โควิด-19: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จับตาการระบาดในภาคใต้ หลังเกิดคลัสเตอร์ยะลามีผู้ติดเชื้อกว่า 400 ราย กระจาย 12 จังหวัด

บุคลากรทางการแพทย์กำลังตรวจคัดกรองเชิงรุกในจังหวัดยะลา (ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564)

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, บุคลากรทางการแพทย์กำลังตรวจคัดกรองเชิงรุกในจังหวัดยะลา (ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนมัรกัส บ้านเปาะยานิ ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งพบว่ามีการระบาดมาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 402 ราย กระจายไปใน 12 จังหวัดภาคใต้ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าพบว่าการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เบตานอก จ.นราธิวาสแล้ว

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่าจากการรายงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในพื้นที่พบการระบาดดังกล่าวทั้งในโรงเรียน และสถานที่ประกอบศาสนกิจโดยกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ ประกอบด้วยในนราธิวาส 111 ราย ยะลา 102 ราย สตูลและ ปัตตานีจังหวัดละ 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรังและภูเก็ตจังหวัดละ 3 ราย

พญ. อภิสมัยกล่าวว่าจากการสอบสวนโรคพบว่าพื้นที่เริ่มต้นของการติดเชื้อคลัสเตอร์ยะลามีนักเรียนจากหลายจังหวัดมาเรียนประมาณ 500 คน จาก 17 จังหวัด มีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น การรวมกลุ่มรับประทานอาหาร ทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ใช้ถาดอาหารหรือแก้วน้ำร่วมกัน เป็นต้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทำการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ทันที อีกทั้งประสานยังจังหวัดปลายทาง เนื่องจากในขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอมซึ่งนักเรียนมีการเดินทางกลับบ้าน

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง คือ ในเดือน ก.ค. จะมีเทศกาลวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการรวมกลุ่ม จัดเลี้ยง และเดินทางข้ามจังหวัด จำเป็นต้องฟังประกาศของแต่ละจังหวัดต่อไป

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสวมชุดป้องกันเร่งการตรวจเชิงรุกภายในโรงพยาบาลบันนังสตา จ.ยะลาเมื่อเดือนเม.ย.

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสวมชุดป้องกันเร่งการตรวจเชิงรุกภายในโรงพยาบาลบันนังสตา จ.ยะลาเมื่อเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ไม่ได้ระบุถึงสายพันธุ์ของโควิด-19 ที่กำลังระบาดในคลัสเตอร์ภาคใต้ในขณะนี้ แต่กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ และจะรายงานสถานการณ์โดยละเอียดในสัปดาห์นี้

ยืนยันเป็นสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) กระจายออกจากนราธิวาสแล้ว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ซึ่งพบในเป็นครั้งแรกที่ จ.นราธิวาส โดยยืนยันว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เบตาได้ลุกลามออกนอก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่ลุกลามไปยังภาคอื่น

นพ.ศุภกิจกล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เบตาไม่รวดเร็วเท่าสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) และอัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) ซึ่งตามหลักแล้ว หากพบเชื้อกลายพันธุ์จะแจ้งให้พื้นที่ทำการควบคุมเพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปเพิ่มไปวงที่ 2 และ วงที่ 3

สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เบตาได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แต่เมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 29 พ.ค.

บุคลากรทางการแพทย์กำลังตรวจคัดกรองเชิงรุกในจังหวัดยะลา (ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564)

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

แม้ว่าสายพันธุ์เบตาจะมีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย นพ.ศุภกิจอธิบายว่า วัคซีนที่ไทยมีอย่างแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 10.4% แต่ไม่สามารถประเมินการป้องกันอาการรุนแรงได้ ส่วนวัคซีนซิโนแวคมีผลการศึกษาในห้องทดลองว่า น้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความสามารถในการยับยั้งสายพันธุ์เบตาลดลง 70% เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม

ผู้ป่วยสะสมไทยขยับขึ้นรั้งอันดับ 77 ของโลก

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,175 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,990 ราย เรือนจำ 140 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 45 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 221,306 ราย

Nope

หากนับเฉพาะระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 192,443 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 901 ราย

ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 33,859 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,436 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 395 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (624 ราย) สมุทรปราการ (544 ราย) นครปฐม (359 ราย) ชลบุรี (187 ราย) และสมุทรสาคร (179 ราย)

โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 1,658 ราย คิดเป็น 0.75% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.81%

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19 : วิธีจัดการศพไทยมุสลิมที่เสียชีวิตจากไวรัสร้าย ในพิธี “ตะยัมมุม”

รายละเอียดผู้เสียชีวิตทั้ง 29 ราย ดังนี้

  • กรุงเทพฯ 17 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ปทุมธานี 2 รายสระบุรี นครราชสีมา สงขลา นราธิวาส จังหวัดละ 1 ราย
  • ค่ากลาง อายุ 70 ปี (30- 100 ปี)
  • ปัจจัยเสี่ยง/โรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคปอด โรคไต รวมทั้งผู้ไม่มีโรคประจำตัว
  • ครองเตียงนานที่สุด 27 วัน ขณะที่ 38% เสียชีวิตระหว่าง 0-6 วันหลังยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ

ส่วนข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 20 มิ.ย. ว่าวานนี้มีการฉีดไป 91,879 โดส ทำให้ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการให้บริการไปแล้ว 7,679,057 โดส

โดยกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ได้รับการจับตามองในการให้บริการวัคซีน คือ ครู ซึ่งมีการเริ่มต้นเปิดเทอมนั้น มีรายงานการฉีดเข็มแรก 163,404 ราย และฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 33,621 ราย