“การ์ดราษฎร” : เปิดโครงสร้าง ภารกิจ และผู้สนับสนุน

การ์ดอาสา

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

แนวร่วมของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ราษฎร" ที่รับหน้าที่รักษาความปลอดภัยในระหว่างการชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว ปฏิบัติหน้าที่อย่างรัดกุมมากขึ้น หลังเกิดความรุนแรงเมื่อ 2 วันก่อน ขณะที่ "เฮียบุ๊ง-ทราย" เจ้าของฉายา "พ่อยกและแม่ยกแห่งชาติ" ได้ขนอุปกรณ์ป้องกันชุดใหญ่มาแจกจ่าย "การ์ดราษฎร"

ชายฉกรรจ์หลายสิบคนคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่แกนนำกลุ่มราษฎรที่ทยอยปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุมห้าแยกลาดพร้าว

ชายกลุ่มนี้สวมใส่ปลอกแขนสีแดงซึ่งมีภาพรอยยิ้ม และคำว่า MAYHEM ซึ่งบีบีซีไทยได้รับคำยืนยันว่าเป็นสัญลักษณ์ของแนวร่วมการ์ดราษฎรที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ไฟต์คลับ" และเป็น "การ์ดชุดที่แกนนำเลือกแล้ว" ว่าให้ทำหน้าที่ประชิดติดตัว และประจำการอยู่ที่เวทีปราศรัยหลัก

การ์ดกลุ่มไฟต์คลับทุกคนแต่งกายด้วยชุดสีดำ และสวมใส่เสื้อกั๊กสีดำซึ่งสอดวัสดุแข็งกันกระแทกไว้ภายใน มีลักษณะคล้ายเกราะอ่อน อีกทั้งยังปิดหน้าปิดตาค่อนข้างมิดชิด ทำให้ภาพการ์ดชุดดูแลแกนนำ ณ วันนี้ แตกต่างไปจากภาพเดิมระหว่างการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สาขารัชโยธิน สำนักงานใหญ่ เมื่อ 2 วันก่อน (25 พ.ย.) เนื่องจากการ์ดในวันนั้นไม่ได้สวมใส่เครื่องป้องกันใด ๆ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ มีเพียง "รองเท้าผ้าใบกับใจถึง ๆ"

การ์ดอาสา

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/ BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สัญลักษณ์ที่แขนขวาของการ์ดราษฎรชุดประกบแกนนำ

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวัตถุคล้ายระเบิดและอาวุธปืน หลังการชุมนุมเมื่อ 25 พ.ย. ยุติลง ทำให้กลุ่มราษฎรจัดเตรียมการ์ดอย่างน้อย 10 ชุด ราว 2,000 คนกระจายกำลังกันดูแลพื้นที่โดยรอบ ทั้งฝั่ง ถ.พหลโยธิน, ถ.วิภาวดีรังสิต, ถ.ลาดพร้าว

นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดลาดตระเวนรอบพื้นที่การชุมนุมชั้นใน เพื่อสอดส่องบุคคลต้องสงสัย และป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์

เปิดกระเป๋า "การ์ดราษฎร"

อุปกรณ์ป้องกันตัวและรับมือกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ไม่ประสงค์ดีถูกตระเตรียมมาไว้อย่างครบครัน

การ์ดราษฎรผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีไทยว่า โดยปกติกระเป๋าเป้ของเขาจะมีเสื้อกันฝน ผ้าขนหนู ไฟฉาย น้ำดื่ม พร้อมด้วยหมวกนิรภัย แว่นตาแบบครอบ และหน้ากากป้องกันสารเคมี ที่ต้องพกติดตัวในวันที่มวลชนเคลื่อนขบวน หรือประเมินแล้วว่ามีโอกาสเกิดเหตุปะทะ

อย่างไรก็ตาม การ์ดที่อยู่แนวหน้าจะมีอุปกรณ์เสริมพิเศษเป็นถุงมือสำหรับรื้อรั้วลวดหนาม โล่ทรงกลมนูนเพื่อบุกแนวกันของตำรวจ และโล่ทรงโค้งเพื่อป้องกันการใช้เครื่องยิงคลื่นเสียงความถี่สูง (LRAD)

ขณะที่หัวหน้าการ์ดแต่ละชุดจะถือวิทยุสื่อสาร (ว.) ไว้คอยติดต่อประสานงานผ่าน "กองบัญชาการลอย" ซึ่งมีการกำหนดตัวแกนกลางประสานงานให้การ์ดทุกกลุ่มได้รับทราบก่อนถึงวัน-เวลาปฏิบัติการ

การ์ดอาสา

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

"กระสุนนัดหนึ่งที่เข้าร่างน้อง ทำให้รู้ว่าต้องเซฟตี้"

จุดเปลี่ยนที่ทำให้การ์ดราษฎรเริ่มแบ่งบท-กำหนดกลไกทำงานภายในให้ชัดเจนขึ้น มาจาก 2 เหตุการณ์หลัก

เหตุการณ์แรกคือ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไม่ให้ไปชุมนุมหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย และปะทะกับผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง เมื่อ 17 พ.ย.

อีกเหตุการณ์คือ ความรุนแรงที่ถูกตำรวจสรุปว่าเป็น "เหตุวิวาทของการ์ดอาชีวะจากปัญหาส่วนตัว" จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อ 25 พ.ย.

"ในเรื่องร้าย มันก็มีเรื่องดีนะ เพราะกระสุนนัดหนึ่งที่เข้าร่างน้องเขา ทำให้รู้ว่าต้องเซฟตี้แล้ว และรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก" ปกรณ์ พรชีวางกูร หรือ "เฮียบุ๊ง" กล่าวกับบีบีซีไทย

เขาประกาศรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการ์ดอาชีวะปทุมฯ ที่ถูกยิงเมื่อ 25 พ.ย. ซึ่งขณะนี้รายจ่ายได้ "แตะหลักล้าน" แล้ว เพื่อแลกกับการให้แนวร่วมการ์ดกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในระบบระเบียบ และรักษากฎความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

"วันนี้การ์ดที่มา ก็ยอมใส่ชุดเซฟตี้อย่างเต็มที่ แต่ก็ให้เขาประเมินหน้างานด้วย ถ้าไม่มีเหตุปะทะก็แล้วแต่คุณ แต่ถ้ามี ก็ต้องเซฟ...ผมคุยกับแกนนำการ์ดแล้วว่าเงินที่เอามาจ่ายให้เขา (การ์ดอาชีวะปทุมฯ ที่ถูกยิง) ก็เป็นเงินบริจาค แทนที่จะได้เอาไปทำอย่างอื่นให้ม็อบ ต้องเอามาจ่ายให้คน ๆ เดียว เขาก็ยอมรับ" เฮียบุ๊งกล่าว

การ์ดอาสา

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

ปกรณ์ได้รับสมญานามว่า "พ่อยกแห่งชาติ" คู่กับ ทราย เจริญปุระ นักแสดงสาว ที่กลายเป็น "แม่ยกแห่งชาติ" หลังประกาศตัวเป็น "ท่อน้ำเลี้ยงม็อบราษฎร" ทำหน้าที่จัดหาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องปั่นไฟ รถสุขา อุปกรณ์ป้องกันภัย และสารพัดปัจจัยมาสนับสนุนการชุมนุม ซึ่งมีทั้งที่ควักทุนส่วนตัวและใช้เงินบริจาคจากประชาชน

อุปกรณ์ป้องกันภัยของการ์ด สนนราคาที่หัวละ 3,000-4,000 บาท ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เฮียบุ๊ง-ทรายระดมจัดหามา โดยวันนี้มีการนำเสื้อกั๊กสีดำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเกราะอ่อนมาแจกจ่ายให้การ์ดอาสาบางส่วนด้วย ทว่าเฮียบุ๊งยืนยันว่า "ผมไม่แจกของอะไรที่ผิดกฎหมายแน่"

ก่อนหน้านี้ ปกรณ์ได้แสดงความคับข้องใจผ่านการให้สัมภาษณ์สื่ออย่างน้อย 2 สำนักคือ สถานีโทรทัศน์ PPTV และ MCOT HD ต่อกรณีที่การ์ดอาชีวะรับอุปกรณ์ป้องกันจากเขาไปแล้ว แต่กลับไม่นำไปใช้งาน เพราะ "อาชีวะต้องโชว์ช็อป"

"ผมขอใช้คำว่าผมเข้าไม่ถึงความเป็นอาชีวะจริง ๆ ไม่เข้าใจความคิดของช่างกลอาชีวะ" เฮียบุ๊งกล่าว

เฮียบุ๊ง

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เฮียบุ๊งบอกว่า เขากับทรายจะลดบทบาทลงตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งไม่ใช่เพราะน้อยใจชาวเน็ต แต่เนื่องจากภาระที่รับผิดชอบเกินกำลัง แต่ยังพร้อมสนับสนุนรถสุขา และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมทุกรายโดย "ให้ส่งบิลมาเบิกได้เลย พร้อมหลักฐาน"

อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า เหตุรุนแรงหลังการชุมนุมที่ SCB ทำให้เกิดการละลายพฤติกรรมของการ์ดทุกกลุ่ม สะท้อนผ่านการที่แกนนำการ์ดได้ติดต่อขอรับอุปกรณ์ป้องกันจากเขาแล้ว

แต่ถึงกระนั้น ชายที่สวมใส่ปลอกแขน "ทีมการ์ดฟันเฟืองประชาธิปไตย" รายหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่า การ์ดที่สวมเครื่องป้องกันเพราะต้องทำหน้าที่ดูแลแกนนำ แต่สำหรับอาชีวะอย่างเขาคิดว่าไม่จำเป็น

"อาชีวะเราไม่ได้รับของ (ชุดป้องกัน) เลยนะ เราสบาย ๆ อยู่แล้ว มาชุดนี้ก็ดูแลความปลอดภัยให้มวลชนได้ เพราะคล่องตัวกว่า" ชายผู้สวมใส่เสื้อยืดธรรมดากล่าว โดยที่ข้างกายของเขามีเพื่อนการ์ดกลุ่มเดียวกันอีก 2 คนซึ่งแต่งกายแบบเดียวกัน แต่เป็นมีการพิมพ์ลายของสถาบันอาชีวะที่เขาสังกัด ทว่าพวกเขาไม่ได้สวมใส่เสื้อช็อปของสถาบันแต่อย่างใด

ผ่าโครงสร้าง "การ์ดราษฎร"

ความเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนของฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาลภายใต้คำขวัญ "ทุกคนคือราษฎร" และ "ทุกคนคือแกนนำ" ที่ยืดเยื้อมา 5 เดือน ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ "ฟรีไมค์" ใคร ๆ ก็ปราศรัยได้ และ "ฟรีการ์ด" ใคร ๆ ก็ช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมได้ ทำให้ขณะนี้แนวร่วมการ์ดราษฎรมี 3 กลุ่มหลัก ซึ่งมีทั้งการ์ดอาสาทั่วไป และการ์ดที่ผ่านการฝึกอบรบมา โดยแต่ละกลุ่มจะมี "พี่ใหญ่" คอยกำกับทีมอีกชั้นและร่วมวางแผนภารกิจการชุมนุมเป็นครั้ง ๆ ไป

แนวร่วมการ์ดราษฎรมี 3 กลุ่มหลัก ซึ่งมีทั้งการ์ดอาสาทั่วไป และการ์ดที่ผ่านการฝึกอบรบมา โดยแต่ละกลุ่มจะมี "พี่ใหญ่" คอยกำกับทีมอีกชั้นและร่วมวางแผนภารกิจการชุมนุมเป็นครั้ง ๆ ไป

กลุ่มแรกเรียกตัวเองว่า "การ์ดวีโว่" เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาและประชาชนราว 200-300 คนในรูปแบบการ์ดอาสา โดยมี ปิยรัฐ จงเทพ หรือ "โตโต้" เป็นหัวหน้า ทว่าในการชุมนุมที่แยกลาดพร้าว การ์ดกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าร่วมภารกิจ

กลุ่มที่สองเรียกตัวเองว่า "ไฟต์คลับ" เพิ่งปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยปกรณ์ระบุว่า "เป็นหน้าที่ของแกนนำในการตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้ใคร ผมมีหน้าที่เพียงส่งชื่อไปให้เขาพิจารณา ซึ่งเขาก็เคาะมาและจะใช้กลุ่มนี้เป็นหลักตลอดไป"

พลาม พรมจำปา ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นอดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร นำทีม การ์ดของเขาร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในการชุมนุมที่ SCB เมื่อ 25 พ.ย.

ที่มาของภาพ, PARIS JITPENTOM/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พลาม พรมจำปา ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นอดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร นำทีม การ์ดของเขาร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในการชุมนุมที่ SCB เมื่อ 25 พ.ย.

กลุ่มที่สามเรียกตัวเองว่า "การ์ดภาคีเพื่อประชาชน" เป็นการควบรวมการ์ดอาสาอย่างน้อย 10 กลุ่มมาไว้ภายใน โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีกลุ่มย่อยอีก รวมเบ็ดเสร็จมีสมาชิกราว 2,000 คน โดยมี "เก่ง อาชีวะ" และ "เอ็ม ปลดแอก" รับบท "พี่ใหญ่" ทั้งนี้ กลุ่มที่เข้าปฏิบัติภารกิจในวันนี้ มีอาทิ การ์ดมวลชน, การ์ดราษฎร, การ์ดรบพิเศษ, ราษฎรฝั่งธน และการ์ดปลดแอกย่อย

  • ทีมการ์ดปลดแอก : ปกป้องมวลชนและทีมงานให้ปลอดภัย
  • ทีมการ์ดมวลชน : ปกป้องประชาชน
  • ทีมการ์ดราษฎร : ปกป้องราษฎร
  • ทีมราษฎรฝั่งธน : สนับสนุนข้อเรียกร้อง, ปกป้องและดูแลประชาชน (เกิดจากกลุ่มการ์ดอาชีวะ)
  • ทีมการ์ดเฉพาะกิจ : ปกป้องประชาชนแบบเฉพาะกิจ
  • ทีมการ์ดอากิระพลังมวลชน : ปกป้องประชาชน, สนับสนุนข้อเรียกร้อง (เกิดจากกลุ่มนักเพาะกาย)
  • ทีมองค์กรบอดี้การ์ด สเปเชียล ฟอร์ส (Bodyguard Special Forces : BSF) หรือการ์ดรบพิเศษ : ปกป้องประชาชนเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง (มี พลาม พรมจำปา ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นอดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร เป็นหัวหน้าทีม)
  • ทีมนกพิราบขาว : ปกป้องมวลชนให้ได้ชุมนุมอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และเฝ้าระวังบุคคลไม่หวังดี
  • ทีมการ์ดฟันเฟืองประชาธิปไตย : ดูแลผู้ชุมนุม, สนับสนุนข้อเรียกร้อง (เกิดจากกลุ่มอาชีวะร่วมกันปกป้องพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม)
  • ทีมอาชีวะพิทักษ์ประชาชน : ดูแลประชาชน, สนับสนุนข้อเรียกร้อง

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปข้อมูลที่ได้รับจากการ์ดอาสารายหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นชื่อและคำจำกัดความในภารกิจการ์ดราษฎรของแต่ละกลุ่ม