มาตรา 112 : "ไทยภักดี" ชวนประชาชนเก็บหลักฐานจัดการคนผิด แต่ยูเอ็น "กังวล" ที่ใช้เล่นงานเด็ก

Anti-government protesters hold up placards during a rally calling to lift the section 112 of the Thai Criminal Code

ที่มาของภาพ, EPA

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ และเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศด้วย

ด้านนักกิจกรรมนิยมเจ้าในนาม "ไทยภักดี" ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนให้มีการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมเก็บหลักฐานดำเนินคดีต่อผู้เข้าข่ายกระทำความผิด

เมื่อ 18 ธ.ค. น.ส. ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์หลังตำรวจตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแก่เยาวชนวัย 16 ปีที่เข้าร่วมการประท้วงในประเทศไทยและนำตัวส่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะได้รับการประกันตัว

"เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งจากการที่ทางการไทยตั้งข้อหาผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คน รวมถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักเรียนวัย 16 ปี ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญาของไทย" น.ส. ชัมดาซานิ ระบุในแถลงการณ์

คำบรรยายวิดีโอ, หน่วยงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น "ตกใจ" และ "กังวล" ที่ไทยใช้ ม.112 กับเด็ก

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า "การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกราชวงศ์ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี เราตกใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อตำรวจนำตัวผู้ประท้วงวัย 16 ปี ส่งศาลเยาวชน และร้องขอให้ศาลมีคำสั่งควบคุมตัว ศาลปฏิเสธคำสั่งควบคุมตัวและให้มีการประกันตัวอย่างมีเงื่อนไข"

โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุเพิ่มเติมว่า หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่ง รวมถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งตรวจสอบการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights--ICCPR) ได้เรียกร้องหลายครั้งให้ไทยบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ไทยให้คำมั่นไว้ น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่หลังจากไม่มีคดีนี้เกิดขึ้นนาน 2 ปี แต่กลับเห็นคดีนี้เกิดขึ้นหลายคดีในเวลาอันรวดเร็ว และน่าตกใจมาก ที่ปัจจุบันมีการตั้งข้อหากับผู้เยาว์ด้วย

ราวินา ชัมดาซานิ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ยังได้แสดงความกังวลว่า กำลังจะมีการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วงที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมถึงข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

"เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการตั้งข้อหาอาญาร้ายแรงเช่นนั้นต่อบุคคลที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิของพวกเขาได้โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกปฏิบัติการตอบโต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพบว่า การควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เป็นการควบคุมหรือจับกุมตัวตามอำเภอใจ" แถลงการณ์ระบุ

ช่วงท้ายของแถลงการณ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับมาตรา (ข้อ) 19 ของ ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหที่ สน.ยานนาวา

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ผู้ปกครองให้กำลังใจบุตรชายวัย 16 ปี ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหที่ สน.ยานนาวา

มาตรา (ข้อ) 19 ICCPR บัญญัติว่า...

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights--ICCPR) มีทั้งหมด 53 มาตรา หรือ ข้อ ในข้อที่ 19 ระบุว่า

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

ผู้ประท้วงใช้เทปปิดปากเขียนคำว่า 112

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, การประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด

เยาวชนชายวัย 16 ปีคนดังกล่าว เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามมาตรา 112 โดยเขาถูกออกหมายเรียกพร้อมกับ น.ส.จตุพร แซ่อึง วัย 23 ปี สมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "บุรีรัมย์ปลดแอก" ซึ่งสวมชุดไทยเข้าร่วมงานเดินแฟชั่นในงาน "ศิลปะราษฎร" ที่ ถ.สีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค.

เยาวชนอายุ 16 กล่าวหลังได้รับประกันตัวจากศาลเมื่อ 17 ธ.ค. ว่า การใช้กฎหมายข้อนี้กับคนจำนวนมากหรือกับเด็กทำให้กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์น้อยลง และเห็นว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้โจมตีคนที่เห็นต่าง

นอกจากเยาวชนรายนี้แล้ว ยังมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 5 คน ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

หัวอกพ่อ

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้ปกครองของเยาวชนชายวัย 16 ปี และนักวิชาการด้านนิเทศศาตร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เมื่อ 18 ธ.ค. ในหัวข้อ "ความในใจของพ่อเด็ก 16 ผู้เจอคดี ม.112" โดยเขาระบุว่าเขียน "ในฐานะพ่อคนหนึ่ง ไม่ใช่ในสถานะนักวิชาการ หรือสถานะบทบาททางสังคมหรือองค์กรที่สังกัด"

เขาระบุว่าเขาอาจไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่ลูกคิด ลูกทำ แต่เคารพการตัดสินใจของลูก

"ในฐานะของคนเป็นพ่อแม่ สิ่งที่กระทำได้ดีที่สุดในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ คือการจูงมือลูกให้แน่น พร้อมเดินฝ่าความโหดร้ายและอุปสรรคนานับประการไปด้วยกัน

"เรา…ผู้เป็นพ่อแม่เมื่อเห็นลูกสะดุดล้มเช่นนี้ คงทำได้เพียงแค่เป็นเบาะรองรับตัว ให้เจ็บน้อยที่สุด แม้ว่าจะแลกด้วยความเจ็บปวดของตัวเองก็ตาม นั่นคงเป็นวิถีของพ่อแม่ทุกคนมิใช่หรือ…

"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์อันแสนปวดร้าวเช่นนี้จะหยุดอยู่แค่ครอบครัวของผม ขอมันอย่าได้เกิดขึ้นกับครอบครัวคนอื่น ๆ อีกเลย"

MANA TREELAYAPEWAT

ที่มาของภาพ, MANA TREELAYAPEWAT

คำบรรยายภาพ, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์

ประณามรัฐบาล

เครือข่ายคนไทยในต่างแดนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นักเรียนไทยในยุโรป" และเครือข่าย ออกแถลงการณ์ทางเพจเฟซบุ๊ก ประณามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กลับมาบังคับใช้ ม. 112 อีกครั้ง และเรียกร้องให้ยกเลิกหมายเรียกและยุติการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ทุกกรณี รวมทั้ง ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 และแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องตามหลักสากลต่อไป

ฝ่ายนิยมเจ้าว่าอย่างไร

กลุ่มไทยภักดี จัดการเสวนา "1 สิทธิ์ 1 เสียง สนับสนุนมาตรา 112" เมื่อ 18 ธ.ค. มีผู้ร่วมสนทนา คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ดร.เวทิน ชาติกุล และ "อุ๊" หฤทัย ม่วงบุญศรี ทั้งหมดประกาศสนับสนุนให้บังคับใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมเก็บหลักฐานดำเนินคดี ต่อผู้เข้าข่ายกระทำความผิด

นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นพ.วรงค์ กล่าวว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายปกติในการคุ้มครองประมุขของรัฐ

นพ.วรงค์ กล่าวในการเสวนาครั้งนี้ว่า ภารกิจของกลุ่มไทยภักดีคือการเอาความจริงเกี่ยวกับมาตรา 112 ไปบอกประชาชนซ้ำ ๆ เพื่อชนะความเท็จ

"ประสบการณ์ของผมสอนไว้ว่า การที่ฝ่ายตรงข้าม หรือ ม็อบสามนิ้ว พยายามปลุกระดมเรื่อง 112 ว่า 112 เป็นกฎหมายปิดปากประชาชน 112 เป็นกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน 112 เป็นกฎหมายโบราณคร่ำครึไดโนเสาร์ 112 เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอันนี้คือพวกเท็จ ถ้าฝ่ายที่รู้ข้อเท็จจริงไม่พูดอะไรเลย ความเท็จชนะแน่นอน นั่นหมายความว่า ถ้า 112 พ่ายแพ้ หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แพ้ตาม พวกเราในฐานะพสกนิกรประชาชนผู้จงรักภักดีจึงมีหน้าที่เอาความจริงมาพูดซ้ำ ๆ เพื่อให้ความจริงของเราชนะความเท็จ"

นพ.วรงค์ กล่าวว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นเป็นกฎหมายปกติในการคุ้มครองประมุขของรัฐ ถ้าไม่มีความคิดมุ่งร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่รู้สึกเฉย ๆ ก็จะไม่เดือดร้อน พร้อมชี้ว่า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร 2563 โจมตีกฎหมายมาตรานี้เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ต้องการทำลายล้างสถาบันเบื้องสูงที่คนไทยทั้งประเทศเคารพและศรัทธา

ผู้ประท้วงชูป้ายเรียกร้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงชูป้ายเรียกร้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.

112 เป็นตัวตัดไฟไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง

ด้าน ดร.อานนท์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เรียกร้องให้มีการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม ชี้การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ในหลวง ร.10 ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพนั้น น่าเป็นการเข้าใจผิดและรับพระราชกระแสมาอย่างไม่ครบถ้วน และยิ่งทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมกล้าจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นอัตรายต่อสังคม จนทำให้หลังจากนายกฯ ได้เตือนเมื่อเดือน พ.ย.ว่าจะ "ใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่" ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย ก็ทำให้มีประชาชนไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้น

ดร.อานนท์ กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่า ในหลวง ร.9 และ ร.10 ไม่โปรดให้ใช้มาตรา 112 แต่คิดว่าให้ใช้อย่างเป็นธรรมเพื่อความสงบสุขของชาติและแผ่นดิน

"ผมไม่คิดว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านจะพูดเช่นนั้น เพราะถ้าพระเจ้าอยู่หัวท่านบอกให้ยกเว้นการใช้ อย่างที่มีคนเอาไปบิดเบือนว่า รัชกาลที่ 9 กับรัชกาลที่ 10 ไม่โปรดให้ใช้กฎหมาย 112 เลย เพราะฉะนั้นใครที่มาตามฟ้อง 112 เนี่ยขัดพระราชประสงค์ ไม่ทำตามพระราชดำริ อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำไมผมจึงบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับรัชกาลที่ 10 ทรงอยู่ใต้กฎหมายอย่างชัดเจน ไม่เคยทรงทำอะไรที่นอกเหนือกฎหมาย เพราะการที่จะมีพระราชดำรัสว่าให้ยกเลิกกฎหมายหรือไม่บังคับใช้กฎหมายเนี่ยจะทำให้ทรงอยู่เหนือกฎหมาย แต่ความประสงค์ของพระองค์ท่าน ถ้าผมตีความ ผมจะตีความว่าท่านไม่ประสงค์จะให้เป็นในกรณีที่ 4 คือการบังคับใช้กฎหมาย 112 อย่างไม่เป็นธรรม...เพราะการใช้กฎหมาย 112 อย่างไม่เป็นธรรมก็คือว่า กลั่นแกล้งรังแกคนโดยเฉพาะคนที่คิดต่างทางการเมือง หรือแม้แต่กลั่นแกล้งรังแกคนที่ต้องการจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์"

ในช่วงหนึ่งของการเสวนา ดร.อานนท์ ได้กล่าวถึงนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่บอกว่าต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 และให้เปลี่ยนจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายแพ่ง เพื่อให้เสียค่าปรับเท่านั้น

"ผมว่าบ้าแล้ว อย่างนี้คนที่เป็นเศรษฐีจะขู่ฆ่าคนได้รายวัน เพราะมีเงินจะจ่ายค่าปรับ คุณต้องการบ้านเมืองแบบนั้นจริง ๆ หรือ...คุณแน่ใจเหรอ"

"ถ้าเป็นกฎหมายอย่างนั้นจริง ผมบอกว่า คุณโรม รังสิมันต์ (รังสิมันต์ โรม) คนอย่างคุณเนี่ยนะไม่สมควรมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ คุณควรจะเป็นผงปูนซีเมนต์แบบละเอียดที่สุด แล้วก็ไปนอนคุยกับรากต้นมะขาม เดี๋ยวผมจะยอมเสียค่าปรับ ผมกำลังขู่อาฆาตมาดร้ายขู่เอาชีวิตคุณนะ แต่...คุณบอกเองให้แก้กฎหมายตามนี้ ถ้าแก้กฎหมายตามที่คุณบอก ผมก็จะทำอย่างที่คุณพูด เพราะผมคิดว่ามีพี่น้องประชาชนบางคนอยากจะเสียค่าปรับให้ผม" ดร.อานนท์กล่าว ท่ามกลางเสียงปรบมือชอบใจของผู้ฟัง

"การเขียนกฎหมายคือการออกแบบสังคม เขียนอย่างไรก็ได้สังคมอย่างนั้น และปากคุณที่บอกว่า ต้องไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ต้องให้ยุติธรรม ผมถามหน่อยว่าคนรวยขู่ฆ่าคนได้ คนมีสตางค์ขู่ฆ่าคนได้ไม่จำกัด เพราะมีเงินจะจ่ายค่าปรับ สังคมจะอยู่บนความยุติธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร นี่เหลื่อมล้ำที่สุดแล้ว ผมจึงไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณโรม รังสิมันต์พูดแม้แต่นิดเดียว" ดร.อานนท์กล่าว

กลุ่มไทยภักดี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กลุ่มไทยภักดีนับเป็นองค์กรที่ 4 ของฝ่ายแนวคิดอนุรักษนิยมที่เคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ

ในตอนท้าย ดร.อานนท์ เตือนว่า หากไม่มีการใช้มาตรา 112 ก็จะทำให้เกิดกฎหมู่ตามมาจากกลุ่มคนที่รักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่ทนกับการลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันฯ ไม่ไหว โดยชี้ว่าจะเป็นอันเรื่องอันตราย เพราะบางคนก็พร้อมจะยอมตายในสิ่งที่เขาศรัทธา

"ในมุมมองของผม มาตรา 112 ทำให้เกิดหลักนิติรัฐ และเป็นตัวตัดไฟ หรือ circuit breaker ไม่ให้เกิดการนองเลือดหรือสงครามกลางเมืองเสียด้วยซ้ำ"

ด้าน นพ.วรงค์ กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า กลุ่มม็อบจะใช้มาตรา 112 เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวในรอบต่อไป ยิ่งมีการฟ้องร้องในคดี 112 มากขึ้นเท่าไหร่ กลุ่มม็อบก็จะเอาจำเลยคดีนี้มารวมตัวกันเพื่อฟ้องต่างประเทศ ว่ากฎหมาย 112 รังแกพวกเขา และคาดในปีต้นปีหน้า จะออกมาเรียกร้องเงื่อนไขนี้ จึงขอให้คนไทยที่จงรักภักดีต่อสถาบันออกมาพูดความจริง พร้อมระบุว่ากลุ่มไทยภักดีจะเดินทางไปกระทรวงศึกษาธิการเพื่อหารือถึงมาตรการไม่ให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อข้อมูลเท็จเรื่องสถาบันและมาตรา 112