จุฬาฯ : ย้อนดูการต้านขนบเก่าจาก "เดินออกจากพิธีถวายสัตย์" ถึง "ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว"

facebook/SGCU Camera

ที่มาของภาพ, facebook/SGCU Camera

คำบรรยายภาพ, ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อปี 2558

แถลงการณ์มติยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นปรากฏการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับการยกเลิก "ขนบ-ธรรมเนียม" เดิมของมหาวิทยาลัยในรอบกว่า 4 ปี ที่ผ่านมา

วันที่ 23 ตุลาคม 2564 วันปิยมหาราช หรือวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาฯ ถูกเลือกให้เป็นวันที่คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว

แถลงการณ์ระบุว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวซึ่งจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก โดยมีผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ถือพระเกี้ยว ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน "สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน"

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ยังระบุด้วยว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว "เป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน" ดังนั้น จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระ-เกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยระบุเหตุผล "เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป"

"ไม่สูญสิ้นอะไรหรอก กิจกรรมนี้พึ่งมีมาไม่กี่ปีนี่เอง และก็แค่หมดสมัยไปแล้วเท่านั้น" นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ระบุบนเฟซบุ๊กของเขา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในจุฬาฯ ที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับขนบและธรรมเนียมดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย อันมีประวัติที่มาของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ บางความเคลื่อนไหวยังเกี่ยวเนื่องกับระเบียบมหาวิทยาลัยที่บังคับใช้กับนิสิต

บีบีซีไทยย้อนดูเหตุการณ์เหล่านี้ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นิสิต 8 คน เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ ก่อนหนึ่งในนั้นถูกอาจารย์ล็อกคอ

3 ส.ค. 2560 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 คน รวมทั้ง นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ เพื่อถวายความเคารพพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

เหตุการณ์ดังกล่าวตกเป็นข่าวโด่งดัง เมื่อหนึ่งในนิสิตที่เดินออกไปนั้น ถูกอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ล็อกคอขณะเดินออกจากพิธี ซึ่งในเวลาต่อมา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ชี้แจงว่าอาจารย์คนดังกล่าวล็อกคอนิสิต ทำไปด้วย "ประสงค์ดี" ต่อ "สวัสดิภาพ" และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจจัดฉากของประธานสภานิสิตจุฬาฯ

นิสิตที่โดนล็อกคอดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานนิสิตจุฬาฯ

ที่มาของภาพ, NETIWIT CHOTIPHATPHAISAL

คำบรรยายภาพ, ภาพเหตุการณ์เมื่อปี 2560 นิสิตที่โดนล็อกคอดำรง คือ นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ

เหตุการณ์นี้ถูกเปิดเผยเมื่อ นายเนติวิทย์ โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเหตุการณ์ที่นิสิตคนหนึ่งถูกอาจารย์รายหนึ่ง "ทำร้ายร่างกาย" ระหว่างเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ฯ เนื่องจากทนไม่ได้ที่ผู้จัดงานให้นิสิตหมอบกราบถวายบังคมขณะฝนตก เขาระบุตอนนั้นว่า ได้พยายามหาวิธีประนีประนอม ขอทางรองอธิการบดีฯและทำหนังสือไปยังองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ขอให้จัดพื้นที่ให้นิสิตที่ไม่มีความประสงค์จะร่วมหมอบกราบถวายบังคมแต่ก็ไม่ผล

"รองอธิการบดีสัญญากับผมก่อนงานว่า ถ้าฝนตกจะให้เด็ก โค้งคำนับแล้วจบ เพราะเด็กจะเปียก จะเป็นไข้ได้ แต่เป็นว่าให้หมอบกราบถวายบังคมเหมือนเดิม พอฝนเริ่มตกหนักก็ยังแจกแผ่นกันฝนเล็ก ๆ ให้เด็ก แล้วก็ไม่พอด้วยหลาย ๆ คนก็ยังต้องตากฝนอีกเพื่อหมอบกราบถวายบังคม ที่ไม่รู้เวล่ำเวลาหรือคิดถึงนิสิตใหม่ ในขณะที่พวกครูอาจารย์มีร่มเตรียมมา สภานิสิตและ อบจ. นั้นไม่มีร่มให้ เปียกโชก ผมทนไม่ได้ ผมกับเพื่อนหลายคน ซึ่งมีหลายเหตุผลด้วยกันจึงเดินออกมา" นายเนติวิทย์ระบุ

เนติวิทย์ ยืนยันในเวลานั้นว่า ไม่ได้เสนอให้ยกเลิกพิธีหมอบคลาน แต่ขอให้มีพื้นที่ถวายความคำนับ

ในเดือนเดียวกัน จุฬาฯ มีคำสั่ง ตัดคะแนนความประพฤติ เนติวิทย์และนิสิตรวม 8 คน เนื่องจากทำผิดวินัยนักศึกษาข้อ 8 ในระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 และให้นิสิต 5 คนในกลุ่มนี้พ้นจากสมาชิกสภานิสิตสามัญ ประจำปีการศึกษา 2560

ปฏิกิริยาจากคำสั่งของจุฬาฯ ทำให้ กลุ่มนักวิชาการต่างชาติ นักเคลื่อนไหว และ นักเขียน กว่า 100 คน ในจำนวนนั้น มีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 20 คน รวมทั้ง ศ. โนม ชอมสกี จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องให้จุฬาฯ ยกเลิก "การลงโทษที่ไม่เป็นธรรม" ต่อกลุ่มนิสิตทั้ง 8 คน

NETIWIT CHOTIPHATPHAISAL

ที่มาของภาพ, NETIWIT CHOTIPHATPHAISAL

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากคำสั่งของจุฬาฯ เนติวิทย์และกลุ่มนิสิต ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า รูปแบบการพิจารณาออกคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติ และเนื้อหาคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายจะก่อให้เกิดสภาพร้ายแรงการพิจารณาทางปกครองที่ไม่เป็นกลาง โดยก่อนหน้านี้มีรองคณบดีฯ คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเนติวิทย์" ผู้ฟ้องที่ 1 อย่างรุนแรง ในการทำกิจกรรมของผู้ฟ้องที่ 1 กับพวกในการรณรงค์ ยกเลิกบังคับการแต่งกายชุดนิสิตของจุฬาฯ ขณะที่การสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งให้รู้ถึงข้อหาว่ากระทำผิดระเบียบจุฬาฯ และไม่เปิดโอกาสโต้แย้งคัดค้านการกล่าวหา

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ให้เพิกถอนคำสั่งของจุฬาฯ ใน 2 กรณีดังกล่าว โดยระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนด วัตถุประสงค์ของสโมสรนิสิต ไม่ใช่บทกำหนดโทษวินัยนิสิตหรือเป็นข้อกำหนดให้นิสิตต้องปฏิบัติตาม

การที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องที่ 1-5 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญนั้นก็ไม่ชอบ แต่การมีคำสั่งให้ตัดคะแนนความประพฤติของผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 นั้น ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

รณรงค์ยกเลิกบังคับแต่งชุดนิสิต

ปี 2561 กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "นิสิตจุฬาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับแต่งชุดนิสิต" ได้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org ในชื่อแคมเปญ "รณรงค์ยกเลิก 'การบังคับ' แต่งชุดนิสิต"

กลุ่มนิสิตฯ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ประชาไท ตอนนั้นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งจดหมายให้คณะกวดขันนิสิตให้แต่งกายชุดนิสิต โดยส่วนใหญ่การกวดขันเหล่านั้นเกิดในห้องเรียน โดยระบุว่าไม่แต่งกายชุดนิสิตมาเรียนครั้งแรกจะโดนตักเตือน ในครั้งต่อมาจะถูกตัดคะแนน ทางกลุ่มจึงไปค้นหาประกาศระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใส่ชุดนิสิต พบว่ามีความรุนแรงในบทลงโทษหากไม่แต่งกายชุดนิสิต เข้าเรียน 6 ครั้ง จะพ้นสภาพจากการเป็นนิสิต

ทางกลุ่มย้ำว่า ไม่ได้มองว่าชุดนิสิตมีปัญหา และไม่ได้ต้องการยกเลิกชุดนิสิต แต่ปัญหาคือการบังคับของมหาวิทยาลัยที่ให้แต่งกายชุดนิสิต ซึ่งกลุ่มนิสิตผู้ตั้งแคมเปญ มองว่า การแต่งกาย "เป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละบุคคลมากกว่าที่เลือกว่าจะใส่หรือไม่ และไม่ควรมีผลทางวินัยนักศึกษาถึงขั้นหมดสภาพจากการเป็นนิสิตจุฬาฯ"

เรื่องการแต่งชุดนิสิต มีความเปลี่ยนแปลงในบางประเด็นในปี 2562 เมื่อมีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562 ให้นิสิตแต่งกายตามเพศสภาพได้ไม่ต้องขออนุญาต และเปิดช่องให้นิสิตแต่งชุดสุภาพมาเรียนได้ หากอาจารย์ผู้สอนทำเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านคณบดี จากระเบียบเดิมของปี 2553 ที่คณะกรรมการบริหารคณะเป็นผู้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปเกือบ 4 ปี แม้จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวระเบียบ แต่องค์กรนิสิตในจุฬาฯ ยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือน ก.พ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นเรื่องการบังคับนิสติให้ใส่ชุดนิสิตมาเรียน ร่วมกับร่วมกับสโมสรนิสิตทุกคณะ จากนิสิตเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากแบบสำรวจ 2,016 คน มีผู้เห็นด้วยกับการยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนิสิตจำนวน 1,795 คน คิดเป็นจำนวน 89.17 % และมีผู้ไม่เห็นด้วยทั้งหมดจำนวน 221 คน หรือ 10.83 %

ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี

23 ต.ค. 2564 คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เผยแพร่แถลงการณ์มติของคณะกรรมการฯ ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว อันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

แถลงการณ์ระบุว่า รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ พระเกี้ยวบนเสลี่ยง

เนื้อหาของแถลงการณ์ ยังวิจารณ์กระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญฯ ที่เป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส ข้อกังขาถึงการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม และอ้างว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง โดยแถลงการณ์ระบุถึง กระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้น "มีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก"

แถลงการณ์ลงท้ายด้วยข้อความที่ว่า "ให้คนเท่ากัน"

facebook/SGCU Camera

ที่มาของภาพ, facebook/SGCU Camera

สำหรับพระเกี้ยว เป็นตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 ตามประวัติที่ระบุในเว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็กเมื่อครั้งตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์ หอประวัติจุฬาฯ ยังบันทึกประวัติการอัญเชิญพระเกี้ยวไว้ว่า การอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เริ่มเข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏหลักฐานในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค. 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

"การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" เว็บไซต์ระบุ

"การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์"

เว็บไซต์ดังกล่าว ระบุว่า นิสิตจุฬาฯ ทุกคน มีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องคักเลือกนิสิตฯ "ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย..."

หลังจากแถลงการณ์ของ อบจ. ถูกเผยแพร่ออกไป มีกระแสตอบรับทั้งไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยต่อการยกเลิกกิจกรรมนี้ ทว่าหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมของมหาวิทยาลัย อย่างชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า CU Cheer Club สนับสนุนแถลงการณ์ของคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์

facebook/CU Cheer Club

ที่มาของภาพ, facebook/CU Cheer Club

"ทางชมรมมีความเห็นว่า การยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น ไม่เป็นการทำให้สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกลดทอนคุณค่าแต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดรูปแบบของขบวนในงานฟุตบอลประเพณีครั้งต่อไปให้เท่าทันตามยุคสมัย"

เพจชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาฯ โพสต์ข้อความนี้ประกอบภาพนิสิตชายจำนวนหลายสิบคน กำลังแบกเสลี่ยงที่มีผู้อัญเชิญนั่งด้านหลังพระเกี้ยว โดยเป็นภาพที่ถ่ายจากด้านข้าง พร้อมเขียนข้อความว่า จัดทำภาพนี้ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงบุคคลที่อยู่เบื้องล่างและเบื้องหลังของขบวนเสลี่ยง ผู้ถูกหลงลืมไปในงานที่ต้องการให้ผู้ชมสนใจเพียงความงามด้านบนเท่านั้น และหวังว่าในอนาคตจะไม่มีใครถูกกระทำเช่นนี้อีก