รายงาน “หลังกำแพง” (คุก) ชี้ไทยล้มเหลวการแก้ปัญหาเรือนจำ

ตรวน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, รายงานของ FIDH ระบุว่า เรือนจำไทยยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งในแง่สุขอนามัยและการเคารพสิทธิผู้ต้องขัง

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เผยรายงานสำรวจสภาพเรือนจำไทย พบว่ามีนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ไม่ได้มาตรฐานสากล ทั้งแง่การละเมิดสิทธิและสุขอนามัย ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุ "กำลังพยายามแก้ปัญหา"

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กรเครือข่ายในประเทศไทย เผยแพร่รายงานสำรวจระบบทัณฑสถานของประเทศไทย ชื่อว่า "หลังกำแพง: ส่องสภาพเรือนจําไทยภายหลังรัฐประหาร" เมื่อวานนี้ (28 ก.พ. 2560) พบว่าเรือนจำในประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ทั้งในแง่สุขอนามัยและการเคารพสิทธิผู้ต้องขัง พร้อมระบุว่าไทยล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปเรือนจำอย่างรอบด้าน ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดพันธกรณีของไทยที่มีต่อกลไกระหว่างประเทศ

ตัวแทนขององค์กรทั้งสองแห่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจเรือนจำในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 รวมถึงเรือนจำขนาดใหญ่ 2 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่าไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่อัตราการคุมขังผู้หญิงถือว่าสูงที่สุดในโลก และมีสัดส่วนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดสูงมาก เป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่การประกาศนโยบายทำสงครามต่อต้านยาเสพติดในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ผู้ต้องขัง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชฑัณฑ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า "ไทยกำลังพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น"

รายงานของ FIDH ระบุด้วยว่า สภาพเรือนจำในประเทศไทยไม่ดีขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 โดยรัฐบาลทหารไทยบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น มีการควบคุมตัวพลเรือนในเรือนจำชั่วคราวภายในกองทัพ การเข้าเยี่ยมหรือขอพบผู้ต้องขังเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยอ้างอิงจากการสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขัง มีการจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้าเยี่ยม เข้าข่ายละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และสภาพภายในเรือนจำไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

ด้านนายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชฑัณฑ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า "ไทยกำลังพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น" โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้มีบทลงโทษสถานเบา และผลักดันให้คนเข้ารับการบำบัดมากขึ้น แทนการส่งคนเข้าสู่เรือนจำ ส่วนสถิติของกรมราชทัณฑ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 ในเรือนจำ 199 แห่งทั่วประเทศ สัดส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังอยู่ที่ 1:27 คน

รายงานของ FIDH แจกแจงว่าเรือนจำในไทยมีปัญหาอาคารที่พักแออัด พื้นที่นอนคับแคบ สุขอนามัยไม่ดีเพียงพอ อาหารแย่และน้ำดื่มไม่สะอาด การรักษาพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะการดูแลผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ มีการเอาเปรียบนักโทษด้านการใช้แรงงาน เพราะมีการจัดเวรทำงานตลอด 7 วัน และแม้จะมีกระบวนการยื่นเรื่องร้องเรียน แต่ผู้ต้องขังจำนวนมากไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวจะถูกตอบโต้จากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ขณะที่การลงโทษในหลายครั้งรุนแรงถึงขั้นเป็นการทรมาน

คุกไทย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าสัดส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังของไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 27

นายดิมิทริส คริสโตเปาลอส ประธาน FIDH ระบุว่า "การที่รัฐบาลไทยกล่าวอ้างว่าสภาพเรือนจำในประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ และจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำได้มาตรฐานสากล และช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูบำบัดของผู้ต้องขัง"

นอกจากนี้ FIDH ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้แก้ไขและกำจัดปัญหาแออัดยัดเยียดในเรือนจำ เช่น การกำหนดเป็นโทษปรับสำหรับผู้กระทำผิดครั้งแรก การอนุญาตให้ผู้ที่รอการไต่สวนในความผิดบางประเภทได้รับการประกันตัว รวมทั้งความผิดต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรืออาจใช้วิธีควบคุมตัวในบ้าน โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัวเพื่อป้องกันการหลบหนี รวมถึงการส่งกลับผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติ

ส่วนข้อเสนอแนะของ FIDH ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย ระบุว่า กสม.ควรร้องขอและเข้าเยี่ยมเรือนจำทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเรือนจำภายใต้การบริหารของกระทรวงยุติธรรมและเรือนจำชั่วคราวในมณฑลทหารบก (มทบ.11) เพื่อประเมินสภาพภายในเรือนจำ รวมถึงดำเนินการสอบสวนอย่างรอบด้านและเป็นอิสระกรณีที่มีผู้ต้องขังเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำ มทบ.11 รวมถึงสอบสวนตามข้อกล่าวหาทั้งหมดว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่

ผู้ต้องขัง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ไทยมีจำนวนนักโทษมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่อัตราการคุมขังผู้หญิงถือว่าสูงที่สุดในโลก และมีสัดส่วนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดสูงมาก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้มีประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รายงานของ FIDH ระบุว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและมาตราต่างๆ ที่ทันสมัยและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 แต่ยังมีบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น การอนุญาตให้ใช้เครื่องพันธนาการต่อผู้ต้องขัง การยกเว้นโทษทางแพ่งและทางอาญาแก่เจ้าพนักงานเรือนจำและข้าราชการหรือบุคลากรจากส่วนราชการอื่น รวมถึงการอนุญาตให้มีการขังเดี่ยวนานครั้งละ 15 วันติดต่อกัน และการอนุญาตให้คุมขังหรือควบคุมตัวผู้ต้องขังในค่ายทหารหรือสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ

นายแดนทอง บรีน ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิและเสรีภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายของ FIDH ระบุด้วยว่า "ถ้าหากระบบทัณฑสถานเป็นตัวชี้วัดความมีอารยะของแต่ละสังคม รัฐบาลไทยคงถูกมองว่าโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องคำนึงถึงสิทธิของนักโทษ และต้องยึดมั่นในพันธกิจทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพต่าง ๆ ในเรือนจำได้รับการเติมเต็ม"

line

อ่านเพิ่มเติม