น้ำท่วมนราธิวาส-ยะลา เหตุใดจึงรุนแรงหนักในรอบหลายสิบปี และเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหรือไม่

น้ำท่วมนราธิวาส

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ประชาชนในเขต จ.นราธิวาส อพยพออกจากบ้านเพื่อหนีน้ำ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566

จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา เผชิญน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี จากปริมาณฝนตกหนักทั้งจังหวัดในระดับ 400-600 มิลลิเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง กระทบประชาชนกว่า 1 แสนคน ขณะที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ อาจได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ถัดไป

ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดอุทุกภัยทั้ง 13 อำเภอของจังหวัด โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบ 28,049 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประชาชน 109,545 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 18.00 น.) และสร้างความเสียหายแก่โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ราชการหลายแห่ง

ข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) แจ้งปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงของวันที่ 25 ธ.ค. จากระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติที่ร่วมกันทั้ง 52 หน่วยงาน พบว่าใน จ.นราธิวาส มีฝนตกหนักมากทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.รือเสาะ มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 651 มม. ซึ่ง สสน. ระบุว่า อาจจะเป็นปริมาณฝนที่ตกสูงสุดที่พบในไทย ตั้งแต่ปี 2489

น้ำท่วมรุนแรงใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ตลอดจนบางส่วนของ จ.ปัตตานี ในรอบนี้ มีปัจจัยจากอะไร บีบีซีไทยคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือ

"นราธิวาส ไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่มีฝนตก”

ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุของน้ำท่วมหนักใน จ.นราธิวาส ทุกพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ในช่วง 3-4 วัน นี้ เกิดจากปริมาณฝนตกหนัก

ผศ.ดร.สมพร อธิบายว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องและตกในปริมาณมาก เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีกำลังแรงและลมมรสุมที่มาจากทางมหาสมุทรแปซิฟิก พัดผ่านมาทางประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้เกิดเมฆฝน ลมแรง คลื่นลมทะเลสูง ประกอบกับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นจากจีนที่พัดมาปกคลุมภาคเหนือของไทยจนถึงภาคกลาง ทำให้แนวมรสุมลงต่ำลงมา เกิดเป็นฝนตกหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน

afp

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ความรุนแรงของน้ำท่วมในรอบนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่กินพื้นที่ในวงกว้างกว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จากเดิมที่น้ำท่วมจะเกิดกับพื้นที่ริมแม่น้ำ เช่น อ.รือเสาะ อ.ระแงะ ของ จ.นราธิวาส แต่ในครั้งนี้ พื้นที่เคยท่วมไม่หนักก็ท่วมสูงกว่าปกติ และยังท่วมขยายไปยังพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน อีกทั้งที่มาของน้ำ ไม่ได้มาจากฝนที่ต้นน้ำอย่างเดียว แต่ยังเป็นฝนที่ตกในพื้นที่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น "ฝนที่ตกบนหลังคาบ้าน" ทำให้น้ำไม่มีทางไปจึงเกิดความเสียหายหนักในหลายพื้นที่

"นราธิวาส ไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่มีฝนตก พูดง่าย ๆ เลย คือ ทั้งจังหวัด... แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกที่ท่วมเหมือนกัน เป็นไปตามลักษณะภูมิประเทศของเขา"

"บางพื้นที่ไม่เคยท่วมหนักแบบนั้น อย่างเช่น จากระดับเข่าก็เอาไม่อยู่ จากท่วมแค่ชั้นหนึ่งก็กลายเป็นมิดหัว และก็ท่วมแบบขยายพื้นที่ไป อย่างเช่น พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำของแม่น้ำบางนรา จ.นราธิวาส เขาก็ไม่เคยเจอที่ท่วมแบบมิดหลังคาบ้าน"

ภูมิศาสตร์ น้ำท่วม ชายแดนใต้

นักวิชาการด้านสภาพอากาศและภัยพิบัติ ชี้ว่า หากเป็นสภาพการณ์ปกติ พื้นที่ริมน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำจะค่อย ๆ ไหลลงทะเล แต่ว่าในช่วงวันที่ 27 ธ.ค. จะมีปัจจัยของอิทธิพลน้ำทะเลหนุนเข้ามา เมื่อน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำที่ท่วมไหลลงทะเลได้ช้ากว่าปกติ คาดว่าน้ำจะเริ่มระบายได้คล่องขึ้นในช่วงวันที่ 29-30 ธ.ค. ไปแล้ว

"น้ำที่อยู่ตอนบนก็ไหลลงมาอยู่เรื่อย ๆ แต่พอออกทะเล บริเวณปากแม่น้ำ ทำให้น้ำมันถูกอัดและขังอยู่เยอะขึ้น ซึ่งเรียกว่าน้ำเท้อกลับขึ้นไป เพราะมีน้ำทะเลหนุน น้ำที่เคยลงเร็วก็ช้าลง"

afp

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

ผศ.ดร.สมพร อธิบายถึงภูมิประเทศของบริเวณเขตติดต่อนราธิวาส ยะลา ปัตตานีว่า มีเส้นทางน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย 4 สาย ได้แก่

  • แม่น้ำปัตตานี ต้นน้ำจากเทือกเขาสันกาลาคีรี อ.เบตง จ.ยะลา เส้นทางน้ำออกสู่ทะเลที่ อ.เมืองปัตตานี
  • แม่น้ำสายบุรี ต้นน้ำจาก อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ลงสู่ทะเลที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
  • แม่น้ำบางนรา ต้นน้ำอยู่ที่ อ.สุไหงปาดี ออกสู่ทะเลที่ อ.เมืองนราธิวาส
  • แม่น้ำโก-ลก ตามแนวเขตแดนมาเลเซีย ลงสู่ทะเลที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

แต่ผลกระทบรุนแรงที่เกิดกับตัวเมืองนราธิวาสตอนนี้ คือแม่น้ำบางนรา ที่ต้นน้ำอยู่ในนราธิวาส และไหลเข้าสู่ตัวเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบสองฝั่ง จึงทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมมีมาก

ความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้ ไทยพีบีเอส รายงานว่า ปริมาณน้ำในคลองยะกัง อ.เมือง จ.นราธิวาส ยังสูงขึ้นต่อเนื่องจนล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านทั้งสองฝั่งคลองความสูง 1-2 เมตร ขณะที่น้ำยังเอ่อล้นเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจชั้นในของชุมชนยะกัง เเละพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเมืองนราธิวาส

ภาครัฐต้องเชิงรุก ไม่ใช่ตั้งรับ

ผศ.ดร.สมพร ชี้บทเรียนในน้ำท่วมรอบนี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยวิชาการและปฏิบัติการ ควรประสานงานในเชิงรุกมากกว่าที่จะตั้งรับ ท่วมแล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือ อย่างที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีการทำงานให้ทราบถึงแผนผังของพื้นที่ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบางอย่างหญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ ตลอดจนปศุสัตว์ของประชาชน เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เป็นการซ้ำเติมความเปราะบางของพื้นที่

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความตระหนักแก่ชุมชนให้รู้เท่าทัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เพิ่งเจอประสบการณ์น้ำท่วมครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว การอ่านข้อมูลสถานการณ์น้ำและอากาศ

"ตอนนี้บางคนก็ยังอยู่บนหลังคา การที่คนไปอยู่บนหลังคา มันก็สะท้อนว่า เราไมได้เตรียมความพร้อมในเชิงรุกมากนัก"

ข้าม Facebook โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Facebook

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Facebook เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Facebook และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Facebook ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Facebook โพสต์

สภาพอากาศรุนแรง

ปริมาณฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังสะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผศ.ดร.อธิบายว่า ปริมาณฝนที่ตกแต่ละปีมีปริมาณเท่า ๆ กัน แต่พฤติกรรมการตกเปลี่ยนไป เกิดเป็นรูปแบบที่รุนแรง ซึ่งมีส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดในระยะยาว 30 ปีขึ้นไป แต่ฝนตกรุนแรงครั้งนี้ เรียกว่าเป็น "ความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ" เพราะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในบางพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบหลายสิบปี ดังนั้น การเตรียมการรับมือต้องทบทวนการวางแผน รวมทั้ง การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

"ลักษณะฝนตกเป็น Extreme event มันเกิดแบบสุดโต่ง เกิดพีค ตกแบบชนิดที่ขับรถต้องจอด มันมองไม่เห็น" ผศ.ดร.สมพร กล่าว "ความผันแปรของสภาพอากาศ มันอาจจะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้น เยอะขึ้น ตรงนั้นตรงนี้ จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่าไม่เคยเจอมาในรอบ 10 ปี หรือรอบ 30 ปี เป็นต้น"

เศรษฐา

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ช่วงบ่ายวันนี้ (26 ธ.ค.)