วัคซีนโควิด-19: ศบค. ไฟเขียว สธ. สั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดสปีหน้า มากกว่าครึ่งเป็นของซิโนแวค

coronavac

ที่มาของภาพ, Reuters

นอกจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะมีมติผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว วันนี้ (18 มิ.ย.) ศบค. ยังอนุมัติแผนจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็น 150 ล้านโดสภายในปีหน้า

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. ชี้แจงถึงแผนการจัดหาวัคซีนในปีนี้และปีหน้าว่า ในขณะนี้ได้ดำเนินการจองวัคซีนไว้แล้ว 105 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส และในวันนี้ที่ประชุมศบค. ยังมีอนุมัติตามที่สธ.เสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจากเพิ่มอีก 50 ล้านโดสเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565

"จากเดิมที่เราคุ้นเคยกัน ก็จะบอกว่า 100 ล้านโดสน่าจะเพียงพอ แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่ อาจจะต้องมีการเผื่อไว้ ก็จะขอจัดสรรเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 65 ซึ่งจะต้องครอบคลุม และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องใช้วัคซีนเพิ่มเติม"

เบื้องต้นตามแผนที่สธ. เสนอมาของวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับปีหน้ามากกว่าครึ่งเป็นวัคซีนจากซิโนแวคของจีน จำนวน 28 ล้านโดส ส่วน 22 ล้านโดสที่เหลือจะมาจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่ตามผลการศึกษาประสิทธิภาพ และสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์

"บางทีต้องมีเข็ม 3 หรือเข็ม 1 กับเข็ม 2 ที่ต้องสลับกัน ซึ่งตอนนี้นักวิจัยกำลังคิดหาวิถีทางที่จะสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ" โฆษกศบค. กล่าว

คาดกระจายวัคซีน 10 ล้านโดสเดือนหน้า

แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาการส่งมอบวัคซีนจากผู้ผลิตจะล่าช้า แต่ศบค. ยังเชื่อว่าแผนการกระจายวัคซีนในเดือนหน้าจะเป็นไปตามแผน โดยสธ.ได้นำเสนอแผนการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัดในเดือนก.ค. รวมถึงการจัดหา โดยเบื้องต้นจะมีวัคซีนเข้ามา 10.3 ล้านโดส แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ (รวมทปอ. และประกันสังคม) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมทั้งจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตรวม 3.3 ล้านโดส หรือ 30%

2. จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี พังงา และกระบี่ รวม 2.5 ล้านโดส หรือ 25%

3. จังหวัดที่เหลืออีก 49 จังหวัด จำนวน 3.5 ล้านโดส คิดเป็น 35%

4. อื่น ๆ ได้แก่ หน่วยงานฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด จำนวน 1 ล้านโดส หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 10%

THAI NEWS PIX
แผนกระจายวัคซีน

  • 10.3 ล้านโดสตลอดเดือน ก.ค. 2564

  • 3.3 ล้านโดสพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด และภูเก็ต

  • 2.5 ล้านโดส 23 จังหวัดชายแดนหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด

  • 3.5 ล้านโดส49 จังหวัดที่เหลือ

  • 1 ล้านโดส ส่วนอื่น ๆ เช่น หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด

ที่มา: ศบค. ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564

อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. ระบุว่า การแผนการจัดสรรนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่บริษัทผลิตส่งมอบและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรค

ผ่อนคลายมาตรการ-ปรับเปลี่ยนพื้นที่สีรายจังหวัด

จากการติดตามสภาวะการการระบาดนั้น นพ.ทวีศิลป์ ชี้ว่า มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ 4 เขตแบ่งตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยตามลักษณะการติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด ประกอบด้วย

1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ)

2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส)

3. พื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด (จันทบุรี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระนอง ระยอง ราชบุรี สระแก้วและสมุทรสงคราม)

4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง คือ 55 จังหวัดที่เหลือ

คำสั่งผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ จะมีผลเริ่มในวันที่ 21 มิ.ย. นี้

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, คำสั่งผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ จะมีผลเริ่มในวันที่ 21 มิ.ย. นี้

หลังจากการประกาศปรับพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ศบค. มีคำสั่งผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีผลเริ่มในวันที่ 21 มิ.ย. นี้ ประกอบด้วย

การจัดกิจกรรม

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด: ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 50 คน
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด: ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 100 คน
  • พื้นที่ควบคุม: ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 150 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง : ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 200 คน
  • พื้นที่เฝ้าระวัง: ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 300 คน

ร้านอาหาร

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด : นั่งในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. กรณีร้านที่เครื่องปรับอากาศ นั่งได้ไม่เกิน 50%
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด: นั่งในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น.
  • พื้นที่ควบคุม: นั่งในร้านได้ตามปกติ
  • ทั้งสามพื้นที่ข้างต้นยังคงงดการดื่มสุราในร้านต่อไป
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง: เปิดได้ตามปกติ
  • พื้นที่เฝ้าระวัง: เปิดได้ตามปกติ

ศูนย์การค้า

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด : เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. จำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด: เปิดบริการตามปกติ จำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
  • พื้นที่ควบคุม: เปิดบริการตามปกติ
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง: เปิดได้ตามปกติ
  • พื้นที่เฝ้าระวัง: เปิดได้ตามปกติ

สถานที่เล่น/แข่งกีฬา

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด : ปิด ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. และแข่งกีฬาโดยไม่มีผู้ชมได้
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด: เปิดบริการได้ทุกประเภทไม่เกิน 21.00 น. จัดแข่งขันจำกัดผู้ชม
  • พื้นที่ควบคุม: เปิดบริการได้ทุกประเภทจัดแข่งขันจำกัดผู้ชม
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง: เปิดบริการได้ทุกประเภทจัดแข่งขันจำกัดผู้ชม
  • พื้นที่เฝ้าระวัง: เปิดบริการและจัดแข่งขันได้ทุกประเภท

ปทุมธานีเร่งค้นหาเชิงรุกหลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเกือบ 30 ราย

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ว่าจากการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยโควิด 5,055 คน ตั้งแต่ เดือน เม.ย. 2564 พบว่าส่วนใหญ่ คือ 4,528 คนหรือ 89.6% ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) ส่วนสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) 496 คน คิดเป็น 9.8% โดยพบมากสุดในกรุงเทพฯ คือ 404 คน

แคมป์คนงานย่านหลักสี่ถูกปิดพื้นที่ชั่วคราวตั้งแต่ 16 พ.ค. เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แคมป์คนงานย่านหลักสี่ถูกปิดพื้นที่ชั่วคราว เนื่องจากตรวจพบสายพันธุ์อินเดียครั้งแรก

"คาดว่าภายใน 2 - 3 เดือนนี้สายพันธุ์เดลตาอาจจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา เนื่องจากความสามารถในการแพร่ระบาดที่เร็วกว่าถึง 40%" กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุ

เมื่อวานนี้ 17 มิ.ย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานีได้ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในจังหวัดแล้ว 28 ราย ทั้งหมดได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและค้นหาผู้เสี่ยงสัมผัสเพื่อตรวจหาเชื้อและกักตัวแล้วทุกราย เบื้องต้นพบว่าการติดเชื้อมีการเชื่อมโยงจากแคมป์คนงานที่หลักสี่ ซึ่งเป็นจุดแรกที่ ศบค. ยืนยันว่าพบการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ค.

"ขอให้ชาวจังหวัดปทุมธานีปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะ (เดลตา) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้เร็ว" ประกาศของสสจ. ปทุมธานีระบุ

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักรวานนี้ว่า สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 9,055 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่าสายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอังกฤษขณะนี้

vaccination

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเชื้อไวรัสนี้อาจจะค่อย ๆ พัฒนากลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ อีกหลายปีและเป็นไปได้ที่ในท้ายที่สุดวัคซีนซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันจะไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อ การติดเชื้อ หรือแม้แต่ โรคที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้" สธ. ระบุในเอกสารข่าว

นอกจากนี้ สธ.ยังรายงานด้วยว่าอินเดียพบว่าสายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมจนมีความสามารถในการต่อต้านแอนติบอดีสังเคราะห์ เชื้อกลายพันธุ์นี้มีชื่อเรียกว่า "เดลตาพลัส" และจากฐานข้อมูลจีโนมสากล (GISAID) พบว่ามีไวรัสกลายพันธุ์เดลตาพลัสนี้แล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก

รับอาสาสมัครทดลองฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิด

วันนี้ (18 มิ.ย.) นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กประกาศรับอาสาสมัครรับวัคซีน โควิด-19 สลับชนิดกัน ศึกษาวิจัยประสิทธิผลของวัคซีนว่ามี ผลกระทบจากสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไม่

"ในปัจจุบันการให้วัคซีนโควิด-19 ยังแนะนำให้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็ม ที่ 1 และ 2

vaccination

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ด้วยเหตุผล บางคนฉีดแข็มแรกแล้วแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองต่าง ชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มที่สองฉีดเป็นแอสตร้าเซนเนก้า การให้วัคซีน 2 เข็ม ต่างชนิดกัน จะเป็นประโยชน์ ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุดไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่ 2 และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้ ดังนั้นการสลับเปลี่ยนวัคซีนจึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด" นพ.ยงระบุ

นพ.ยงกล่าวว่าโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้วจึงจะขอรับสมัครอาสาสมัครมารับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกัน โดยกลุ่มแรกจะฉีด เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า และอีกกลุ่มจะฉีดเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 เป็นซิโนแวค และจะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีน และตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง

ยกเลิกศูนย์กักตัวของรัฐสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ

โฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการดำเนินการสถานที่กักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางเข้าออกอย่างต่อเนื่อง

"เพื่อกลับไปสู่นิวนอร์มอล ภาระค่าใช้จ่ายนี้สำหรับคนที่จะกลับมาในประเทศไทย เราปรับขึ้นมาว่าจะต้องเป็นลักษณะ AQ (Alternative Quarantine) ซึ่งค่าที่พัก ค่าโรงแรมท่านต้องจ่าย"

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า รัฐบาลยังคงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อตามเดิมทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบ OQ (Organisation Quarantine)ที่ยังใช้รองรับกรณีแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะกำหนดพื้นที่จะเข้าไปดูแลร่วมกับเอกชน และคนไทยกลุ่มเปราะบางในต่างแดนซึ่งไม่มีกำลังในการรับภาระ

ขณะผู้ที่มีการเดินทางทางบกนั้น ยังคงสถานที่กักกันที่รัฐจัดให็บางส่วน ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในรอบ 24 ชม.

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,058 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,580 ราย เรือนจำ 459 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 19 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 210,782 ราย

Nope

หากนับเฉพาะระลอกเม.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 181,919 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 536 ราย

ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 32,795 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,360 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 378 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (867 ราย) สมุทรปราการ (239 ราย) สมุทรสาคร (193 ราย) สงขลา (152 ราย) และชลบุรี (142 ราย)

โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 22 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,577 ราย คิดเป็น 0.75% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.82%

ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 17 มิ.ย. ว่าวานนี้มีการฉีดเข็มแรกเพิ่มขึ้น 137,668 ราย และเข็มที่ 2 อีก 78,109 ราย ทำให้ยอด สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการให้บริการไปแล้ว 7,219,668 โดส