Got a TV Licence?

You need one to watch live TV on any channel or device, and BBC programmes on iPlayer. It’s the law.

Find out more
I don’t have a TV Licence.

รายงานสด

ระบุสหราชอาณาจักรโดยตลอด

  1. สิ้นสุดการรายงานสด

    ทีมข่าวบีบีซีไทย ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามการรายงานสดของบีบีซีไทย ในวันประวัติศาสตร์ 22 ส.ค. อดีตนายกฯ ทักษิณ กลับไทย และการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มาตลอดทั้งวัน หากมีเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ในอนาคต บีบีซีไทยจะกลับมารายงานสดเพื่อนำเสนอข่าวสารให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบต่อไป

  2. ความรู้สึกพี่น้องเสื้อแดง

    "คอยท่านมา 17 ปีแล้ว มาวันนี้ รู้สึกมีความสุขที่สุดเลย"

    คนเสื้อแดงจากหลายจังหวัดเดินทางมารอรับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่สนามบินดอนเมือง ทุกคนล้วนรู้สึกดีใจและตื้นตันใจที่ได้เห็นทักษิณกลับบ้าน

    Video content

    Video caption: ความรู้สึกของพี่น้องเสื้อแดง
  3. อดีต คสช. ส่วนใหญ่ "เห็นชอบ" ด้าน ผบ.เหล่าทัพ "งดออกเสียง"

    บีบีซีไทยตรวจสอบผลการลงมติของ สว. สายทหาร โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมได้เข้าร่วมประชุม 4 คน และพร้อมใจกันงดออกเสียง ส่วนอีก 2 คนไม่ปรากฏการลงคะแนน

    ขณะที่บรรดานายพลที่เป็นอดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ก่อรัฐประหารปี 2557 ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. ส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

    1) กลุ่มปลัดกระทรวงกลาโหม/ผบ. เหล่าทัพชุดปัจจุบัน

    งดออกเสียง

    • พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.
    • พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.
    • พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.
    • พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม

    ไม่ได้ลงคะแนน

    • พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.
    • พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.สส.

    2) กลุ่มอดีตรองหัวหน้า คสช.

    เห็นชอบ

    • พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร
    • พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
    • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

    งดออกเสียง

    • พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
  4. การปรากฎตัวครั้งแรกของเศรษฐา

    เลื่อนโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งออกไปก่อน

    นายเศรษฐา ทวีสิน ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวที่พรรคเพื่อไทย หลังผลการโหวตนายกฯ ในรัฐสภา เห็นชอบ 482 ต่อ 165 เสียง ให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

    “ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ลืมความเหน็ดเหนื่อย ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนครับ” นายเศรษฐา กล่าวในการแถลงข่าวแรกในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาแถลงเพียงไม่ถึง 1 นาที

    อย่างไรก็ดี เมื่อเวลา 19.30 น. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประสานแจ้งว่า พิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันนี้ (22 ส.ค.66) ต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยเลื่อนไปเป็นวันและเวลาใด จะรีบแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

    Thai News Pix
    Thai News Pix
    Thai News Pix
  5. เศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 “ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

    เมื่อเวลา 18.32 น. นายเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย แถลงข่าวเพียงสั้น ๆ ไม่ถึง 1 นาที ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ขอบคุณเสียงของประชาชน และสมาชิกรัฐสภา “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย”

    “ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ลืมความเหน็ดเหนื่อย ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนครับ” นายเศรษฐา กล่าว

    อย่างไรก็ดี การแถลงข่าวแบบละเอียดถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล นายเศรษฐา ระบุว่า ขอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แล้วเสร็จก่อน และจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง

    อย่างไรก็ดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานแจ้งสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลทุกช่อง ว่าจะมีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ในวันนี้ (22 ส.ค. 66)

    .
  6. คะแนนโหวต เศรษฐา นั่งนายกฯ แยกรายพรรค

    score by party
    Image caption: ิ

    ผลการลงมติอย่างเป็นทางการ โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 81 คน และไม่ลงคะแนน 19 คน

    เมื่อคะแนนเสียง “เห็นชอบ” มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 จากทั้งหมด 748 เสียง (สส. 498 คน และ สว. 249 คน) ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงถือว่านายเศรษฐาได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

    ทั้งนี้ จากผลคะแนนแยกรายพรรคพบว่า กลุ่ม 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีการประกาศจับมือกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ทั้ง 11 พรรคโหวต “เห็นชอบ” ให้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ อย่างพร้อมเพียง ยกเว้นเพียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ปรากฏว่าลงคะแนนเสียง รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จากพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ปรากฏว่ามีการลงคะแนนเสียงเช่นเดียวกัน ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา งดออกเสียง

    สำหรับพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วม 11 พรรคจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย ผลการลงมติออกมาว่า พรรคก้าวไกลโหวต “ไม่เห็นชอบ” อย่างพร้อมเพรียงครบทั้ง 149 เสียง รวมถึงพรรคเป็นธรรมที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าขอยอมเป็นฝ่ายค้านกับพรรคก้าวไกล ก็โหวต “ไม่เห็นชอบ” เช่นเดียวกัน ในขณะที่พรรคไทยสร้างไทย “งดออกเสียง” ทั้ง 6 สส.

    ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ เสียงค่อนข้างแตก โดย สส. ของพรรคส่วนใหญ่โหวต “เห็นชอบ” จำนวน 16 เสียง โดยมี 2 เสียงที่โหวตไม่เห็นชอบ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งทั้งคู่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค

    ด้าน สว. มีทั้งสิ้น 152 คน ที่โหวตเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

  7. เดชอิศม์นำทีม 16 สส.ปชป. โหวตหนุนเศรษฐา-แหกมติพรรคตัวเอง

    ในช่วงการขานมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยการเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษร (จาก ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก) ปรากฏว่า สส. ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต่างหายไปจากห้องประชุม หรือไม่ยอมลงคะแนน

    โดยมีเพียง 11 สส. ที่อยู่ร่วมลงมติในระหว่างนั้น และทิศทางการลงคะแนนแตกออกเป็น 3 กลุ่ม

    กลุ่มแรก ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” มี 2 คน ได้แก่

    • นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค
    • นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค

    กลุ่มที่สอง ลงมติ “งดออกเสียง” มี 6 คน ได้แก่

    • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรค
    • นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และประธาน สส. ของพรรค
    • นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง
    • นายสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา
    • นายสรรเพชร บุญญามณี สส.สงขลา
    • น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง และโฆษกที่ประชุม สส. ของพรรค

    กลุ่มที่สาม ลงมติ “เห็นชอบ” ให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มี 3 คน ได้แก่

    • พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา
    • น.ส.สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา
    • นางอวยพรศรี เชาวลิต สส.นครศรีธรรมราช

    อย่างไรก็ตามในช่วงท้าย ประธานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกขานมติเพิ่มเติม ซึ่งปรากฏว่า สส. ของ ปชป. อีก 13 คน นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ได้ร่วมลงมติ “เห็นชอบ” โดยถือเป็นการ “แหกมติ” พรรคตัวเอง

    วานนี้ (21 ส.ค.) ที่ประชุม สส.ปชป. มีมติ “งดออกเสียง” ตามการเปิดเผยของนายจุรินทร์ และยังมาให้สัมภาษณ์ย้ำอีกครั้งในวันนี้ (22 ส.ค.) แต่ยอมรับว่ามี สส. บางคนแจ้งว่าขอใช้เอกสิทธิ์ ซึ่งพรรคก็ไม่ขัดข้อง

    สำหรับพรรค ปชป. มี สส. ทั้งหมด 25 คน

    ก่อนหน้านี้ ปรากฏกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องว่าแกนนำ ปชป. “ขั้วอำนาจใหม่” พยายามเดินเกมนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล โดยนายเดชอิศม์ไม่ปฏิเสธข่าวเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร ที่เกาะฮ่องกง แต่ถึงที่สุดแล้ว พรรค พท. ก็ไม่ได้ดึงพรรค ปชป. เข้าร่วมรัฐบาล และปิดดีลตั้งรัฐบาล 11 พรรค รวม 314 เสียง

  8. ก้าวไกลประกาศเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเต็มที่

    หลัง เศรษฐา ผ่านศึกโหวตเป็นนายกฯ ใหม่

    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งผลโหวต นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้เสียงเห็นชอบ 482 ต่อ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง

    “วันนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ได้ออกมาแสดงผ่านการเลือกตั้ง” นายชัยธวัช กล่าว ก่อนประกาศว่า พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าเป็น “พรรคฝ่ายค้าน”

    “เราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทุกเสียงของพี่น้องประชาชนที่ให้พรรคก้าวไกล ต้องมีความหมาย” เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผลักดันกฎหมายเชิงก้าวหน้า และทำงานร่วมกับประชาชนนอกสภา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างไม่ “ท้อถอย”

    “แม้ในวันนี้ ผู้มีอำนาจจะพยายามทำให้อำนาจประชาชนไม่มีความหมาย แต่พรรคก้าวไกลยังยืนอยู่ข้างประชาชนอย่างมั่นคง” เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยมอารมณ์

    “สักวันหนึ่ง เราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง สักวันหนึ่ง เราจะมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เท่าทันโลกและเป็นธรรม สักวันหนึ่ง เราจะมีสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพสิทธิเสรีภาพ ยึดถือความมั่นคงของประชาชนเป็นความมั่นคงของชาติ”

  9. 19 สส. จาก 4 พรรคที่เพื่อไทยไม่ได้ดึงเข้าร่วมรัฐบาลโหวตหนุนเศรษฐา

    ในหมู่พรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยในการแถลงข่าวเมื่อ 21 ส.ค. มีทั้งสิ้น 7 พรรค รวม 184 เสียง

    นี่คือผลการลงมติของทั้ง 7 พรรคการเมืองดังกล่าว

    • พรรคก้าวไกล (เหลือ สส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 149 คน) ลงมติ ไม่เห็นชอบยกพรรค 149 คน
    • พรรคประชาธิปัตย์ (25 คน) ลงมติ เห็นชอบ 16 คน ไม่เห็นชอบ 2 คน งดออกเสียง 6 คน และไม่ลงคะแนน 1 คน
    • พรรคไทยสร้างไทย (6 คน) ลงมติ งดออกเสียง 6 คน
    • พรรคเป็นธรรม (1 คน) ลงมติ ไม่เห็นชอบ
    • พรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 คน) ลงมติ เห็นชอบ
    • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (1 คน) ลงมติ เห็นชอบ
    • พรรคใหม่ (1 คน) ลงมติ เห็นชอบ

    ทั้งนี้สังเกตได้ว่า ในพรรคการเมืองกลุ่มนี้ มี สส. จาก 4 พรรคการเมือง รวม 19 คน (ปชป. 16 คน และพรรคประชาธิปไตยใหม่, ครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ พรรคละ 1 คน) ที่ลงมติเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

    สำหรับพรรคใหม่ได้ร่วมโต๊ะเป็นสักขีพยานในระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัว 11 พรรคร่วมฯ รวม 314 เสียงด้วย แต่ไม่ถูกประกาศชื่อในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

  10. มติรัฐสภา 482:165 โหวตเศรษฐานั่งนายกฯ คนที่ 30

    เวลา 17.39 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ประกาศผลการลงมติอย่างเป็นทางการ โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 81

    เมื่อคะแนนเสียง “เห็นชอบ” มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 จากทั้งหมด 748 เสียง(สส. 498 คน และ สว. 249 คน) ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงถือว่านายเศรษฐาได้รับความไว้วางใจเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

    .
  11. สส.ก้าวไกล “สโตรก” กลางสภา ต้องปั๊มหัวใจก่อนนำตัวส่ง รพ. ด่วน

    ในระหว่างการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำเนินไปถึงการขานมติของสมาชิกรัฐสภา ลำดับที่ 738 ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในเวลา 17.07 น. เมื่อ สส. ซึ่งนั่งอยู่ตรงบริเวณที่นั่งพรรคก้าวไกล (กก.) ได้ทรุดลงกับพื้น ทำให้เพื่อน ๆ พากันลุกขึ้นด้วยความแตกตื่น

    ทันทีที่เกิดเหตุ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่นังอยู่ใกล้ ๆ ได้รุดเข้าไปดูอย่างรวดเร็ว

    ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เรียกหน่วยพยาบาลเข้ามาทำการปฐมพยาบาลเป็นการด่วน

    ภาพจากโทรทัศน์รัฐสภาฉายให้เห็นความชุลมุนภายในห้องประชุมชั่วขณะราว 2-3 นาที ก่อนที่ประธานจะสั่งให้ตัดภาพ พร้อมกับสั่งให้ชะลอการลงโหวตชั่วคราว

    นายพรเพชรกล่าวว่า ผมได้สั่งให้รถพยาบาลเข้ามาแล้ว และท่านใดเป็นเพื่อนเขา ไปด้วยกันก็ดี ไป รพ. ที่ใกล้เคียงที่สุด

    “ท่านเครียด แล้วเกิดสโตรกขึ้นมา ไปโรงพยาบาล เข้าใจว่าวชิรพยาบาล ปั๊มขึ้นมาได้ ถ้าใช้เวลาเร่งด่วน รีบไปโรงพยาบาลวชิรฯ ใกล้ ๆ... ต้องระวังนะครับ ของแบบนี้มาไม่ทัน”

    ด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้เผยแพร่ภาพผู้ป่วย และขอบคุณที่เคารพสิทธิผู้ป่วย

    เวลา 17.24 น. รัฐสภาได้กลับมาลงมติต่อจนครบ 747 คน

  12. สว. 13 คนที่โหวตให้ “พิธา” เกือบทั้งหมด โหวตให้เศรษฐา

    ยกเว้น พีระศักดิ์ พอจิต งดออกเสียง

    ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ - เห็นชอบ

    ประภาศรี สุฉันทบุตร - เห็นชอบ

    วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ - เห็นชอบ

    นพ.อำพล จินดาวัฒนะ - เห็นชอบ

    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา - เห็นชอบ

    เฉลา พวงมาลัย - เห็นชอบ

    ซากีย์ พิทักษืคุมพล - เห็นชอบ

    พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง - เห็นชอบ

    มณเทียร บุญตัน - เห็นชอบ

    พีระศักดิ์ พอจิต - งดออกเสียง

    วันชัย สอนศิริ - เห็นชอบ

    สุรเดช จิรัฐิติเจริญ - เห็นชอบ

    พิศาลมาณวพัฒน์ - เห็นชอบ

    bbc
    Image caption: 13 สว. ที่โหวตให้พิธา
  13. ผลการลงมติของประธาน/รองประธาน 2 สภา

    เวลา 16.50 น. บีบีซีไทยตรวจสอบผลการลงมติของประธานและรองประธาน 2 สภาซึ่งทั้ง 6 คนลงมติเรียบร้อยแล้ว พบข้อมูล ดังนี้

    สภาผู้แทนราษฎร

    • นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ลงมติ “งดออกเสียง” เพื่อความเป็นกลางทางการเมือง ส่วน สส. พรรคประชาชาติ (ปช.) ที่เหลือลงมติ “เห็นชอบ”
    • นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 สังกัดพรรคก้าวไกล ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ตามมติพรรคของเขา
    • นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 สังกัดพรรคเพื่อไทย ลงมติ “เห็นชอบ” ตามมติพรรคของเขา

    วุฒิสภา

    • นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา งดออกเสียง
    • พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ลงมติ “เห็นชอบ”
    • นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ลงมติ “เห็นชอบ”
  14. ด่วนเศรษฐา ทวีสิน ได้เสียงโหวตเกิน 375 เสียง ได้เป็นนายกฯ คนถัดไป

    ผลการโหวตให้ความเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (22 ส.ค.) หลังสมาชิกรัฐสภาลงมติไปแล้วทั้งสิ้น 616 คน ผลปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาโหวต “เห็นชอบ” ให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี เกิน 375 เสียงแล้ว ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ 748 คน

    สำหรับภาพรวมการลงมติในวันนี้ พบว่ากลุ่ม 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ประกาศจับมือกันอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) โหวต “เห็นชอบ” ให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ อย่างไม่แตกแถว ซึ่งรวมถึง สส. จากพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่โหวตเห็นชอบนายเศรษฐาเป็นนายกฯ คนต่อไปเช่นเดียวกัน ยกเว้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงนอกจากนี้ ในฝั่งพรรคเพื่อไทย นายเฉลิม อยู่บำรง ก็เป็นอีกคนที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงเมื่อถึงคิวเรียกชื่อของตนเช่นกัน

    ทางด้านฝั่งพรรคเสียงข้างน้อย พรรคก้าวไกลพร้อมใจกันโหวต “ไม่เห็นชอบ”ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เสียงค่อนข้างแตก โดยสมาชิกส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ลงคะแนนเสียง โดยจนถึงตอนนี้มีเพียง นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่โหวต “ไม่เห็นชอบ”

    ในส่วนของสว. จนถึงขณะนี้มีสว. ลงคะแนนเสียงไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 206 คนโดยเกือบ 2 ใน 3 ของสว. โหวต “เห็นชอบ” ให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯคนถัดไป

    Srettha
  15. ผลคะแนนเรียลไทม์ การโหวตเศรษฐา เป็นนายกฯ

    สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแล้ว 600 คน

    เห็นชอบ: 363

    ไม่เห็นชอบ: 142

    งดออกเสียง: 65

    ไม่ลงคะแนน: 30

  16. ผลคะแนนเรียลไทม์ การโหวตเศรษฐา เป็นนายกฯ

    สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแล้ว 500 คน

    เห็นชอบ: 307

    ไม่เห็นชอบ: 118

    งดออกเสียง: 50

    ไม่ลงคะแนน: 25

  17. ผลคะแนนเรียลไทม์ การโหวตเศรษฐา เป็นนายกฯ

    สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแล้ว 410 คน

    เห็นชอบ: 251

    ไม่เห็นชอบ: 100

    งดออกเสียง: 41

    ไม่ลงคะแนน: 18

    ตอนนี้ สมาชิกวุฒิสภา ลงคะแนนเห็นชอบเกิน 80 เสียงแล้ว หมายความว่า หากพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค เสียงไม่แตกแถว นายเศรษฐา จะได้เป็นนายกฯ

    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้ลงคะแนนแต่อย่างใด ส่วนพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สว. และน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกเสียง “เห็นชอบ”

  18. เศรษฐา ได้คะแนนเสียง สว. เกิน 70 เสียงแล้ว

    ตอนนี้ สมาชิกวุฒิสภา ลงคะแนน "เห็นชอบ" เกิน 70 เสียงแล้ว หมายความว่า หากพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค ออกเสียงแบบไม่แตกแถว นายเศรษฐา จะได้เป็นนายกฯ

    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้ลงคะแนนเสียงแต่อย่างใด ส่วน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สว. และ น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โหวต “เห็นชอบ”

  19. ผลคะแนนเรียลไทม์ โหวต เศรษฐา เป็นนายกฯ

    สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแล้ว 300 คน

    เห็นชอบ: 181

    ไม่เห็นชอบ: 76

    งดออกเสียง: 30

    ไม่ลงคะแนน: 13

  20. ผลคะแนนเรียลไทม์ โหวต เศรษฐา เป็นนายกฯ

    สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแล้ว 200 คน

    เห็นชอบ: 113

    ไม่เห็นชอบ: 55

    งดออกเสียง: 20

    ไม่ลงคะแนน: 12