วัคซีนโควิด-19 : หมอบุญเตรียมเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เปิดชื่อหน่วยงานรัฐผู้นำเข้าวันนี้

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

ที่มาของภาพ, บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

คำบรรยายภาพ, นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

ผู้บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ระบุว่าเตรียมลงนามสัญญานำเข้าวัคซีนไฟเซอร์จากเยอรมนี 20 ล้านโดส โดยจะทยอยส่งมอบล็อตแรกภายในเดือน ก.ค. นี้ และย้ำว่าหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้นำเข้าวัคซีนไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

นพ. บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดเผยกับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่า ในวันนี้ (15 ก.ค.) บริษัทจะลงนามสัญญาเพื่อนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 กับ บริษัท บิออนเทค ที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเยอรมนี โดยจะมีหน่วยงานรัฐที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนร่วมลงนามด้วย ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยชื่อหลังจากการลงนามแล้วเสร็จ

การลงนามสัญญาที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อและนำเข้า หลังจากกระบวนการต่าง ๆ ดำเนินการมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว ส่วนงานด้านเอกสารสำคัญ คำสั่งซื้อ ร่างสัญญาต่าง ๆ เตรียมไว้พร้อมแล้ว

"เหลือเพียงแค่ทางด้านสหรัฐฯ เท่านั้นว่าจะอนุมัติตามที่ขอไป 20 ล้านโดส ในระยะแรกหรือไม่" นพ. บุญกล่าว

ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้น นพ. บุญอธิบายว่า เนื่องจากเป็นวัคซีนไฟเซอร์ชนิดเดียวกันกับที่บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำหรับใช้ในไทยได้ในภาวะฉุกเฉินแล้ว จึงคาดว่าใช้ระยะในการพิจารณาเพียงหนึ่งวัน หลังจากนั้นก็นำเข้าได้เลยภายใน 1 สัปดาห์ โดยเครือโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้กระจายวัคซีน

ยังไม่เปิดชื่อหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้นำเข้า

เมื่อถามถึงหน่วยงานรัฐที่จะเป็นผู้นำเข้าตามข้อกำหนดของไฟเซอร์ที่จะขายวัคซีนให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น นพ. บุญปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อหน่วยงานในขณะนี้ โดยยืนยันว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเป็นผู้นำเข้าวัคซีน

รอยเตอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

"ไม่มี เขาช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตอนนี้ต้องร่วมกันช่วยประเทศเป็นหลัก" นพ. บุญกล่าว

ผู้บริหารรายนี้เผยว่าได้รับการขอร้องไม่ให้เอ่ยถึงชื่อหน่วยงานผู้นำเข้าจนกว่าจะมีการยืนยันทุกอย่างในวันที่พฤหัสบดีนี้เท่านั้น และยังระบุถึงบุคคลสำคัญที่เข้ามามีส่วนช่วยในการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ดังกล่าวอีกคนคือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยช่วยประสานงานหลายจุดจนสำเร็จ

"ผมไม่โทษว่า เป็นความผิดของใครที่ไม่ติดต่อหรือไม่พยายามนำเข้า แต่เราประสานกับเขามาตั้งแต่เดือน ต.ค. นี่ก็ร่วม 8 เดือนแล้ว"

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

จากข้อมูลของเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ได้ระบุถึงการอนุญาตให้ 5 หน่วยงานหลักมีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1) กรมควบคุมโรค 2) องค์การเภสัชกรรม 3) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 4) สภากาชาดไทย และ 5) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สะท้อนนานาปัญหาการนำเข้าโดยภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม นพ.บุญได้สะท้อนให้เห็นปัญหาการนำเข้าวัคซีนโดยภาคเอกชนที่ผ่านมาว่า ที่โรงพยาบาลของเขาไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะติดเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ผลิตจะต้องทำสัญญากับหน่วยงานรัฐเท่านั้น จนกระทั้งถึงเดือน เม.ย. ที่ไวรัสโควิด-19 เกิดระบาดหนักเป็นระลอกที่ 3 รัฐบาลจึงมีนโยบายเรื่องวัคซีนทางเลือก เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในการนำเข้าวัคซีนได้ หลังจากนั้นไม่นาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็สามารถนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มได้ภายใน 2 สัปดาห์

"เราจึงเห็นว่าจะต้องใช้ช่องทางในลักษณะเดียวกัน โดยไม่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเพราะกระบวนการล่าช้ามาก"

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คำบรรยายภาพ, วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกถึงไทย 1 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. โดยผ่านการจัดหาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักที่รัฐจัดหาให้ประชาชน จึงทำให้บริษัทเอกชนรายอื่น ๆ ไม่สามารถทำสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ในไทยได้ และเป็นที่มาของการหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ผลิตวัคซีนจากสหรัฐอเมริกาว่า ให้ทำสัญญาผ่านบริษัทผู้ผลิตยา บิออนเทคของเยอรมนีแทน ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์เช่นกัน

คิดราคาฉีดวัคซีน 900 บาทต่อโดส

สำหรับแผนการส่งมอบวัคซีนล็อตแรกคาดว่าจะขนส่งจากโรงงานในเยอรมนีมาถึงไทยภายในเดือนก.ค. นี้ จำนวน 5 ล้านโดส จากทั้งหมด 20 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะทยอยจัดส่งมา โดยจะเข้ามาสมทบช่วยแผนการกระจายของรัฐบาล แบบคู่ขนาดผ่านภาคเอกชน โดยตั้งเป้าว่าจะกระจายวัคซีนให้ได้ในอัตรา 500,000 โดสต่อวัน และจะทำให้อัตราการฉีดต่อวันของทั้งประเทศเพิ่มเป็นวันละ 1 ล้านโดส เพื่อให้ทันกับสถานการณ์วิกฤตนี้

รูปคนปฏิเสธวัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

นพ.บุญระบุว่า บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ยินดีขายให้ภาคเอกชนที่ต้องการฉีด เบื้องต้นราคาต้นทุนอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือราว 555 บาทต่อโดส ยังไม่รวมค่าขนส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคิดราคารวมโดยประมาณ 900 บาทต่อโดส

สำหรับการนำเข้าล็อตนี้เพื่อช่วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในจังหวัดและเมืองหลัก ๆ ด้านเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และพัทยาให้ครอบคลุม 80% ของประชากรโดยเร็วที่สุด

เล็งนำเข้า Novavax เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก 10 ล้านโดส

สำหรับกรณีการนำเข้าวัคซีนโนวาแวกซ์ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง นพ.บุญกล่าวว่า การเจรจาซื้อดังกล่าวตั้งเป้าไว้ว่าให้เป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster dose) ที่จะเป็นเข็มที่ 3 และ 4 ในอนาคต โดยคาดว่าจองไว้ราว 10 ล้านโดส ซึ่งโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเอง

novavax

ที่มาของภาพ, Reuters

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอความชัดเจนเพิ่มเติม เพราะวัคซีนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นานั้น จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ตกลงเป็นวัคซีนทางเลือกกับภาครัฐที่สั่งจองมา 5 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

สองบริษัทปฏิเสธ

15 ก.ค. ไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกาและบิออนเทคของเยอรมนี สองบริษัทผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ออกมาปฏิเสธผ่านรอยเตอร์ว่าไม่ได้เจรจาเรื่องการซื้อขายวัคซีนไฟเซอร์กับ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป

"เราอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมควบคุมโรคของไทย" บริษัทไฟเซอร์ระบุในข้อความที่ส่งถึงรอยเตอร์

ขณะที่บิออนเทคของเยอรมนีก็ปฏิเสธเช่นกัน โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวทางอีเมลเพียงสั้น ๆ ว่า "เราไม่ได้เจรจาเรื่องการซื้อขายวัคซีนกับบริษัทที่กล่าวถึง"

โฆษกของบริษัทไฟเซอร์ระบุเพิ่มเติมว่า "ไฟเซอร์และบริษัทในเครือทั่วโลกไม่ได้ให้สิทธิผู้ใดในการนำเข้า ทำการตลาดหรือจำหน่ายวัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค"

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ทั้ง 2 บริษัทออกมาปฏิเสธ นพ. บุญกล่าวกับรอยเตอร์ว่าการเจรจายังดำเนินต่อไป "เราไม่ได้ทำโดยตรง" ประธาน บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ฯ กล่าวโดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม

ข่าวการเจรจานี้ ทำให้ราคาหุ้นของ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป พุ่งขึ้นระหว่างการซื้อขายวันพฤหัสไปสูงถึง 13% แล้วปิดลงที่ 31.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.88%

คำชี้แจงผ่านสื่อไทย

ก่อนหน้านี้ นพ.บุญ ให้สัมภาษณ์กับกับรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 วันที่ 15 ก.ค. ว่าตอนนี้ได้รับสัญญาแล้ว และกำลังนั่งดูสัญญาทีละหน้ากับเจ้าหน้าที่ หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะแล้วเสร็จและเซ็นสัญญาก่อน 2 ทุ่ม จากนั้นจะส่งสัญญากลับไปยังสหรัฐอเมริกาทันที โดยตอนนี้ขอเวลาดูรายละเอียดในสัญญาก่อน

นพ.บุญ กล่าวว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะนำเข้ามาล็อตแรกภายในเดือนก.ค.นี้ จำนวน 5 ล้านโดส ส่วนหน่วยงานและองค์การที่ทำหน้าที่ประสานเจรจาให้นั้น ขออุบไว้ก่อน แต่ยืนยันการประสานงานทุกอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังสั่งจองวัคซีนโนวาแวกซ์ที่ยังไม่ผ่านอย. เบื้องต้นจองไว้ 10 ล้านโดส คาดจะนำเข้ามาภายใน ม.ค. 2565

ในเวลาต่อมา นพ.บุญกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ ว่า สำหรับการเซ็นสัญญาซื้อนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสัญญาซึ่งมีราว 40 หน้า โดยให้ทนายพิจารณาอยู่ จึงคาดว่าน่าจะเซ็นไม่ทันภายใน 15 ก.ค. เพราะสัญญามีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด

แต่ทั้งนี้ คาดว่าการตรวจสัญญาจะเสร็จสิ้นภายในช่วงเช้าวันที่ 16 ก.ค. และเริ่มลงนามเซ็นสัญญา ต่อมาจึงแจ้งบริษัทผู้นำเข้า ซึ่งยังบอกชื่อไม่ได้