่าต้องมีการตัดลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ลง ตามสัดส่วนของงบประมาณที่หน่วยงาน 3 หน่วย คือ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมราชองครักษ์ ได้โอนบุคลากรมายังส่วนราชการในพระองค์เบ็ดเสร็จแล้ว นำไปคำนวนกับอัตราการเพิ่มของงบประมาณทั้งประเทศ 8.96% จะเท่ากับการตัดลดงบประมาณลงไป 38.04% หรือ 3,376 ล้านบาท คงเหลือ 5,336 ล้านบาท

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก. ในฐานะกมธ.พิจารณางบฯ ได้ลุกชี้แจงในสภาว่า กมธ.พิจารณางบฯ พิจารณาแล้วเห็นว่างบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ได้เสนอตั้งงบประมาณไว้อย่างเหมาะสมแล้ว หลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติไม่ปรับลดงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ด้วยจำนวนเสียง 382 ต่อ 38