วัคซีนโควิด : เซ็นซื้อโมเดอร์นาแล้ว หมอเชียงใหม่สงสัยไฟเซอร์บริจาค 1.5 ล้านโดส ใครได้บ้าง

ขวดวัคซีนโมเดอร์นา

ที่มาของภาพ, Getty Images

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัทโมเดอร์นาจำนวน 5 ล้านโดสแล้ววันนี้ (23 ก.ค.) ขณะที่ความต้องการวัคซีนชนิดนี้ล้นหลาม ไม่เพียงแต่ประชาชนที่พากันจ่ายเงินหลักพันจองวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชน แต่ยังมีรายงานว่าหน่วยงานรัฐบางแห่งเริ่มส่งจดหมาย "ขอรับการสนับสนุน" วัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา

วัคซีนของโมเดอร์นาเป็นวัคซีนโควิด-19 ลำดับที่ 4 ที่องค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ โดยมีบริษัทซิลลิคฟาร์มาเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเป็นวัคซีน "ทางเลือก" สำหรับประชาชนที่พร้อมเสียค่าใช้จ่ายในการฉีด

แต่เนื่องจากบริษัทโมเดอร์นามีข้อกำหนดว่าจะขายวัคซีนให้หน่วยงานของรัฐเท่านั้น อภ. จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่เซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่ง อภ. ได้เซ็นสัญญากับ บริษัทซิลลิคฯ แล้ววันนี้ (23 ก.ค.)

นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวภายหลังพิธีเซ็นสัญญาว่า อภ. และ บริษัทซิลลิคฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นไปตามช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้

เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน

ที่มาของภาพ, องค์การเภสัชกรรม

คำบรรยายภาพ, องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ในนามบริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย โดยมีนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขาย อย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส วันนี้ (23 ก.ค.)

"องค์การเภสัชกรรมได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น" นพ. วิฑูรย์กล่าว

ผอ.อภ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งสภากาชาดไทยได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรรแล้ว หลังจากนี้ อภ. จะชำระเงินให้แก่บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จํากัด เพื่อให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดสนี้ จะเข้ามาประเทศไทยอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ อภ. ชี้แจงว่าวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 5 ล้านโดสนี้จะส่งให้ รพ. เอกชนจำนวน 277 แห่งทั่วประเทศจำนวน 3.9 ล้านโดส ส่วนอีก 1.1 ล้านโดสจะจัดสรรให้สภากาชาดไทย รพ. รามาธิบดีและ รพ.ศิริราช

สำหรับประชาชนที่จองวัคซีนโมเดอร์นากับ รพ.เอกชนไปนั้นจะเสียค่าใช้จ่าย 1,500-1,700 บาทต่อเข็ม หรือ 3,000-3,400 บาทสำหรับ 2 โดส แต่ในส่วนของวัคซีนโมเดอร์นาที่อยู่ภายใต้การจัดการของสภากาชาดไทยนั้น สภากาชาดไทยระบุว่าได้จัดสรรโควตาส่วนหนึ่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อบจ. ที่ได้รับจัดสรรต้องดำเนินการฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด

"ขอรับการสนับสนุน"

เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) ในโลกออกไลน์ได้มีการเผยแพร่เอกสารคล้ายจดหมายของราชการฉบับหนึ่ง พร้อมตราประทับว่า "ด่วนมาก" ข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุว่าเป็นหนังสือจากกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ถึง สภากาชาดไทย เรื่อง "ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Moderna" พร้อมกับแนบบัญชีรายชื่อกำลังพลและครอบครัวที่ขอรับการสนับสนุนวัคซีนมาด้วย

หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 19 ก.ค. ปรากฏชื่อ พ.อ. ยุทธศักด์ พรหมทา เป็นผู้ลงนาม สรุปใจความได้ว่าเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากการระบาดของโควิด-19 กองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ซึ่งปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กำลังพลและครอบครัว

หลังมีการเผยแพร่จดหมายดังกล่าว สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งเป็นสื่อของกองทัพบก รายงานว่าพล.ต. ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของกรมสารบรรณทหารระบุว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้วและให้สอบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที และจะรายงานผลการสอบสวนให้ทราบต่อไป

พล.ต. ธีรพงศ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือราชการดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะหนังสือราชการที่ส่งไปหน่วยงานภายนอก

คำบรรยายวิดีโอ, วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อันตรายจริงหรือ

อบจ.สกลนครสำรวจรายชื่อสั่งจองโมเดอร์นา

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โลกออนไลน์ได้เผยแพร่เอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นเอกสารที่กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนครส่งถึงผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ของ อบจ. สกลนคร เมื่อ 19 ก.ค. ขอให้สำรวจรายชื่อบุคลากรในสังกัดที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน เพื่อดำเนินการจองวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดไทยมาให้ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการและบุคคลในครอบครัวโดยไม่คิดมูลค่า

หนังสือดังกล่าวทำให้ อบจ. สกลนครถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าส่อเจตนาที่จะจองวัคซีนโมเดอร์นาให้ผู้บริหาร บุคลากรและครอบครัว ทั้งที่สภากาชาดไทยกำหนดเงื่อนไขว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ อบจ.เพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จนกระทั่งวานนี้ (22 ก.ค.) นายชูพงษ์ คำจวง นายกฯ อบจ. สกลนคร ต้องเผยแพร่คลิปวิดีโอชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและความประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน และเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารมีความห่วงใยบุคลากรซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องใกล้ชิดประชาชน

นายชูพงษ์ยืนยันว่าผู้บริหาร อบจ. ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ และได้รับวัคซีนชนิดเดียวกับประชาชน เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจความประสงค์เท่านั้น

ประชากร 1 ล้านคน ติดเชื้อ 1,156 คน

วันนี้ (23 ก.ค.) พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดขอโควิด-19 ในไทยว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 14,575 ราย ซึ่งทุบสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกครั้ง โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,490 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 1,072 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 467,707 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (3,104 ราย) สมุทรสาคร (1,067 ราย) สมุทรปราการ (837 ราย) ชลบุรี (669 ราย) และระยอง (516 ราย)

ขณะนี้ไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 49 ของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในโลก

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 143,744 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,984 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 900 ราย และมีผู้ป่วย "สีเขียว" ในกรุงเทพฯ ที่เข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้านหรือ home isolation แล้ว 22,547 ราย

ในรอบ 24 ชม. ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 114 ราย ส่วนใหญ่คือ 49 รายอยู่ในกรุงเทพฯ และจากการคำนวณพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประชากร 69 ล้านคนโดยประมาณนั้น คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 1,156 ราย ต่อประชากรล้านคน และเสียชีวิต 10 รายต่อประชากรล้านคน

ในการแถลงข่าววันนี้ พญ. อภิสมัยยังได้กล่าวถึงแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ไทยและมีกำหนดมาถึงในวันที่ 29 ก.ค. นี้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนได้แก่

กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 (Booster Dose) กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติ เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มที่ 4 คนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คือ นักเรียก นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต สามารถติดต่อลงทะเบียนการฉีดได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก และสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังสำรวจจำนวน

REUTERS

ที่มาของภาพ, Reuters

ไฟเซอร์บริจาค

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ไทย 1.5 ล้านโดสจะมาถึงในวันที่ 29 ก.ค. เริ่มมีคำถามจากแพทย์บางคนถึงแนวทางการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ว่าเป็นไปอย่างเหมาะสม โปร่งใสหรือไม่ หลังจากมีข้อมูลว่ามีการปรับลดโควตาให้แพทย์ด่านหน้าลงเหลือแค่ 200,000 โดส

นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กช่วงเย็น 23 ก.ค. ระบุว่า เดิมมีการจัดสรรโควตาวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าไว้ 700,000 โดส แต่ต่อมาปรับลดเหลือ 500,000 โดส และล่าสุดเขาได้ข้อมูลมาว่ามีการปรับลดลงเหลือเพียง 200,000 โดส

"ผมอยากทราบว่า 300,000 โดสหายไปไหน ถ้าไปถูกที่ถูกทาง ให้แก่ประชาชนผู้เปราะบางในพื้นที่เสี่ยงสูผมจะดีใจมาก ๆ... แต่ ถ้า 300,000 โดสที่หายไปไปอยู่ที่แขน เหล่า VIP และเครือญาติผมไม่โอเคครับ" นพ. รังสฤษฎ์โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าหากมีการตั้งเกณฑ์ที่ชัดเจนว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ เช่น แพทย์ที่ต้องตรวจคนไข้จำนวนมากต่อวันมีจำนวนเท่าไหร่ จำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่มีรายงานว่าจัดสรรไว้ให้แพทย์ด่านหน้าจำนวน 200,000 โดสนี้ก็อาจจะเพียงพอ แต่นั่นย่อมหมายถึงว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง ก็อาจจะไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิ

นพ. รังสฤษฎ์ยังได้โพสต์ตารางข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจำนวน 1.54 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าเป็นข้อมูลที่หารือในที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. ที่ระบุว่ามีกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มีทั้งหมด 6 กลุ่ม ดังนี้

1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (ฉีดเป็น booster dose จำนวน 1 เข็ม) 500,000 โดส (500,000 คน)

2. ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีสัญชาติไทย 800,000 โดส (400,000 คน)

3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 150,000 โดส (75,000 คน)

4.ผู้มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียก นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำธุรกิจระหว่างประเทศ 45,000 โดส (22,500 คน)

5. ทำการศึกษาวิจัย 5,000 โดส (2,500 คน)

6. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด 40,000 โดส (20,000 คน)

NHS worker preparing to inject a Covid vaccine

ที่มาของภาพ, Getty Images

รมว. สธ. ให้ถามอธิบดีกรมควบคุมโรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่ทราบเรื่องการจัดสรรจำนวนวัคซีนดังกล่าวว่ากระจายให้กับกลุ่มใดจำนวนเท่าไหร่ รวมทั้งกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ถูกลดการจัดสรรด้วย เป็นเรื่องของกรมควบคุมโรคที่เป็นผู้บริหารการจัดสรรและต้องเสนอต่อ ศบค.อีกครั้งหนึ่ง

"ถ้าทุกอย่างผ่านรัฐมนตรีหมด คนนั้นก็จะมาขอ คนนี้ก็จะมาขอ" ดังนั้น ต้องให้คนที่มีหน้าที่ คืออธิบดีกรมควบคุมโรค คนอื่นไม่มีหน้าที่"

นอกจากนี้ บีบีซีไทยได้เห็นข้อความในห้องสนทนาไลน์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ ที่แจ้งข้อมูลกับบุคลากรว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอาจได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาในจำนวนน้อย เนื่องจากมีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มแพทย์ด่านหน้าเพียง 2-3 แสนโดสเท่านั้น

บีบีซีไทยยังได้เห็นจดหมายภายในของโรงพยาบาลในภาคอีสานแห่งหนึ่งที่แจ้งบุคลากรในทำนองเดียวกันว่าปริมาณวัคซีนไฟเซอร์ที่โรงพยาบาลจะได้รับการจัดสรรอาจจะไม่ได้เท่ากับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ลงทะเบียนไว้ ดังนั้นหากวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้มามีปริมาณน้อยก็จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญให้บุคลากรด่านหน้าก่อน

ทั้งนี้มีรายงานว่ามีการรวบรวมจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าเฉพาะในกรุงเทพฯ ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิจำนวนกว่า 175,000 คน

เอกสาร

ที่มาของภาพ, Handout

บีบีซีไทยติดต่อ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ แต่ได้รับแจ้งจากเลขาฯ ว่า นพ.ทวีศิลป์ปฏิบัติราชการในต่างจังหวัดจึงไม่ได้เข้าประชุม ศบค. ในสัปดาห์นี้ ส่วน นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์เนื่องจากติดประชุม

ช่วงเช้าของ 23 ก.ค. พญ. อภิสมัย ได้เปิดเผยแผนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 4 กลุ่ม แต่ไม่ได้บอกจำนวนโดสที่จัดสรรให้แต่ละกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 (Booster Dose)

กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติ เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง

กลุ่มที่ 4 คนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คือ นักเรียก นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต ซึ่งกลุ่มนี้สามารถติดต่อลงทะเบียนการฉีดได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนและสุขภาพบางรัก และสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังสำรวจจำนวนที่แน่นอน