Exclusive: สัมภาษณ์พิเศษ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ลั่นวาจาเป็นนายกฯ “ที่แตกต่าง” เพื่อคนไทย

.
คำบรรยายภาพ, “แต่ความรู้สึกของยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว” พิธา บอกกับบีบีซี
  • Author, โจนาธาน เฮด
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่นักการเมืองทั่วไปที่คนไทยอาจคุ้นเคย

ในประเทศที่อายุเฉลี่ยของคณะรัฐมนตรี อยู่ที่ 65 ปี ในประเทศที่การให้ความเคารพผู้อาวุโสถูกมองว่าเป็นประเพณีที่ดีงาม เมื่อหันมามองหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนนี้ เขาดูอายุน้อยกว่าอายุจริงวัย 42 ปี พร้อมด้วยความมั่นใจที่แสดงออกมาเต็มเปี่ยม เสริมให้ตัวเขายิ่งดูโดดเด่น

ภายหลังผลการเลือกตั้งที่เรียกว่า “หักปากกาเซียน” เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และสร้างความตื่นตะลึงต่อขั้วอนุรักษนิยม ที่ครอบงำการเมืองไทยมาตลอดประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ชัยชนะนี้ของก้าวไกล ทำให้ พิธา ขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบ 30 ปี

ตอนนี้ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กำลังเจรจาอย่างเข้มข้นกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 2 จากเดิม พท. ชนะเลือกตั้งมาตลอด 22 ปีที่ผ่านมา และเดิมทีผู้สังเกตการณ์ก็คาดว่า พท. จะชนะเลือกตั้ง 2566 เช่นกัน

“ผมแตกต่าง” พิธา บอกผม “เราไม่ได้แค่จับมือร่วมรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาเร็ว ๆ หรือทำให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมจะเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน... โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว”

คำบรรยายวิดีโอ, ผู้สื่อข่าวบีบีซีสัมภาษณ์พิเศษ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

“คุณไม่ต้องเป็นผู้นำที่แข็งกร้าว เต็มเปี่ยมด้วยภาวะชายเป็นพิษ เพื่อให้ ‘ทุกคนต้องมาฟังผม และผมต้องโดดเด่นอยู่ตลอดเวลา’”

“ผมไม่ต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา ผมเป็นแค่มนุษย์ที่อ่อนน้อมคนหนึ่งในไทย ชอบขับมอเตอร์ไซค์ กินอาหารริมถนนเหมือนคนอื่น ๆ”

พรรคก้าวไกลให้คำมั่นจะหยุดวงจรรัฐประหาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พรรคก้าวไกลให้คำมั่นจะหยุดวงจรรัฐประหาร

แต่เส้นทางชีวิตของพิธา ไม่เหมือนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มั่งคั่ง

เขาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนเป็นวัยรุ่น เขาอาศัยและศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ กลับมาเรียนปริญญาตรีในไทยและทำงานอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโทในสหรัฐฯ แล้วกลับมาสืบทอดกิจการน้ำมันรำข้าวของที่บ้านต่อ ก่อนกลายเป็นเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แกร็บ

พิธา มองว่า ประสบการณ์เหล่านี้เองที่บ่มเพาะให้เขาเตรียมตัวสู่การเป็นนักการเมือง เขายังชื่นชมผู้นำติดดินอย่าง อดีตนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ และ โฮเซ่ “เปเป้” มูฆิกา อดีตประธานาธิบดีอุรุกวัย

แต่เป้าหมายของ ก.ก. ไม่ได้ติดดิน เหมือนไลฟ์สไตล์ที่พิธาชื่นชม เพราะ ก.ก. ถือว่ามีเป้าหมายทางการเมืองที่ทะเยอทะยานมากกว่าพรรคการเมืองใด ๆ ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง

จากนโยบาย 300 ข้อที่ ก.ก. เสนอต่อประชาชน รวมถึงสมรสเท่าเทียมสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยุติการเกณฑ์ทหาร ขจัดทุนผูกขาด และยกเครื่องการศึกษาไทย ให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21

พรรคก้าวไกลมีแผนจะรื้อรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพ และทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่กองทัพมีส่วนได้ประโยชน์ มาอยู่ใต้การบริหารงบประมาณของกระทรวงการคลัง

“ถึงเวลายุติวงจรการรัฐประหาร ถึงเวลายุติการคอร์รัปชันทางการเมือง ที่เปิดประตูสู่การรัฐประหารเสียที” พิธา กล่าว

แต่นโยบายที่ตกเป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุด คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วย “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี” ไม่เพียงเท่านั้น พรรคก้าวไกลต้องการให้มีการพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และประชาชนคนไทย

สมาชิกวุฒิสภาหลายคน จาก 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารชุดก่อน และมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล ประกาศว่า จะยับยั้งพรรคก้าวไกลไม่ให้ขึ้นเป็นรัฐบาล และไม่โหวตให้พิธา เป็นนายกฯ

.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, พรรคก้าวไกลใช้สื่อสังคมออนไลน์จนได้เสียงสนับสนุนมหาศาล

“แต่ความรู้สึกของยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว” พิธา ตอบกลับ

“ผมคิดว่าเรามีความเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น มีความอดทนอดกลั้นที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ แม้แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็เข้าใจว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ควรจะเป็นอย่างไรในศตวรรษที่ 21”

“เราได้คะแนนเสียงจากประชาชน 14 ล้านคน ประชาชนเข้าใจดี เพราะเราชัดเจนและโปร่งใส ว่านี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราต้องการผลักดัน”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค รวม 312 เสียงจาก 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร จะได้เสียงสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 64 เสียงจาก ส.ว. เพื่อให้ได้เสียงข้างมากเกิน 376 เสียงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ทั้งนี้ แหล่งข่าวของบีบีซีในวุฒิสภา ระบุว่า เป็นการยากที่ ก.ก. จะบรรลุเป้าหมายนั้น ตราบใดที่ ก.ก. ยังยืนกรานจะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็มี ส.ว. หลายคนเช่นกัน ที่รู้สึกว่าไม่ควรสวนฉันทามติของประชาชน และไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ชนะเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้ง

.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, “ผมคิดว่าเรามีความเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น มีความอดทนอดกลั้นที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัญญาถึงนโยบายต่างประเทศของไทยในทิศทางใหม่

ภายใต้รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยถูกมองว่า มีบทบาทน้อยในด้านการต่างประเทศ

แต่ถ้าพิธาเป็นนายกฯ เขาระบุว่า “แน่นอนว่า เราต้องเข้าหาประชาคมโลกให้มากขึ้น”

“ไทยต้องปรับสมดุล แสดงออกให้มากขึ้น และเลือกอยู่ฝ่ายเดียวกับระเบียบโลกที่ยึดหลักกฎหมาย... ถ้าเราไม่พูด มันก็ไม่มีน้ำหนัก ในนโยบายต่างประเทศ”

“ปัญหาหลายอย่างของไทย ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ มลพิษทางอากาศ ราคาปุ๋ย ล้วนมาจากที่อื่น ๆ ในโลก”

รัฐบาลภายใต้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมา และเขาจะพยายามส่งสิ่งบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดน ไทย-เมียนมา ให้มากขึ้น

.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, พิธา เชื่อมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะไม่ทำลาย "ความฝันและความหวัง" ของประชาชน

แต่ความท้าทายที่ว่าที่นายกฯ ต้องเผชิญนั้น ถือว่าน่าหวาดหวั่น ไม่ว่าจะ ส.ว. ที่ตั้งข้อกังขา การต้องเจรจาให้สำเร็จกับพรรคเพื่อไทย ที่มีทีมเจรจามากประสบการณ์มากกว่า

พรรคเพื่อไทยต้องการโควตากระทรวงสำคัญ ๆ หรือที่เรียกว่า “กระทรวงเกรดเอ” รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ซึ่งพิธาเองมองว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผ่านกฎหมายต่าง ๆ ที่ ก.ก. ให้คำมั่นไว้กับประชาชน

แต่พรรคก้าวไกล ประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นว่าที่ ส.ส. ครั้งแรก บางคนอายุยังไม่ผ่านเกณฑ์ 35 ปี เพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และบางคนยังเผชิญคดีความทางอาญาร้ายแรง จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต

จุดยืนพรรคเพื่อไทย ที่คล่องตัวกว่า และไม่แตะเรื่องสถาบันกษัตริย์ ทำให้ พท. สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคอื่น ๆ ได้ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลในสมัย พล.อ.ประยุทธ์

แต่พรรคก้าวไกลปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น เพราะชนะคะแนนเสียงมาได้ จากคำมั่นสัญญา “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็น ก.ก. หรือ พท. ต่างก็ไม่สามารถถอนตัวจาก “พรรคร่วมรัฐบาลในฝันและความหวัง” ได้ เพราะราคาที่ต้องจ่าย จากการทำลายความหวังและความฝันของประชาชน มีราคาที่สูงมาก

แม้ภาระความรับผิดชอบจะหนักอึ้งอยู่บนบ่า แต่ พิธา ก็ยังแบ่งเวลาเพื่ออยู่กับครอบครัว และมีทัศนคติที่ยังมองโลกในแง่ดีว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางของมัน

“ผมไม่อยากเหมือนนักการเมืองไทยคนอื่น ๆ ที่ต้องมาแก่งแย่งตำแหน่งทั้งที่อายุ 70-80 ปีแล้ว” เขาบอกผม

“ผมอยากเป็นนักการเมืองไปสักประมาณ 10 ปี จากนั้นก็ไปทำอย่างอื่นต่อ”

แล้ว พิธา มองว่าหากได้เป็นรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีจนครบสมัย 4 ปี เขาอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร

“ประเทศที่กระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์” พิธา ตอบ “กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ”

“ประเทศที่มีความเท่าเทียมในด้านบริการสาธารณสุข และการศึกษา ความเท่าเทียมด้านงบประมาณ ด้านการจัดเก็บภาษี นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นไทยเป็นเหมือนประเทศอื่น ๆ ที่ผมอยากไป อย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส”

“เท่าเทียมในประเทศ แต่ทัดเทียมระดับโลก นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปถึง ในสมัยแรกจากสองสมัยภายใต้การนำของผมในฐานะนายกรัฐมนตรี”