ขบวนเสด็จฯ: เสียงจากผู้ต้องหาในคดีประวัติศาสตร์ มาตรา 110 "ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี"

ะขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร 2563"

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. ขณะขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร 2563"
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

มาตรา 110 ซึ่งว่าด้วยการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีหรือรัชทายาท ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามากว่า 60 ปี แต่มันแทบไม่เคยอยู่ในความสนใจของสาธารณะเลย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาตรา 112 ที่อยู่ใกล้ ๆ กันในหมวด "ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท"

จนกระทั่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อมีชาย 3 คนถูกตำรวจออกหมายจับในข้อหานี้ และหลังจากนั้นตำรวจได้แจ้งข้อหาเพิ่มกับผู้ต้องหาอีก 2 คน รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้งหมด 5 คน ทั้งหมดเป็นผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563โดยรวมตัวอยู่ด้านนอกทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก ในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เคลื่อนผ่านโดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ประทับอยู่ด้วย

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้ต้องหากลุ่มแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายอาญาหรือไม่ แต่เขาตั้งข้อสังเกตกับบีบีซีไทยว่าเหตุที่มาตรา 110 ไม่เคยเป็นข่าวเพราะที่ผ่านมา "ไม่ค่อยมีใครที่คิดจะทำเช่นนี้"

ขณะที่ น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายให้ผู้ต้องหาในคดีนี้บอกว่าจากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น ไม่เคยมีใครถูกดำเนินด้วยข้อหานี้อย่างน้อยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

มาตรา 110 ระบุว่า

"ผู้ใดกระทําการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี

"ผู้ใดพยายามกระทําการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

"ถ้าการกระทํานั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทําต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจําคุกตลอดชีวิต

"ผู้ใดกระทําการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ กระทําการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี"

นายบุญเกื้อหนุน เดินทางเข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต

ที่มาของภาพ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คำบรรยายภาพ, นายบุญเกื้อหนุน เดินทางเข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 16 ต.ค.

ผู้ต้องหา 5 คน ประกอบด้วย นายเอกชัย หงส์กังวาน อายุ 45 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักเขียนอิสระ นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง อายุ 21 ปี นักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ อายุ 35 ปี นักกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน ทั้งหมดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ส่วนอีก 2 คนไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ

บีบีซีไทยสัมภาษณ์นายบุญเกื้อหนุน ผู้ต้องหาที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นคนเดียวที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในบรรดาผู้ต้องหาทั้ง 3 คนของคดีประวัติศาสตร์นี้ เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น

"ผมไม่มีเจตนา"

ประโยคแรกที่นายบุญเกื้อหนุนหรือ "ฟรานซิส" บอกกับบีบีซีไทยเมื่อเราถามถึงเหตุการณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค. คือ "ผมไม่มีเจตนาที่จะไปประทุษร้ายองค์พระราชินีหรือองค์รัชทายาท"

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า สิ่งที่เขาทำในวันนั้นเป็นเพียงแค่การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เขาไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเพื่อนเพื่อไปขายของที่ระลึกในที่ชุมนุม

"ตอนแรกผมติดอยู่ที่แยกนางเลิ้งพร้อมกับผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ แต่พอรู้ว่าเพื่อนสองคนไปอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว ก็เลยเรียกมอเตอร์ไซค์ตามไป" เขาเริ่มเล่าเหตุการณ์

นายบุญเกื้อหนุน (เสื้อลาย) คล้องแขนกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ผลักดันกับตำรวจ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายบุญเกื้อหนุน (เสื้อลาย) คล้องแขนกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ผลักดันกับตำรวจ

ฟรานซิสเล่าต่อว่าไม่นานหลังจากที่ไปถึงทำเนียบฯ ตำรวจก็เริ่มปฏิบัติการกระชับพื้นที่ด้วยการเอารถตู้มาจอดขวางถนนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ จากนั้นก็มีตำรวจตระเวนชายแดนมาตั้งแถวบนถนน

"ตอนนั้นคิดว่าตำรวจเตรียมสลายการชุมนุม ผมก็เลยเข้าไปยืนอยู่ระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพราะคิดว่าน่าจะช่วยป้องกันการปะทะได้ เพราะผู้ชุมนุมเริ่มกรูกันเข้ามาแล้ว

"ทันใดนั้นผมก็เห็นว่ามีขบวนเสด็จฯ มา ผมก็...อ้าว...ก็หลบสิครับ รีบขอทางคนข้าง ๆ ว่าขอผมออกไปหน่อย ระหว่างพยายามจะออกมาก็ใช้โทรโข่งที่ถือมาเพื่อประกาศขายของบอกผู้ชุมนุมให้ถอยออกมาเพื่อเปิดทางให้ขบวน หลังจากนั้นตำรวจก็ตั้งแถวกันประชาชนไม่ให้เข้าใกล้ ขบวนเสด็จฯ ก็เคลื่อนผ่านไปช้า ๆ"

ชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จฯ ?

เมื่อถามว่าเขาได้ชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จฯ หรือไม่ ฟรานซิสตอบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมาก และเขาจำไม่ได้แน่ชัด

"ผมจำไม่ได้ ผมอาจจะทำ แต่ตอนนั้นผมกำลังจะเป็นลม ก็เลยรีบออกมานั่งพักริมถนน"

เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า

ก่อนหน้านี้นายเอกชัย หงส์กังวาน หนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม.110 ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาลข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากการไม่ประกาศให้ประชาชนบน ถ.พิษณุโลก บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลทราบว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ผ่าน

ฟรานซิสยืนยันเช่นเดียวกันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ เกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ทั้งสิ้น

"ในเมื่อมีระเบียบของทางการอยู่แล้วว่าถ้ามีขบวนเสด็จฯ เจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ทำไมวันนั้นถึงไม่มีการปิดถนนหรือแจ้งเตือนล่วงหน้า ผมขอตั้งข้อสงสัยไว้ตรงนี้"

คำบรรยายวิดีโอ, ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม "คณะราษฎร"

ครอบครัวเครียด

ฟรานซิสซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวนักธุรกิจใน จ.นครสวรรค์ ยอมรับว่าเขา "ช็อก" ที่โดนแจ้งข้อหาและเหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัวเครียดอย่างหนัก

วันที่เขาไปมอบตัวที่ สน.ดุสิต เมื่อ 16 ต.ค. พ่อและแม่ก็ไปด้วยและได้ต่อว่าเขาอยู่นาน จนทีมทนายจากศูนย์ทนายสิทธิฯ ต้องช่วยพูดเกลี้ยกล่อมจนสถานการณ์คลี่คลาย และครอบครัวเริ่มยอมรับความจริงว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไปหลังจากนี้คือต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์

"คดีนี้เป็นคดีแรกในชีวิตผม...คดีแรกก็เจอข้อหาแรงเสียแล้ว"

หลังจากได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ฟรานซิสพยายามกลับมาใช้ชีวิตและไปเรียนตามปกติ

"ไม่เชิงเครียด แต่ก็ไม่สบายใจ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเป็นคดีขึ้นมาได้เลย แต่มันก็กลายมาเป็นคดี ผมรู้สึกว่ามันเป็นการใส่ร้าย แต่เมื่อมันเป็นคดีมาแล้วผมก็ต้องต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์" เขาบอก

ฟรานซิสบอกว่าเขาก็เป็นเหมือนคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีความเห็นต่างจากคนในครอบครัวราวกับ "อยู่คนละโลก" แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก็ทำให้แม่เริ่มมองเห็นว่าประชาชนถูกอำนาจรัฐกระทำอย่างไร

"มันเป็นการเดินทาง"

ฟรานซิสมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และความฝันของเขาก็คืออยากให้ประเทศไทย "หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ ที่วนเวียนอยู่กับความขัดแย้งทางการเมือง-ประท้วง-รัฐประหาร"

"ผมอยากจะให้เราหลุดพ้นจากตรงนี้เสียที อย่างน้อยผมจะได้อยู่ในประเทศที่ผมสามารถพูดอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกแจ้งความดำเนินคดี เพราะเราพูดในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้อง" ฟรานซิสกล่าว

นักศึกษาวัย 21 ปี ยังได้แสดงความชื่นชมนายเอกชัยที่แสดงความห่วงใยเขาตลอดเวลาที่ถูกจับกุม

"วันที่ 17 ต.ค. ในขณะที่เขา (เอกชัย) จะโดนจองจำ แต่ผมกำลังจะได้ปล่อยตัว ในสถานการณ์แบบนี้เขายังมีใจเป็นห่วงเป็นใยผม นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราต้องการ ในขณะที่ในสังคมไทยแทบไม่มีความเป็นมนุษย์ต่อกันแล้ว ขณะที่หลายคนบอกว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์แต่ไม่เคยรักในเพื่อนมนุษย์ซึ่งผมมองว่ามันใจร้ายไปหน่อย"

ทนายชี้ข้อหานี้ "รุนแรงเกินกว่าเหตุ"

น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับผิดชอบคดีของฟรานซิสบอกว่า เธอไม่ได้หนักใจในการทำคดีนี้เพราะคิดว่าสามารถต่อสู้ได้ในข้อเท็จจริง และเห็นว่าข้อกล่าวหานี้ "รุนแรงเกินกว่าเหตุ"

"ถ้าดูตามข้อเท็จจริง เหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. นั้นเป็นการชุมนุมที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งตั้งใจไปเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปรวมตัวกันเพื่อขัดขวางหรือประทุษร้ายพระราชินี และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จ แม้ขบวนรถจะชะลอตัวก็จริง แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของการเดินทางผ่านพื้นที่ที่มีการชุมนุม" เธอกล่าวกับบีบีซีไทย

เธอชี้ว่าอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือสังคมต้องแยกแยะให้ออกว่าการแสดงออกของผู้ชุมนุม เช่น การชูสามนิ้วหรือการตะโกนไม่ใช่การขัดขวางและการประทุษร้าย

"การชูสามนิ้วไม่ใช่การประทุษร้าย และเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร (ปี 2557)"

ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม

ที่มาของภาพ, Reuters

ทนายพูนสุขตั้งข้อสังเกตว่ากรณีขบวนเสด็จฯ ถูกนำไปใช้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครในเช้าวันที่ 15 ต.ค. และนำไปสู่การสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมหลังจากนั้นต่อมา

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการจงใจจัดเส้นทางให้ขบวนเสด็จผ่านที่ชุมนุมนั้น ทนายสิทธิมนุษยชนคิดว่าเป็น "เรื่องยากที่จะพิสูจน์เจตนาของเจ้าหน้าที่" แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือกลุ่ม "คณะราษฎร 63" ได้ประกาศจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ก่อนที่สังคมจะรู้ว่าจะมีขบวนเสด็จฯ ในวันเดียวกัน

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า กลุ่ม "คณะราษฎร 2563" แถลงข่าวนัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ขณะที่หมายกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตั้งเปรียญ เนื่องในวันวิสาขบูชา และหมายกำหนดการสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินที่วัดราชโอรสและวัดอรุณราชวรารราในวันที่ 14 ต.ค. นั้นได้รับการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ต.ค.

"เชื่อว่าต่อสู้คดีได้ แต่คาดหวังว่าศาลจะมีอิสระเพียงพอที่จะตัดสินไปตามรูปคดี" เธอกล่าว

line

เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค.

วันที่ 14 ต.ค. เป็นวันแรกของการชุมนุมของกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" ซึ่งได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถูกตำรวจสกัดไว้ที่แยกนางเลิ้ง ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินทางล่วงหน้ามารวมตัวกันอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล

ก่อน 18.00 น. เล็กน้อยมีขบวนรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกร รัศมีโชติฯ ผ่านเส้นทางดังกล่าว ขณะที่เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมบางคนได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วและโห่ร้อง

ข่าวพระราชสำนักค่ำวันนั้นรายงานว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เสด็จในการนี้ด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งของประกาศระบุว่า ผู้ชุมนุม "...มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ขบวนเสด็จฯ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม ช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค.

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่าตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการในการจัดการจราจรและรับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.

"ข้อเท็จจริงประการแรกคือได้มีการกำหนดเส้นทางเสด็จไว้ล่วงหน้าก่อนวันที่ 14 ต.ค. นานแล้ว และประการที่สอง ก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะผ่าน ได้มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเส้นทางเสด็จทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบตามระเบียบปฏิบัติ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลขบวนเสด็จปฏิบัติเป็นประจำจนอยู่ในสายเลือด เราไม่พลาดอยู่แล้ว"

พล.ต.ต. ปิยะกล่าวอีกด้วยว่าขณะนี้ตำรวจยังอยู่ระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 14 ต.ค. โดยเฉพาะภาพและคลิปทีมีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 ก็จะทำการแจ้งข้อหาต่อบุคคลเพิ่ม

"ผู้ต้องหาคดีนี้อาจจะมีมากกว่า 3 คน" รอง ผบช.น. กล่าว