ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: ผู้ว่าฯ กทม. เผย 1 เดือนได้ข้อสรุปปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังหารือกรุงเทพธนาคม

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, นายชัชชาติกล่าวว่า สัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรีเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้ ม.44

หนึ่งวันหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้าคุยผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม. ขอดูสัมปทานการจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ระบุภายใน 1 เดือน ได้ความชัดเจนถึงข้อสรุปการแก้ปัญหาสัมปทานและภาระหนี้ของ กทม.

หลังใช้เวลากว่า 1 ชม. นายชัชชาติ กล่าวว่า การหารือกับกรุงเทพธนาคมทำให้ได้เห็นสัญญาการเดินรถส่วนต่อขยายที่จะสิ้นสุดในปี 2585 ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิน จึงต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบว่าภาระหนี้สินเกิดจากอะไร และสัญญาได้รับการอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ โดยระบุว่าไม่ต้องการให้เอาภาระหนี้สินมาเป็นปัจจัยในการผูกมัดการแก้ปัญหาสัมปทานของสายสีเขียว แม้ว่าจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

ส่วนการขยายสัญญาสัมปทานที่จะหมดในปี 2572 นายชัชชาติ กล่าวว่ายังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร และสภา กทม. เข้ามาพูดคุยกันข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญา โดยให้สภา กทม. พิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียดตามแนวทางปฎิบัติ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรีขณะนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44

สำหรับสัญญาสัมปทานของสายสีเขียว ก่อนหน้านี้ ผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ กทม. ทุกรายต่างระบุในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มีใครได้เคยเห็นสัญญาสัมปทานดังกล่าว

นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงภาระหนี้สินสะสมที่ กทม. มีต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ราว 40,000 ล้านบาทว่า หากเป็นไปได้อยากโอนหนี้ คืนกลับไปที่กระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยดูแลภาระหนี้การเดินรถในหลายสัญญาสัมปทาน ส่วนหน้าที่การเดินรถยืนยันว่า กทม. ยังคงขอเป็นผู้เดินรถต่อไป

สำหรับภาระหนี้สะสมที่ กทม. มีต่อบีทีเอสตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 ถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 38,000 ล้านบาท (ณ สิ้นสุดเดือน มี.ค.) และอยู่ระหว่างฟ้องศาลปกครองทวงหนี้ระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลอีก 20,000 ล้านบาท

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาสัมปทานสายสีเขียวว่า รอให้นายชัชชาติพิจารณาเรื่องนี้ใน กทม. ก่อนหารือร่วมกัน ส่วนแนวทางการชำระหนี้ ว่าจะเป็นสัดส่วนคนละครึ่งระหว่าง กทม. กับรัฐบาลหรือไม่นั้น คงยังสรุปอะไรไม่ได้ ต้องดูทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินการก่อหนี้จะยึดตัวบทกฎหมายอะไร

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

คำบรรยายภาพ, บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นวิสาหกิจของ กทม. ได้รับการมอบหมายจาก กทม. ให้เป็นผู้บริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนใน กทม.

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ บอกว่ากล่าวย้ำจะเน้นเดินหน้านโยบาย "เส้นเลือดฝอย" เป็นหลัก ยกเหตุผลทำได้จริงและเหมาะกับสถานการณ์ของ กทม. ขอเวลาหนึ่งเดือนจัดการปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ขณะเดียวกันเตรียมเจรจากระทรวงคมนาคมเรื่องการโอนโครงการรถไฟฟ้าให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบแทน

สามวันให้หลัง "วันดี-เดย์" ที่ชาวกรุงเทพฯ ได้ใช้สิทธิของตัวเองเลือกพ่อเมืองคนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ซึ่งได้คะแนนท่วมท้นไปถึง 1.3 ล้านเสียง ร่วมพูดคุยหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่ผู้คนจับตามองมากที่สุดกับบีบีซีไทย - อนาคตขนส่งมวลชน กทม.จะเป็นอย่างไร

ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 คนกรุงเทพฯ ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมากถึง 734,000 คน/ปี หรือคิดเป็น 13% ของตัวเลขประชากรตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ของสำนักบริหารการทะเบียน ในปี 2562

ด้วยเหตุนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ที่เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยมาหลายปี จึงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

ชัชชาติกล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของ กทม. คือ ต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้โดยสารเป็นหลัก และกำลังมองว่า กทม.จะมีบทบาทเข้าไปทักท้วงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

"เราเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ยังไงต้องยุติธรรม การโอนหนี้ มีขบวนการถูกต้องไหม การจ้างเดินรถที่ไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ผิดหลักการความโปร่งใสไหม"

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. หวังจะเข้าไปเสนอแนะการพิจารณาประเด็นดังกล่าว แต่ย้ำว่าจะ "ฟัง [คณะรัฐมนตรี] เช่นกัน"

เตรียมคุย ก.คมนาคม เรื่องโอนสายสีเขียวให้ รฟม.

ก่อนหน้านี้บีบีซีไทยได้เขียนบทวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และในกรุงลอนดอนขึ้นมา

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่แยกลำสาลี เขตบางกะปิ เพื่อติดตามการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและส้ม ( 23 พ.ค.)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่แยกลำสาลี เขตบางกะปิ เพื่อติดตามการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและส้ม ( 23 พ.ค.)

ใจความช่วงหนึ่งชี้ว่า สาเหตุที่ลอนดอนสามารถบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็วเป็นเพราะนายกเทศมนตรีของเมืองมีอำนาจเต็ม และขนส่งสาธารณะต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานเดียวอย่าง กรมการคมนาคมลอนดอน หรือ TfL

เมื่อถามชัชชาติว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ กทม.จะพยายามรวบอำนาจนำโครงข่ายขนส่งมวลชนต่างๆ มาไว้ใต้อำนาจบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติชี้ว่าคงเป็นไปได้ยาก แม้ "ตามอุดมคติ ผู้ว่าฯ ควรจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ" ก็ตาม

แนวนโยบายของชัชชาติชี้ว่า อาจเป็นเรื่องง่ายกว่าด้วยซ้ำที่จะส่งโครงการรถไฟฟ้าที่ กทม. เป็นเจ้าของอยู่สายเดียวกลับไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม

"ถ้าเราโอน (สาย)สีเขียว แล้วทำเป็นเครือข่ายเดียว ง่ายกว่าของสีทั้งหมดมาให้ กทม.ดูแล" เขากล่าว

ขณะที่ช่วงเข้าที่ผ่านมา ชัชชาติให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไปไทย Inside Thailand ว่า ต้องหารือกับกระทรวงคมนาคมถึงความเป็นไปได้ ในขณะที่ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มอีกสองสายในกรุงเทพฯ สายสีเงิน (บางนา - บางโฉลง - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) และสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) ซึ่งเขามองว่าอยากให้ รฟม. เป็นผู้สร้างมากกว่า เพราะมีจุดตัดรถไฟฟ้าหลายสาย หากว่า กทม. เป็นผู้ลงทุนเองในที่สุดก็จะมีปัญหาค่าแรกเข้าอีกที

bts

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ กทม. ยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการรถไฟฟ้า จึงต้องจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าทั้งหมด แล้วยังต้องแบกภาระหนี้หลายหมื่นล้าน ในขณะที่ต้องดูแลงานด้านอื่น เช่น การศึกษาและการสาธารณสุข

เน้นพัฒนาโครงข่ายฟีดเดอร์

ชัชชาติกล่าวกับบีบีซีไทยในรายการสดวานนี้ (25 พ.ค.) ว่า สิ่งที่ กทม.ทำได้คือการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเส้นเลือดฝอยอย่างรถเมล์แทน เพื่อให้ประชาชนตามชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพได้

bus

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ว่าที่พ่อเมืองคนใหม่เกริ่นเล็กน้อยเรื่องรถเมล์ฟรีสำหรับกลุ่มเปราะบาง และอาจคิดราคาไม่เกิน 10 บาท ตลอดสายสำหรับประชาชนทั่วไป โดยจะหันไปใช้รถไฟฟ้าและเทคโนโลยีตั๋วอัจฉริยะเพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าจ้างพนักงานลง

ชัชชาติทิ้งท้ายว่า "บางอย่างเราก็ไม่ต้องหวงอำนาจ อันไหนที่คนอื่นทำได้ดีกว่าก็ให้เขาทำไป"

ภารกิจเร่งด่วนตรวจสอบ 3 ปม หนี้บีทีเอส

ตลอดการรณรงค์หาเสียง ประเด็นภาระหนี้สินต่าง ๆ เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ถือเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ และสังคมจับตามอง

ชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์ว่า จำเป็นต้องพิจารณาทบทวนและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ปมแรกคือ ส่วนของหนี้ของ รฟม. ที่โอนมาเป็นของ กทม. มูลค่ากว่า 6.9 หมื่นล้านบาทนั้นยังมีคำถามว่า มีการผ่านสภา กทม. ถูกต้องหรือไม่

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีหลายโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลเป็นผู้ออกงบประมาณให้ และสำหรับโครงสร้างของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 มีหลายส่วนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ เช่น บางส่วนอยู่ใน จ.ปทุมธานี และบางส่วนอยู่ใน จ. สมุทรปราการ ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้ประโยชน์จากภาษีที่จัดเก็บจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ

ปมที่สองคือ หนี้ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษาระหว่าง กทม. และบีทีเอส รวมดอกเบี้ยกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท จนนำไปสู่การฟ้องร้องของบีทีเอสต่อศาลปกครองเมื่อเดือน ส.ค. 2564 เพื่อทวงหนี้จาก กทม.

ชัชชาติกล่าวว่า สัญญาจ้างระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งรัฐวิสาหกิจของ กทม. ที่ถือหุ้น 99.98% ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ในการจ้างให้เอกชนเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าวมีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และได้รับการเห็นชอบโดยสภา กทม. อาจจะขอพิจารณาเสนอให้มีการทบทวนการว่าจ้างอีกครั้ง

BTS Green line

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปมที่สามคือ การต่ออายุสัมปทานเดินรถสายสีเขียวตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. ให้ บมจ. บีทีเอสซี เป็นเวลาอีก 30 ปี จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ต่อไปถึงปี 2602 ซึ่งเป็นผลการเจรจาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 โดยมีข้อแลกเปลี่ยน ให้ บมจ. บีทีเอส จะต้องรับภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจาก กทม. เป็นเงินมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท พร้อมกับกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นข้อพิพาทที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ระหว่างรัฐมนตรีในรัฐบาลจากพรรคภูมิใจไทย ผู้คุมกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีมหาดไทยจากพรรคพลังประชารัฐ

ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. เสนอว่า ทางออกที่ดี หากต้องการต่ออายุสัมปทานในกรณีนี้ ควรจะนำเข้าสู่ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ซึ่งยังมีเวลาเพียงพอก่อนที่จะสัญญาสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดลง และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมแข่งประมูล ซึ่งอาจจะทำให้ได้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลงอีก และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ชัชชาติให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า เขาจะใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องนี้ภายในเวลา 1 เดือน

จะทำอย่างไรกับหนี้ที่ค้างอยู่ 38,000 ล้านบาท

เมื่อถามต่อถึงประเด็นหนี้ที่ กทม.ติดค้างอยู่กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ชัชชาติตอบกลับมาอย่างมั่นใจว่า กทม. มีความสามารถในการจัดการกับประเด็นดังกล่าว

รถไฟฟ้าเปิดให้บริการตามปกติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มาของภาพ, Getty Images

อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายนี้ชี้ว่า เมื่อหันไปมองงบการเงินของบีทีเอสจะพบว่าบริษัทมีกระแสเงินสดมาก หากสามารถตกลงกันได้เพื่อยืดหนี้จำนวนนี้ออกไปเป็นหนี้ระยะยาว "[กทม.] มีกำลังจ่ายอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร"

ทว่าตามข้อมูลงบการเงินของบีทีเอส ระหว่างเดือน เม.ย. 2564 - ธันวาคม 2564 พบยอดกระแสเงินสดสุทธิเพียง 50.15 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ลดฮวบลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีตัวเลขที่ 1,806.41 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปดูตัวเลขกระแสเงินสดจากการดำเนินการของบีทีเอสตั้งแต่ช่วง เม.ย. - ธ.ค. 2562 จะพบว่าติดลบในระดับหมื่นล้านบาทมาตลอดเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ชัชชาติยังเสริมต่อว่า แหล่งที่มาของบีทีเอสในปัจจุบันมีส่วนที่มาจากรายได้ที่ใช่ค่าโดยสาร (non-fare) ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน เมื่อหมดสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสแล้ว พ่อเมืองคนใหม่ผู้นี้เชื่อว่า กทม. มีศักยภาพในการบริหารกิจการดังกล่าวเพื่อเพิ่มรายได้

มท.1 โยนผู้ว่ากทม.คนใหม่ ตัดสินใจปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้สดนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ กรณีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าจะยังต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าไปอีก 30 ปี หรือไม่ ว่าถ้าทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้ จึงขอให้ คสช. ช่วยแก้ปัญหา จึงมีการตั้งกรรมการขึ้นมาแก้สัญญาสัมปทานและเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ใน ครม.แล้วไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงเรื่องราคาจะถูกจะแพงก็ไม่เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ที่มาของภาพ, STR/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา

พล.อ. อนุพงษ์ ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าที่ยังไม่มีการต่อสัญญาแต่เป็นการว่าจ้างเดินรถไปอีก 13 ปี เนื่องจากยังไม่มีบริษัทเอกชนเข้ามาจัดการเรื่องการเดินรถ ทำให้ กทม.ก็ต้องว่าจ้างการรถไฟ เข้ามาเดินรถไปพลางก่อน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้วหากพบความผิดปกติก็จึงจะเป็นอำนาจของมหาดไทยที่สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ทำความผิดหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินการ แต่ยืนยัน ว่ากระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียวไม่สามารถชี้นำหรือบงการอย่างอื่นอย่างใดได้