วัคซีนโควิด-19: แผนสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” กับ “ความกังวลหมู่” ที่เกิดขึ้นในรอบ 53 วันหลังกระจายวัคซีนต้านโควิดในไทย

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัคซีนต้านโควิด-19 คือปัจจัยชี้ขาดอนาคตประเทศไทย ทั้งในการเปิดเศรษฐกิจ และการหยุดยั้งอัตราผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวภายในโรงพยาบาล หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เรื่องฉีดได้ "ช้าไป" และมีวัคซีน "น้อยไป"

แผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อให้เกิดสารพัดคำถามจากสังคม หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างทางสร้าง "ความกังวลหมู่" ในหมู่ประชาชน

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลมาไว้ ณ ที่นี้

ไทยฉีดวัคซีนไปถึงไหนแล้ว

53 วันนับจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อ 28 ก.พ. 2564 ปรากฏว่ามีคนไทย 712,610 คน หรือคิดเป็น 1.08% ของคนไทยทั้งประเทศ (66.18 ล้านคน) ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ในจำนวนนี้มีเพียง 107,663 คน หรือคิดเป็น 0.16% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และอีก 604,947 คน หรือคิดเป็น 0.91% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว (ข้อมูล ณ 21 เม.ย. 2564)

ล่าสุดปลัด สธ. ออกมาสั่งการให้เร่งกระจายและฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 3 แสนคน ภายใน 25 เม.ย. นี้

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ย้อนกลับไปเมื่อ ม.ค. 2564 สธ. ประกาศประชากรเป้าหมายไว้ 19 ล้านคนที่ต้องฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ได้แก่

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน
  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 6.1 ล้านคน
  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.1 ล้านคน
  • เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย 15,000 คน

ต่อมาในเดือน มี.ค. เมื่อวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคทยอยเดินทางมาถึงไทย สธ. ระบุจะเร่งฉีดวัคซีนสัญชาติจีนจำนวน 2 ล้านโดสนี้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเสี่ยง ภายใน มี.ค.-พ.ค. จากนั้นครึ่งปีหลัง เมื่อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสมาถึง ก็จะกระจายให้ทุกจังหวัดต่อไป

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากเอกสารแถลงข่าวของ ศบค. พบว่า วันที่มีการรายงานการฉีดวัคซีนต้านโควิดได้มากที่สุดคือ 10 เม.ย. โดยฉีดได้ 71,006 เข็ม (เข็มแรก 64,390 ราย, เข็มสอง 6,616 ราย) ส่วนวันที่สถิติการฉีดวัคซีนย้ำแย่ที่สุดคือ 14 เม.ย. โดยฉีดได้เพียง 773 เข็ม (เข็มแรก 529 ราย และเข็มสอง 244)

วัคซีนในมือไทยมียี่ห้อใดบ้าง และจะมีเพิ่มอีกหรือไม่

วัคซีนต้านโควิด-19 ที่กระจายอยู่ในไทย ณ ปัจจุบัน มี 2 ยี่ห้อ รวม 2,117,300 โดส แบ่งเป็น

  • วัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดส เดินทางถึงไทย 3 ล็อต เมื่อ 24 ก.พ. จำนวน 2 แสนโดส, 20 มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส และ 10 เม.ย. อีก 1 ล้านโดส
  • วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เดินทางถึงไทยล็อตแรก เมื่อ 24 ก.พ. จำนวน 117,300 โดส

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาให้บริการประชาชนชาวไทยในอนาคตตามแผนบริหารจัดการวัคซีนของ สธ. ที่ประกาศไว้คือ

  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทย 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต เริ่มจาก มิ.ย. จำนวน 6 ล้านโดส, ก.ค. จำนวน 10 ล้านโดส, ส.ค. จำนวน 10 ล้านโดส, ก.ย. จำนวน 10 ล้านโดส, ต.ค. จำนวน 10 ล้านโดส, พ.ย. จำนวน 10 ล้านโดส และ ธ.ค. จำนวน 5 ล้านโดส
พล.อ. ประยุทธ์ถือขวดวัคซีน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "ไม่ว่าวัคซีนจะล็อตไหนก็ตาม เป็นวัคซีนของคนไทยทั้งประเทศ" นายกฯ กล่าวในพิธีรับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ยังออกมาเปิดเผยเมื่อ 20 เม.ย. ถึงแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

  • 24 เม.ย. วัคซีนซิโนแวค 5 แสนโดส จะเดินทางถึงไทย
  • พ.ค. คาดว่าวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส จะเดินทางถึงไทย (กำลังเจรจา รอรัฐบาลจีนอนุมัติ)
  • ก.ค. ถึงภายในสิ้นปี 2564 คาดว่าวัคซีนไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส จะเดินทางถึงไทย (สถาบันวัคซีนแห่งชาติอยู่ระหว่างการเจรจา และรอใบเสนอราคา)

ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวอีกครั้ง 21 เม.ย. โดยอ้างผลการหารือของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มี นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อยุติว่า "ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส"

นายกฯ ระบุว่า ในจำนวน 35 ล้านโดสนี้ ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับลูกจ้างของตนประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงไปอีก

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนบริหารจัดการวัคซีนที่รัฐบาลประกาศไว้ นั่นหมายความว่าภายในสิ้นปีนี้ไทยจะมีวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างน้อย 100 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนได้ 50 ล้านคน

ฉีดวัคซีนแล้ว ทำไมยังติดโควิด?

หลักการในการฉีดวัคซีนที่ สธ. เน้นย้ำมาโดยตลอดคือ "การเกิดภูมิคุ้มกันไม่เท่ากับการเกิดโรค" แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังสามารถเป็นผู้ป่วยได้

แต่ถึงกระนั้นทุกครั้งที่ปรากฏข่าวในต่างแดน เช่น บุคลากรทางการแพทย์มาเลเซีย 40 คนติดโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว (ข้อมูลเมื่อ 17 เม.ย.) ก็ยังสร้างความแตกตื่นในหมู่คนไทย-ผู้ยังรอคอยรับวัคซีนอยู่ และเกิดคำถามเป็นการทั่วไปว่า "ฉีดวัคซีนแล้ว ทำไมยังติดโควิดอีก"

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลก" หากผู้รับวัคซีนจะกลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เพราะขนาดคนเป็นโรคแล้วก็ยังเป็นซ้ำได้ แต่มีโอกาสน้อยกว่า 84% หมายความว่า 16% เป็นซ้ำได้อีก

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ศ.นพ. ยงย้ำว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันโรค 100% แต่จุดมุ่งหมายคือการลดระดับความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล จากการที่เชื้อลงปอด

กล่าวสำหรับวัคซีนซิโนแวคที่กระจายให้คนไทยในระลอกแรก ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อผลการทดสอบกลุ่มตัวอย่างที่ประเทศชิลีออกมาว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ 50.4% เกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 50% แต่ถึงกระนั้นแพทย์ไทยยืนยันว่าโดยหลักการจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ และการทดลองในแต่ละประเทศ ก็เจอความยากของเชื้อไม่เท่ากัน

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวค "ได้มาตรฐานทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพ ขอให้ความมั่นใจว่ายังฉีดได้" แต่ต้องทำร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม

"วัคซีนของซิโนแวคนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่มีประสิทธิภาพยอมรับได้คือเกิน 50% และการลดความรุนแรงของโรค ป้องกันได้เกือบ 100%" นพ. โอภาส กล่าวเมื่อ 12 เม.ย.

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ "our world in data" (ข้อมูล ณ 19 เม.ย.) พบข้อมูลน่าสนใจของประเทศอื่น ๆ ที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 1 เข็ม ดังนี้

  • อิสราเอล ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของตนได้สูงที่สุดในโลก โดยฉีดไปแล้ว 61.89% ของประชากรทั้งประเทศ ใช้วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดิร์นนา พบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ย 17.5 คนต่อประชากรล้านคน
  • สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนในจำนวนมากที่สุดของโลกที่ 211.58 ล้านโดส โดยฉีดไปแล้ว 39.56% ของประชากรทั้งประเทศ ใช้วัคซีนของไฟเซอร์, โมเดิร์นนา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ย 202.78 คนต่อประชากรล้านคน
  • สหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนได้ 48.51% ของประชากร ใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ พบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ย 37.5 คนต่อประชากรล้านคน
  • อินโดนีเซีย ฉีดวัคซีนได้ 4.01% ของประชากร ใช้วัคซีนของซิโนแวคแบบเดียวกับวัคซีนส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ในไทยเวลานี้ พบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ย 19.57 คนต่อประชากรล้านคน
  • ฟิลิปปินส์ ฉีดวัคซีนได้ 1.15% ของประชากร ใช้วัคซีนของซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า แบบเดียวกับไทยเป๊ะ พบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ย 90.63 คนต่อประชากรล้านคน

ฉีดวัคซีนเร็ว ช่วยลดยอดผู้ป่วยหนักใน รพ.?

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในการแพร่ระบาดของไวรัสโครานาสายพันธุ์ใหม่ ระลอกเดือน เม.ย. พบผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมากขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งกรมควบคุมโรคใช้คำว่า "อาการรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตได้"

บีบีซีไทยสรุปข้อมูลจากกรมควบคุมโรค (ณ วันที่ 21 เม.ย.) เพื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดแต่ละระลอก มียอดผู้ป่วยสะสมและผู้เสียชีวิต ดังนี้

  • ระลอกแรก (ม.ค.-14 ธ.ค. 2563) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 4,237 ราย รักษาหาย 98.58% เสียชีวิตสะสม 60 คน (1.42%)
  • ระลอกสอง (15 ธ.ค. 2563-31 มี.ค. 2564) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 24,626 ราย รักษาหาย 99.86% เสียชีวิตสะสม 34 คน (0.14%)
  • ระลอกสาม (1-21 เม.ย. 2564) พบผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 17,780 ราย รักษาหาย เสียชีวิตสะสม 16 คน (0.09%)

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.นพ. โอภาส พุทธเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ระบุผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 19 เม.ย. ว่า "ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม" และคาดว่าจะเห็น "เคสหนักในไอซียูมากขึ้น" โดยอ้างอิงข้อมูลจากผู้ป่วยกว่า 200 รายที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล พบว่า เชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น, ใช้เวลาไม่นานอาการก็มากขึ้น, เชื้อกระจายง่ายขึ้น ฯลฯ

เขายังระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "มาตรการต่าง ๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค"

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Opass Putcharoen/FB

ความกังวลหมู่ว่าด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ท่ามกลางการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ปรากฏข้อมูลข่าวสารเขย่าขวัญความเชื่อมั่นของคนไทยเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีน

กลางเดือน เม.ย. เดนมาร์คเป็นชาติแรกที่สั่งยกเลิกการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด หลังเกิดความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ขณะที่สหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป สั่งหยุดใช้วัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน

ทว่าประเด็นที่เกิดขึ้นล่าสุดและสร้างความ "กังวลหมู่" เป็นกรณีวัคซีนซิโนแวค และเกิดขึ้นกับบุคลากรด้านสาธารณสุขของไทยอย่างน้อย 7 รายตามการเปิดเผยของ นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผ่านเฟซบุ๊กของเขาเมื่อ 20 เม.ย. โดยพบอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรง ถึงขั้น "เกิดอัมพฤกษ์ชั่วคราว" ที่โรงพยาบาลระยอง 6 ราย และโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี อีก 1 ราย

วัคซีนต้านโควิด

ที่มาของภาพ, Thiravat Hemachudha/FB

นพ. ธีระวัฒน์เปิดเผยเรื่องนี้ โดยอ้างอิงเอกสาร "สรุปผลการสอบสวน" จากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี

เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลระยองเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย. 2564 ซึ่งมีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ 3,029 ราย พบอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 72 ราย หรือ 2.37% ในจำนวนนี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรง ที่เรียกว่า Serious AEFI จำนวน 6 ราย ทุกรายเป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุระหว่าง 21-54 ปี โดยทั้งหมดรับการฉีดวัคซีน CORONAVAC ของบริษัท SINOVAC เลขที่ผลิต Lot No. J202103001m6dik เดียวกัน จำนวน 76 กล่อง วันหมดอายุ วันที่ 1 กันยายน 2564

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกด ศบค. กล่าวระหว่างแถลงข่าวช่วงสายของวันนี้ (21 เม.ย.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคของกลุ่มคณะกรรมการที่เป็นแพทยฺผู้เชี่ยวชาญ โดยเบื้องต้นทั้ง 6 ราย มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา หรือปลายประสาทไม่มีความรู้สึก ซึ่งขณะนี้ทุกรายมีอาการฟื้นตัวดีขึ้น

"อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่าโรคอัมพฤตนะคะ แต่อยากจะใช้คำว่ามีอาการคล้ายอัมพฤกษ์" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว

พญ. อภิสมัย ย้ำว่า ขอให้ประชาชนติดตามข่าวอย่างรอบด้าน แม้จะเป็นอาจารย์ นักวิชาการ แพทย์ที่นับถือ โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมโดย สธ.

วัคซีนต้านโควิด

ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นเมื่อไร

การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 60% ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นราว 40 ล้านคน จากคนไทย 66 ล้านคน

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ ชี้ว่าวัคซีนตัวนี้มีระยะฟักตัวสั้น 2-7 วัน จึงมีความจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานสูงตลอดเวลา และยอมรับด้วยว่า วัคซีนที่ไทยใช้อยู่ มีแนวโน้มต้องกระตุ้นหลังฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งการกระตุ้นอาจทำเมื่อครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี

"ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่นานแค่ไหน แต่จากการติดตามของเรา หลัง 6 เดือนลดลง แม้คนที่เป็นโรคแล้วก็ควรฉีด.. โอกาสต้องให้ซ้ำมากกว่า 2 ครั้งมี หรือเป็นแล้ว ก็ต้องฉีด" ศ.นพ. ยงกล่าว

หากประเทศไทยต้องการภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นหมายถึงต้องหาวัคซีนอย่างน้อย 80 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชน 40 ล้านคน

  • หากฉีดได้วันละ 1 แสนโดส ก็จะได้เดือนละ 3 ล้านโดส ครบปีได้ 36 ล้านโดส
  • หากฉีดได้วันละ 1.5 แสนโดส ก็จะได้เดือนละ 4.5 ล้านโดส ครบปีได้ 54 ล้านโดส ใช้เวลา
  • หากฉีดได้วันละ 2 แสนโดส ก็จะได้เดือนละ 6 ล้านโดส ครบปีได้ 72 ล้านโดส
  • หากฉีดได้วันละ 2.5 แสนโดส ก็จะได้เดือนละ 7.5 ล้านโดส ใช้เวลา 10 เดือนเศษ ก็ได้ครบ 80 ล้านโดส