จีน : ผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้าหนี้ดอกโหดในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

Workers produce large building materials and equipment for export to countries along the Belt and Road. Hai 'an city, Jiangsu Province, China, June 15, 2020.

ที่มาของภาพ, Costfoto/Barcroft Media via Getty Images

ข้อมูลวิจัยชุดใหม่ระบุ จีนออกเงินให้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ มากกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 2 เท่า ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการปล่อยกู้จากธนาคารของรัฐบาลจีนซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงและประเทศลูกหนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยง

ในอดีตไม่นาน จีนเคยต้องรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว และจำนวนเงินที่จีนให้ประเทศต่าง ๆ กู้ยืมก็มากจนน่าตกใจ

จากข้อมูลโดยเอดดาตา (AidData) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี (William & Mary) ในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้ให้ 165 ประเทศ คิดเป็น 8.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

เงินส่วนใหญ่ลงไปกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative -- BRI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2013 อาศัยความเชี่ยวชาญของจีนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบวกทุนมหาศาลที่จีนมีในการสร้างเส้นทางการค้าใหม่ทั่วโลก

The Yumo railway from China to Laos under construction in Yuxi, Yunnan, China on 26 May, 2019

ที่มาของภาพ, TPG/Getty

คำบรรยายภาพ, โครงการรถไฟมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสร้างเสร็จสมบูรณ์และเตรียมวิ่งในเดือน ธ.ค. นี้

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญกังวลกันว่า ประชาชนในประเทศที่กู้เงินดอกเบี้ยสูงจากรัฐบาลเพื่อทำโครงการที่อยู่ใน BRI กลับไม่รู้ว่ารัฐบาลประเทศตัวเองไปทำข้อตกลงอะไรกับจีน และประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้มหาศาล

แม้แต่เจ้าหน้าที่จีนเองก็ยังไม่รู้ว่าภาพรวมเรื่องการใช้เงินของรัฐ นักวิจัยของ AidData ซึ่งใช้เวลา 4 ปีที่ผ่านมาคอยสังเกตการณ์การใช้เงินและการให้กู้ยืมเงินของจีน เล่าว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ ของจีนมาขอข้อมูลจากพวกเขาบ่อยครั้งเพราะไม่สามารถหาข้อมูลจากภายในได้ว่าเงินของรัฐถูกนำไปใช้ในต่างประเทศอย่างไร

โครงการสร้างเส้นทางรถไฟคดเคี้ยวที่วิ่งระหว่างจีนกับลาว เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนให้ประเทศต่าง ๆ กู้ยืมเงินอย่างไม่ลงบันทึกเป็นทางการ

หลายทศวรรษมาแล้ว นักการเมืองขบคิดเรื่องเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไม่ติดทะเลกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่วิศวกรหลายคนออกมาเตือนว่าต้องใช้ทุนก่อสร้างสูงมาก รางรถไฟต้องพาดผ่านเทือกเขาสูง และต้องสร้างสะพานและขุดอุโมงค์อีกหลายสิบแห่ง ลาวเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคนี้ประเทศหนึ่งและก็ไม่มีเงินออมพอไปลงทุนในโครงการนี้

Chinese President Xi Jinping delivers his speech during the opening ceremony of the Conference on Dialogue of Asian Civilizations in Beijing in May 2019

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการสร้างเส้นทางการค้าสายใหม่ทั่วโลก

แต่มันก็เกิดขึ้นได้เพราะมีเงินจากธนาคารในจีน และก็ได้รับแรงสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนด้วย โครงการรถไฟมูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสร้างเสร็จสมบูรณ์และเตรียมวิ่งในเดือน ธ.ค. นี้

อย่างไรก็ดี ลาวต้องกู้ยืมเงิน 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารจีนเพื่อไปลงในหุ้นอันน้อยนิดของตัวเอง โดยใช้รายได้จากการขุดแร่โพแทช ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่แหล่งรายได้ของประเทศ เป็นหลักประกันของเงินกู้

"เงินกู้ที่เอ็กซิมแบงก์ (ธนาคารส่งออกนำเข้า) ของจีนให้เพื่อโปะหุ้นส่วนนี้ของเงินทุนทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารัฐจีนเร่งรีบที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จแค่ไหน" วันจิง เคลลี เชน จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง ระบุ

บริษัทรถไฟที่จีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเจ้าของเส้นทางรถไฟเกือบทั้งหมด แต่ภายใต้สัญญาที่คลุมเครือไม่ชัดเจนนัก ในที่สุดแล้วรัฐบาลลาวต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้จากการสร้างทางรถไฟ ข้อตกลงที่ไม่สมดุลเอาเสียเลยนี้ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวในฐานะผู้ออกพันธบัตรลงเป็นระดับ "ขยะ" (junk status)

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายจนประเทศใกล้จะล้มละลาย ในเดือน ก.ย. 2020 ลาวตัดสินใจขายหุ้นจำนวนหนึ่งในโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าให้จีนเป็นเงิน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเงินมาชำระเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารของจีน โดยเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่รถไฟสายนี้จะเริ่มเปิดให้บริการเลยด้วยซ้ำ

เส้นทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่โครงการที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงโครงการเดียวที่ธนาคารของจีนเข้าไปลงทุน แต่ AidData บอกว่า ประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลางหลายประเทศก็ยังเลือกให้จีนเป็นผู้ลงทุนในประเทศตัวเองเป็นอันดับแรก

This picture taken on February 8, 2020 shows a Chinese worker carrying materials for the first rail line linking China to Laos, a key part of Beijing's 'Belt and Road' project across the Mekong, in Luang Prabang.

ที่มาของภาพ, AIDAN JONES/AFP via Getty Images

คำบรรยายภาพ, คนงานจีนขณะสร้างทางรถไฟสายจีน-ลาว เมื่อต้นปี 2020

"โดยเฉลี่ยแล้ว เงินที่จีนลงไปในโครงการพัฒนาในต่างประเทศต่อปีมากถึง 8.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเทียบกัน สหรัฐฯ ใช้เงินราว 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์เฉลี่ยต่อปี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทั่วโลก" แบรด พาร์ค ผู้อำนวยการบริหารของ AidData ระบุ

AidData ระบุว่า การลงเงินเพื่อการพัฒนาในประเทศต่าง ๆ ของจีนแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ไปมาก และก็ทำได้อย่างรวดเร็วอย่างมาก

ในอดีต ประเทศตะวันตกเคยทำให้หลายประเทศ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปแอฟริกา ต้องตกเป็นหนี้ แต่จีนมีวิธีการให้กู้ยืมเงินที่แตกต่างไป โดยแทนที่จะเป็นการให้เงินหรือให้ยืมเงินระหว่างรัฐต่อรัฐ เงินเกือบทั้งหมดที่ให้เป็นลักษณะของการปล่อยกู้โดยธนาคารของรัฐแทน

เงินกู้ในลักษณะนี้ไม่ได้ปรากฏในบัญชีหนี้ทางการของรัฐบาล เพราะชื่อสถาบันต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่ได้ปรากฏในข้อตกลงที่ทำกับธนาคารของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ก็ยังมีสัญญาปกปิดข้อมูลเป็นความลับซึ่งทำให้รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดได้ว่าข้อตกลงที่ทำกับธนาคารของรัฐจีนคืออะไร

AidData ประเมินว่าหนี้สินที่ไม่ได้ถูกบันทึกเป็นทางการทั้งหมดอาจมีถึง 3.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงสร้างการเงิน

นอกจากนี้ สัญญาให้กู้เงินเพื่อการพัฒนาของจีนหลายก้อนยังเรียกร้องหลักทรัพย์ประกันในรูปแบบที่ไม่ได้เห็นกันทั่วไปอีกด้วย มีกรณีให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ว่าธนาคารจีนบังคับให้ประเทศที่กู้เงินเอาเงินที่ได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศมาจ่าย

อย่างในเวเนซุเอลา มีข้อบังคับให้เวเนซุเอลาจ่ายเงินที่ได้จากการขายน้ำมันตรงเข้าบัญชีที่ควบคุมโดยจีน เมื่อไหร่ที่เวเนซุเอลาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ธนาคารจีนก็สามารถเอาเงินจากในบัญชีนั้นไปได้เลย

แบรด พาร์คส์ บอกว่า นี่ดูเหมือนเป็นยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการจะบอกลูกหนี้ว่า ว่าพวกเขาคือ "นายใหญ่"

"จีนฉลาดหรือเปล่า​ ?" คือคำถามจากแอนนา เจลเพิร์น อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยของ AidData ในช่วงก่อนหน้านี้ปีนี้ "ฉันคิดว่าเราได้ข้อสรุปว่าพวกเขา[จีน]แสดงท่าทีแข็งกร้าวและมีความช่ำชองมากในการทำสัญญาเหล่านี้ พวกเขาพยายามปกป้องผลประโยชน์ตัวเองเป็นอย่างมาก"

เจลเพิร์น อธิบายว่า การเรียกเก็บหนี้จากผู้กู้ยืมที่เป็นประเทศอาจเป็นเรื่องยากเย็นในบางที และถ้าประเทศเหล่านั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ให้กู้ก็ไม่สามารถคาดหวังว่าประเทศนั้น ๆ มอบสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อาทิ ท่าเรือ ให้ได้

แผนที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาว

แต่อีกไม่นาน จีนอาจเริ่มมีคู่แข่งหลังที่กลุ่มประเทศจี 7 (G7) ประกาศหลังการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย. ว่าจะให้ทุนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกโดยบอกว่าจะเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนทั้งทางการเงินและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี แผนนี้ก็อาจจะมาสายเกินไป

"ผมไม่เชื่อว่าโครงการริเริ่มของชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบอะไรต่อโครงการของจีนได้" เดวิด ดอลลาร์ จากสถาบันบรูกกิงส์ ในวอชิงตันดีซี และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในจีน กล่าว

"[โครงการริเริ่มใหม่ ๆ เหล่านั้น] จะไม่มีเงินพอที่จะดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในระดับที่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องการได้ นอกจากนี้ การทำงานกับสถาบันการเงินทางการของชาติตะวันตกก็เต็มไปด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ และจะมีความล่าช้ามาก"

รถไฟ

ที่มาของภาพ, BBC

แต่ทีมวิจัยของ AidData บอกว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็ประสบปัญหาเหมือนกัน โดยโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่าง ๆ มีแนวโน้มมีกรณีการทุจริต การละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นกรณีอื้อฉาว และปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของจีน

ทีมนักวิจัยบอกว่า การจะให้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดำเนินต่อไปได้ จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจัดการปัญหาและข้อกังวลต่าง ๆ ที่ประเทศที่เป็นผู้กู้เงินร้องเรียนมา