รอมฎอน: ข้อตกลงหยุดยิงได้ผลแค่ไหน ประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้ก่อนสิ้นสุด “รอมฎอนสันติสุข”

บรรยากาศเดือนรอมฎอนใน จ.นราธิวาส ผู้นับถือศาสนาอิสลามหาซื้ออาหารสำหรับการละศีลอด เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศเดือนรอมฎอนใน จ.นราธิวาส ผู้นับถือศาสนาอิสลามหาซื้ออาหารสำหรับการละศีลอด เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565

รัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) บรรลุข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนถือศีลอดหรือที่ทางการไทยเรียกว่า "รอมฎอนสันติสุข" ซึ่งมีผลมาเกือบ 1 เดือนเต็มแล้ว กลุ่มอิสระติดตามผลของข้อตกลงเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงและเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลดความรุนแรงที่บันทึกได้รวม 38 เหตุการณ์ ระหว่างวันที่ 3-22 เม.ย.

ข้อตกลงลดความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้ง นับเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รัฐบาลไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเปิดเจรจากันในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยข้อตกลงหยุดยิงครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงเดือนรอมฎอนในปี 2556

แถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เผยแพร่หลังบรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ระบุว่า ช่วงระยะเวลาลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.-14 พ.ค. แต่ทางการไทยไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจน

"ถ้ามองภาพรวมของทั้งสองฝั่ง มีความพยายามในการรักษาคำสัญญาที่ให้กันไว้ค่อนข้างจะดี แต่บรรยากาศ (การลดความรุนแรง) ประชาชนที่เฝ้ามองยังต้องการมากกว่านี้" อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักกิจกรรมหญิงมุสลิมจากกลุ่ม "ด้วยใจ" หนึ่งในภาคประชาสังคมที่รวมตัวเป็น "กลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง" หรือไอเอ็มที (Independent Monitoring Team-IMT) กล่าวกับบีบีซีไทย

ในรอบ 20 วันแรกของรอมฎอนสันติสุข กลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง ระบุว่า จากทั้งหมด 38 เหตุการณ์ เป็นความรุนแรงทางกายภาพทั้งหมด 9 ครั้ง ทั้งการยิงและระเบิด โดยเป็นกรณีเกี่ยวกับคู่ขัดแย้ง 2 ครั้ง ไม่เกี่ยวข้อง 6 ครั้ง และไม่ชัดเจน 1 ครั้ง อีกทั้งการลาดตระเวนบนท้องถนนและในหมู่บ้านยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไอเอ็มทีมองว่าจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทยจะสามารถควบคุมและดำเนินการตามข้อตกลง และเชื่อมั่นว่าในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนสันติสุข ทั้งสองฝ่ายจะสามารถควบคุมเหตุการณ์ความรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไอเอ็มทีมองว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังข้อตกลงหยุดยิงมีผลอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น เช่น การยิงผู้นำศาสนา จึงควรมีการตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ร่วมกันระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย

get

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในการแถลงของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันใน "ความริเริ่มรอมฎอนเพื่อสันติสุข" ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอน โดยเน้นที่ "การลดการปฏิบัติการเชิงรุก"

ภาคประชาชนและนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้มองรอมฎอนสันติสุขที่จะครบ 1 เดือนเต็มในวันที่ 3 พ.ค. นี้อย่างไร

กลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง (ไอเอ็มที)

ในรายงานของกลุ่มไอเอ็มที จนถึงวันที่ 20 เม.ย. พบว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรง และฝ่ายความมั่นคงของไทยก็ไม่มีการจับกุมปิดล้อมเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาหรือก่อนเดือนรอมฎอน

"ถ้าไปดูสถิติเดือน ม.ค.- ก.พ. จาก Deep South Watch (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) จะเห็นว่ามีความรุนแรงรูปแบบใด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราสังเกตในช่วงเวลานี้ จะเห็นว่ามันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น" อัญชนา คณะทำงานของกลุ่มไอเอ็มทีกล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 27 เม.ย.

อัญชนาเห็นว่ามีความพยายามในการไม่ก่อความรุนแรงจากบีอาร์เอ็นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้มีปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัว มีการปลดป้ายภาพถ่ายผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่ยังมีการดำเนินการตามกฎหมายอื่น ๆ อยู่ ดังนั้น แม้ในภาพรวมทั้งสองฝ่ายมีความพยายามในการรักษาคำมั่นในข้อตกลงค่อนข้างดี แต่ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ ยังพบว่ามีปฏิบัติการที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิต

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า

ที่มาของภาพ, กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า

คำบรรยายภาพ, เพจเฟซบุ๊กของศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เผยแพร่ภาพหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 จัดกำลังพลชุดปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ รเดินลาดตระเวนพิสูจน์ทราบเชิงรุกใน 3 อำเภอของ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565

"รัฐบาลบอกว่าจะลดปฏิบัติการทางทหารที่ด่าน จะลดการดำเนินการ จะลดความเข้มงวด แต่สิ่งเหล่านี้มันยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ยังมีการลาดตระเวน มีการตั้งเต็นท์ (ของเจ้าหน้าที่) ในสวนยาง มีการถ่ายรูปบัตรประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในช่วงเดือนรอมฏอน อันนี้ก็เข้าใจได้อยู่ว่ามีความจำเป็นในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนทุกคน จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติไม่ได้"

ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์สุดท้ายของรอมฎอนสันติสุข อัญชนาคาดหวังให้สถานการณ์คงที่เช่นนี้ หรือหากมีเหตุเกิดขึ้นก็หวังว่าจะไม่ใช่จากการกระทำของคู่ขัดแย้งที่ตกลงกันบนโต๊ะเจรจา

ประชาชนต้องพูดได้อย่างปลอดภัย

"เรามอนิเตอร์เขาได้จริงหรือ แค่ประกาศ 2-3 วัน (ทหาร) ยังตรึงกำลัง ลาดตระเวนเต็มเลย สิ่งเหล่านี้เราได้รับข้อมูลมาจนถึงวันนี้" รุสลาน มูซอ บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานี สื่ออิสระในชายแดนใต้ที่ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี เล่าถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 27 เม.ย.

หลังข้อตกลงรอมฎอนสันติสุขถูกประกาศอย่างเป็นทางการ สำนักสื่อวาร์ตานี ประกาศผ่านเฟซบุ๊กอาสาเป็นสื่อกลางรับภาพ ข้อมูล และคลิปเหตุการณ์จากทั้งฝ่ายรัฐไทยและบีอาร์เอ็น และต่อมาวาร์ตานีก็ร่วมเป็นคณะทำงานของกลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง

นอกจากการรายงานความเคลื่อนไหวปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายแล้ว รุสลานบอกว่ากองบรรณาธิการยังได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่เคยล้มเหลวมาแล้วในอดีต และความไว้วางใจระหว่างสองฝ่าย

FACEBOOK/คณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3 กอ.รมน.

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/คณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3 กอ.รมน.

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายร่วมกันของคณะเจรจาสันติภาพ 2 ฝ่าย ในการเจรจาวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊กคณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3 หน่วยงานในสังกัด กอ.รมน.

เขากล่าวด้วยว่า อุปสรรคสำคัญของการติดตามเหตุในระหว่างรอมฎอนสันติสุข มาจากการประสานงานกับฝ่ายแนวร่วมบีอาร์เอ็นที่ค่อนข้างยาก ขณะที่ฝ่ายรัฐเองมักจะสรุปเหตุเร็วเกินไป อีกทั้งไม่มีคนกลางร่วมติดตามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์

"ตามหลักการพูดคุยสันติภาพ ต้องเป็นกลางมากกว่านี้ และเปิดการสอบสวนที่ชัดเจน แล้วให้เอ็นจีโอเข้าไปมอนิเตอร์ด้วย" บรรณาธิการบริหารสำนักสื่อวาร์ตานีกล่าว

รุสลานบอกด้วยว่า ในกระบวนการเจรจาสันติภาพ สิ่งสำคัญคือ การที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนในกระบวนการและสามารถส่งเสียงได้อย่างปลอดภัย แม้กระทั่งการพูดเรื่องเอกราช (Merdeka) โดยไม่ถูกคุกคาม เพราะที่ผ่านมาความไม่ปลอดภัยนี้ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่กล้าที่จะสื่อสาร

ระเบิดพูโลในช่วงรอมฎอนสันติสุข

รอมฎอนสันติสุขดำเนินมาเกือบเข้าสู่ช่วงท้ายที่เหลืออีกกว่า 10 วัน โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ ๆ ที่เกิดความสูญเสียจำนวนมาก ทำให้ ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ประเมินว่า ในภาพรวมข้อตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย น่าจะเป็นไปตามที่มีการตกลงบนโต๊ะเจรจา แต่ยังต้องติดตามในช่วง 10 กว่าวันที่เหลือ เพราะจากสถิติในอดีตชี้ว่าในช่วงท้ายของรอมฎอน การก่อเหตุหนาแน่นกว่าในช่วงอื่น

"หากจะมีปัญหาถึงขนาดว่าจะล้ม (การเจรจา) ไม่คุยกันต่อ น่าจะต้องมีสเกล (ระดับ) ความรุนแรงที่มากกว่านี้"

อย่างไรก็ตาม ดร.รุ่งรวี มองถึงเหตุลอบวางระเบิดใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่กลุ่มองค์การปลดปล่อยสหปาตานีหรือพูโล (PULO) กลุ่ม G5 ซึ่งเป็นกลุ่มรุ่นใหม่ของพูโล ออกมารับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ สะท้อนถึงประเด็นสำคัญของการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ว่า เปิดโอกาสให้กลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมบนโต๊ะเจรจาได้มากน้อยแค่ไหน

"เป็นปัญหาเรื่อง inclusivity (ความครอบคลุม) ของกลุ่มต่าง ๆ เขา (พูโล) เองก็คิดว่า เขาควรจะมีโอกาสได้เข้ามาร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อันนี้เป็นความขัดแย้งที่มีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่มีมาราปาตานีเป็นตัวแทนกลุ่มในขณะนั้น คือ มันมี tension (ความตึงเครียด) ระหว่างบีอาร์เอ็น กลับกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ในมาราปาตานีมานานแล้ว" ดร. รุ่งรวี กล่าวกับบีบีซีไทย

ในการเจรจาครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.- 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า บนโต๊ะเจรจาเกิดขึ้นระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขฯ ของรัฐบาลไทย กับแนวร่วมบีอาร์เอ็นเท่านั้น

ดร. รุ่งรวี กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่เปิดการเจรจาในปี 2556 หากดูความสัมพันธ์ระหว่างปาร์ตี้ A หรือฝ่ายรัฐบาลไทย กับ ปาร์ตี้ B หรือฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดง เห็นว่าการเจรจารอบนี้ เป็นการพูดคุยที่ค่อนข้างจะราบรื่นมากที่สุด หากเทียบกับการพูดคุยในรอบที่ผ่านมา

คณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3

ที่มาของภาพ, คณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3

คำบรรยายภาพ, อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะบีอาร์เอ็น (ซ้าย) จับมือกับ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ (ขวา) โดยมีตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย อยู่ตรงกลาง

"ครั้งนี้มันไม่ได้เป็นปัญหาระหว่างปาร์ตี้ A กับ B มากเท่าภายในฝ่าย B เอง เท่าที่เราเห็นในเดือนรอมฎอนครั้งนี้" ดร. รุ่งรวี กล่าว พร้อมบอกว่า การเจรจาสันติภาพยังรวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วยกลุ่มอื่น ๆ ด้วย บีอาร์เอ็นจะมีช่องทางอย่างไรในการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ

"บีอาร์เอ็นเองก็บอกเองว่า การพูดคุยมันไม่ใช่ระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย มันก็ต้องมีกลไกที่ให้ประชาชนเข้ามาออกเสียง เพราะว่าถ้าจะมีการคุยถึงรูปแบบการเมืองการปกครองในอนาคต ประชาชนก็ต้องมีช่องทางในการส่งเสียงมาด้วยเหมือนกัน"

ถอดความหมายสัญลักษณ์พูโล G5

ในเหตุลอบวางระเบิดใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีการทิ้งใบปลิวสัญลักษณ์รูปหัวเสือและอักษร G5 ซึ่งหมายถึงขบวนการพูโล พร้อมมีข้อความภาษามลายูว่า DAULAT TUAN KU ซึ่งหมายถึง ทรงพระเจริญ และ ASKAR DI-RAJA PATANI ที่หมายถึงเป็นทหารพระราชาปาตานีหรือกองทัพหลวงปาตานี

ดร. รุ่งรวี กล่าวว่า การทิ้งใบปลิวและแสดงสัญลักษณ์ก่อเหตุเช่นนี้ เป็นรูปแบบของขบวนการพูโล ที่ปรากฏในอดีตในช่วงปี 1970-1980 เชื่อว่า "ข้อความที่ปรากฏออกมาสื่อไปในเรื่องของการยอมรับหรือเชิดชูความเป็นระบอบกษัตริย์สุลต่านของปาตานีในอดีต" เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มขบวนการแยกดินแดนกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า BIPP กลุ่มนี้มีอุดมการณ์แนวคิดกษัตริย์นิยม ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูระบอบสุลต่านก่อนที่ปาตานีจะเข้ามาอยู่ใต้การปกครองของสยาม

"พูโลเอง ไม่ได้ถือธงเน้นเรื่องนี้มากนัก แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธระบบกษัตริย์ซะทีเดียว" ดร. รุ่งรวี กล่าว

bbc

รัฐบาลไทยพร้อมคุยกับพูโล

เหตุระเบิดที่สายบุรี ที่ขบวนการพูโลยอมรับเป็นผู้ก่อเหตุ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยคุยกับผู้เห็นต่างทุกกล่ม กลายเป็นประเด็นสำคัญต่อโต๊ะเจรจา

สำนักข่าวอิศราอ้างคำพูดของ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นโยบายพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ต่อยอดมาจากการเจรจาขณะที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะ โดยเน้นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการตามความสมัครใจกับทุกกลุ่ม ทุกสถานที่ และทุกเรื่อง

"มีคำถามว่าทีมพูโลพร้อมหรือสมัครใจจะมาคุยหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องใช้มาตรการควบคุมไม่ให้ก่อเหตุ ซึ่งก็เน้นไปแล้ว อำนาจรัฐต้องเข้มแข็ง เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บนความมีส่วนร่วมของทุกคนและสังคมยอมรับ"

ด้าน พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่พูโลไม่ยอมเข้าร่วมการพูดคุย แต่ในอนาคตคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย อาจพิจารณาคุยกับพูโลด้วย เพราะภาพรวมคณะพูดคุยฯ พร้อมคุยกับทุกกลุ่ม

ลำดับเหตุการณ์รอมฎอนสันติสุข 2565

  • 31 มี.ค. -1 เม.ย. คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย พบปะหารือแบบเต็มคณะครั้งที่ 4 กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย
  • 1 เม.ย. บีอาร์เอ็น เผยแพร่แถลงการณ์ผลการพบปะ 3 ประเด็น หนึ่งในนั้น คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะยุติปฏิบัติการทางการทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ระหว่างวันที่ 3 เม.ย.- 14 พ.ค. 2565
  • 2 เม.ย. พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ แถลงผลการพูดคุยมาจากสถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์ถึงข้อตกลง 3 ข้อ เช่น กัน โดยเนื้อหาประเด็น "รอมฎอนสันติภาพ" ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องร่วมกันใน "ความริเริ่มรอมฎอนเพื่อสันติสุข" ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอน

พล.อ. วัลลภ เน้นย้ำถึง "การลดการปฏิบัติการเชิงรุก" โดยหากมีเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้น สามารถอะลุ่มอล่วยกันไปได้ แต่หากเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงมีความสูญเสียมาก ๆ อาจต้องมาคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน

  • 3 เม.ย. สื่อรายงานว่าที่ด่านจุดตรวจปลักปลา อ.เมือง จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ ได้ปลดป้ายไวนิลที่มีรูปภาพพร้อมรายชื่อของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีหมายจับในคดีต่าง ๆ ออกจากบริเวณด่าน
  • 8 เม.ย. พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าได้รับการประสานจากกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งที่อยู่ในต่างประเทศ เเละในพื้นที่ มากกว่า 180 คน ทั้งการประสานโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ การประสานผ่านครอบครัว เเละผ่านศูนย์สานใจสู่สันติ เพื่อขอเข้ามาในพื้นที่ประกอบศาสนกิจ ในช่วงรอมฎอน โดยโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่าทางกองทัพภาคที่ 4 ได้อำนวยความสะดวก เเละรับรองความปลอดภัยให้ 100%
  • 15 เม.ย. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่บ้านละหาร ม. 8 ต.แป้น อ.สายบุรี จ. ปัตตานี ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย แล้วยังได้จุดระเบิดอีกหนึ่งลูกอีกครั้ง ทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย องค์การปลดปล่อยสหปาตานีหรือพูโล (PULO-MKP) ออกมารับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ เพื่อเรียกร้องให้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เจรจากับฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น
  • 16 เม.ย. กัสตูรี มะห์โกตา ผู้นำขบวนการพูโล ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ยืนยันถึงการไม่ร่วมเจรจาสันติภาพในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย Patani notes ระบุถึงการยืนยัของกัสตูรีว่า แม้ว่าต้องการให้กระบวนการเป็นการรวมเอาทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน แต่หากยังทำงานในกรอบนี้ พูโลจะไม่เข้าร่วมแม้อาจจะได้รับเชิญ
  • 27 เม.ย. กลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง เปิดเผยว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงและเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อบรรยากาศการสร้างรอมฎอนสันติที่บันทึกได้รวม 38 เหตุการณ์ ระหว่างวันที่ 3-22 เม.ย. แต่ไม่มีปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงจากทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายผู้เห็นต่าง