โควิด-19: ศบค. เผยยอดผู้เสียชีวิต 47 รายทุบสถิติเป็นวันที่สอง ด้านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม

vaccine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคลัสเตอร์สำคัญ ๆ ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เผยยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติสูงสุดติดต่อกันเป็นวันที่สอง

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีน หลังจากยังไม่มีการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 5 แสนโดส ตามแผนที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม และในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้คนกรุงเทพมหานครลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ ศบค. ประจำวันนี้ (27 พ.ค.) ว่าไทยมียอดผู้ป่วยสะสมขยับขึ้นไปอันดับ 84 ของโลก ด้วยผู้ป่วยรายใหม่ 3,323 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 47 ราย ซึ่งทำลายสถิติอีกครั้งเป็นวันที่สองต่อจากวานนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย

Nope

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,323 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,083 ราย เรือนจำ 1,219 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 141,217 ราย และยอดผู้ป่วยสะสมเฉพาะการระบาดระลอก เม.ย. 2564 อยู่ที่ 112,354 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 46,469 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,201 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 399 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอาการหนัก
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (894 ราย) สมุทรปราการ (280 ราย) เพชรบุรี (233 ราย) นนทบุรี (129 ราย) และปทุมธานี (98 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 47 ราย กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ (26 ราย) ส่วนหนึ่งมีโรคประจำตัวและมีหญิงตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 920 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.65%
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด

ที่มาของภาพ, ศบค.

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นหลักพันอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขลดลงเป็นหลักร้อย จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนี้คาดว่าเกิดจากการค้นหาเชิงรุกในรอบที่ 2

วันนี้ กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อเพิ่มอีก 1,228 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อสะสม 16,319 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย และล่าสุดพบการติดเชื้อในเรือนจำกลางสมุทรปราการเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น 14 เรือนจำและทัณฑสถานที่พบผู้ติดเชื้อ

จับตาคลัสเตอร์สำคัญทั่วประเทศ

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีติดเชื้อสูงนั้น โฆษก ศบค.ชี้ว่า ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งพบผู้ป่วยคิดเป็น 72% จากทั้งประเทศ

โดยข้อมูลจากวันที่ 26 พ.ค. คลัสเตอร์สำคัญในกรุงเทพที่ยังพบการระบาดต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อมีทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ อยูในพื้นที่ดังนี้

  • เขตบางกะปิ: ตลาดบางกะปิ ชุมชนโดยรอบ พบผู้ป่วยสะสมในตลาดแล้ว 443 ราย รวมถึงในแคมป์ก่อสร้าง 17 ราย
  • เขตคลองเตย: ในชุมชนและตลาดคลองเตย วานนี้ (26 พ.ค.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 210 ราย ทำให้ยอดสะสมเป็น 1,586 รายแล้ว
  • เขตธนบุรี: ตลาดศาลาน้ำร้อน มียอดสะสมผู้ป่วย 29 ราย
  • เขตสัมพันธวงศ์: ตลาดสำเพ็ง พบผู้ป่วยรายใหม่ 49 ราย
คลัสเตอร์สำคัญในกรุงเทพที่ยังพบการระบาดต่อเนื่อง

ที่มาของภาพ, ศบค.

นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์ในจังหวัดปริมณฑล ทั้งแคมป์ก่อสร้างใน จ.นนทบุรี ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี และยังพบคลัสเตอร์ใหม่ใน จ.สมุทรปราการ เป็นโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปจากอาหารทะเล ที่พบผู้ป่วยใหม่ 116 ราย

ไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ใน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นมาติดอันดับ 3 ของประเทศวันนี้ ก็ยังคงต้องติดตามคลัสเตอร์โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่พบผู้ป่วยกระจายใน 10 จังหวัด และมียอดสะสมไปแล้ว 2,820 ราย โฆษก ศบค. กล่าว

สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า 100 รายแล้ว เช่น ชลบุรี ระนอง สงขลา และนราธิวาส

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังคงตัว ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่อง และแทรกกลุ่มใหม่ตามโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง และชุมชนแออัด

"ปัจจัยเสี่ยงก็คืออยู่ใกล้ชิดกัน...น้ำ เป็นกระป๋องน้ำผูกเอาไว้เป็นกระป๋องน้ำ แล้วก็ดื่มกัน หรือแก้วที่คว่ำไว้ไม่ได้ใช้แล้วทิ้ง ก็คือเป็นการที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งที่อยู่ในปากของเรา หรือการที่มีมือที่มีเชื้อปนเปื้อนมาทำให้เกิดการแพร่เชื้อ"

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม

หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขออกมาเปิดเผยว่าสำนักงานอาหารและยา (อย.) เตรียมจะขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของ บ.ซิโนฟาร์ม ประเทศจีน โดยคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (รจภ.) ได้เตรียมแถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งถือเป็น "วัคซีนทางเลือก" นอกเหนือจากวัคซีนหลักของรัฐบาลคือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้วัคซีนของซิโนฟาร์มจะเป็นวัคซีนยี่ห้อที่ 5 ที่ไทยขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้นำเข้าต่อจากวัคซีนของ บ.แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโมเดอร์นา

vaccine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

การนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มโดย รจภ. มีขึ้นหลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ "ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ" เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งให้อำนาจ รจภ. ในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การจัดหา ผลิต ขาย นำเข้า ขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องทั้งที่ดำเนินการในประเทศและต่างประเทศ

ประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญอื่น ๆ ดังนี้

  • ให้สำนักงาน รจภ. มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และมีอำนาจในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข
  • ให้เลขาธิการ รจภ. มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
  • การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ
  • ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ รจภ. จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของ รจภ. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจง 5 ข้อ ปมประกาศนำเข้าวัคซีนเอง

วันนี้ (27 พ.ค.) ศ. นพ.นิธิ ได้โพสต์ข้อความอธิบายเนื้อหาของประกาศฉบับนี้เพิ่มเติมต่อกรณี ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการบริหารบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้คำอธิบาย 5 ข้อ ดังนี้

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์

ที่มาของภาพ, เว็บไซต์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คำบรรยายภาพ, ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
  • การที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีน"ตัวเลือก"มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยจะค่อย ๆ ลดปริมาณวัคซีน "ตัวเลือก" นี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
  • สำนักงานราชวิทยาลัยที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า ร่วมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้
  • ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยตามพรบ.จัดตั้งราชวิทยาลัย อันเป็นภารกิจปกติ
  • ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ
  • ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย

วิษณุ ชี้ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ยกสถานะเทียบเท่ากระทรวง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์การฉุกเฉินอื่น ๆ ว่า เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้นและใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้วตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ. ยา ฯ หน่วยงานที่จะนำเวชภัณฑ์เข้ามาได้ ต้องเป็นหน่วยงานในระดับ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย จึงต้องอออกประกาศยกสถานะขึ้นมา โดยตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำหนดไว้ว่า ผู้ลงนามต้องเป็นประธานสภาฯ และบุคคลอื่นลงนามไม่ได้

เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยกระดับขึ้นเทียบเท่าหน่วยงานดังกล่าวแล้ว และมีคุณสมบัติที่จะสามารถนำเวชภัณฑ์เข้ามาได้เพื่อให้ อย. รับรอง

เอกสารขอนำเข้าวัคซีนจีนว่อนโซเชียลมีเดีย

ช่วงบ่ายวันที่ 27 พ.ค. มีผู้ผยแพร่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่อ้างว่าเป็น "พันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทย" ของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย ที่ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

จดหมายระบุว่า ได้จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทย โดยไม่ผ่านตัวแทน หรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด โดยสามารถส่งถึงมือประเทศไทยให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปนำเสนอวัคซีนได้

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

ในเวลาต่อมา ศ. นพ.นิธิ ออกมาชี้แจงผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของเขาว่า

"เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆเลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน"ตัวเลือก"มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม ……..ขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ครับ 1)กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก 2)การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier(รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต)จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย 3)บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น ……เป็นเหมือนกันทุกบริษัททั่วโลกเพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะไม่ติดต่อกับเอกชนเป็นรายๆหรือติดต่อคุยด้วยก็จะไม่ให้ dossier เพื่อยื่นขอใบอนุญาต 4)รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำโลจิสติกเรื่องการขนส่งและเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้ 5)บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆโดสโดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ครับ…..คงไม่ได้พบผมเช่นกัน

ถ้าติดตามและอ่านประกาศของราชวิทยาลัยฯในราชกิจจานุเบกษาที่อ้างถึงให้เกินแปดบันทัด แล้วอ่านข้อบังคับลูกที่ตามมาก็จะทราบว่า ยังไงราชวิทยาลัยฯก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีครับ

ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว นิธิ 27 พค 64"

สธ.เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้ว

สธ.เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ผ่านช่องทางเครื่อข่ายโทรศัพท์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เมื่อช่วง 9.00 น. ที่ผ่านมา สธ. เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ผ่านช่องทางเครื่อข่ายโทรศัพท์ ทั้ง 3 ค่าย คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู ซึ่งจะให้บริการฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

บรรยากาศการลงทะเบียนที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ จำนวนมากกล่าวถึง การลงทะเบียนที่มีประชาชนสนใจจำนวนมาก จนกำหนดการฉีดเวันแรก ๆ เต็มอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะได้รับ QR Code ยืนยัน อีกทั้งระบุประตูทางออกของสถานนี้กลางบางซื่อ สำหรับสถานที่ฉีดของแต่ละคน

ขณะที่ 12.00 น. วันเดียวกัน กรุงเทพมหานคร ก็จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน 3 ช่องทาง คือ www.ไทยร่วมใจ.com แอปเป๋าตัง และร้านสะดวกซื้อ ประกอบไปด้วย 7-Eleven Familymart Mini BigC Tops Daily โดยจะให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนทั้ง 25 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

"การลงทะเบียน ฉีดวัคซีน หรือการกระจายแผนวัคซีนนี้เป็นความทุ่มเทของทุกฝ่ายทุกส่วน แอปฯ ต่าง ๆ ที่ทำมามีคนอยู่เบื้องหลังมากมาย เราให้เครดิตให้กับคนที่ทำงานหนักเหล่านั้นทุกคน" นพ. ทวีศิลป์กล่าว