ชุมนุม 20 มีนา: ตร. ยิงกระสุนยาง-ใช้แก๊สน้ำตา-จับผู้ชุมนุม REDEM

ตร.ยิงปืน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตำรวจใช้กระสุนอย่างอย่างเต็มรูปแบบในการจัดการกับผู้ชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค.

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "รีเด็ม" (REDEM - Restart Democracy) หลังการ์ดและมวลชนบางส่วนเข้ารื้อตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจวางไว้เป็นแนวสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้สถานที่สำคัญรอบท้องสนามหลวง นอกจากนี้ยังมีการจับกุมผู้ชุมนุมไปอย่างน้อย 5 คน

เหตุจลาจลกลางกรุงเทพฯ กินเวลากว่า 5 ชม. แล้วนับจาก 19.00 น. หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดฉากใช้อาวุธจากมาตรการ "เบาไปหาหนัก" กับผู้ชุมนุมกลุ่มรีเด็ม ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่ม "ราษฎร"

แม้สนามหลวงเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 22 กองร้อย เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยรอบพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีการวางรั้วลวดหนามหีบเพลง ตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น และสแลนสีเขียว เพื่อเป็นแนวป้องกันรักษาสถานที่สำคัญบริเวณรอบ อาทิ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. และรถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) อยู่หลังกำแพงคอนเทนเนอร์

สำหรับเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้น มีลำดับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

เวลา 18.45 น. การ์ดผู้ชุมนุมเริ่มเก็บรั้วลวดหนามที่เจ้าหน้าที่วางไว้ ก่อนที่การ์ดและประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะช่วยกันผูกเชือกและพยายามลากตู้คอนเทนเนอร์ชั้นบนลงมาได้ และตามด้วยการลากตู้ชั้นล่าง ทำให้แนวกั้นของเจ้าหน้าที่ถูกทลายลง ซึ่งในระหว่างที่พวกเขาปฏิบัติการ มีเสียงประกาศห้ามสื่อมวลชนบันทึกภาพดังขึ้นเป็นระยะ ๆ

การ์ดและแนวร่วมการชุมนุมช่วยกันลากตู้คอนเทนเนอร์ของเจ้าหน้าที่ออก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, การ์ดและแนวร่วมการชุมนุมช่วยกันลากตู้คอนเทนเนอร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจออก

เวลา 19.00 น. ตำรวจประกาศผ่านรถเครื่องขยายเสียงว่า "ห้ามเคลื่อนเข้ามา เราได้เตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูงไว้พร้อมแล้ว" จากนั้นก็เริ่มนับถอยหลัง แล้วฉีดน้ำใส่ฝูงชนแนวหน้าที่ยืนอยู่หลังตู้คอนเทนเนอร์ทันที

เวลา 19.15 น. ตำรวจประกาศว่าได้เตรียมชุดจับกุมไว้แล้ว "หากใครฝ่าฝืนเข้ามา เราจะทำการจับกุม" จากนั้นก็ได้ฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ฝูงชนอีกหลายระลอก ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนแตกฮือและวิ่งหนีแรงดันน้ำ ซึ่งมีฤทธิ์ให้เกิดอาการแสบผิวหนัง แต่บางส่วนก็เขวี้ยงปาสิ่งของกลับไปใส่แนวตำรวจ

เวลา 19.30 น. ตำรวจ คฝ. เคลื่อนพลออกจากแนวกำบัง ข้ามมายังฝั่งผู้ชุมนุม ก่อนเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุม ในระหว่างนี้ เริ่มมีเสียง "ปัง" ดังขึ้น และมีควันและเปลวเพลิงพวยพุ่งออกมาต่อเนื่องและถี่ขึ้น ทราบภายหลังว่าเป็นแก๊สน้ำตา

ตู้คอนเทนเนอร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตำรวจเริ่มยิงน้ำผสมสารเคมีใส่ฝูงชนหลังแนวคอนเทนเนอร์

เวลา 19.36 น. ตำรวจแจ้งว่าจะเริ่มใช้กระสุนยาง และสั่งให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่ และเดินหน้ากระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกัน มีเสียงประกาศจากฝั่งผู้ชุมนุมรีเด็มเองว่าให้ถอยออกจากพื้นที่สนามหลวง ไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า โดยบอกว่าจะนัดหมายกันใหม่

ผู้ชุนนุมส่วนหนึ่งหลบไปตั้งหลักอยู่บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าตามคำประกาศของแกนนำและตำรวจ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแตกฮือและเตลิดไปทางตรอกสาเก และทะลุไปถึงแยกคอกวัว

เวลา 20.17 ตำรวจประกาศใช้กระสุนยางเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อให้มวลชนที่ยังปักหลักอยู่บริเวณดังกล่าวกลับบ้านไป และเรียกระดมชุดจับกุมในอีก 5 นาทีต่อมา

ในเวลาไล่เลี่ยกันที่แยกคอกวัว ประชาชนได้ขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้กระสุนยางตรงจุดนี้

เวลา 20.40 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมเจรจากับตำรวจที่หน้า รร.รัตนโกสินทร์ ก่อนบรรลุผลว่าตำรวจจะเปิดทางให้ผู้ชุมนุมที่ตกค้างออกจากพื้นที่ได้โดยผ่านทางตรอกสาเกไปยังสี่แยกคอกวัว พร้อมรับปากว่าจะไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทั้งนี้ตำรวจประกาศจัด คฝ. 2 หมู่เดินไปส่งมวลชนและสื่อมวลชน

ตำรวจกระชับพื้นที่บริเวณสนามหลวง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตำรวจกระชับพื้นที่บริเวณสนามหลวง และทยอยจับกุมผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมกลับบ้าน

เวลา 21.00 น. มีการจุดไฟเผาบนถนนที่แยกคอกวัว บริเวณฝั่งขาออกสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ตำรวจระดมยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ส่งผลให้ผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวเกิดอาการแสบตาและแสบคอ ก่อนที่ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่จะระดมรถฉีดน้ำมาดับไฟ

Thai protesters face off with security forces at a burning barricade during an anti-government protest, on a street near the Grand Palace in Bangkok, Thailand, March 20, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ช่วงที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม มีการนำกระถางต้นไม้พลาสติกมาจุดไฟเผา

เวลา 21.05 น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) แถลงภาพรวมของสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มรีเด็ม ว่า เมื่อช่วงเย็นตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ไปหลายครั้ง พร้อมกำชับว่าการชุมนุมในตอนนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมทำลายสิ่งกีดกั้นคือเคลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ที่วางกลางสนามหลวง ก่อนจะพยายามฝ่าแนวที่ตำรวจสั่งห้ามเข้ามา ส่งผลให้มีการปะทะ ตำรวจจึงใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และน้ำแรงดันสูงฉีดไล่จากเบาไปหาหนัก ตำรวจสามารถคุมตัวผู้ชุมนุมได้ 5 ราย ซึ่งใช้อาวุธต่าง ๆ เช่น ประทัด หัวน็อต ลูกแก้ว ก้อนอิฐ ขว้างใส่เจ้าหน้าที่จนมีตำรวจบาดเจ็บอย่างน้อย 6 ราย

เวลา 21.50 น. สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ พบกลุ่มที่เห็นต่างทำร้ายร่างกายมวลชนบริเวณหน้าวัดมหรรณพารามวรวิหาร ใกล้แยกคอกวัว โดยใช้ธงเป็นอาวุธ ทำให้มวลชนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกตีบริเวณศีรษะ

ขณะที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกแจ้งแนวร่วมผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมว่ามี "จุดอันตราย" 4 จุด ได้แก่ บริเวณศาลเจ้าพ่อเสือ, อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ, เสาชิงช้า และตรอกสาเก ขอให้ออกจากพื้นที่โดยด่วน

Police officers stand in formation during an anti-government protest, in Bangkok, Thailand, March 20, 2021

ที่มาของภาพ, Reuters

เวลา 22.10 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่บนรถผู้ต้องขังรวม 5 ราย รถเคลื่อนตัวจากบริเวณแยกคอกวัว คาดว่า ถูกนำตัวไป บก.ตชด.ภาค 1 นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากญาติว่ามีผู้ถูกจับกุมอีก 3 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 2 ราย รวมมีรายงานผู้ถูกจับกุมในการชุมนุมครั้งนี้ 8 ราย

เวลา 22.30 น. ไทยพีบีเอส รายงานว่า เกิดเหตุชุลมุนภายในถนนข้าวสาร และสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยาง ขณะที่เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ประชาไท ระบุว่า นายศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไทถูก ตร. ยิงด้วยกระสุนยางที่กลางหลังขณะปฏิบัติหน้าที่ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก บริเวณแยกคอกวัวทางเข้าถนนข้าวสาร แม้จะมีสัญลักษณ์แสดงตนว่าเป็นผู้สื่อข่าวชัดเจนก็ตาม

ขณะที่ข่าวสดรายงานว่า ในเหตุการณ์เดียวกันยังพบผู้สื่อข่าวหญิงช่อง 8 ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และผู้สื่อข่าวข่าวสดได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขาด้วย

เวลา 23.26 น. ตำรวจและผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากันบริเวณแยกถนนพระสุเมรุตัดกับถนนดินสอ โดยภาพจากการถ่ายทอดสดของทีมข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ เผยให้เห็นตำรวจมีการยิงแก๊สน้ำตา ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใช้รถตู้ตำรวจที่จอดขวางถนนเป็นที่กำบังได้ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ และมีการขว้างระเบิดเพลิงใส่ 2 ลูก ทำให้ในเวลา 23.30 เจ้าหน้าที่ได้นำรถฉีดน้ำเข้าดับไฟ และดันผู้ขุมนุมไปทางสะพานเฉลิมวันชาติ ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ทูเดย์ และฐปนีย์ เอียดศรีชัย ของเดอะรีพอร์ตเตอร์ รายงานว่าในจุดนี้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไป 7 คน รวมทั้งมีผู้ชุมนุมและตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายคน

เวลา 23.50 น. มติชนออนไลน์ รายงานข้อมูลจากศูนย์เอราวัณเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บในพื้นที่การชุมนุม ถ.ราชดำเนินใน ที่นำส่ง รพ. เบื้องต้น รวม 19 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 11 นาย ประชาชน 8 คน (ข้อมูล ณ เวลา 23.00 น.)

ใช้สนามหลวงเป็นที่เล่นว่าว-เต้น-เล่นสเก็ต

การนัดหมายชุมนุมของกลุ่มรีเด็มเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเวลา 18.00 น. โดยมีประชาชนทยอยเข้าจับจองพื้นที่ และร่วมทำกิจกรรมตามแต่ความสนใจของตน

สนามหลวง ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกขานด้วยชื่อใหม่ว่า "สนามราษฎร์" ถูกใช้เป็น...

  • สถานที่เล่นว่าวจุฬา ซึ่งศิลปินจากกลุ่ม "ศิลปะปลดแอก" (FreeArts) พ่นสีสเปรย์เป็นภาพใบหน้าของแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ที่ตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากการชุมนุมทางการเมือง และถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำในระหว่างการพิจารณาคดีเพื่อสื่อสัญลักษณ์เรียกร้องให้ "ปล่อยเพื่อนเรา"
  • ลานเต้น โดยกลุ่ม "ศิลปะปลดแอก" และ "คณะราษแดนซ์" ได้เชิญชวนประชาชนไปร่วมเต้นเพื่อปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจ ภายใต้แนวคิด "แค่ขยับเท่ากับปฏิรูป"
  • ลานสเก็ต โดย "คณะราษเก๊ต" เชิญชวนให้นำสเก็ตบอร์ดมาเล่นที่นั่น

ทว่ากิจกรรมสำคัญที่ผู้จัดการชุมนุมในนามกลุ่มรีเด็มประกาศไว้คือการ "ส่งสาสน์เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์" ซึ่งมีการเปิดเผยรูปแบบไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะ "พับจดหมายเป็นรูปเครื่องบินส่งข้ามรั้ววัง" แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรม ก็จำต้องถอยร่นออกจากพื้นที่ไปเสียก่อนเมื่อเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่

เว่า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ว่าวจุฬาที่ถูกเพนท์เป็นภาพใบหน้าของแกนนำ "ราษฎร" ล่องลอยอยู่เหนือท้องฟ้าของท้องสนามหลวงอย่างอิสระ
สเก็ตบอร์ด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับสนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่จัดชุมนุมใหญ่ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ของนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ก่อนยกระดับขบวนการเป็น "คณะราษฎร 2563" ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้น ทำให้แกนนำคนสำคัญ ๆ ตกเป็นจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 และถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างการพิจารณาคดี

ตร. ค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยึดหนังสือ อานนท์ นำภา

5 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมายชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 20 มี.ค. เข้าตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อเวลา 12.30 น. และยึดหนังสือ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" หลังผู้จัดการชุมนุมระบุว่ากลุ่ม "เพื่อนอานนท์" จะนำหนังสือดังกล่าวจำนวน 10,000 เล่ม ไปแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม ในเวลา 19.19 น. ที่ท้องสนามหลวง

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยหมายค้นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในหมายค้นระบุเหตุผลในการเข้าตรวจค้นและยึดหนังสือไว้ 2 ข้อคือ 1. เป็นพยานหลักฐานประกอบกอบ (กอบเกิน) ไต่มูลฟ้องหรือพิจารณา (ไต่สวนมูลฟ้อง) และ 2. มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือได้ใช้ หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

อย่างไรก็ในเวลา 18.40 น. เพจ "เยาวชนปลดแอก" ได้เผยแพร่ภาพหนังสือดังกล่าวถูกนำเข้าพื้นที่สนามหลวงแล้ว

สำหรับหนังสือ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" เป็นการถอดข้อความคำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ ครั้งแรกของนายอานนท์ นำภา แกนนำ "ราษฎร" ในกิจกรรมการชุมนุมที่ใช้ชื่อวา "เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย" จัดโดย "กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย" (MDG) และ "กลุ่มมอกะเสด" (KU Daily) เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในระหว่างแถลงมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเตรียมการรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. ออกปากเตือนผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่ประกาศว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือหรือสิ่งพิมพ์บางอย่างที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นความผิดหมิ่นประมาทผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีความผิดตามมาตรา 112 ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ผู้จำหน่าย ผู้จ่ายแจก หรือผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยทั้งนั้น

หนังสือต้องห้าม

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, คำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา เมื่อ 3 ส.ค. 2563 ที่ถูกนำมาถอดความกลายเป็น "หนังสือต้องห้าม" ตามความเห็นของตำรวจ

นับจากมีการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 โฆษก บช.น. ระบุว่า ตำรวจได้จับกุมและคุมตัวผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 179 คดี สรุปสำนวนส่งฟ้องให้พนักงานอัยการแล้ว 129 คดี ส่วนที่เหลือกำลังสืบสวนสอบสวน และจะรายงานผลเป็นระยะ ๆ