"ละคร" แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ของรัฐสภาไทย ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็น "นักแสดงนำ"

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ไพบูลย์ นิติตะวัน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พลังประชารัฐ (เนกไทสีเหลือง) ผู้รับบท "นักแสดงนำ" ในทุกฉากสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญ 2560

ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของคนในรัฐสภา เดินมาถึง "ฉากจบ" ในภาคแรก เมื่อรัฐสภาลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระที่ 3 วานนี้ (17 มี.ค.)

ตลอดเวลาเกือบครึ่งเทอมของสภาชุดที่ 25 นักเลือกตั้งต่าง "ทำที" สนับสนุนเสียงของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนบนท้องถนนที่เรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อ 17 ส.ค. 2563 และรัฐบาลยื่นญัตติเมื่อ 1 ก.ย. 2563

7 เดือนผ่านไป กระบวนการทั้งหมดถูกล้มกลางรัฐสภา โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับบท "นักแสดงนำ" ในทุกฉากสำคัญ ทั้งยื้อโหวตวาระแรก-ส่งศาลตีความอำนาจตัวเอง-ปิดเกมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 อย่างไรก็ตามเจ้าตัวไม่ขอให้ความเห็นต่อบทบาทที่ถูกจัดวางไว้ โดยให้คนอื่นเป็นคนตอบดีกว่า

บีบีซีไทยชวนย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภา 5 นัด ซึ่งครั้งหนึ่งนายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคเพื่อไทย เคยเรียกมันว่า "เป็นโรงลิเก หลอกต้มประชาชน" และในวันนี้ก็มีทั้งนักการเมืองและสื่อมวลชนตั้งคำถามต่อการ "เล่นละคร" ของคนในสภา

ภาพประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อภิปรายข้ามคืน ก่อน "ยื้อโหวต" วาระแรก

23-24 ก.ย. 2563 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ

ฉบับแรกเสนอโดยรัฐบาลคือ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เป็นเจ้าของร่าง

อีก 5 ฉบับเสนอโดยฝ่ายค้าน มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา เป็นเจ้าของร่าง ประกอบด้วย 1) ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. 2) ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ 3) ร่างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 270, 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ 4) ร่างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองความชอบธรรมของประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 5) ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และยกเลิกการคำนวณ "ส.ส. พึงมี"

นักกิจกรรมการเมืองกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" จัดกิจกรรม "จับ ส.ว. ลงหม้อ" โดยได้เคลื่อนมวลชนไปยังสถานที่ตั้งของเหล่าทัพต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ส.ว.โดยตำแหน่ง ลาออก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นักกิจกรรมการเมืองกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" จัดกิจกรรม "จับ ส.ว. ลงหม้อ" เมื่อปลายปี 2563 เรียกร้องให้ ผบ. เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ส.ว.โดยตำแหน่ง ลาออก

ในการผ่านวาระแรก ต้องได้คะแนนเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 จาก 737 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 487 คน ส.ว. มี 250 คน) และต้องได้รับคะแนนเห็นชอบจาก ส.ว. "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ "เป็นไปได้ยาก" เพราะยังจะต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 84 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ แต่ก็ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น"

แม้ตระหนักในเงื่อนไขเรื่องการได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แต่ในระหว่างการอภิปราย ก็ยังเกิดเหตุปะทะคารมของสมาชิกสภาล่างกับสภาสูงเป็นระยะ ๆ ด้วยเพราะหนึ่งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านชงเข้าสภา มีเป้าหมายเพื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ชุดเฉพาะกาลที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทำให้ ส.ส. ฝ่ายค้านเปิดฉากวิจารณ์ ส.ว. แบบซึ่ง ๆ หน้าว่า "ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน" "เป็นกลไกสืบทอดอำนาจของเผด็จการ" "เป็นสภาเพื่อนพ้องน้องพี่" และทำให้ ส.ว. ลุกขึ้นมาตอบโต้กลับอยู่หลายคู่-หลายยก

นอกจากนี้ยังมีหลายคำสำคัญหลุดจากปาก ส.ว. ที่แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น "อย่าทรยศเสียงประชาชน 16.8 ล้านเสียงที่ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ" หรือ "อย่าตัดสินใจรื้อบ้านทั้งหลังโดยไม่ถามเจ้าของบ้านอย่างประชาชน" หรือ "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน... ควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2555 ที่ให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หลังรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงยังวิจารณ์เรื่องความสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน 1.5-2 หมื่นล้านบาท หากต้องทำประชามติ 3 ครั้ง

ส.ว.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เช่นเดียวกับ ส.ส. รัฐบาล ซึ่งบางส่วนเป็นกลุ่ม กปปส. ในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และทั้งหมดของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ประกาศจุดยืนไม่ขอร่วมลงมติ "เห็นชอบ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า "เป็นคนรณรงค์ให้ชาวบ้านรับร่างรัฐธรรมนูญ หากวันนี้มาขอให้มีการแก้ไขก็จะย้อนแย้งกันเอง" และมองว่า "รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง"

หลังอภิปรายกันข้ามคืน ปรากฏว่ารัฐสภาไม่ได้ลงมติรับ/ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว เมื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ โดยอ้างว่าที่ผ่านมา ส.ส. กับ ส.ว. ยังไม่เคยคุยกันเลย

"วันนี้ถ้าเดินไปแล้วมันถึงทางเดินต่อไปไม่ได้ ผมจะหยุดรอ เพื่ออีก 1 เดือนข้างหน้าก็จะกลับมาใหม่" และ "ผมไม่ยอมให้ร่างที่ผมและคณะเสนอตกไป ถ้ามันจะช้าไปสักเดือนหนึ่ง ผมคิดว่าคุ้มค่า" ประธานวิปรัฐบาลระบุ

ความเห็นจากนายวิรัช ถูก "รับลูก" อย่างทันท่วงทีจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พปชร. ด้วยการเสนอเป็น "ญัตติแทรก" ขึ้นมาในเวลา 18.20 น. ของวันที่ 24 ก.ย. 2563 โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม และได้รับการขานรับจากนายสมชาย แสวงการ กรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา)

"ท่านไพบูลย์เสนอทางออก ซึ่งผมคิดว่าเป็นทางออกเพื่อทำให้ทุกอย่างมีทางออก มิใช่ทางตัน อย่าเอาเราเข้าไปอยู่ในตรอกแล้วมัดมือ แล้วบอกว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้" นายสมชายกล่าว

ห้องประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ท้ายที่สุดรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 255 เสียง งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 โดยที่ฝ่ายค้านประกาศ "ไม่สังฆกรรม" งดส่งคนไปร่วม พร้อมวิจารณ์ว่าจะทำให้ภาพลักษณ์รัฐสภาเสียหายจากการ "เตะถ่วง" "ประวิงเวลา" "ไม่จริงใจ" "เป็นโรงลิเก" "หลอกต้มประชาชน" ทำให้เหลือ กมธ. 31 คน จากโควตาเต็ม 45 คน

ในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้ซ้อมการลงคะแนนตลอด จึงทราบว่าต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง "ที่สมาชิกบอกว่าถูกหลอก ก็ถูกหลอกเหมือนกัน เพราะผมก็เพิ่งมาทราบช่วงหัวค่ำนี้เอง"

ผ่านวาระแรก 2 ร่าง หลังใช้รัฐสภาเป็นเวทีถล่มแหล่งทุนไอลอว์

17-18 พ.ย. 2563 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ ตามที่ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธาน ศึกษาเสร็จแล้ว และพิจารณา "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) อีกฉบับ

การดึง "วาระร้อน" กลางรัฐสภาไปพูดคุยในห้อง กมธ. ไม่ได้ทำให้ความเห็นของ ส.ว. เปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่ยังแสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 ที่เปิดทางให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ไอลอว์นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 22 ก.ย. 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ไอลอว์นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 22 ก.ย. 2563

เมื่อมีการนำร่างไอลอว์ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อย่างในร่างแก้ไขมาตรา 256 ฉบับรัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในคราวเดียวกัน จึงเป็นการสบช่องให้ ส.ส.พปชร. และ ส.ว. บางส่วนลุกขึ้นทำหน้าที่ "องครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560" โดยให้เหตุผลว่า "ไอลอว์จัดทำรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อของ 'คณะราษฎร' ล้วนแล้วแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ" และ "ขัดกับแนวคิดและอุดมการณ์ของพวกเราทุกคนที่รักและเทิดทูนสถาบันฯ" อีกทั้งยังใช้เวทีรัฐสภาอภิปรายโจมตีแหล่งทุนของไอลอว์ด้วย

จึงไม่แปลกหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่มีประชาชนร่วมรับรองกว่าแสนรายชื่อ จะถูก "โหวตคว่ำ" กลางรัฐสภา โดยมีเพียง 2 ร่างคือ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐบาล กับฝ่ายค้าน ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

จากนั้นรัฐสภาได้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธาน ก่อนกลับมาเสนอรัฐสภาในวาระที่ 2

กราฟิกลงคะแนนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่งศาล รธน. ตีความเพื่อความสบายใจของ ส.ว.

9 ก.พ. 2564 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 210(2) ของรัฐธรรมนูญ โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ เป็นเจ้าของญัตติ

นายไพบูลย์ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้แก้ไขได้เป็นรายมาตรา

"หากรัฐสภาไม่ส่งตีความ ผมเป็นห่วงว่าสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะ ส.ว. จะมีปัญหาต่อการลงมติวาระที่ 3 อาจจะงดออกเสียงได้ เสียงเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่เพียงพอ" และ "หากผลการวินิจฉัยหากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว. สบายใจ" นายไพบูลย์อ้าง

การลุกขึ้นมาส่งศาลตีความอำนาจตัวเองของนักการเมืองรายนี้ ทำให้เพื่อนร่วมรัฐบาลไม่พอใจ ทั้ง ปชป. ภท. และ ชทพ. รวมถึงฝ่ายค้านได้ช่วยกันอภิปรายคัดค้านอย่างหนัก โดยชี้ว่าเป็น "เจตนาแอบแฝง" "เตะถ่วง" "ยื้อเวลา" "เปิดโอกาสให้องค์กรอื่นขัดขวางการแก้ปัญหาของประเทศ" ขณะที่ ส.ว. ได้ลุกขึ้นอภิปรายปกป้องการกระทำของนายไพบูลย์ และนายสมชาย

ภายหลังถกเถียงนาน 4 ชม. รัฐสภามีมติ 366 ต่อ 316 เสียง เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ทำให้ต้องส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป

ผ่านวาระ 2 ท่ามกลางชะตากรรมอันไม่แน่นอนของร่างแก้ไข รธน.

24-25 ก.พ. 2564 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระที่ 2 (พิจารณาเป็นรายมาตรา) โดยมี กมธ. เสียงข้างน้อย 109 คนขอสงวนคำแปรญัตติ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธาน กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธาน กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำเสนอสาระสำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมรัฐสภา

แม้ยังไม่ทราบชะตากรรมของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คารัฐสภาอยู่แน่ชัด หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ไว้พิจารณา แต่สมาชิก 2 สภาก็จำต้องเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหา 5 มาตรา ไปตามกระบวนการ

ในการผ่านวาระที่ 2 ต้องอาศัย "เสียงข้างมาก" ของรัฐสภา หรือ 369 เสียงขึ้นไปในการลงมติเป็นรายมาตรา

ผลปรากฏว่า รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ไปได้ โดยมีสาระสำคัญบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปจากวาระที่ 1 อาทิ ให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งล้วน 200 คน, ให้ใช้เขตเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร., ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 25.5 ล้านคน จากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 51 ล้านคน) จากเดิมให้ใช้ 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (หรือ 10.2 ล้านคน)

คว่ำวาระ 3 โดยมีไพบูลย์เป็นผู้ปิดเกม

17 มี.ค. 2564 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระที่ 3 (พิจารณาให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ)

ชวน หลีกภัย กับ พรเพชร วิชิตชลชัย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สมาชิกรัฐสภาใช้เวลาถึง 11 ชม. ในการปรึกษาหารือ อภิปราย ถกเถียงกันว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต่างฝ่ายต่างตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน ก่อนเตรียมหาข้อสรุปในนามของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สั่งฝ่ายเลขานุการรวบรวมและสรุปความเห็นของสมาชิกที่เสนอญัตติด้วยวาจา และมีผู้รับรองครบถ้วนตามข้อบังคับการประชุม รวม 5 ญัตติ ภายใต้ 3 แนวทางคือ งดโหวต, เลื่อนโหวต และเดินหน้าโหวตวาระที่ 3 มาให้บรรดาผู้ทรงเกียรติได้ลงมติกัน ถึงขั้นมีการนำข้อความขึ้นแสดงบนจอภาพในห้องประชุมรัฐสภาแล้ว 3 ญัตติ

  • ขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าไม่ให้มีการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 เพราะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เสนอโดยนายสมชาย แสวงการ กับนายเสรี สุวรรณภานนท์ โดยมีเพื่อน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนอย่างแข็งขันตลอดทั้งวัน
  • ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ตามมาตรา 210(2) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. โดยมี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง ภท. และ ชทพ. ร่วมอภิปรายสนับสนุน
  • ขอให้พิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม เสนอโดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแนวทางหลักของฝ่ายค้าน

แต่แล้วก็ได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อจู่ ๆ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ลุกขึ้นเสนอ "ญัตติซ้อนญัตติ" โดยขอให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระ "เรื่องด่วน" ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งเนื้อหาก็เหมือนกับญัตติของฝ่ายค้านที่คาอยู่ เมื่อมีเพื่อนสมาชิกรับรองครบถ้วน และรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 127 ให้พิจารณาญัตติของรองหัวหน้า พปชร. รายนี้ เป็นผลให้ญัตติทั้ง 3 ต้องตกไปโดยปริยาย

จากนั้นรัฐสภาได้เดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ท่ามกลางการวอล์กเอาต์ของ ส.ส.ภท. และ ชทพ. โดยที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ภท. ประกาศว่า "ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหกปลิ้นปล้อน และก็ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊กครับ"

บรรยากาศในห้องประชุมสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ส.ส. พรรคภูมิใจไทยหารือกันก่อนวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมสภาเมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค.

ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 367 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน (ปัจจุบันมี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน และ ส.ว. 250 คน) แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 211 เสียง และมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ หรือ 84 คน

ท้ายที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูก "โหวตคว่ำ" กลางรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทำให้ทุกกระบวนการที่ทำมาต้องจบลง โดยมีนายไพบูลย์คนเดิมเป็นผู้ปิดเกม

ใครเล่นละคร

วันแรกหลัง "ละครแก้รัฐธรรมนูญ" จบลงในภาคแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนดูคนฟังนอกสภา แกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ชักแถวออกมาแสดงความคิดเห็น-ความรู้สึกอย่างกว้างขวาง

คำพูด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร. ปฏิเสธว่าการโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ "ไม่ได้หักหลังพรรคร่วมฯ" เพราะแจ้งแล้วว่าปล่อยฟรีโหวต และยังอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจุดยืนของรัฐบาล
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. ระบุว่า "ได้ทำหน้าที่สุดพลังความสามารถและสุดทางแล้ว" และประกาศพร้อมแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
  • นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี ภท. ยืนยันว่าไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนเกม เสนอกันกลางอากาศ พร้อมระบุว่า "เขาเล่นละครอยู่แล้ว พวก ภท. ไม่ได้เล่นละคร ผมไม่เล่นละคร และเรามีเจตนาตั้งแต่ต้นว่าจะแก้"
  • นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พท. และประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า "เสียใจและผิดหวัง" และยังยอมรับด้วยว่าคาดไม่ถึงว่า ภท. จะวอล์กเอาต์ และคาดหวังเสียงของ ภท. มาโดยตลอด
  • นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก.ก. ตั้งคำถามต่อ ภท. ถึงการวอล์กเอาต์ พร้อมเรียกร้องให้ ภท. และ ปชป. ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล "ตอบคำถามประชาชนว่าจะยังคงร่วมรัฐบาลต่อไปอีกหรือไม่"