ไทยจะแก้ปัญหา “ลิงครองเมือง” ลพบุรี ก่อนกลางปี 2567 ได้อย่างไร

ตัวเมืองลพบุรีมีลิงมากกว่า 2,000 ตัว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตัวเมืองลพบุรีมีลิงมากกว่า 2,000 ตัว

เจ้าเครา เจ้ายักษ์ เจ้าด้วน เจ้าแหว่ง

นี่คือฉายาส่วนหนึ่งของ “ลิงเกเร” 37 ตัวที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามจับหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่

ประเทศไทยเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างลิงกับมนุษย์มายาวนาน โดยทางกรมฯ ตรวจสอบพบพื้นที่ 292 แห่งใน 52 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีประเด็นลิงสร้างปัญหา รวมจำนวนลิงถึง 68,960 ตัว

แต่ไม่มีสถานการณ์ที่ไหนจะรุนแรงเท่า จ.ลพบุรี ที่เป็นข่าวรายวัน และตรวจสอบแล้วพบลิงมากถึง 8,584 ตัวในพื้นที่ 6 อำเภอ จนเกิดกระแสข่าวเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งให้จับลิง “ไปปล่อยเขาใหญ่” จนสร้างความวิตกต่อนักอนุรักษ์ว่า พวกมันจะกลายเป็น “สายพันธุ์ต่างถิ่น“ หรือ “เอเลียนสปีชีส์” หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวนี้ พร้อมระบุว่าจะไม่มีการจับลิงไปปล่อยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แต่อย่างใด และวันนี้ (3 เม.ย.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงถึงมาตรการแก้ไขปัญหาลิงอย่างละเอียด

“ภายในสิ้นเดือน พ.ค. 2567 ปัญหาจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว” อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศ ภายหลังจากรับนโยบายจาก พล.ต.อ.พัชรวาท ที่สั่งการให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

แต่ในฐานะอธิบดีกรมอุทยานฯ เขาอยากให้ประชาชน โดยเฉพาะชาวลพบุรี “อย่ามองลิงเป็นผู้ร้าย” เพราะพวกมันสร้างคุณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด และส่งเสริมการท่องเที่ยว

“เราไม่ได้บริหารจัดการที่ดีจน[ลิง]กลายเป็นภัยคุกคาม และไปทำร้ายพี่น้องประชาชน” แต่ “คนก็อาจไปทำร้ายลิงด้วยก็ได้ แต่ลิงแจ้งความไม่ได้”

.

ที่มาของภาพ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

คำบรรยายภาพ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงมาตรการแก้ปัญหาลิงลพบุรี

บีบีซีไทยสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาลิง ที่จะเริ่ม “ดีเดย์” เม.ย. นี้ โดยเริ่มจากพื้นที่ จ.ลพบุรี ที่รัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน ให้คำมั่นว่า ปัญหาลิงเกเร-ดุร้าย-ทำร้ายคน จะหมดไป ก่อนกลางปี 2567

“กรงยักษ์” และ “เมืองลิง”

ในความเป็นจริงแล้ว กรมอุทยานฯ มีลิงในการดูแลหลายพันตัว แต่เหตุผลที่ยังเร่งจับลิงลพบุรีในปริมาณมากไม่ได้ เป็นเพราะ “กรง” ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของพวกมัน ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง

กรงที่ว่านี้คือ “ศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น” ที่สร้างเสร็จมานาน 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยถูกนำไปใช้งานเลย จนกระทั่งวันนี้ที่สำนักงานเทศบาลเมืองลพบุรี รับมอบหมายต่อให้ดำเนินการปรับปรุงความแข็งแรง เพียงพอรองรับลิงที่ทางกรมอุทยานฯ จะตามจับและทำหมัน มาอาศัยในปริมาณมาก

“การลดจำนวนประชากรลิงด้วยการทำหมัน ทำมา 10 ปีแล้ว” เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุ

“แต่การหาสถานที่รองรับลิงที่ทำหมันแล้วสำคัญมาก... เพราะลิงเมือง คือลิงที่ไม่มีที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ พวกมันอาศัยในเมืองเลย”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อธิบายมาตรการ 2 ระยะ ที่จะแก้ปัญหา “ลิงเมือง” ในลพบุรี ที่ประเมินว่ามีทั้งสิ้น 2,206 ตัว ดังนี้

ระยะที่ 1 – ปฏิบัติการจับ-ขน ลิงลพบุรี 737 ตัว

  • 18-20 เม.ย. 2567: เริ่ม “ดีเดย์” การจับลิงเมืองที่เป็นปัญหาที่สุดจำนวน 200 ตัว คือช่วงระหว่างโรงแรมเอเชียถึงร้านเซ่งเฮง มาทำหมันและนำไปอาศัยในกรง 3 ซึ่งอยู่ลึกสุดของศูนย์พักพิงลิงใน ต.โพธิ์เก้าต้น
  • พ.ค. 2567 (หลังปรับปรุงกรงเสร็จ): การจับลิงจำนวน 300 ตัว บริเวณหน้า-หลังร้านชโยวานิช เข้าไปในกรง 2
  • พ.ค. 2567 (หลังปรับปรุงกรงเสร็จ): การจับลิงจำนวน 237 ตัว บริเวณตลาดมโนราห์ เข้าไปยังกรง 1 ซึ่งเป็นกรงสุดท้ายในการแก้ปัญหาระยะที่ 1

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าจะเริ่มปฏิบัติการระยะที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชประกาศเลื่อนภารกิจออกไปแบบไม่มีกำหนด โดยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า เหตุที่ต้องเลื่อน ยังปรับปรุงกรงลิงไม่เสร็จ เพราะคนงานติดหยุดยาววันสงกรานต์

.

ที่มาของภาพ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

คำบรรยายภาพ, พื้นที่กรงลิงในศูนย์ฯ ทั้งเฟส 1 และ เฟส 2

ระยะที่ 2 – ปฏิบัติการจับ-ขน ลิงลพบุรี ประมาณ 1,000 ตัวขึ้นไป

  • ปัจจุบัน สำนักงานเทศบาลเมืองลพบุรี กำลังจัดขอการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างและปรับปรุงกรงขนาดยักษ์ในพื้นที่ศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น ที่จะรองรับลิงได้มากกว่า 1,000 ตัว
  • ไม่เพียงเท่านั้น วัดพระบาทน้ำพุ ยังได้เริ่มนำลิง 200 ตัวเข้าไปอาศัยที่ “เมืองลิง” แล้ว ซึ่งจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเปิด ให้ลิงเข้ามาอาศัยได้ จะได้ไม่ไปทำลายข้าวของและบ้านเรือนประชาชน
  • นอกจากนี้ จะมีสถานที่รองรับใหม่ที่พระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ และจุดจอดรถตู้ ที่สามารถรองรับลิงได้อีกรวม 1,400 ตัว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่มาของภาพ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

คำบรรยายภาพ, การไล่จับลิงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังทำได้ไม่เต็มที่เพราะไม่มีที่รองรับลิง

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอธิบายว่า กรงลิงของศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น จะมีการออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อป้องกัน “ลิงแหกกรง” ไม่ว่าจะเครื่องเล่นและเชือกห้อยโหน เพื่อให้ลิงได้ทำกิจกรรมลดความเครียด และลวดไฟฟ้าเสริมอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิงพยายามขย่มกรง

สำหรับกระบวนการจับลิงในลพบุรีนั้น ทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อธิบายว่า จะใช้การวางกรงขนาดใหญ่ แล้วนำเมล็ดข้าวโพดมาวางล่อลิงเป็นเวลาหนึ่งวัน จนลิงเคยชิน ก่อนที่ในวันต่อมา เมื่อลิงเข้ามาทานอาหารมาก ก็จะดำเนินการปิดกรง ก่อนคัดแยกลิงแต่ละตัวใส่กรงที่มีช่องใส่ช่องละตัว เพื่อป้องกันลิงกัดกัน ต่อไป

การแก้ปัญหา... มาช้าเกินไป

สำหรับชาวเมืองลพบุรี ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารร้าง พวกเขารู้สึกว่า การแก้ปัญหามาถึงช้าเกินไป ยกตัวอย่างการเร่งทำหมันลิง ที่ชาวบ้านบางคนระบุว่าควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ไม่ใช่มากระตือรือร้นในเวลานี้ที่กลายเป็นข่าว

“สิ่งที่เขากำลังทำ มันแก้ได้ แต่มันสายเกินไป มันน่าจะเร็วกว่านี้” สมสุข บุญช่วย ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไรเดอร์ในตัวเมืองลพบุรี บอกกับบีบีซีไทย

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "มันน่าจะเร็วกว่านี้” สมสุข บุญช่วย

ในฐานะคนลพบุรีแต่กำเนิด เขาย้อนอดีตไปว่า พื้นที่แถบนี้เคยเจริญรุ่งเรือง ร้านค้ามากมาย เศรษฐกิจเติบโตดีมาก และลิงไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่ในช่วงพักหลัง เขารู้สึกถึงปริมาณลิงที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้คนและร้านรวงในพื้นที่ก็ทยอยย้ายออกไป

ส่วนการนำลิงออกไปขังกรงนั้น เป็นมาตรการที่ สมสุข เห็นด้วย โดยแสดงความเห็นว่าถ้าไม่จับลิงให้แยกกันอยู่จากชุมชน “ยังไงลิงมีขา ก็เดินกลับมาได้อีก... มันต้องอยู่เป็นสัดเป็นส่วนกัน”

ด้าน สมศักดิ์ เตไชยา ที่ทำธุรกิจร้านสกรีนเสื้อผ้าอยู่ใกล้กัน ก็รู้สึกดีใจที่การแก้ปัญหาลิงของภาครัฐ เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้จะเป็นผลจากการที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องก็ตาม

“เมื่อก่อน เจ้าหน้าที่เค้าทิ้งเรา เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง” สมศักดิ์ ตอบผ่านหลังตะแกรงเหล็กเพื่อป้องกันลิงเข้าไปในร้าน “ตรงนี้เคยเป็นที่เจริญอันดับหนึ่งของลพบุรี แต่มาวันนี้ โดนถล่มจนเละ”

“ถ้าไม่ทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้ มันจะเละทั้งจังหวัด”

“ลิงเมือง” ยังคงอยู่

แม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการจับลิงทั้งสองเฟสรวมเกือบ 2,000 ตัว จากพื้นที่เมืองลพบุรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลิงเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่พระปรางค์สามยอด และศาลพระกาฬ จะหมดไป แต่จะเหลือไว้ในปริมาณที่ควบคุมได้

“ลิงที่ลพบุรีเป็นลิงที่อยู่มานานแล้ว... เคยมีรูปปั้นอายุพันกว่าปีเป็นรูปคนจูงลิง” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว

ดังนั้น ภายหลังการจับและขนลิงเข้าศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น และสถานที่อื่น ๆ ที่จะเปิดรองรับเพิ่มขึ้นในอนาคต เป้าหมายต่อไปของกรมอุทยานแห่งชาติฯ คือการทำให้ลิงอยู่ร่วมกับคนได้ เพื่อที่ลิงจะได้เป็นอัตลักษณ์ของลพบุรีต่อไป ยกตัวอย่าง ประเพณีโต๊ะจีนลิงที่ต้องจัดการพูดคุย เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสม เป็นต้น