วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: รองโฆษก ตร. ชี้แจงกรณีขึ้นบัญชีพี่สาววันเฉลิม เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ

น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกิจกรรมเพื่อตามหาน้องชาย นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 35 ปี ที่ถูกบังคับให้สูญหาย เขาถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้ายที่หน้าคอนโดมีเนียมในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พร้อมตรวจสอบกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ชี้แจงเรื่องการขึ้นบัญชี น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็น "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)" แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการขึ้นบัญชี

ขณะที่ น.ส. สิตานันบอกกับบีบีซีไทยว่าเธอรู้สึก "ตกใจและโกรธ" ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ และเห็นว่าแทนที่จะเฝ้าจับตาการเคลื่อนไหวของเธอ ตำรวจควรเอาเวลาไปสืบสวนสอบสวนและตามหาวันเฉลิม น้องชายของเธอที่หายไปจะครบ 2 ปีเต็มในวันที่ 4 มิ.ย. 2565 นี้มากกว่า

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องการขึ้นบัญชี น.ส.สิตานันเป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ปรากฏเอกสาร "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง) จำนวน 2 ราย" ซึ่งมีรูปภาพ ชื่อ และที่อยู่ของ น.ส.สิตานัน และนักกิจกรรมทางการเมืองอีกคนหนึ่ง

"เชื่อได้ว่าเป็นเอกสารที่จัดทำโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลและเผยแพร่ไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อติดตามสอดแนมหรือข่มขู่คุกคามบุคคลทั้งสอง" มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแสดงความเห็นว่า เอกสาร "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)" มีลักษณะของ "บัญชีดำ" ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคยจัดทำขึ้นบ่อยครั้ง อันถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของบุคคล

วันนี้ (22 เม.ย.) ทนายความของ น.ส. สิตานันได้ส่งหนังสือถึง ตร. ขอให้ตรวจสอบว่าเอกสารนี้จัดทำโดยหน่วยงานใด มีวัตถุประสงค์อย่างไร การระบุว่าเป็น "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)" มีความหมายว่าอย่างไร และผู้จัดทำเอกสารมีแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อ น.ส. สิตานัน

จดหมายฉบับนี้ ซึ่งสำเนาส่งถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ ยังระบุด้วยว่า "หาก ตร. หรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่เอกสารดังกล่าว รวมทั้งการสอดแนม น.ส. สิตานัน ก็ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที" รวมทั้งขอให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมในการข่มขู่ คุกคาม กลั่นแกล้งดำเนินคดี น.ส. สิตานัน ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่าเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐ แต่กลับตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่น้องชาย

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

"บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ" คืออะไร

พล.ต.ต. เขมรินทร์ หัสศิริ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ รองโฆษก ตร. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า การขึ้นบัญชีบุคคลเป็น "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ" สามารถดำเนินการได้โดยหลายหน่วยงาน สำหรับ ตร. แล้วหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องนี้คือกองบังคับการตำรวจสันติบาล ซึ่งทำงานด้านการข่าว แต่หน่วยงานอื่น ๆ เช่น ตำรวจนครบาลก็สามารถขึ้นบัญชีบุคคลที่คาดว่าจะ "กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย" เป็นบุคคลเฝ้าระวังได้เช่นกัน

สำหรับกรณีของ น.ส. สิตานัน รองโฆษก ตร. กล่าวว่าเขาไม่สามารถยืนยันในขณะนี้ได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ขอให้ขึ้นบัญชีเป็นบุคคลเฝ้าระวัง แต่พร้อมจะตรวจสอบหากได้รับคำร้องจาก น.ส.สิตานัน

"อย่างไรก็ตาม ในการขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ต้องมีหลักการในการประเมินว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงหรือระดับที่จะต้องเฝ้าระวังในเรื่องไหน อย่างไร และต้องระบุห้วงเวลาว่าขอให้เฝ้าระวังบุคคลนั้น ๆ ในช่วงไหน ต้องมีเหตุผลความจำเป็นและระยะเวลาที่เหมาะสม" รองโฆษก ตร. กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่ขอให้เฝ้าระวังบุคคล อาจมีคำแนะนำในการปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่เมื่อพบเป้าหมายหรือเพียงขอให้เฝ้าระวังเฉย ๆ ก็ได้

พล.ต.ต.เขมรินทร์ย้ำว่า การขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังไม่ได้หมายความว่าคนนั้นกระทำความผิด และบุคคลนั้น "ยังคงทำทุกอย่างได้ปกติ แต่อาจจะมีคนสนใจเขามากขึ้น แต่ไม่ได้ถึงขนาดเป็นเงาตามตัว" เพราะการเฝ้าระวังไม่ใช่การติดตาม

"คำว่าเฝ้าระวังหมายความเพียงว่า ถ้าพบการเคลื่อนไหว (ของบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ) ก็แจ้งหน่วยงานที่ร้องขอให้เฝ้าระวังทราบ อย่างเช่น เจออยู่ที่ร้านอาหาร เราก็แจ้งว่าพบเป้าหมายที่ร้านอาหาร" พล.ต.ต. เขมรินทร์กล่าว

"ทำเหมือนเราเป็นผู้ก่อการร้าย"

ข้อความข้างต้นคือความรู้สึกของ น.ส.สิตานัน หลังจากได้เห็นภาพตามบัตรประชาชนของตัวเองพร้อมที่อยู่และข้อความว่า "บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)" ซึ่งผู้ที่ส่งมาให้เธอแจ้งว่า เป็นภาพที่มีการนำเสนอระหว่างการประชุมเตรียมการรักษาความปลอดภัยของตำรวจในพื้นที่ภาคอีสานเมื่อไม่นานมานี้

"เราเป็นอาชญากรเหรอ ทำไมถึงทำแบบนี้ เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราตกใจและโมโหตรงที่ว่าทำไมตำรวจไม่เอาเวลาไปทำคดีของน้องชาย (วันเฉลิม)แต่มาเสียเวลากับการเฝ้าระวังเรา" น.ส.สิตานันกล่าวกับบีบีซีไทย

น.ส. สิตานันเป็นพี่สาวของนายวันเฉลิม หรือ "ต้าร์" นักกิจกรรมการเมืองวัย 37 ปี ที่ถูกบังคับสูญหายที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 หลังเกิดเหตุ เธอได้ตามหาความจริงและเรียกร้องความยุติธรรมให้น้องชายมาตลอด ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การยื่นจดหมายร้องเรียนหน่วยงานราชการ จัดกิจกรรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มสาธารณะ รวมทั้งรณรงค์ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการบังคับบุคคลสูญหาย

ข้าม YouTube โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 2

ผลจากการทำกิจกรรมเหล่านั้น ทำให้เธอตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) 2 คดีจากการชุมนุมที่แยกอโศกเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 และการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากลที่หน้าองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 และจากการที่เธอปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพนักงานสอบสวนในทั้ง 2 คดี เธอจึงถูกต้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานเพิ่มมาอีกด้วย

น.ส. สิตานันกล่าวว่าการถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลเฝ้าระวังทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยและเหมือนถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชีวิตและการเดินทาง จึงต้องการให้หน่วยงานที่ดำเนินการดังกล่าวชี้แจงและยกเลิกบัญชีดังกล่าวเสียเพราะเธอเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามใด ๆ