วัฒน์ วรรลยางกูร : อาจารย์ชาวอังกฤษเขียนถึงมิตรภาพกับ "เพื่อนที่รักและนับถือ"

Rachel Harrison

ที่มาของภาพ, Rachel Harrison

คำบรรยายภาพ, ผู้เขียน และวัฒน์ วรรลยางกูร ในฝรั่งเศส
  • Author, ดร.เรเชล แฮร์ริสัน
  • Role, ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาไทยศึกษา SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน

เมื่อกลางปี 2532 ดิฉันดีใจมากที่ได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่ SOAS (วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา) มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งหมายความว่า ดิฉันต้องเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไปพร้อมกับการเป็นอาจารย์

ในปีถัดไปดิฉันจึงเริ่มทำงานวิจัยเก็บข้อมูลที่เมืองไทย โดยเลือกหัวข้อวรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อประชาชนตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา

สองคนแรกที่ดิฉันขอสัมภาษณ์คือ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี และภรรยา คุณวรรณา สวัสดิ์ศรี ผู้ใช้นามปากกาว่า "ศรีดาวเรือง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่คนไทยและคนต่างชาติที่สนใจวรรณกรรมไทย

ทั้งสองชวนดิฉันไปเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีด้วยกัน เพื่อไปเยี่ยมและสัมภาษณ์นักเขียนอีกคนหนึ่งที่ดิฉันอยากคุยด้วยคือ คุณวัฒน์ วรรลยางกูร

ตอนนั้นคุณวัฒน์ ตั้งบ้านอยู่ที่ ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค แต่งงานแล้วมีลูก 2 คน หลังจากออกจากป่าได้สัก 9 ปี ดิฉันตื่นเต้นมากที่ได้พบคุณวัฒน์ ผู้เขียนทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงปี 2516-2519 แล้วก็เป็นนักปฏิวัติไปด้วย ในตอนนั้นคุณวัฒน์เขียนเรื่องสั้น ตัวอย่างเช่น "งูกินนา" เรื่องยาว เช่น "ตำบลช่อมะกอก" แล้วก็ทำหนังสือพิมพ์ "อธิปัตย์" ไปพร้อมกัน

แต่พอถึงวันที่ 6 ตุลา 2519 คุณวัฒน์ก็ต้องหนีออกจากเมือง ไปเข้าป่าในภาคอีสานเช่นเดียวกับนักศึกษา นักกิจกรรมและผู้ประท้วงอีกหลายต่อหลายคนในรุ่นเดียวกัน สมัยที่คุณวัฒน์อยู่ในป่าก็ยังเขียนเรื่องสั้นต่อไปด้วย หนึ่งในเรื่องสั้นที่เขียนตอนนั้นคือ "ทะเลปลิง"

เมื่อเขาออกจากป่าแล้วกลับไปใช้ชีวิตในเมือง แนวทางความคิดในวรรณกรรมค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควร เห็นได้ชัดในเรื่องที่ดิฉันชอบอ่านมากที่สุดคือ "มนต์รักทรานซิสเตอร์" เป็นนวนิยายที่ทั้งตลกทั้งเศร้า เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมชีวิตของหนุ่มบ้านนอกคนหนึ่ง ชื่อ "ไอ้แผน" หล่อเหมือนขุนแผน แต่เป็นพระเอกปฏิลักษณ์ (antihero) ที่ชีวิตขาดการวางแผนอย่างเห็นได้ชัด

เป็นไปได้ไหมว่า ประสบการณ์ชีวิตการต่อสู้ของคุณวัฒน์ชวนให้เขาสร้างตัวละครอย่างไอ้แผน เพื่อสะท้อนความรู้สึกในใจของเขา หลังจากกลายเป็นนักต่อสู้ที่อกหักกับการปฏิวัติ

ในท้ายที่สุด "มนต์รักทรานซิสเตอร์" อาจเป็นหนึ่งในเรื่องยาวของคุณวัฒน์ ที่ดึงดูดความสนใจผู้อ่าน และได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยผู้กำกับชื่อดัง คือ คุณเป็นเอก รัตนเรือง ในปี 2543

Rachel Harrison

ที่มาของภาพ, Rachel Harrison

คำบรรยายภาพ, ผู้เขียนถ่ายรูปร่วมกับสุชาติ สวัสดิ์ศรีและครอบครัวที่ จ.กาญจนบุรี พ.ศ. 2533

ตั้งแต่ดิฉันได้พบคุณวัฒน์และครอบครัวที่เมืองกาญจน์อย่างที่เห็นในรูป จนถึงวันที่ดิฉันไปคุยกับคุณวัฒน์อีกครั้งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เพื่อขอลิขสิทธิ์แปล มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นภาษาอังกฤษในปี 2552 ดิฉันได้พบเขาอีกเพียงแค่ครั้งเดียว ตอนเขาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนาที่ชื่อ Save The Children ทางภาคเหนือ เวลาผ่านไปหลายปี จนกระทั่งดิฉันได้มีโอกาสเห็นหน้าคุณวัฒน์อีกทีเมื่อปี 2553 ตอนที่เขาไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อขอความยุติธรรมในการเลือกตั้ง

เมื่อกลับไปลอนดอนแล้ว ดิฉันได้เอารูปถ่ายของคุณวัฒน์และเพื่อนๆ ลองร้องเพลงประท้วงให้นักศึกษาฟัง เพื่อให้เข้าใจว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยในตอนนั้นเป็นอย่างไร โดยไม่รู้เลยว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา คุณวัฒน์เองก็อยู่เมืองไทยไม่ได้แล้วเพราะความขัดแย้งทางการเมือง และจำต้องลี้ภัยไปอยู่กัมพูชา จากนั้นก็ต้องไปอยู่ที่ลาวต่อ

นี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ต้องลี้ภัยของเขา และจบสิ้นลงในวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมานี้

คำบรรยายวิดีโอ, วัฒน์ วรรลยางกูร กับชีวิตในลาวและการขอลี้ภัยในฝรั่งเศส

ฉากและชีวิตของคุณวัฒน์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกเศร้าอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นคนที่ถูกสอนให้รักเมืองไทย ตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จนกระทั่งกลายเป็นนักวิชาการที่รักวัฒนธรรมไทย รักวรรณกรรมไทย แล้วก็รักผลงานของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นพิเศษ

ดิฉันขอไปพบคุณวัฒน์ที่ประเทศลาวในปี 2561 แล้วก็ตกใจที่ได้เห็นเขาอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ ในท้องนาไม่มีฝาผนัง แต่มีหนังสือให้อ่าน แล้วก็มีกระดาษให้เขียนหนังสือ นั่นเป็นภาพที่ดิฉันจะไม่มีวันลืม และได้ถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า "ทำไมนักเขียนเก่ง ๆ อย่างเขา ต้องไปอยู่ในสภาพแบบนั้น"

ราวกลางปี 2562 ดิฉันได้ข่าวว่า คุณวัฒน์ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว ดิฉันรีบเดินทางจากลอนดอนไปพบกับเขาอีกครั้ง

ดิฉันไม่รู้ว่า นั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้มีโอกาสพบหน้าพูดคุยกับคนที่กลายเป็นเพื่อนที่ดีของดิฉัน เราชนแก้ว ดื่มไวน์แดงด้วยกัน แล้วก็ฉลองว่า เขาปลอดภัยแล้ว และมีความสุข แต่หารู้ไม่ว่า ความทุกข์ยากในอดีตทำลายสุขภาพของเขาไปแล้วแค่ไหน จวบจนถึงวันที่เขาป่วยหนัก และจากโลกนี้ไป

ตอนนี้เราเหลือแต่ความทรงจำที่ดี ความคิดอันสวยงามลึกซึ้งที่เขามี และคำไพเราะแฝงความหมายที่เขาเขียน ดังตัวอย่างจากหนังสือ "ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" (2523)

เมื่อข้าตาย

เพื่อนข้ายังอยู่

ลูกข้ายังสู้

หลานข้ายังฝัน

ชีวิตต้องดีกว่า สังคมต้องก้าวหน้า

สันติภาพต้องมีมา เป็นจริง, เป็นจริง ใช่เพียงฝัน

สำหรับดิฉันเอง ดิฉันจะเก็บคำอวยพรวันเกิดที่คุณวัฒน์เขียนมาให้โดยเฉพาะ

"Hbd. Rachel

อายุมั่นขวัญยืนทุกคืนค่ำ

ช่วยเทิดธรรมนำไทยให้สุขศรี

จิตใจสากลนิยมอันเธอมี

เราขอสดุดีนะราเชล"

Wat Wanlayangkoon 3 / 6 / 2019 France

ลาก่อนเพื่อนที่รักและนับถือเป็นอย่างยิ่ง

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์