ข้อมูลรั่วเปิดโปง เครดิตสวิส เป็นแหล่งซุกซ่อนความมั่งคั่งของผู้พัวพันอาชญากรรม

Man in front of Credit Suisse sign

ที่มาของภาพ, Getty Images

เครดิตสวิส ผู้ให้บริการด้านการเงินการธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ปฏิเสธการกระทำผิด หลังเกิดกรณีข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ที่เผยให้เห็นว่าลูกค้าหลายรายที่พัวพันการกระทำผิดกฎหมายได้ใช้สถาบันการเงินแห่งนี้เป็นแหล่งซุกซ่อนความมั่งคั่ง

ผู้แจ้งเบาะแสนิรนามได้ส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินไว้กับเครดิตสวิส กว่า 18,000 บัญชี ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมัน Süddeutsche Zeitung

บัญชีเหล่านี้มีทั้งบัญชีส่วนบุคคลและบัญชีนิติบุคคล รวมทั้งผู้ที่เปิดบัญชีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1940 แต่ส่วนใหญ่เป็นบัญชีที่เปิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา

Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) เครือข่ายผู้สื่อข่าวไม่แสวงหาผลกำไร ที่รายงานเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมและการทุจริต ได้แบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ให้แก่องค์กรสื่อเกือบ 50 ราย อาทิ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน และนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งได้ตรวจสอบข้อมูล และพบหลักฐานบ่งชี้ว่า เครดิตสวิสได้เปิดหรือเก็บรักษาบัญชีของลูกค้าความเสี่ยงสูงที่มีส่วนพัวพันกับอาชญากรรมร้ายแรงหลายราย เช่น การฟอกเงิน การค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม เครดิตสวิสได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 20 ก.พ. โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาและการอนุมานใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจโดยมิชอบของธนาคาร

เครดิตสวิส ระบุว่า ข่าวที่สื่อนำเสนอครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ในบางกรณีย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษที่ 1940 และข้อมูลที่นำเสนอนั้นมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือข้อมูลที่คัดเลือกมาโดยไม่สนใจบริบท" จึงทำให้มีการตีความอย่างผิด ๆ

ในแถลงการณ์ เครดิตสวิสยังระบุว่า ได้พิจารณาบัญชีจำนวนมากที่อาจเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาครั้งนี้ และพบว่า ประมาณ 90% ของบัญชีที่ผ่านการพิจารณาได้ถูกปิดไปแล้ว หรืออยู่ในกระบวนการปิดก่อนที่สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องนี้ โดยกว่า 60% ของบัญชีได้ปิดใช้งานมาตั้งแต่ก่อนปี 2015 อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลูกค้าบางรายที่ถูกกล่าวถึงในข่าวครั้งนี้

เครดิตสวิสยืนกรานว่า ได้ตระหนักเป็นอย่างดีถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้าและระบบการเงินโดยรวม เพื่อรับประกันมาตรฐานสูงสุดในการดำเนินงาน

พร้อมกันนี้ยังชี้ว่า ข้อกล่าวหาของสื่อมวลชนครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามร่วมกันในการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ไม่เฉพาะต่อเครดิตสวิส แต่รวมถึงตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์โดยรวม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

"บทบาทที่น่าละอายใจ"

Credit Suisse headquarters in Geneva

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้แจ้งเบาะแสนิรนาม ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นเพียงบุคคลเดียว หรือกลุ่มบุคคล ได้ระบุถึงแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เมื่อกว่า 1 ปีก่อน ผ่านหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung ว่า "เราเชื่อว่า กฎหมายว่าด้วยความลับด้านการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ขัดต่อศีลธรรม ข้ออ้างเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางการเงินนั้น เป็นเพียงเครื่องปิดบังบทบาทที่น่าละอายใจของเหล่าธนาคารสวิสในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดกับบรรดาผู้หลบเลี่ยงภาษี"

เครดิตสวิส ชี้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น เช่น การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงิน

ข่าวครั้งนี้เกิดขึ้น หลังจากเครดิตสวิสเผชิญกับกรณีอื้อฉาวอื่น ๆ เช่นกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงสองคนต้องพ้นจากตำแหน่ง หลังถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรการโควิด และการสอดแนมอดีตพนักงาน

Presentational grey line

เกี่ยวกับไทยอย่างไร

สำนักข่าวประชาไท ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อนานาชาติที่ร่วมในการขุดคุ้ยครั้งนี้ รายงานเมื่อ 21 ก.พ. ว่างานข่าวสืบสวนสอบสวนข้ามชาติจาก 39 ประเทศทั่วโลกพบผู้นำเผด็จการ ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวง สายลับ ท่อน้ำเลี้ยงมาเฟีย ไปจนถึงผู้มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน มีบัญชีในธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ ที่ที่มีกฎหมายรักษาความลับทางธนาคารเข้มงวด สำหรับไทย พบนักธุรกิจชั้นนำ อดีตข้าราชการ ต่างชาติที่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องการเลี่ยงภาษี

แม้ยังไม่พบชื่อบุคคลระดับโลก แต่ชื่อของชาวไทยและผู้มีถิ่นพำนักในไทยที่เคยมีประวัติทางการเงินหรืออาชญากรรมก็มีชื่ออยู่ในบัญชีสวิตเซอร์แลนด์นี้ด้วย

รายแรกคือชาวต่างชาติเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับวงการแฟชั่นที่เคยประกอบธุรกิจในไทยในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 ชื่อของเขาเคยถูกเอ่ยถึงในเอกสารหลุดทางการเงินชื่อดัง 'ปานามา เปเปอร์ส' ชิ้นข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่อประเทศฝรั่งเศสค้นพบว่าเขามีบริษัทในประเทศหมู่เกาะอันเป็นพื้นที่ภาษีต่ำที่มักเป็นที่จดทะเบียนนอกชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศต้นทางที่มีการทำธุรกิจจริง ชิ้นข่าวสืบสวนสอบสวนดังกล่าวยังระบุว่าชาวต่างชาติคนนี้ใช้วิธีนี้ในการเลี่ยงจ่ายภาษี "แทบทั้งหมด" จากรายได้ประมาณปีละกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในฐานข้อมูลยังพบชาวต่างชาติอีกหนึ่งรายที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ชาวต่างชาติผู้นี้มีชื่อในฐานข้อมูลบริษัทนอกชายฝั่ง (offshore leaks) ของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ในฐานะผู้อำนวยการและคนกลางของบริษัทโฮลดิ้งสองแห่งที่จดทะเบียนในหมู่เกาะซีเชลล์และประเทศไซปรัส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักเป็นที่จดทะเบียนของบริษัทเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีและธุรกิจ โดยบริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะซีเชลล์ มีบริษัทนิติบุคคลอีกบริษัทถือตำแหน่งเป็นเลขานุการ ซึ่งบริษัทนั้นก็เป็นผู้ถือหุ้นในอีก 27 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะซีเชลล์ และซามัว

สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไซปรัสนั้นพบว่ามีบริษัทอีกแห่งถือตำแหน่งเป็นเลขานุการ ซึ่งบริษัทนี้เองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดที่มีชื่อบริษัทเป็นผู้ให้บริการเรื่องน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสองแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส โดยขณะนี้ยังไม่อาจสืบทราบได้ว่ามีใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์แท้จริงจากความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนนี้

ประชาไทเดินทางไปยังที่อยู่ตามที่มีการจดทะเบียนไว้และสามารถยืนยันที่อยู่ได้จริง แต่ได้ข้อมูลว่าเจ้าตัวเดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อต้นปี 2565 ยังไม่เดินทางกลับมา จึงยังไม่สามารถได้รับคำชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการมีบัญชีในต่างประเทศ ขณะนี้เครือข่ายผู้สื่อข่าวในประเทศเจ้าตัวถือสัญชาติกำลังดำเนินการสืบหาข้อมูลต่อ

อีกรายหนึ่งที่พบในกรณีบัญชีคนไทยคือชาวไทยรายหนึ่งที่เคยถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในคดียักยอกและความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประชาไทติดต่อไปยังที่อยู่อีเมลในที่ทำงาน ซึ่งอีเมลที่ส่งไปไม่ได้ถูกตีกลับ รวมถึงขอสัมภาษณ์ไปในช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

การมีบัญชีธนาคารในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิดในตัวของการกระทำเอง เพราะวัตถุประสงค์ของการมีบัญชีเงินฝากเช่นว่ามีอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการรับรายได้จากธุรกิจหรือคู่ค้าในต่างประเทศและการเปิดบัญชีสำหรับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ไปจนถึงการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ในประเทศไทย ที่แม้มีกระบวนการทางบัญชีที่กระทำได้ แต่ก็เป็นที่ถกเถียงในเชิงศีลธรรมจรรยาในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่เสียภาษีให้แก่รัฐตามที่มีการยกประเด็นขึ้นเมื่อมีการปล่อยเอกสารหลุดในอดีต เช่น 'ปานามา เปเปอร์ส' หรือ 'แพนโดรา เปเปอร์ส'

ในกรณีประเทศไทย พบว่ามีผู้ถือบัญชีมีทั้งบุคคลและนิติบุคคลจากธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ค้าขายอัญมณี ค้าวัสดุก่อสร้าง อดีตนายกสมาคมการค้าต่างๆ บุคคลที่เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจแนวหน้า ไปจนถึงนักธุรกิจที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร อดีตข้าราชการระดับอธิบดีกรม อดีตผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง และนักธุรกิจที่มีประวัติเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ

เมื่อ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไททำหนังสือสอบถามไปยังกรมสรรพากรเกี่ยวกับข้อมูลผู้เสียภาษีที่มีบัญชีในธนาคารเครดิตสวิสในช่วงปีของข้อมูล แต่จนถึงวันที่ 18 ก.พ. ยังคงไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการ อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ได้รับทราบมาว่าทางกรมสรรพากรยังไม่น่าจะมีข้อมูลข้างต้น