ก๊าซเรือนกระจกอาจทำให้สารอาหารในข้าวลดลง

ข้าวสาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

สภาพบรรยากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เข้มข้น จะเป็นตัวการที่ทำให้พืชอาหารหลักของชาวโลกอย่างข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง โดยข้าวและพืชที่เป็นอาหารอื่น ๆ จะสูญเสียวิตามินและแร่ธาตุสำคัญไปในปริมาณมาก เนื่องจากภาวะผิดปกติในการสังเคราะห์แสง

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ร่วมกันตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร Science Advances โดยชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกและภาวะโลกร้อนนั้น ยังทำให้ปริมาณของสารอาหารในข้าวปลูกใหม่ลดลง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้รวมถึงวิตามินบี 1, บี 2, บี 5, บี 9, โปรตีน, ธาตุเหล็กและสังกะสีด้วย

ศ. คริสตี อีไบ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ หนึ่งในคณะนักวิจัยบอกว่า ได้ทดลองปลูกข้าว 18 ชนิดพันธุ์ในแปลงปลูกกลางแจ้งนอกห้องปฏิบัติการในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยจัดให้ต้นข้าวอยู่ในบรรยากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้นถึง 568-590 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งเป็นปริมาณที่เข้มข้นกว่าบรรยากาศโลกในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 410 ppm

ข้าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลปรากฏว่าข้าวในแปลงทดลองดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาใช้ในการสังเคราะห์แสงเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น เกินกว่าระบบเผาผลาญของพืชจะรับไหว ทำให้มีคาร์บอนสะสมในเมล็ดข้าวมาก แต่ต้นข้าวกลับใช้รากดึงเอาสารอาหารจากในดินซึ่งเป็นที่มาของวิตามินและแร่ธาตุน้อยลง

ทีมผู้วิจัยระบุว่า หากไม่มีการเร่งแก้ไขใด ๆ ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ใช้ทดลองปลูกข้าว ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้

"ประชากรโลกหลายพันล้านคนซึ่งกินข้าวเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนที่บริโภคแต่ธัญพืชเป็นส่วนใหญ่ จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เป็นลำดับแรก นอกจากนี้ การที่ปริมาณโฟเลตหรือวิตามินบี 9 ในข้าวลดลงมากที่สุดถึง 30% ยังส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์อีกด้วย เนื่องจากโฟเลตเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้ทารกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ไม่พิกลพิการ" ศ. อีไบกล่าว