เส้นทางอำนาจ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สู่หน้าม่านการเมือง “รัฐมนตรี” ในโผ พปชร.

พัชรวาท

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ตรงกลาง) ร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ที่ทำการพรรค พท. เมื่อ 23 ส.ค.
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หลังมีบทบาท “หลังม่าน” มานานหลายปี ได้เวลาที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จะย้ายมาเปิดการแสดง “หน้าม่าน” ในฐานะว่าที่รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

“ก็ขอโอกาสให้ว่าที่รัฐมนตรีทุกท่าน ขอให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก” เศรษฐากล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อว่าที่รัฐมนตรีที่สื่อเปิดเผยออกมา พร้อมระบุด้วยว่า รายชื่อ ครม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว

พรรคเพื่อไทย (พท.) จับมือจัดตั้งรัฐบาลผสมรวม 11 พรรคการเมือง ไม่เว้นกระทั่งพรรค “2 ลุง” ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

แต่ถึงกระนั้นชื่อ “ลุง” ดูจะยังเป็นของแสลงสำหรับ “รัฐบาลพิเศษสลายขั้ว” จึงไม่แปลกหาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถูกเรียกว่า “ลุงป้อม” หัวหน้าพรรค พปชร. จะส่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วัย 74 ปี น้องชายแท้ ๆ เข้าร่วมวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนตนเอง

ขณะที่ตัว พล.อ.ประวิตร คล้ายจงใจหายไปจากหน้าสื่อ ไม่เข้าร่วมวันแถลงจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง ไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ คนที่ 30 และไม่เข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเศรษฐาเป็นนายกฯ คนใหม่ ทว่าแกนนำพรรค พปชร. ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตรจะอยู่ดูแล และ “เป็นเสาหลักของพรรคพลังประชารัฐ” ต่อไป

บีบีซีไทยชวนทำความรู้จัก “ทายาทการเมือง” ซึ่งเป็นน้องร่วมสายเลือดของพี่ใหญ่ ป.ประวิตร

เลข 3 ในฉากชีวิต พล.ต.อ.พัชรวาท

ชีวิตของ พล.ต.อ.พัชรวาท พัวพันกับเลข 3 ในหลายโอกาส

ตอนเกิด เขาเป็นบุตรคนที่ 3 ของ พล.ต.ประเสริฐ-สายสนี วงษ์สุวรรณ มีพี่ใหญ่คือ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “ประยุทธ์” พี่รองคือ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และมีน้องชายฝาแฝดคือ พงษ์พันธุ์ หรือ “โค้ชก๊อก” อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอล (เสียชีวิตแล้ว) กับ พันธุ์พงษ์ หรือ “กุ๊ก”

ตอนเติบโตในวงราชการตำรวจ พล.ต.อ.พัชรวาท ขึ้นสู่จุดสูงสุดในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีโอกาสทำงานกับ 3 นายกฯ จากรัฐบาล 3 ชุด ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การเปิดชื่อ-เปิดตัว พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นส่วนหนึ่งของพรรค พปชร. เมื่อ 29 ก.ค. 2566 เกิดขึ้นหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ครั้งที่ 3/2566 โดย พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ลงนามในคำสั่งพรรค พปชร. ที่ 113/2566 แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

เช่นเดียวกับการเข้าครอบครองเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล “เศรษฐา” แม้เป็นการร่วมวงฝ่ายบริหารครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งที่ 3 ของ พล.ต.อ.พัชรวาท โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติมาก่อนในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร 2549 และ สนช. หลังรัฐประหาร 2557

คดี 7 ตุลา 2551 สะเทือนสถานะ-อำนาจ

ในช่วงนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 35 (2551-2552) พล.ต.อ.พัชรวาทต้องร่วมบริหารจัดการสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของมวลชน 2 สีเสื้อ ทั้งกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ พธม. และกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช.

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่จุดพลิกผันในชีวิตของประมุขสีกากีรายนี้ หนีไม่พ้นการสั่งสลายการชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน ของกลุ่ม พธม. เพื่อเปิดทางให้รัฐบาล “สมชาย” เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย

ผลที่ตามมาในอีก 1 ปีหลังจากนั้นคือ เขาถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ต่อมา ป.ป.ช. ได้นำคดีขึ้นฟ้องศาล มีนักการเมืองและนายตำรวจใหญ่ตกเป็นจำเลย 4 คน ประกอบด้วย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ คนที่ 26, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)

กระทั่ง 1 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 โดยให้เหตุผลว่า การปิดล้อมรัฐสภาของผู้ชุมนุมที่มีการปลุกระดมเพื่อบุกเข้ามายังสภา “ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ” เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในสภา โดยได้ทำตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบที่เรียกว่า “แผนกรกฎ 48” จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามคำฟ้อง

สลายชุมนุม

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, การสลายการชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเปิดทางให้รัฐบาล “สมชาย” เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย

แม้หลุดจากคดีมาได้ แต่ในช่วง 8 ปีของการต่อสู้ทางกฎหมาย พล.ต.อ.พัชรวาทต้องสูญอำนาจ-เสียสถานะไป ก่อนกู้กลับคืนมาได้เมื่ออำนาจการเมืองเปลี่ยนมาอยู่ในมือรัฐบาล “ประยุทธ์ 1”

ในวันถูกนายกฯ สั่งปลดออกจากราชการ “พี่ป้อม” นั่งเป็น รมว.กลาโหมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ผู้นำรัฐบาลต้องชิง “แจ้งข่าว-บอกกล่าวเป็นการภายใน” ต่อ พล.อ.ประวิตร ก่อนมีคำสั่ง

ในวันได้ตำแหน่งคืนกลับมา “พี่ป้อม” นั่งเป็นรองนายกฯ ของรัฐบาลประยุทธ์ พ่วงด้วยรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

บีบีซีไทยสรุปไทม์ไลน์ไว้ ดังนี้

  • 7 ก.ย. 2552 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาทกับพวกรวม 4 คน กรณีสั่งสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551
  • 9 ก.ย. 2552 นายกฯ อภิสิทธิ์มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แล้วให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร.
  • 9 ก.ย. 2552 พล.ต.อ.พัชรวาทประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยอ้างว่าเหลือเวลาทำงานอีก 21 วัน “ขอพักผ่อนก่อนเกษียณอายุราชการ”
  • 19 ต.ค. 2552 อภิสิทธิ์ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ปลด พล.ต.อ.พัชรวาทออกจากราชการ (เมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษระหว่าง ปลดออก หรือ ไล่ออก)
  • 5 พ.ย. 2552 พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
  • 30 ธ.ค. 2552 ก.ตร. มีมติว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้สั่งยกโทษ ก่อนทำหนังสือแจ้งให้นายกฯ รับทราบ
  • 28 ธ.ค. 2553 พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ต่อศาลปกครอง ฐานละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามมติ ก.ตร. และขอให้คืนสิทธิประโยชน์ให้แก่เขา
  • 27 ม.ค. 2554 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า พล.ต.อ.พัชรวาทยื่นฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี 90 วัน
  • 20 ธ.ค. 2554 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง รับคำฟ้องของ พล.ต.อ.พัชรวาทไว้พิจารณา ทั้งนี้ทนายความของอดีต ผบ.ตร. ระบุว่าลูกความของเขาต้องการสู้เรื่องนี้เพราะ “เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ประวัติในการรับราชการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้ออกจากราชการเป็นให้กลับเข้ารับราชการ และให้เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร.”
  • 28 ก.พ. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้นายกฯ “ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด”
  • 17 ก.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 93/2557 ให้ยกโทษปลดออกจากราชการ คืนตำแหน่ง ผบ.ตร. ให้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท

ผลจากการเคยถูกปลดจากตำแหน่ง ผบ.ตร. ทำให้เกิดคำถามว่าเขาจะขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงว่า เมื่อมีคำสั่ง คสช. ให้เพิกถอนการปลดนั้นแล้ว ก็เท่ากับการปลดนั้นหมดไป “ก็เหมือนว่าคำสั่งปลดไม่เคยมี”

ป๊อด

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ., สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ คนที่ 26 และ พล.ต.อ.พัชรวาท ผบ.ตร. (ซ้ายไปขวา) ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการบริหารจัดการการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 14 ก.ย. 2551

“คีย์แมนบ้านป่ารอยต่อฯ”

หลังจบภารกิจ “กู้เกียรติยศศักดิ์ศรี” ชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ได้กลับมาเป็น “ตัวแสดงหลัก” ทางการเมือง และถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “คีย์แมนบ้านป่ารอยต่อฯ” อันหมายถึงมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน และมีสำนักงานตั้งอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.)

ไม่ว่านายทหาร นายตำรวจ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ หากเดินทางไปพบ พล.อ.ประวิตรที่ “บ้านป่ารอยต่อฯ” หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีโอกาสเจอ พล.ต.อ.พัชรวาทประจำการอยู่ที่นั่น โดยเฉพาะในจังหวะที่ต้องตกลง-ต่อรอง-ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ

ในช่วงตั้ง ครม. รัฐบาล “ประยุทธ์ 2” มีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทติดโผ มท.1 ทว่าพี่แท้ ๆ ชิงปฏิเสธข่าว โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวเมื่อ พ.ค. 2562 ว่า “ไม่มี ๆ พัชรวาทเลิกแล้ว” และ “ไม่เล่น” การเมืองแล้ว

เช่นเดียวกับในคราวเกิดปฏิบัติการ “กบฏล้มนายกฯ” ในระหว่างฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อ ส.ค.-ก.ย. 2564 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ตัวเดินเกม” ล่าเสียงสนับสนุนจาก สส. ขั้วรัฐบาลให้โหวต “ไม่ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ ชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาทก็ถูกโยง-ถูกอ้างเข้าไปเกี่ยวข้องโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีสมาชิกพรรค พปชร. รายใดออกมาปฏิเสธอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

กระทั่งวันที่พลพรรค พปชร. เข้าไปประชุมภายในบ้านป่ารอยต่อฯ 19 ม.ค. 2565 และมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสกับพวกรวม 21 คนพ้นพรรค ก่อนที่ สส. กลุ่มผู้กองธรรมนัสจะยกพล-ย้ายค่ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทก็ปรากฏในโครงสร้างใหม่ของพรรค ศท. ในฐานะที่ปรึกษาพรรค แต่จนแล้วจนรอด น้องชาย พล.อ.ประวิตรผู้นี้ ก็ไม่ได้เข้าไปรับตำแหน่งในพรรคใด

ทุกความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชรวาทไม่เคยเปิดหน้า-เปิดปากให้สัมภาษณ์สื่อ แม้แต่ในวันที่ได้รับแต่งตั้งจากพี่ชายให้เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. ก็มีเพียงชื่อในเอกสารข่าว

พื้นที่แรกที่อดีตนายพลตำรวจวัย 74 ปีเลือกใช้เป็น “ภาพเปิดตัว” หน้าม่านการเมืองคือ พิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ซึ่งจัดขึ้น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อ 23 ส.ค.

พล.ต.อ.พัชรวาทปรากฏกายแทนพี่ชาย ยืนอยู่แถวหน้า ระนาบเดียวกับหัวหน้าพรรคร่วมฯ คนอื่น ๆ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส เลขาธิการพรรค พปชร. และ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และ กก.บห. พปชร. ร่วมคณะ

ภาพที่เกิดขึ้นในวันนั้นสามารถแทนคำตอบ-คำอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเตรียมกระโจนขึ้นเวทีการเมืองเต็มตัว ซึ่งไม่กี่วันต่อมา 3 ตัวแทนพรรค พปชร. ก็ปรากฏชื่อเป็น 3 จาก 4 ว่าที่รัฐมนตรีในโควตาพรรค พปชร.

พล.ต.อ.พัชรวาท (ขวาสุด) ยืนข้าง ๆ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระหว่างร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ เมื่อ 23 ส.ค.

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.พัชรวาท (ขวาสุด) เป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร พี่ชาย ร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ เมื่อ 23 ส.ค.

ทำไมต้องกระทรวงทรัพยากรฯ

ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศจุดยืน “มีลุง ไม่มีเรา” ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันให้แกนนำพรรค พท. ต้องส่งสัญญาณในทำนองเดียวกันตามมา โดยระบุว่าจะไม่จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค “2 ลุง”

ขณะที่พรรค พปชร. แก้เกม-แก้วาทกรรมกลับว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ แต่ไม่แล้ง” “มีเรา ไม่มีแล้ง มีน้ำ ไม่มีจน” พ่วงด้วย “มีเรา มีที่ทำกิน มีที่ดิน ไม่มีจน” พยายามฉายภาพความเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาที่ดินและการบริหารจัดการน้ำของรองนายกฯ ประวิตร

แม้แต่วันที่ ไผ่ ลิกค์ ออกมาประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า 40 สส. ของพรรคพร้อมโหวตเห็นชอบ-ส่งเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็มีการส่งสัญญาณอย่างไม่ปิดบังว่าพรรคพวก “ลุงป้อม” ประสงค์สิ่งใด

“ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องรัฐบาล คุยแต่นโยบาย ซึ่งจุดยืนของเราคือ ‘มีลุง ไม่มีแล้ง’” ไผ่กล่าวเมื่อ 10 ส.ค. ซึ่งขณะนั้น พรรค พท. ยังไม่ได้เปิดตัวพรรค พปชร. เป็นพรรคร่วมฯ แต่อย่างใด

สุดท้ายเมื่อพรรค พปชร. ที่มี สส. 40 คน ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง จึงไม่แปลกหาก “พรรคลุงป้อม” จะขอจับจองกระทรวงดิน (เกษตรฯ) และกระทรวงน้ำ (ทรัพยากรฯ) แล้วส่ง (ลูก)น้องคนสนิท และน้องชายคลานตามกันมา ไปนั่งเป็นเจ้ากระทรวง

ลุงป้อม

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท ว่าที่รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 25 และเรียนเตรียมทหาร ตท. รุ่นที่ 9 จากนั้นได้ศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์ (พัฒนาสังคม) จาก ม.เกษตรศาสตร์ และจบหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง (วปม.) รุ่นที่ 2 ด้วย

น้องประวิตรต้องลาออกจากกี่บอร์ด หากรับตำแหน่ง รมต.

นอกจากสายสัมพันธ์อันดีกับคนมีสีและคนการเมือง นายพลตำรวจนอกราชการรายนี้ยังรู้จักนักธุรกิจใหญ่มากหน้าหลายตา

หาก พล.ต.อ.พัชรวาท เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เขาต้องลาออกจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) กี่แห่ง?

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ปรากฏเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างน้อย 4 บริษัท ดังนี้

1. บมจ. ซีพี ออลล์ (CP ALL) - ประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ/ กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล/ กรรมการอิสระ ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ 19 ก.พ. 2556

เว็บไซต์ซีพี ออลล์ ระบุความเชี่ยวชาญของเขาเอาไว้ 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารและการจัดการองค์กรขนาดใหญ่, การบริหารความเสี่ยง, การจัดการในภาวะวิกฤต, กฎหมายและคดี และด้านความมั่นคงและสังคม

นอกจากนี้ยังระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านความมั่นคงและการพัฒนาสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในการให้คำแนะนำ เรื่อง มาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยและบริหารความเสี่ยงของร้าน 7-11, นโยบายของภาครัฐที่อาจมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัท และการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสังคม ชุมชน ในภาพรวมและใกล้ ๆ ร้าน 7-11

2. บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) - ประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ/ กรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน/ กรรมการอิสระ ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ 11 ส.ค. 2559 โดยมีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ 13 ประการ ร่วมกับบอร์ดคนอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งสิ้น 15 คน ทว่ามี พล.ต.อ.พัชรวาทเป็น “นายพล” เพียงคนเดียว

3. บมจ. คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ – รองประธานกรรมการ/ กรรมการอิสระ โดยมีนายพลตำรวจ-ทหารอื่นอีก 3 รายนั่งอยู่ในบอร์ดซึ่งที่มีทั้งสิ้น 10 คน

เว็บไซต์ของบริษัทได้ระบุประวัติฉบับย่อของกรรมการรายนี้ โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “พล.ต.อ.พัชรวาทถือเป็นข้าราชการระดับสูงที่ได้รับความนับถืออย่างมาก ทั้งยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย”

4. บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (Energy Absolute) – กรรมการอิสระ/ กรรมการตรวจสอบ/ ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน/ กรรมการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ 18 เม.ย. 2557

เว็บไซต์บริษัทเปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทของ พล.ต.อ.พัชรวาทว่า มีหุ้น 0.0305%

นอกจาก 4 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว พล.ต.อ.พัชรวาทยังมีชื่อปรากฏเป็น กรรมการ บจ. อุตสาหกรรมนมไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รวมถึงเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วย

รัฐธรรมนูญ มาตรา 187 กำหนดให้รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

ความมั่งคั่งหลัก “ร้อยล้าน” ของนายพลตำรวจนอกราชการ

แม้เกษียณอายุราชการมา 14 ปีแล้ว แต่ พล.ต.อ.พัชรวาท ยังไม่หยุดทำงานและหารายได้

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ในคราวที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง สนช. เมื่อเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่สาธารณชนมีโอกาสทราบข้อมูล พล.ต.อ.พัชรวาทแจ้งว่า มีรายได้ประจำจากค่าตอบแทน/ค่าเบี้ยประชุม ปีละประมาณ 13 ล้านบาท และไม่มีหนี้สิน

พล.ต.อ.พัชรวาทแจ้งว่า มีทรัพย์สิน 216,130,510 บาท แบ่งเป็น ทรัพย์สินของตัวเองจำนวน 171,804,917 บาท และของ สมถวิล วงษ์สุวรรณ คู่สมรส 44,325,593 บาท

บ้านหลังที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ย่านโชคชัย 4 ตีมูลค่าไว้ราว 6 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ รวมมูลค่าราว 10 ล้านบาท

ส่วนเงินฝากใน 11 บัญชีของอดีตนายพลตำรวจรายนี้ มีกว่า 52.1 ล้านบาท และยังมีเงินลงทุนอีก 81.2 ล้านบาท และสิทธิและสัมปทานกว่า 1.1 ล้านบาท

เขายังครอบครองที่ดิน 4 แปลง มูลค่า 8.6 ล้านบาท, รถยนต์ 3 คัน มูลค่าราว 4.5 ล้านบาท และยังมีทรัพย์สินอื่นอีกกว่า 7.5 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพระสมเด็จ พระเครื่องเลี่ยมกรอบทองคำ เหรียญทองคำ เหรียญรัชกาลทองคำรวม 82 องค์ และสร้อยทองคำ 1 เส้น แจ้งมูลค่าไว้ 7.5 ล้านบาท

หากเทียบกับคราวยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเข้ารับตำแหน่ง สนช. ปี 2557 ที่แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 137,638,191 บาท นั่นเท่ากับว่า พล.ต.อ.พัชรวาท รวยขึ้น 78,492,319 บาท ในเวลาไม่ถึง 5 ปี

ส่วนความมั่งคั่งล่าสุดของเขาเป็นอย่างไร สังคมจะได้รับรู้-รับทราบในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา