เกณฑ์แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อาจไม่ถ้วนหน้าตามที่หาเสียง

getty

ที่มาของภาพ, getty images

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล 3 แนวทาง เสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เล็งตัดสิทธิ์คนรวยที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือนและเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท หรือรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือนและมีเงินในบัญชีเกิน 5 แสนบาท หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมตัดทางเลือกใช้เงินกู้จากธนาคารออมสิน เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย

คณะอนุกรรมการฯ ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวิฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เปิดเผยเมื่อ 25 ต.ค. ว่า ภายในอนุกรรมการฯ เห็นตรงกันว่า การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะตัดคนรวยออกจากเดิม 56 ล้านคน แต่จะกำหนดเกณฑ์ความรวยระดับใดจะเสนอเป็นทางเลือกให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ จาก 3 แนวทาง ได้แก่

1. ตัดคนมีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีมากกว่า 500,000 บาท ซึ่งจะเหลือผู้เข้าเกณฑ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

2. ตัดคนที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และมีเงินในบัญชีมากกว่า 100,000 บาทออก จะเหลือผู้ที่เข้าเกณฑ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

3. ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท แต่ทางเลือกนี้จะไม่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาระบบจะให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่จะเป็นแอปพลิเคชันใหม่ ไม่ใช่แอปฯ "เป๋าตัง" และจะใช้งบฯ พัฒนาระบบไม่ถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

ผลสรุปจากคณะอนุกรรมการฯ ยังมีข้อสรุปทางเลือกของแหล่งเงินที่มาใช้ในโครงการ และขอบเขตพื้นที่การใช้เงินเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ด้วย

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์วันนี้ (26 ต.ค.) ว่า ยังไม่กำหนดว่าจะประชุมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อใด ส่วนแนวทาง 3 ข้อเสนอตัดสิทธิ์กลุ่มที่จะได้เงิน 10,000 บาท ยังไม่อยากพูดให้เกิดเป็นประเด็นแตกย่อยเล็ก ๆ เพราะจะทำให้ประชาชนจะสับสน

หลังจากถูกสื่อถามว่ากลุ่มเป้าหมายลดลงมาจะตอบสังคมอย่างไร นายกฯ ระบุว่า ยังไม่ได้บอกว่าจะลดจำนวนกลุ่มเป้าหมาย

"เห็นไหม ยังไม่ตอบเลยว่าจะลดอะไรอย่างไร คุณก็ถามแล้ว ผมไม่ได้บอกเลยว่าผมจะลด ยังไม่ได้บอกเลยว่าจะไม่ให้ จะเอาอย่างไรยังไม่ได้บอกเลย ผมไม่อยากให้เกิดความสับสน อยากจะตอบต้องตอบให้หมด" นายเศรษฐา กล่าว

ในช่วงเวลา 20 กว่าวันที่รัฐบาลมีคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายนี้ มีความคืบหน้าและแนวทางของโครงการออกมาอย่างไรบ้าง บีบีซีไทยสรุปความคืบหน้าเท่าที่ปรากฏล่าสุด

ประชาชนจะได้ใช้เงิน 10,000 บาท เมื่อไหร่

นายจุลพันธ์ระบุล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ต.ค. หลังจากประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า หากคณะกรรมการชุดใหญ่เลือกการใช้งบประมาณ ซึ่งต้องใช้งบฯ ปี 2567 ยอมรับว่า โครงการจะต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567

ก่อนหน้านี้ มีการเลื่อนการลงทะเบียนของร้านค้า จากเดิมที่ รมช.คลัง กล่าวว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือน พ.ย. นายจุลพันธ์ ยอมรับว่าจะยังไม่เปิดให้ลงทะเบียน พร้อมขอโทษผู้ประกอบการร้านค้าและยอมรับว่า "คิดเร็วไป" เพราะตามข้อเท็จจริงต้องอ้างอิงกับผู้ทำระบบเป็นหลักว่าผู้พัฒนาระบบซูเปอร์แอป ที่ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนว่าจะมีความพร้อมช่วงเวลาใด

ส่วน

เงินในดิจิทัลวอลเล็ต ใช้ทางไหน เอาไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง

ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อ 25 ต.ค. ไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดส่วนของการนำเงินไปใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ รมช.คลัง ได้บอกถึงช่องทางการใช้เงินดิจิทัลว่าจะมีการพัฒนาระบบแอปฯ ขึ้นมาใหม่ โดยธนาคารกรุงไทย แต่ทั้งนี้ จะไม่ใช่แอปฯ "เป๋าตัง"

แต่ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เคยระบุในการแถลงข่าวว่า อาจเป็นไปได้ว่างบประมาณที่ใช้อาจไม่ถึง 5.6 แสนล้าน เพราะว่าผู้รับสิทธิจะต้องมาลงทะเบียนยืนยันตัวตน ดังนั้นจะใช้งบประมาณเท่าใดต้องว่ากันอีกที

ในโครงการรัฐที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้งานผ่านระบบวอลเล็ต "เป๋าตัง" มีประชาชนยืนยันตัวตนผ่านธนาคารรัฐแล้ว 40 ล้านคน และกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ยังมีผู้ที่ไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลอีกประมาณ 10 ล้านคน

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายอื่น ๆ ตามการให้ข้อมูลของ รมช.คลัง ที่ผ่านมา ได้แก่

  • แจกให้กับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แม้ว่ามีกระแสข่าวว่าจะแจกเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น
  • ต้องใช้จ่ายใน 6 เดือนแรก และมีเป้าหมายให้เงินหมุนในระบบต่อเนื่อง
  • ห้ามนำไปออม ใช้หนี้ หรือใช้เพื่ออบายมุข
  • ซื้อของออนไลน์ไม่ได้ เนื่องจากจะทำให้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการใช้จ่ายภายในพื้นที่ที่กำหนด
  • ร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีเข้าร่วมได้ แต่จะไม่สามารถเอาเงินสดออกมาได้ จะขึ้นเงินได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในระบบภาษี แต่หากไม่อยู่ในระบบภาษี ต้องนำเงินในวอลเล็ตใช้จ่ายต่อเป็นทอด ๆ ในระบบ เช่น การนำไปซื้อวัตถุดิบจากร้านค้าในระบบภาษี เป็นต้น
  • ผู้ที่ไม่เคยยืนยันตัวตนกับระบบของโครงการรัฐ ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน

ยังใช้จ่ายได้ในรัศมี 4 กม. หรือไม่

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต คณะอนุกรรมการฯ สรุปว่าจะขยับเป็นระดับ “อำเภอ”

อย่างไรก็ตาม รมช.คลัง ชี้ว่าประเด็นเหล่านี้ ยังต้องขึ้นกับคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจอีกครั้ง

แรกเริ่มของนโยบายนี้ มีแนวคิดว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้จ่ายในรัศมี 4 กม. จากทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือน ต.ค. นายจุลพันธ์ เคยบอกว่า ขอบเขตการใช้จ่าย มีความเป็นไปได้ว่าจะขยายมากกว่า 4 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งอาจจะขยายเป็นการใช้จ่ายภายในอำเภอ หรือตำบล ตามทะเบียนบ้าน แต่ทั้งนี้จะมีการพิจารณาอีกครั้ง

แหล่งที่มาของเงิน รัฐบาลจะเอามาจากไหน

รมช.คลัง เปิดเผย ณ วันที่ 25 ต.ค. ว่า ประเด็นแหล่งเงินมีหลายแนวทาง แต่จะเสนอให้ใช้ส่วนของงบประมาณเป็นหลัก โดยยอมรับว่า แนวทางการไปกู้ธนาคารออมสิน ผ่านกลไกของมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง มีข้อติดขัดทางกฎหมาย

วิธีการใช้งบประมาณแผ่นดิน ตามการเปิดเผยของนายจุลพันธ์ คือจะใช้ปีละราว 1 แสนล้านบาท และตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปี เช่น หากใช้งบประมาณทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ก็จะตั้งงบฯ ผูกพันไป 4 ปี

ก่อนหน้านี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) วิเคราะห์แหล่งที่มาเงินงบประมาณของเงินดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ว่า น่าจะมาจากการกู้ธนาคารรัฐ ซึ่งก็คือ ธนาคารออมสิน ด้วยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ให้ขึ้นไปเป็น 45% ของงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ปี 2567 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียง

รองหัวหน้าพรรค ก.ก. ระบุว่า ข้อดีของการกู้ธนาคารรัฐคือ หนี้จะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อเสียคือ เมื่อกู้แล้ว การจ่ายคืนหนี้แก่ธนาคารออมสินปีละ 50,000 ล้านบาท ไปอีก 10 ปี จะเบียดบังงบประมาณด้านอื่นของประเทศ กระทบกรอบวินัยการคลัง และอาจทำให้ธนาคารออมสินมีปัญหาขาดสภาพคล่อง หากรัฐไม่ใช้เงินคืนตามสัญญาดังที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เคยประสบมา ซึ่งจะทำให้บริหารเงินสดได้ยากลำบาก

น.ส.ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตอีกครั้งช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า การกู้จากธนาคารออมสินน่าจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้ ทั้ง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน หรือ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดกิจการอันพึงเป็นงานของธนาคารออมสิน

"ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ" รองหัวหน้าพรรค ก.ก. โพสต์บนเฟซบุ๊ก เมื่อ 23 ต.ค.

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

น.ส. ศิริกัญญา ชี้ด้วยว่า หากไม่แก้กฎหมาย ก็มีทางเลือกอีก 2 ทาง ได้แก่ การใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่มีการขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้านบาท เมื่อหักรายจ่ายประจำ แม้มีงบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้านบาท แต่ต้องใช้ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง และพอแค่การจ่ายเงินเดือนกับงบลงทุน ไม่เพียงพอสำหรับโครงการอื่น ๆ เช่น กองทุนซอฟต์พาวเวอร์ รวมไปถึงค่าตอบแทน อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น ทางเลือกนี้จึงเป็นไปไม่ได้

หรือการจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ เหมือนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถือเป็นการ "ฆ่าตัวตายทางการเมืองชัด ๆ" ดังนั้น เธอจึงเห็นว่า "น่าคิดว่าอาจจะถึงทางตันจริง ๆ"

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ แถลงที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ว่า แหล่งเงินมีตัวเลือกจากหลายแหล่งที่มา แต่จะใช้จากงบประมาณเป็นหลัก โดยจะรอให้หน่วยราชการ ยื่นขอใช้งบประมาณปี 2567 ให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะไปตัดส่วนที่มองว่าเป็นส่วนเกินมาใช้ในโครงการ