สรุปปมออกแบบคลองช่องนนทรี ที่ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง จุฬาฯ จ่อฟ้องเพจ- ลูกอัศวิน

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ที่มาของภาพ, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) ชี้แจงไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี หลังจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD และเฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang บุตรชาย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง โพสต์ข้อความพาดพิงศูนย์ UDDC ว่ามีส่วนในการออกแบบ เตรียมเดินหน้าฟ้องร้องทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด

"UDDC ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ส่วนสถาปนิกท่านใดเป็นผู้ออกแบบนั้น สามารถหาข้อมูลจากข่าวในอินเตอร์เน็ตได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 จวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในทุกสำนักข่าว รวมถึงเพจประชาสัมพันธ์ของ กทม." เพจศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ระบุ

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ยังชี้แจงกรณีเพจ The METTAD แพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับอดีตบุคลากรที่ปัจจุบันผันตัวไปเป็นทีมนโยบายของ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าอดีตบุคลากรคนดังกล่าว ได้ลาออกไปตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 และภายหลังจากที่ลาออก เขาได้เข้าร่วมทีมทำงานของ รศ.ดร.ชัชชาติ คำกล่าวที่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เป็นส่วนหนึ่งของทีม รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเป็นข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ด้วยว่า ทีดีอาร์ไอไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี การจัดทำผังแม่บทดังกล่าวของ กทม. ตลอดจนการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยหรือโครงการให้คำปรึกษาใดๆ ให้แก่ กทม. เลยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตามที่เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์พาดพิง

ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว มีเพียงภาพที่บันทึกจากหน้าจอของโพสต์ดังกล่าว

ทีดีอาร์ไอและศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ถูกพาดพิงหลังจากที่ จัดกิจกรรม "ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ เดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯ ใหม่" ที่ทีดีอาร์ไอ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมืองจุฬาฯ ร่วมกัน จัดทำบทวิเคราะห์ขึ้น และนำเสนอสู่สาธารณะ พร้อมกับการเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมพูดคุยไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ตอนหนึ่งระบุว่า งบประมาณโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เขตสาทร สูงถึง 1,556 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงสวนลุมพินี เขตปทุมวัน ใช้งบประมาณสูงถึง 3,800 ล้านบาท ทำให้ กทม. มีงบประมาณเหลือเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับเขตอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมดเพียง 20 ล้านบาท

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาชี้แจงวันนี้ (23 เม.ย.) ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงว่า การใช้งบประมาณของคลองช่องนนทรี การออกแบบก็เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือระดับประเทศเป็นคนออกแบบไว้ ที่บอกว่าหลายพันล้าน ไม่เป็นความจริง ทำไปเพียง 80 ล้านบาท

"วาทกรรมในการพูด มันพูดได้ แต่ให้ไปดูข้อเท็จจริงด้วยว่าใช้เงินไปเท่าไร เราไม่ต้องอธิบายมากให้ไปดูเอาเอง ถ้าใช้เงินห้าหกพันล้านได้แค่นี้ต้องเอาไปตัดคอแล้วมั้ง ...เอาผมนี่แหละไปตัดคอ" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว...

เพจเฟซบุ๊ก The METTAD และเฟซบุ๊กลูกชายอัศวิน ว่าอย่างไร

ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ข้อความว่า "...โครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรีเกิดจากการที่ กทม.จ้าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ในการจัดทำผังแม่บทการพัฒนา และฟื้นฟูเมือง"

ขณะที่ เฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang บุตรชาย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับศูนย์ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ว่า โครงการช่องนนทรี "ส่วนหนึ่งเกิดจากผังแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองซึ่งมีการจ้างศึกษา UDDC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร และจากการศึกษาดังกล่าวได้เสนอแนะให้ กทม. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่ง กทม. ได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาผลักดันให้สำเร็จ"

เขายังระบุด้วยว่า งบประมาณที่ใช้ในการสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีใช้ไปเพียง 80 ล้านบาท ไม่ใช่ 980 ล้านบาท โดยส่วนที่ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท คือลานกิจกรรมที่เป็นเพียง 5% ของโครงการทั้งหมด

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ที่มาของภาพ, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ด้านศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ชี้แจงกรณีนี้ว่า ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี แต่ได้เป็นผู้ศึกษา "โครงการกรุงเทพฯ 250" ในปี 2558 ในสมัยที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยหนึ่งในข้อเสนอคือ การปรับปรุงฟื้นฟู "ถนนนราธิวาสราชนครินทร์" ที่ ณ ขณะนั้น มีความซบเซาและมีการพัฒนาอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สู่ย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเมืองที่เชื่อมต่อย่านสีลม-สาทร-บางรัก เข้ากับย่านเศรษฐกิจใหม่พระราม 3 เพื่อกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไป โดยในข้อเสนอนั้น ได้ระบุถึงคลองช่องนนทรีในบทบาทองค์ประกอบ "ระเบียงสีเขียวรอง"(เช่น แนวต้นไม้เดิมริมคลองช่องนนทรี ไม่ใช่ "สวนสาธารณะ" อย่างที่เพจทั้งสองนำมาบิดเบือน

ประเมินผลงานอัศวินประเด็นพื้นที่สีเขียว

บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอ ไอ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมืองจุฬาฯ ได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานของ พล.ต.อ. อัศวิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. ใน 9 ด้าน โดยส่วนที่กล่าวถึงสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีอยู่ในประเด็นพื้นที่สีเขียว

บทวิเคราะห์ระบุว่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายดังกล่าว กทม. ได้ทุ่มงบประมาณไปกับโครงการขนาดใหญ่และเมกะโปรเจกต์ 5 โครงการตั้งอยู่ใน 4 เขตของย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ซึ่งประกอบด้วยโครงการพัฒนาสวนสาธารณะ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 3,800 ล้านบาท และโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เขตสาทร ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1,556 ล้านบาท

งบประมาณของโครงการทั้งสองสูงเกินกว่าโครงการสวนสาธารณะที่ผ่านมาของ กทม. อย่างมาก ทั้งที่เขตปทุมวันและเขตสาทรจัดเป็นเขตใจกลางเมืองที่มีมาตรฐานพื้นที่สีเขียวสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของกรุงเทพฯ และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก

ข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ชี้ว่า การที่ กทม. กำหนดงบประมาณเพื่อปรับปรุงของสวนลุมพินีและสวนคลองช่องนนทรีไว้ถึง 5,356 ล้านบาท ทำให้ กทม. มีงบประมาณเหลือเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับเขตอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมดเพียง 20 ล้านบาท โครงการทั้งสองจึงไม่ช่วยลดแต่กลับจะขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตต่าง ๆ และทำให้ประชาชนในเขตอื่นต้องเดินทางเข้ามาใจกลางเมืองเพื่อใช้บริการสวนสาธารณะ