โควิด-19 : สธ. ชี้แจงกรณีอังกฤษสอบสวนไวรัสกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในไทย

Thai variant

ที่มาของภาพ, Reuters

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทย ชี้แจงกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษสืบสวนไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ ที่พบครั้งแรกในไทย โดยสธ.ระบุว่าพบการติดเชื้อในชายที่เดินทางจากอียิปต์และกักตัวในสถานกักกันของรัฐก่อนเดินทางกลับ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็น "สายพันธุ์ไทย"

จากกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (พีเอชอี) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ระบุว่าพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ตรวจเจอครั้งแรกในไทยจากผู้ที่เดินทางมาจากอียิปต์นั้น นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายในระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาวันที่ 28 พ.ค. ว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวถูกตรวจพบในประเทศไทยจริง เป็นชายชาวอียิปต์ อายุ 33 ปี เดินทางจากอียิปต์มาไทย ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการกักตัวและได้ตรวจหาโรคเมื่อวันที่ 26 ม.ค.

ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อถอดรหัสสายพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นทางไทยได้ให้รหัสสายพันธุ์ว่า B1.1.1 และถูกจัดชั้นให้เป็น B1.1.36 แต่ต่อมากลุ่มผู้จัดระบบสายพันธุ์ได้ปรับเป็น C3.6.36 และปรับอีกครั้งเป็น C36.3 ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติ

ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาจนหายดีจนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงได้เดินทางกลับประเทศอียิปต์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวย้ำว่า กรณีนี้เป็นการตรวจพบเชื้อในสถานกักกันของรัฐ ไม่ใช่การตรวจพบในชุมชนหรือในวงกว้าง

สายพันธุ์ไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัคซีนในอังกฤษรับมือได้

สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษแถลงเมื่อ 27 พ.ค. ว่า พบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ชนิดใหม่ที่พบครั้งแรกที่ประเทศไทยในอังกฤษ (England) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยตั้งชื่อให้ว่า VUI-21MAY-02 (C.36.3)

VUI เป็นตัวย่อของศัพท์ทางวิชาการว่า Variant Under Investigation หรือ สายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และพบในประชาชนในอังกฤษแล้ว 109 ราย

สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ บอกว่า สายพันธุ์ C.36.3 นี้ ถูกพบครั้งแรกในประเทศไทยในผู้เดินทางมาจากอียิปต์

"ในขณะนี้ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้ทำให้โรคนี้มีอาการรุนแรงขึ้น หรือ ทำให้วัคซีนที่ใช้การอยู่ลดประสิทธิภาพลง (เรา) กำลังทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อทำความเข้าใจกับสายพันธุ์นี้ให้ดียิ่งขึ้น"

วัคซีน 3 ชนิดที่ใช้อยู่ในสหราชอาณาจักร คือ อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษบอกว่าจะออกติดตามหาผู้ได้รับเชื้อคนอื่น ๆ และตรวจหาเชื้อเฉพาะกลุ่มเพื่อสกัดการระบาดของสายพันธุ์นี้

บีบีซี

ที่มาของภาพ, BBC

เหตุใดจึงไม่ควรเรียกว่า "สายพันธุ์ไทย"

นพ.ศุภกิจอธิบายถึงการเรียกชื่อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และชื่อรหัสสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งสายพันธุ์ C.36.3 ที่พีเอชอีระบุสถานที่ที่ตรวจพบว่าประเทศไทยและอียิปต์รวมอยู่ด้วยกัน (Thailand ex Egypt) ว่าเทียบเคียงได้กับ สายพันธุ์ P.1 ที่ปรากฏว่าตรวจพบผู้ป่วยในญี่ปุ่นและบราซิลก็ระบุสถานที่พบว่า Japan ex Brazil

"นี่หมายความว่า คนที่ตรวจเจอสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรกอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่เป็นคนไข้ที่มาจากบราซิล เขาก็ไม่เรียกสายพันธุ์ญี่ปุ่น ขณะที่ในไทย ตรวจเจอในสถานกักกันของรัฐ แต่ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากอียิปต์ พี่น้องสื่อมวลชนพิจารณากันว่า มันควรจะเรียกว่า สายพันธุ์ไทยหรือเปล่า" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวและว่าตามข้อเท็จจริงแล้วสายพันธุ์นี้ตรวจพบในหลายประเทศทั่วโลก

"มันคงไม่แฟร์ ที่ประเทศที่ตรวจพบ และไม่ได้ตรวจพบในชุมชน มีคนกล่าวว่าตรวจพบที่ไหนก็ตั้งชื่อที่นั่น อันนั้นถูกในกรณีที่ตรวจพบในชุมชนที่นั่น แต่นี่เป็นคนที่เดินทางมาอยู่ในสถานกักกันของรัฐและตรวจพบสายพันธุ์นี้ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบเคียงกรณีเดียวกัน ก็ควรจะเรียกสายพันธุ์อียิปต์ไหม ซึ่งเราก็ไม่ต้องการเรียกชื่อประเทศอะไรทั้งสิ้น" เขาอธิบาย

นพ. ศุภกิจ เสริมว่า รายงานของสำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ "ไม่ได้เขียนอะไรผิด เขาเขียนอย่างที่เคยเขียนมา เพียงแต่ว่าคนหยิบประเด็นนี้มาขยายผล ก็ต้องขอความกรุณาว่า ท่านจะทำอย่างนี้ไปด้วยวัตถุประสงค์อะไรผมไม่ทราบนะครับ แต่ว่ามันไม่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย"

"อังกฤษควรแจ้งมายังทางการไทย"

ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุมร่วมกับ สธ. ช่วงเช้า โดยยืนยันว่า ยังไม่พบเชื้อโควิค-19 กลายพันธุ์ในไทย ตามที่สื่อมวลชนอังกฤษรายงานข่าว จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพียงข้อสงสัยจากทางอังกฤษเท่านั้น และขั้นตอนจากนี้ ไปอังกฤษควรแจ้งมายังทางการไทย เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำไปเผยแพร่

นพ. อุดม ระบุอีกว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยในขณะนี้ ยังไม่เอื้อต่อการกลายพันธุ์ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อเพียง 60 คนต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่ปัจจัยที่เอื้อต่อการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 75 คนต่อประชากร 1 แสนคน และ เชื้อโควิดที่ระบาดในประเทศไทย นับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มากกว่าร้อยละ 95 เป็นเชื้อโควิดจากสายพันธุ์อังกฤษอีกด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ความเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุสั้น ๆ เพียงว่า เชื้อโควิด-19 สามารถมีได้ทุกสายพันธุ์ ดังนั้นขออย่าไปวิตตกกังวลให้มาก เพราะสามารถรักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่ก็ใช้ป้องกันได้ สิ่งสำคัญคือ การไปฉีดวัคซีน

Presentational grey line

คำอธิบายจากสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษเรื่องการเรียกชื่อสายพันธุ์

บีบีซีไทย สอบถามไปที่สายด่วนสื่อมวลชนของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษเรื่องการตั้งชื่อสายพันธุ์ ได้รับคำชี้แจงว่า พีเอชเอส เรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบด้วยคำว่า "ตรวจพบครั้งแรกใน..." เช่น "ตรวจพบครั้งแรกในอังกฤษ" "ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย" และ "ตรวจพบครั้งแรกในไทย" และเมื่อสื่อมวลชนนำไปรายงานข่าว ได้ใช้คำว่า "สายพันธุ์อังกฤษ" "สายพันธุ์อินเดีย" หรือ "สายพันธุ์ไทย" โดยไม่มีการทักท้วง

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทย ใช้คำว่า "สายพันธุ์ไทย" ในรายงานนี้หลังสื่ออังกฤษหลายแห่งใช้คำว่า "Thai variant" ในรายงานข่าวของพวกเขา

ในส่วนของไทยเอง ก็ใช้ชื่อประเทศเป็นชื่อสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ที่ระบาดในกัมพูชาถูกนำเข้ามาแพร่ในไทย

ศ.นพ.ยง ระบุว่า การระบาดของสายพันธุ์อังกฤษในกัมพูชา เริ่มตั้งแต่ 20 ก.พ. จนถึง 19 มี.ค. 64 มีผู้ป่วยกว่า 1,500 ราย สายพันธุ์ที่ตรวจพบ รายงานโดย องค์การอนามัยโลก เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากในกัมพูชา

"เมื่อเป็นเช่นนี้่ ต้นต่อของการระบาดในประเทศไทยครั้งนี้ ที่เกิดจากสายพันธุ์อังกฤษ ครั้งนี้ไม่น่าจะมาจากสถานกักกัน ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ... แรงงานต่างด้าว หรือคนไทยที่ข้ามไป ข้ามมา น่าจะเป็นต้นเหตุ ในการแพร่ระบาดครั้งนี้"

ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศิริราช โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กของเขาเมื่อ 28 พ.ค. ว่า

"หลายคนเดือดร้อนกับการใช้ชื่อสายพันธุ์ไทย ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่เรายังใช้ชื่อยึดโยงสถานที่ ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับสายพันธุ์อู่ฮั่น, อังกฤษ, บราซิล, แอฟริกาใต้ รู้สึกเฉย ๆ เพราะไม่ใช่ประเทศเรา พอเจอชื่อสายพันธุ์ไทยก็รู้สึกเดือดร้อน

ถ้าเราไม่ stigmatize กันด้วยชื่อ ก็ไม่มีประเด็นอะไรหรอก เอาใจเขามาใส่ใจเราครับ"

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน บัญชีเฟซบุ๊ก เรียกว่า "สายพันธุ์ใหม่ของไทย" เช่นกัน

"สายไทย ผ่านอียิปต์ เลื่อนฐานะเป็น สายน่าสนใจ varinat under interest ยังไม่ถึง เป็นสายที่กังวลวิตก variant of concern อย่าง สายอังกฤษ อินเดีย แอฟริกา จากข้อแถลงของPublic Health England ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลง ของไวรัสโควิด C.36.3 variant พบในประเทศไทยตั้งแต่แรกจากนักท่องเที่ยวชาวอียิปต์ และในประเทศอังกฤษเองพบว่า สายพันธุ์ใหม่ของไทยนี้ ตรวจพบใน 109 ราย ปะปนกับ สายอังกฤษ และอืนเดียที่เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เจอในไทย ส่งจากคุณหมอ โรม บัวทอง และถอดรหัสพันธุกรรมโดยคุณยุทธนา จ้อยจินดา สินินาถ เพชราช วีนัศรินทร์ อ่ำพุต"

Presentational grey line

รายงานสถานการณ์วันที่ 28 พ.ค.

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 3,759 ราย ทำให้ยอดการป่วยสะสมยังคงที่ 84 ของโลก ซึ่งค่อนข้างสูงขึ้น และมีข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

-พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3,759 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,447 ราย ภายในเรือนจำ 1,294 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 144,976 ราย เฉพาะการระบาดระลอก เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 116,113 ราย

-ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 46,150 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,226 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย

-จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (973 ราย) เพชรบุรี (658 ราย) สมุทรปราการ (221 ราย) นนทบุรี (102 ราย) และสมุทรสาคร (55 ราย)

-ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 34 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ (26 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในเรือนจำ 2 ราย) ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 954 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.66%

Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังได้สรุปสถิติการเสียชีวิตในการระบาดทั้ง 3 ระลอก ดังนี้

  • ระลอก ม.ค. 63 (ม.ค.-14 ธ.ค.) ผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิตสะสม 60 คน คิดเป็น 1.42.%
  • ระลอก ธ.ค. 63 (15 ธ.ค.63-31 มี.ค. 64) ผู้ป่วย 24,626 ราย เสียชีวิตสะสม 34 คน คิดเป็น 0.14%
  • ระลอกเม.ย. 64 (1 เม.ย. -28 พ.ค.) พบผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 67,228 ราย เสียชีวิตสะสม 826 คน คิดเป็น 1.23%

พญ.อภิสมัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในการระบาดระลอกนี้ผู้ติดเชื้อหลายรายมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่พบเชื้อถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 12 วัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยถึง 54 รายที่เสียชีวิตในวันที่พบเชื้อ

"หมายความว่าท่านเหล่านี้มาถึง รพ. ในขณะที่อาการรุนแรง โดยไม่ทราบว่าป่วยจากการติดเชื้อโควิด" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ตั้งข้อสังเกตว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิต 54 รายที่เสียชีวิตวันเดียวกับที่ตรวจพบเชื้อนั้น มีหลายคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงอาจสังเกตความเปลี่ยนแปลงของอาการได้ยาก จึงแนะนำให้ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เช่น ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง หรือหอบเหนื่อย

ทั้งนี้ ศบค. ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งที่รับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวให้ตรวจโควิดทุกรายแม้ว่าจะไม่มีประวัติสัมผัสผู้ใกล้ชิดหรือ ไปในพื้นที่เสี่ยง