เพชรซาอุฯ: ยังไม่พบ “บลูไดมอนด์” คดีอื่นก็ไม่จบ เหตุใดซาอุดีอาระเบียกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับไทย

GETTY IMAGES

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายโมฮัมเหม็ด ซาอิด โคห์จา อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ณ ขณะนั้น นั่งตรวจภาพเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ซาอุที่นายเกรียงไกรขโมยไปและนำมาคืน ภาพนี้ถ่ายในปี 2539

ทำไม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้รับเชิญไปเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ แม้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเหินห่างกันมากว่า 30 ปี เนื่องจาก 3 เรื่องอื้อฉาวที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ได้แก่ กรณีเพชรที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย, การฆาตกรรมนักการทูต และอุ้มฆ่านักธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในไทย ในช่วงปี 2532-2533

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า เกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในของผู้นำซาอุดีอาระเบียรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ "ติดใจ" กับเรื่องในอดีต และ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030" (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการสานสัมพันธ์กับทุกประเทศในโลก

"ถึงแม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบีย จะติดใจบลูไดมอนด์ แต่มันก็ไม่ได้เป็น ข้อผิดพลาดของรัฐบาลไทย อันนี้ประการแรก และผมคิดว่าตอนหลังทางการซาอุดีอาระเบีย ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก" ดร.ศราวุฒิ กล่าวกับบีบีซีไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังทางการไทยและซาอุดีอาระเบีย ต่างแถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการระหว่าง 25-26 ม.ค. นี้ ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ซาอุดีอาระเบีย

การฟื้นความสัมพันธ์มีขึ้นในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่า "บลูไดมอนด์" อัญมณีชิ้นสำคัญในคดีโจรกรรมเพชรซาอุฯ ไปตกอยู่กับใคร คดีฆาตกรรมนักการทูต และคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ผู้ต้องหานายตำรวจระดับสูงที่พัวพันถูกยกฟ้องไปแล้วเมื่อปี 2562

ในทัศนะของ ผอ. ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กรณีอุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อสายราชวงศ์ ทำให้ทางการซาอุฯ ไม่พอใจ จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

เรื่องในอดีตจะทำเป็นลืมเลยหรือเปล่า

ดร.ศราวุฒิ มองว่า ทั้ง 3 กรณีที่ เป็นปัญหาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทย ในกรณีของเพชรซาอุฯ คนที่โจรกรรมในขณะนั้นก็เป็นแรงงานไทย ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล และมองว่ามันก็เป็นการหละหลวมของทางการซาอุฯ เองด้วย ที่ทำให้เกิดการโจรกรรมดังกล่าว

ส่วนการสังหารนักการทูตในไทย ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ทางการซาอุฯ ก็เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียในปี 1987 ที่ลุกลามเข้ามาในไทย โดยต้นตอมาจากเหตุการณ์ที่ซาอุฯ ปราบผู้ชุมนุมในพิธีฮัจญ์ ทำให้คนอิหร่านที่เข้าไปทำพิธีฮัจญ์กว่า 200 คน เสียชีวิต หลังจากนั้นก็เกิดการแก้แค้นตอบโต้กันไปมาในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย

"เรื่องกรณีของการเสียชีวิตของนักการทูตเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ผมคิดว่าซาอุฯ เข้าใจเป็นอย่างดี แต่กรณีที่สำคัญที่สุด คือกรณีอุ้มฆ่า เขาติดใจมาก ๆ ทางซาอุฯ ไม่พอใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถทำอะไรได้แล้วในตอนนี้ เพราะว่า กรอบเวลาของการดำเนินคดี มันก็หมดไปเรียบร้อยแล้ว แล้วทางคนที่ถูกฟ้องก็ถูกยกฟ้องไปเรียบร้อย"

ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า ปัจจัยร่วมที่สำคัญคือ ซาอุดีอาระเบีย มีผู้นำรุ่นใหม่นับตั้งแต่ปี 2015-2016 เป็นต้นมา เห็นการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารทางการเมืองของซาอุดีอาระเบียอย่างชัดเจน จากเดิมที่จะส่งมอบอำนาจให้กับผู้นำอาวุโสรุ่นเก่า

"คนรุ่นนี้ ผมเชื่อว่าเขาไม่ได้ติดใจเรื่องราวในอดีต แต่ว่าเขามองไปในอนาคต ด้วยเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อเขาเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือน ผมคิดว่ากรณีในอดีตที่เคยติดค้างกัน เขาคงจะไม่นำขึ้นมาเป็นกรณีพบกันอีก เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์" ผอ. ศูนย์มุสลิมศึกษา จากจุฬาฯ ระบุ

KHAOSOD

ที่มาของภาพ, KHAOSOD

คำบรรยายภาพ, เกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยชาวลำปาง คนงานในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด โจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณี ช่วงที่เจ้าชายไฟซาลเสด็จไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ เมื่อเดือน ส.ค. 2532

หันหาตะวันออก และซอฟต์พาวเวอร์

ดร.ศราวุฒิ กล่าวถึงอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ซาอุดีอาระเบียประสบปัญหากับพันธมิตรเก่าในยุโรป ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯ 9/11 ที่ซาอุฯ ถูกกดดัน เรื่องการก่อการร้าย ดังนั้น จึงพยายามลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และพยายามมองมาทางตะวันออก ทางเอเชียมากยิ่งขึ้น

"ตอนนี้ ซาอุฯ มีความสัมพันธ์กับจีนอยู่สูงมาก และให้ความสำคัญกับจีนมาก ๆ ไม่เฉพาะแค่ซาอุฯ กลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียทั้งหมด ที่ร่ำรวยน้ำมัน ก็ให้ความสำคัญกับจีน"

ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศในโลกมุสลิม กล่าวด้วยว่า ซาอุดีอาระเบีย เผชิญกับปัญหา ทางเศรษฐกิจในช่วง 5-6 ปี ก่อน ราคาน้ำมันมันตกต่ำมาก และมีปัญหาเรื่องขาดดุลบัญชีงบประมาณ จึงเป็นที่มาของการมีนโยบายใหม่ คือ การมองหาการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้มาจากรายได้จากน้ำมันเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้มีการติดต่อในทางการทูตระหว่างกันกับไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในระยะหลังที่ซาอุดีอาระเบีย สูญเสียภาพลักษณ์ของตัวเองในประชาคมโลก จากการมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าว และปัญหาสิทธิมนุษยชน จึงพยายามเปิดกว้างและสานสัมพันธ์กับทั่วโลก ด้วยการใช้ "ซอฟต์พาวเวอร์" อย่างอุดมการณ์ทางศาสนา การเคลื่อนไหวทางด้านองค์กรการกุศล

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

ที่มาของภาพ, Ronald Grant

คำบรรยายภาพ, คนรุ่นใหม่มองว่าการแต่งตั้งเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ เมื่อปี 2017 คือสัญลักษณ์ที่สะท้อนว่ากำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในซาอุดีอาระเบีย

ไทยก็รุกหนักทางการทูต

ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยทางซาอุดีอาระเบียแล้ว ส่วนของไทยเอง ก็ค่อนข้างรุกหนักในเกมการทูต พยายามที่จะไปสานสัมพันธ์กับ ซาอุฯ ทุกวิถีทาง โดยเฉพาะการติดต่อกับสื่อกลางในการสานสัมพันธ์ คือ บาห์เรน

"ผมคิดว่าแนวนโยบายต่างประเทศของไทย เราต้องการมีสัมพันธ์ที่ดี และปกติกับทุกประเทศในโลกมุสลิม"

นอกจากนี้ ไทยก็มีผลประโยชน์กับซาอุดีอาระเบียในอดีต ที่ผ่านมา อย่างเช่น แรงงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน

"มุสลิมในประเทศไทยไปทำฮัจญ์ ไปเรียนอยู่ที่ซาอุฯ และก่อนที่สัมพันธ์จะแตกร้าวเราเคยมีแรงงานอยู่ที่ซาอุฯ กว่า 2 แสนคน สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล"

สถานการณ์ในช่วงหลังของซาอุดีอาระเบียเอง เผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งตัดความสัมพันธ์กับการ์ตา มีปัญหากับเพื่อนสนิทอย่างสหรัฐฯ ตอนหลัง ซาอุดีอาระเบียก็ไม่มีสมาธิพอที่จะมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใหญ่ ๆ ก่อน

ผอ. ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สัญญาณของการฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มีมาตั้งนานแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่พยายามสานสัมพันธ์ ให้ดีเหมือนเดิม แต่จังหวะช่วงเวลานั้นยังไม่เหมาะสม เพราะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในของซาอุฯ และคดีความยังอยู่ในกระบวนการศาล จึงทำให้การขับเคลื่อนตอนนั้นเป็นเรื่องยาก

"ผมคิดว่าคงไม่ใช่เครดิตของรัฐบาล แต่เป็นเครดิตของกระทรวงการต่างประเทศ" ดร.ศราวุฒิ กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยคงจะเดินหน้าสานสัมพันธ์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยที่สำคัญ

facebook/MFA

ที่มาของภาพ, facebook/MFA

คำบรรยายภาพ, ในเดือน ต.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือสามฝ่ายร่วมกับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และนาย อเดล อัล-จูเบอีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นดำริร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียที่หยุดชะงักไปนาน การหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ

ความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

  • ปี 2559 การหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 ในเดือน ต.ค. ที่กรุงเทพฯ ระหว่างพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าชายเคาะ นายกฯ บาห์เรนในขณะนั้น และ รมว. ต่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย ในขณะนั้น
  • ปี 2562 พล.อ. ประยุทธ์ ได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
  • ปี 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รมว. ต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ม.ค.

ซาอุฯ สนใจอะไรของไทย

ดร.ศราวุฒิ ชี้ว่า ผลจากนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 การมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับไทย เป็นอุปสรรคปัญหาสำคัญสำหรับนโยบายเปิดให้ประเทศอื่นเข้าไปลงทุนทางการค้า

มุมมองของซาอุดีอาระเบีย ประเทศไทยเป็นครัวของโลกที่ผลิตอาหาร ขณะที่ประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งซาอุดีอาระเบียเอง เป็นกลุ่มประเทศที่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น ซาอุดีอาระเบีย จึงให้ความสำคัญกับไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะหลัง ในฐานะกลุ่มประเทศที่ผลิตอาหารของโลก

"ผมคิดว่านักธุรกิจของซาอุฯ เขาเสียประโยชน์มาก เวลาที่ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทย"

ดร.ศราวุฒิ มองว่า จากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นโอกาสที่กระทรวงแรงงานต้องหาลู่ทางขยายตลาดแรงงานไทย เพราะซาอุดีอาระเบียกำลังมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยว อาจเป็นช่องทางให้ไทยได้ฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาและความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

STR/AFP/Getty Images

ที่มาของภาพ, STR/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ศาลอาญาชั้นฎีกายกฟ้องไปในปี 2562

ย้อนรอย 3 คดี ปมร้าวฉาน : ฆ่านักการทูต-ขโมยเพชร-อุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อสายราชวงศ์

  • ม.ค. 2532 เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับผู้ลงมือมาดำเนินคดีได้
  • ส.ค. 2532 เกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยชาวลำปาง คนงานในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด โจรกรรมเพชร ทอง และอัญมณี ช่วงที่เจ้าชายไฟซาลเสด็จไปพักผ่อนที่ต่างประเทศ

สื่อไทยรายงานว่าเขาขโมยเครื่องเพชรออกมาได้นับร้อยชิ้น น้ำหนักรวมกันกว่า 90 กก. รวมทั้ง "บลูไดมอนด์" ซึ่งเป็นเพชรเก่าแก่หายากสีน้ำเงินขนาด 50 กะรัต เพชรล้ำค่าประจำราชวงศ์ซาอุฯ เม็ดนี้เป็นหนึ่งในเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

หลังเกิดเหตุ ซาอุฯ ติดต่อทางการไทยหาตัวผู้ก่อเหตุและส่งของมีค่าทั้งหมดคืน

  • ปี 2533 พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน จับ เกรียงไกร เตชะโม่ง ได้ เกรียงไกรให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี หลังจากนั้นทางการซาอุฯ พบว่าของที่ส่งคืนมานั้น กว่าครึ่งเป็นของปลอม และไม่ได้ส่งบลูไดมอนด์มาด้วย ทำให้ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นตามหาเพชรที่หายไปอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรย่านสะพานเหล็กในกรุงเทพฯ
  • ก.พ. 2533 นักการทูตซาอุฯ 3 คนถูกลอบสังหารในกรุงเทพฯ ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ หายตัวไป

ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหาอุ้มฆ่านายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของนักการทูตของซาอุดีอาระเบีย

  • ก.ค. 2537 ชุดปฏิบัติการนำโดย พล.ต.ท. ชลอ ลักพาตัวและเรียกค่าไถ่สองแม่ลูก "ศรีธนะขัณฑ์" เพื่อบีบให้นายสันตินำเพชรมาคืน และได้ฆ่าปิดปากเหยื่อทั้งสองโดยจัดฉากให้ดูเป็นอุบัติเหตุ
  • ปี 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำตัดสินศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ
  • ปี 2553 มีความคืบหน้าคดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี่ ในเดือน ม.ค. ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ได้แก่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายอัลรูไวลี่ ที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
  • ปี 2556 ชลอได้รับการปล่อยตัว หลังติดคุกมานานกว่า 19 ปี และเปลี่ยนชื่อเป็นธัชพล เกิดเทศ
  • ปี 2562 ในเดือน มี.ค. ศาลอาญา ยกฟ้องในชั้นฎีกา พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีต ผบช.ภ.5 กับพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ชี้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย นับเป็นการสิ้นสุดคดี

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม / ดร.ศราวุฒิ อารีย์