ทรู-ดีแทค: สภาองค์กรของผู้บริโภคชี้ หากทรูควบรวมกิจการกับดีแทคจะเกิดผลเสียหายต่อผู้บริโภค

True and DTAC logos

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชี้การควบรวมกิจการของ ทรู-ดีแทค ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานผู้กำกับดูแลออกมาชี้แจงและออกมาตรการยับยั้งเพื่อป้องกันไม่ใช้เกิดกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาด

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงต่อกระทู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 พ.ย. ว่า "รัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่ง" ในกรณีนี้

ความเคลื่อนไหวจาก สอบ. มีขึ้นหลังจาก บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสอง หรือ ทรู แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมบริษัทกับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค พร้อมกับการเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข

น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวหัวข้อ "กรณีซีพี - เทเลนอร์ ควบรวมกระทบผู้บริโภค!" ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ของ สอบ. เมื่อ 23 พ.ย. ว่าองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาชี้แจงประชาชนให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างต่อการควบรวมกิจการที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 52% ถือว่าเข้าข่ายเป็นกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

เลขาธิการ สอบ. กล่าวอีกว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรกำกับควรจะเข้ามาดำเนินการและส่งเสริมให้มีการเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเติบโตในตลาดและการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นด้วย

"การแข่งขันมีความสำคัญต่อผู้บริโภค และยืนยันว่าการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อทุน" เธอกล่าวย้ำ

FACEBOOK Live/สภาองค์กรของผู้บริโภค

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สภาองค์กรของผู้บริโภค

นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันตามประกาศที่มีอยู่แล้วของ กสทช. บางฉบับก็สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้ เช่น การอนุญาตให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุนได้ด้วยการเป็นพันธมิตรกัน แต่ที่ผ่านมากลับไม่เกิดขึ้น ขณะที่การควบรวมกิจการ ถือเป็นการกีดกันทางการค้าสำหรับรายอื่น ๆ ซึ่ง สอบ. ไม่สนับสนุนเพราะจะทำไปสู่การตัดทางเลือกของผู้บริโภค

สำหรับมาตรการเบื้องต้น สอบ. จะเร่งทำข้อเสนอไปยัง กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าควรสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้ พร้อมทั้งทำหนังสือถึงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้บริโภค

หวั่นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบเพิ่ม เพราะทางเลือกจำกัด

ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคที่เข้าร่วมการแถลงข่าววันนี้ แสดงจุดยืนตรงกันว่าไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนในการดำเนินการ เพราะเชื่อว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค

น.ส. บุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. ตั้งคำถามว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะกลายเป็นดาบสองคมหรือไม่ และจะมีหลักประกันอะไรว่า การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะไม่ลิดรอนทางเลือกของผู้บริโภค และการเอาเปรียบผู้บริโภคมากขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

market share

"เราไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโต การร่วมทุนของธุรกิจใด ๆ แต่เราในฐานะผู้บริโภค ก็มีจุดยืนว่า การควบรวมจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเกี่ยวกับทางเลือกหรือไม่ จากเดิมมี 3 ทางเลือก ในอนาคตจะเหลือเพียง 2 ทาง"

ขณะที่ น.ส. พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สอบ. ระบุว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการระหว่างทั้งสองบริษัท แม้ว่าในขณะนี้จะยังเป็นเพียงการควบรวมบริษัทในระดับบริษัทแม่เท่านั้น แต่ในที่สุดก็จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดลดลง ทางเลือกผู้บริโภคน้อยลง และอาจจะเกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

graphic

น.ส. ชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศอีกราย กล่าวว่า

ปัจจุบัน ไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่าย ซึ่งมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแข่งขันด้านบริการและราคา แม้ว่าผู้บริโภคจะมีทางเลือกอยู่แล้ว แต่ก็ยังคงมีความกังวลด้านข้อมูลส่วนบุคคลจากการที่ผู้บริโภคในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บริโภคอยู่ และหากผู้เล่นลดลงก็อาจจะทำให้สถานการณ์นี้น่ากังวลมากขึ้น

true shop

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้ก่อตั้ง เอไอเอส ว่าอย่างไร

นายทักษิณ ชินวัตร ผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย และผู้ก่อตั้งบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตอบคำถามของผู้ฟังทางคลับเฮาส์ ในเรื่องการควบรวมกิจการของทรู กับดีแทค ว่า ตั้งแต่สมัยที่เขายังบริหารเอไอเอสอยู่ ดีแทค และทรู ไม่สามารถแข่งกับเจ้าตลาดคือเอไอเอสได้ ทั้งต้นทุนและรายได้ต่อจำนวนลูกค้า การผนึกกำลังกันของ 2 ค่าย เพื่อสู้กับเอไอเอสให้ได้ อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ

"กว่า ทรู และดีแทคจะแข็งแรง คงต้องใช้เวลา 3 ปี ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันอย่างจริงจัง ลูกค้าอาจเยอะกว่า แต่กำไรจะน้อยกว่า จะสู้กันเหมือนโค้กกับเป๊ปซี่" นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยทางการเมืองกล่าว

ภูมิธรรมยืนเคียงคู่ทักษิณ เมื่อ ก.พ. 2549 โดยเขาเคยประเมินสถานการณ์ว่าผู้นำไม่ควรไปต่างประเทศ เพราะจะเปิดโอกาสให้มีการยึดอำนาจได้โดยง่าย สุดท้ายคำพยากรณ์ของเขาเป็นจริง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

รมว. ดีอีเอส บอกสภา "รัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่ง"

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 25 พ.ย. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรื่องการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค เพื่อผูกขาดตลาดหรือไม่ โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาชี้แจงแทน

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของการถาม-ตอบกระทู้ไว้ ดังนี้

1) ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า อำนาจขอบเขตในการพิจารณารายละเอียดผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้เป็นของใคร ระหว่างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเห็นว่าขณะนี้กำลังเกิด "สุญญากาศทางกฎหมาย" องค์กรที่สามารถระงับยับยั้งการควบรวมต่างบอกว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบ จึงอยากถามว่าจะเรียก 2 หน่วยงานมาชี้แจงหรือไม่ และหน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบได้ หรือจะปล่อยให้มีการควบรวมโดยไม่มีการตรวจสอบทางกฎหมายเลย

นายชัยวุฒิตอบว่า รัฐบาลห่วงใยในการควบรวม 2 กิจการที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับ 2 และอันดับ 3 กลายเป็นอันดับ 1 ทำให้โครงสร้างการแข่งขันทางตลาดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปศึกษา ติดตาม และพยายามดูว่ามีอำนาจอะไรบ้างที่เข้าไปยับยั้งหรือแก้ไขปัญหานี้ได้ หากเกิดผลกระทบต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการควบรวมกิจการเท่านั้น และเป็นการรวมเฉพาะในส่วนผู้ถือหุ้น ยังไม่ได้รวมบริษัท บริษัททั้ง 2 ยังแยกไปทำธุรกิจอยู่ แต่มีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มเดียวกัน ยังไม่ถึงขั้นการรวมธุรกิจระบบโอเปเรเตอร์ของระบบมือถือ แต่เมื่อเล็งเห็นว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ทางรัฐบาลจึงประสาน กสทช. และหน่วยงานของดีอีเอสศึกษาว่าจะมีมาตรการกำกับดูแลอย่างไร

2) นายปกรณ์วุฒิตั้งคำถามต่อไปว่า รัฐบาลจะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการผูกขาดทางธุรกิจอย่างไร และรัฐบาลเห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้หรือไม่ เพราะการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมในต่างประเทศทำให้ค่าบริการสูงขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะธุรกิจจาก 3 เหลือ 2 ธุรกิจ เพราะเป็นรายใหญ่กับรายใหญ่ อาจจะเกิดการผูกขาดได้ และอาจเกิดผลกระทบกับประชาชน

รมว.ดีอีเอสกล่าวว่า ธุรกิจการสื่อสารไม่ได้มีเจ้าเดียวในประเทศไทย แต่มี AIS ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ครองตลาดอยู่ และมีรัฐวิสาหกิจ NT ที่แข่งอยู่ห่าง ๆ เพื่อบริการประชาชนด้วย แต่จะมีกี่รายก็ตาม ต้องบอกว่ามีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ มีโอกาสฮั้ว หรือมีอำนาจเหนือตลาดไปกดดันผู้บริโภคอยู่แล้ว จึงต้องมีการกำกับดูแลโดย กสทช. และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนที่ถามว่ารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่กับการควบรวม นายชัยวุฒิบอกว่าคงตอบไม่ได้ เพราะการที่เอกชนวางแผนธุรกิจ โดยอาจคิดว่าบริษัทของเขาเล็กเกินไป ต้องลงทุนสูง ไม่คุ้มค่า จึงไปรวมกันเพื่อลดต้นทุนในการวางโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบ หรือใช้ส่วนแบ่งทางการตลาดร่วมกัน อาจเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจมากกว่า รัฐบาลไม่สามารถไปทราบได้ ถ้าไปห้ามแล้วเกิดเขาขาดทุน หรือบอกให้แข่งสูง ๆ แล้วบริษัทไปไม่ได้ ก็จะเป็นเหมือนกรณีทีวีดิจิทัลที่เปิดแข่งขันเสรี แต่สุดท้ายก็มีหลายช่องที่ไปไม่ได้

"การที่ภาคเอกชนจะตัดสินใจทางธุรกิจ ในการลงทุน การควบรวมกิจการ การระดมทุนแบบไหน ผมว่ามันเป็นเสรีภาพของบริษัท เป็นสิทธิของเขา เป็นหลักในเชิงการค้าการลงทุน ซึ่งผมว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่เราควรมาดูที่การบริการประชาชน กำกับดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ นี่คือหัวใจสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องทำแน่นอน" นายชัยวุฒิตอบและยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใด

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ที่มาของภาพ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม