ไทยจะสูญเสียอะไร หากเปลี่ยนเรือดำน้ำจีน เป็นเรือฟริเกต

กองทัพเรือ

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, เรือหลวงภูมิพล เป็นเรือฟริเกตลำล่าสุด ที่เข้าประจำการในกองทัพเรือไทย เมื่อปี 2562 และเป็นเรือฟริเกตที่ไทยว่าจ้างให้เกาหลีใต้ต่อขึ้น

ข้อเสนอการเปลี่ยนการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน เป็นเรือฟริเกต หลังจากที่จีนไม่สามารถซื้อเครื่องยนต์เรือดำน้ำจากเยอรมนีได้ นำมาสู่คำถามจากหลายฝ่ายว่า เหตุใดกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ จึงไม่ยกเลิกสัญญาการจัดซื้อกับทางการจีน

โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ชั้น Yuan Class รุ่น S26T จำนวน 3 ลำ เป็นโครงการภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) ที่อนุมัติโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2560 คิดเป็นเงินงบประมาณ 4.36 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ

ในการจัดหาระยะที่ 1 ประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดซื้อไปแล้ว 7,000 ล้านบาท แต่ประสบปัญหาเมื่อจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU 396 ของเยอรมนี ส่งมอบให้กับไทยได้

เมื่อปี 2565 จีนได้เสนอเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเองให้กองทัพเรือไทยแทน สำหรับเรือดำน้ำลำแรก แต่ไม่สามารถบรรลุการเจรจาได้จนถึงในปีนี้ โดยทางฝ่ายไทยไม่ยินยอมแก้ไขสัญญา

"ทางที่จะได้เครื่องยนต์ใหม่ของเยอรมันน่าจะปิดสนิทแล้ว" นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุเมื่อวันที่ 24 ต.ค.

คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญทางกองทัพเรือเข้ามาให้ข้อมูลกับ กมธ. แต่นายชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษก กมธ. การทหาร แถลงวันนี้ (26 ต.ค.) ว่า ทางกองทัพเรือ ได้มีหนังสือชี้แจงว่ายังไม่สามารถเข้ามาชี้แจงข้อมูลเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของจีนต่อ กมธ. ได้ เพราะอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนครบถ้วนเสียก่อน

นายชยพล กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนสัญญาจีทูจี ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 178 ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีเหตุผลจำเป็นใด ๆ ที่จะปกปิดไม่ให้สาธารณชนรับรู้ อย่างไรก็ตาม กมธ. การทหาร จะทำหนังสือเชิญผู้บัญชาการกองทัพเรือ และนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เข้ามาชี้แจงอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

"ในกรณีนี้ กมธ. เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อตัวกองทัพเรือเอง และความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อกองทัพเรือให้ลดทอนลงไปเรื่อย ๆ"

ประเด็นของสเปคเครื่องยนต์เรือดำน้ำ เมื่อปลายปีที่แล้ว นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามว่า หากกองทัพเรือยอมแก้ไขสัญญา "ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ของจีนในเรือดำน้ำ เพราะที่ผ่านมาแม้แต่ประเทศจีนเองยังไม่ได้ใช้เองเลย"

หลังจากนั้น กองทัพเรือได้ออกมาชี้แจงว่า ได้จัดส่งคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบทดลอง ณ โรงงานผู้ผลิตที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มเติมในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566

จนกระทั่งการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประเด็นเรือดำน้ำจีนจึงมีความคืบหน้าเพิ่มเติม

ทำไมจึงเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต

ตามการเปิดเผยของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ.ทร. ระบุว่าได้รับการชี้แจงจากผู้ช่วยทูตทหารเยอรมันและเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยว่า ทางเยอรมนีไม่สามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำได้เนื่องจากติดกฎของการห้ามการส่งออก เนื่องจากเครื่องยนต์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นอาวุธสงครามให้กับทางการจีนได้

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ยอมรับว่า โอกาสที่จะได้เครื่องยนต์เรือดำน้ำของเยอรมนี "น่าจะปิดสนิทแล้ว" ดังนั้น ทางออกที่มีอยู่ขณะนี้ ได้แก่ เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตตามข้อเสนอของไทย หรือเอาเครื่องยนต์จีน หรือใช้เครื่องยนต์เยอรมันมือสอง

อย่างไรก็ดี นายสุทิน เปิดเผยว่า ข้อเสนอเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตนั้น กองทัพเรือได้เสนอมาที่กระทรวงกลาโหมว่า หากเรือดำน้ำไม่ได้เครื่องยนต์จากเยอรมนี กองทัพเรือได้มีการทบทวนเสนอแนวทางเป็นสองแนวทาง ได้แก่ หนึ่ง ขอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือสอง เปลี่ยนเป็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง

ทั้งนี้ ทางกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกต เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วสามารถทดแทนเรือดำน้ำได้ โดยไม่ทำให้ศักยภาพของกองทัพลดด้อยลงไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ

"ฟริเกตจะทดแทนได้ เพราะต่อสู้ได้ 3 มิติ สู้ทางอากาศได้ ผิวน้ำ ผิวดินได้ แล้วก็สู้ใต้น้ำได้ พูดง่าย ๆ ว่าเอาฟริเกตมาปราบเรือดำน้ำ" นายสุทิน กล่าว

รมว.กลาโหม กล่าวว่า ในการเยือนจีนก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยได้มีข้อหารือเสนอไปทางประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ของจีนโดยตรง และอ้างว่าทางจีนได้รับไปพิจารณา พร้อมแสดงความเห็นใจรัฐบาลไทย อีกทั้งจีนเองก็มีปัญหาที่คู่ค้าประเทศเยอรมนีเปลี่ยนใจเช่นกัน

กองทัพเรือ

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, เรือหลวงภูมิพล ถือเป็นเรือฟริเกตลำล่าสุดของกองทัพเรือไทย

เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ในการเปลี่ยนการจัดหาเรือดำน้ำจีนลำที่ 1 เป็นเรือฟริเกตลำใหม่ นายสุทินเปิดเผยว่า ราคาของเรือฟริเกตจีนที่ทางไทยศึกษามานั้นอยู่ที่ลำละ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ดูจากท้องตลาด

นายสุทินยอมรับว่า จีนยังไม่ได้ให้ราคามา และเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำในราคาที่ตกลงก่อนหน้านี้อยู่ที่ราว ๆ 13,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตมีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

"เรากำลังจะไปต่อรอง ถ้าเกิดจีนยอมให้เราเป็นฟริเกต ราคาเป็นเท่าไหร่แน่ อาจจะไม่ใช่ 14,000 ล้าน" นายสุทิน กล่าว

“เรือพี่เลี้ยง” เรือดำน้ำที่ซื้อมาแล้วจะทำอย่างไร

หากดูงบประมาณการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ไทยจ่ายเงินค่ามัดจำสำหรับเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท และยังมีงบประมาณในส่วนที่เรียกว่า "งบสนับสนุนเรือดำน้ำ" เป็นเงินงบประมาณ 8,732 ล้านบาท

หนึ่งในการใช้งบสนับสนุนเรือดำน้ำ นายพิจารณ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. สมัยที่แล้ว เคยเปิดเผยระหว่างตรวจสอบงบประมาณของกองทัพในงบประมาณปี 2565 เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ว่า คือ โครงการจัดหาเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ (LPD)

โครงการดังกล่าว มี 2 ระยะ ระยะที่ 1 มีการอนุมัติงบประมาณ 4,385 ล้านบาท ระยะที่ 2 อนุมัติงบประมาณ 1,800 ล้านบาท รวม 6,185 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2562-2565

โครงการจัดหาเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ (LPD) ข้างต้นนี้ กองทัพเรือไทยได้ลงนามทำสัญญาต่อเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่สนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ซึ่งก็คือ เรือหลวงช้าง หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น "เรือพี่เลี้ยง" ของเรือดำน้ำ ราคา 6,100 ล้านบาท รองรับเรือดำน้ำรุ่น หยวน คลาส S26T เข้าประจำการเมื่อเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

เรือหลวงช้าง มีขนาดระวางขับน้ำ 25,000 ตัน กองทัพเรือว่าจ้าง บริษัท China Shipbuilding Trading จำกัด ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน และมีระยะเวลาในการสร้างเรือประมาณ 4 ปี

นี่จึงทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่าของเรือสนับสนุนเรือดำน้ำลำนี้

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะประธาน กมธ. การทหาร ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า ความเสียหายไม่ใช่แค่เงิน 7,000 ล้านบาทที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว แต่มีมากกว่านั้น อันได้แก่ โครงการเกี่่ยวกับเรือดำน้ำเช่น ท่าจอด การฝึกอบรม ระบบอำนวยการ ที่ตั้งงบไว้ 11,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วเท่าใด

"เรือหลวงช้างที่บอกว่าเป็นเรือยกพลขึ้นบก เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำ ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ถ้ายุติการซื้อเรือดำน้ำ แล้วจะทำอย่างไรกับเรือหลวงช้าง" นายวิโรจน์ ระบุ

สส.ก้าวไกล ระบุด้วยว่า สหภาพยุโรปมีข้อตกลงห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้จีน เป็นเรื่องที่ทูตทหารพึงรู้ ก่อนการลงนามซื้อเรือดำน้ำในปี 2560 ไทยได้ทำหนังสือไปขอคำยืนยันจากจีนหรือไม่ หรือเป็นการลงนามที่หละหลวม อีกทั้งมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นเท่าใด และสัญญาระบุเรื่องการขอคืนเงินไว้หรือไม่

กองทัพเรือ

ที่มาของภาพ, กองทัพเรือ

คำบรรยายภาพ, เรือหลวงช้าง เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ เข้าประจำการเมื่อเดือน เม.ย. 2566 จัดซื้อจากจีน

ไทยไม่ยกเลิกสัญญา เพราะต่อรองจีนไม่ได้ ?

นายสุทิน กล่าวถึงเหตุที่ไทยไม่สามารถยกเลิกสัญญาการจัดซื้อกับจีนได้ เพราะไม่ใช่เป็นการทำสัญญา แต่เป็นข้อตกลงการซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือจีทูจี หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปฏิบัติข้อตกลงได้ ไม่ว่าฝ่ายใดผิด ก็สามารถขอเจรจาลดหย่อนผ่อนปรนได้ และข้อตกลงนี้เป็นการตกลงที่รัฐบาลเก่าทำเอาไว้

"เรื่องของจีทูจี มีมิติของความร่วมมือหลายด้านที่ต้องคิดควบคู่ด้วย ถ้าคิดแบบขอคืนหรือยกเลิกสัญญา มันกระทบกระเทือนกับความร่วมมือด้านอื่นและความสัมพันธ์ด้วย" รมว. กลาโหมระบุ

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าการยกเลิกสัญญาเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจต่อรองของไทยมีน้อยกว่าจีน

"ทางแลกเรือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะปัญหาถึงทางตัน เพียงแต่จะแลกกับเรืออะไร โอกาสที่จะได้คืนเงินคำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจการต่อรองเราไม่ได้มากขนาดนั้น" ศ.สุรชาติ ระบุ กับรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ วันที่ 25 ต.ค.

เรือฟริเกตจีน การเสริมเขี้ยวเล็บที่ไม่สอดคล้องกับทัพเรือไทย ?

นอกจากการเปลี่ยนจากเรือดำน้ำมาเป็นเรือฟริเกตของจีน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงยังมองว่า เรือฟริเกตของจีนไม่สอดคล้องกับศักยภาพการรบที่มีอยู่ของกองทัพเรือไทย

ศ.สุรชาติ อธิบายว่า การต่อเรือของกองทัพเรือมีประเพณีปกติ คือจะต้องต่อเรือคู่ เช่น เรือสุโขทัย กับเรือรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือฟริเกตที่ต่อโดยเกาหลีใต้ แต่แผนการต่อเรือคู่อีกลำถูกระงับไปก่อนหน้านี้

"ไม่ควรเอาเรือฟริเกตลำใหม่จากจีนเข้ามา ควรดำเนินการลำที่สอง คือ ต่อเรือกับเกาหลีใต้ และเป็นการต่อบนเงื่อนไขที่โอนเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับเรา"

ด้านเพจเฟซบุ๊ก “ไทยอาร์มฟอร์ซ” ThaiArmedForce (TAF) เพจที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านอาวุธและกองทัพฉบับประชาชน ระบุว่า ปัญหาของกองทัพเรือคือการที่เรือชุดหนึ่งมีเรือแค่ 1 ลำ ส่งผลต่อทั้งปฏิบัติการร่วมรบ ที่ใช้งานร่วมกันไม่ได้ ตลอดจนการซ่อมบำรุงเรือ

"กองทัพเรือมีแต่ปัญหาการซ่อมบำรุงเรือที่ใช้อะไหล่ร่วมกันไม่ได้ การฝึกที่ไม่สามารถแบ่งปันและสลับเรือกันได้ ระบบอาวุธที่แตกต่างกัน กระสุน จรวด คนละแบบ คนละขนาด ที่สำคัญคือในการปฏิบัติการร่วมกันจะมีโปรไฟล์ของเรือต่างกัน ยิ่งเรือมากแบบ ยิ่งสร้างความสับสน"

การวิเคราะห์จากไทยอาร์มฟอร์ซ ชี้ให้เห็นว่า การเลือกเรือฟริเกตจากจีน สวนทางกับแผนเดิมที่ "กองทัพเรือพูดชัดเจนในหลายโอกาสว่า จะเป็นการต่อเรือฟริเกตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย" ดังนั้น การจัดซื้อเรือฟริเกตจากจีน จึงทำให้อุตสาหกรรมของไทยไม่ได้ประโยชน์ราว 17,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเรือหลวงภูมิพล ที่จ้างเกาหลีใต้ต่อเรือ เข้าประจำการเมื่อปี 2562 ถือเป็นเรือฟริเกตที่ยังไม่มีเรือคู่ลำที่ 2 ซึ่งตามแผนเดิมนั้น ไทยจะว่าจ้างเกาหลีใต้ให้ต่อเรือร่วมกับไทยภายใต้เงื่อนไขการถ่ายโอนเทคโนโลยี