นักดับเพลิงหญิง ชีวิตที่มากกว่าการดับไฟ

นักดับเพลิงหญิง ชีวิตที่มากกว่าการดับไฟ

เรื่องและวิดีโอโดย วสวัตติ์ ลุขะรัง ผู้สื่อข่าววิดีโอ บีบีซีไทย

จากเด็กผู้หญิงห้าว ๆ ผู้มีความฝันอยากสวมชุดทหาร สู่การเป็นหนึ่งในนักดับเพลิงหญิงไม่กี่คนในกรุงเทพมหานคร ชีวิตของเธอมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือประชาชน

อาชีพพนักงานดับเพลิงเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายและดูจะไม่ง่ายเลย คุณต้องพร้อมที่จะเข้าไปลุยกับไฟเป็นกลุ่มแรก และยังต้องมีอีกหลายหน้าที่ในการป้องกันสาธารณภัยให้กับประชาชน

ทั้งหมดดูจะยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับ "ด๊ะ" ดาราณี เดวาหมัด พนักงานดับเพลิงหญิงแห่งสถานีหัวหมาก

เด็กผู้หญิงห้าว

"ตอนเด็กเป็นผู้หญิงห้าว ๆ อยากเป็นทหาร เพราะเราเห็นว่ามันเท่"ดาราณีเล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงความฝันในวัยเด็กของเธอ

ตอนเด็กเธอมีน้องชายทำให้ได้คลุกคลีกและเล่นอยู่แต่กับเด็กผู้ชาย ทำให้เธอมีนิสัยค่อนไปทางเด็กผู้ชายและไม่ค่อยกลัวอะไร

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เธอเริ่มจากการเป็นลูกจ้างที่สำนักงานเขตแห่งหนึ่ง และที่นี่เองที่ดารณีได้เห็นการทำงานและคลุกคลีอยู่กับพี่ ๆ พนักงานดับเพลิง พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากทำอาชีพนี้บ้าง "เพราะได้ช่วยเหลือประชาชนและเหมือนได้ผจญภัย"

หลังจากนั้นเธอจึงมุ่งมั่นฝึกฝนและสมัครสอบเข้าเป็นพนักงานดับเพลิง

เจ้าหน้าที่ดับเพลิง

ที่มาของภาพ, ดาราณี เดวาหมัด

ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ปัจจุบันดาราณี ในวัย 35 ปี มีตำแหน่งเป็นพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติงาน

สังกัดสถานีดับเพลิงและกู้ภัยประจำสถานีหัวหมาก เธอปฏิบัติหน้าที่นี้มาเกือบ 3 ปี แล้วและยอมรับว่า "อาชีพนี้ไม่ง่าย"

ดาราณีเล่าถึงตอนสอบคัดเลือกเป็นพนักงานดับเพลิงว่า เธอต้องผ่านการสอบมากมาย ทั้งการสอบภาค ก และ ภาค ข การทดสอบจิตวิทยา การสอบสัมภาษณ์ และที่หนักที่สุดคือการทดสอบร่างกาย

การทดสอบร่างกายมีทั้งหมด 6 ฐาน แบ่งเป็น วิ่ง 1,000 เมตร ภายใน 5 นาที ว่ายน้ำ 50 เมตร ภายใน 1.30 นาที ดันพื้น 20 ครั้ง ดึงข้อ 5 ครั้ง แบกตุ๊กตา 50 กิโลกรัม ปีนขึ้นลงบันไดสูง 2 เมตร ภายใน 40 วินาที และสุดท้ายการผลักบันไดดับเพลิง

ผู้สมัครสอบทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะต้องผ่านการทดสอบเกณฑ์นี้เหมือนกันหมด เธอบอกว่ารู้สึกท้อเพราะตัวเองไม่เคยทำอะไรแบบนี้

"มันท้อ เราไม่เคยทำ ดึงข้อเราก็ไม่เคยดึง ดันพื้นก็ไม่เคยทำ"

"ตอนนั้นน้ำหนักตัวเราแค่ 48 กิโลกรัม แต่เราต้องแบกน้ำหนักหุ่น 50 กิโลกรัม"

อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วเธอก็ผ่านมาได้ทั้งหมด เพราะได้น้องชายและรุ่นพี่ช่วยสอน

วันที่รู้ผลว่าสอบได้เธอกอดคอกันร้องไห้กับแม่ด้วยความดีใจ ในปีที่เธอสมัครสอบมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 300 กว่าคน โดยมีผู้หญิงสอบผ่านเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

"ดีใจที่สุดในชีวิตเลยที่สอบผ่าน มันก็ภูมิใจ เพราะมันเกณฑ์เดียวกับผู้ชาย"

ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 2563 พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 1,704 คน โดยมีพนักงานดับเพลิงที่เป็นผู้หญิงไม่ถึง 10 คน

พนักงานดับเพลิงหญิง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

สู่การเป็นนักดับเพลิง

ด่านการสอบเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความยากเท่านั้น หลังจากสอบผ่าน เธอยังต้องเข้ารับการฝึกเพื่อเป็นพนักงานดับเพลิงอีก 6 เดือน ก่อนที่จะได้มาปฏิบัติหน้าที่จริง

เดือนแรกเป็นการฝึกเพื่อปรับร่างกายและสภาพจิตใจที่ค่ายนเรศวร ซึ่งเป็นค่ายที่ใช้ฝึกกำลังพลหน่วยรบพิเศษ ส่วนอีก 5 เดือนเป็นการฝึกที่โรงเรียนดับเพลิงและกู้ภัยราชประชาที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

เธอบอกว่าหลังกลับจากฝึกที่ค่ายนเรศวรมาที่บ้าน พ่อแม่ถึงกับร้องไห้ เพราะสงสารที่เธอต้องฝึกหนัก

"คือทั้งดำ ทั้งผอม ไม่มีเค้าโครงตัวเราเลย กลับมาเสร็จพ่อแม่ก็ร้องไห้"

ดาราณีบอกว่าแม่อยากให้เธอเลิกเป็นพนักงานดับเพลิงหลังจากนั้นวัน แต่เธอยืนกรานว่านี่คืออาชีพในฝันของเธอ

สถานีดับเพลิง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ไม่ใช่แค่ดับเพลิง

หลังกลับจากการฝึก 6 เดือน ดาราณีได้กลับมาประจำที่สถานีดับเพลิงหัวหมาก ซึ่งมีกฎว่าพนักงานดับเพลิงใหม่จะต้องประจำการที่สถานีก่อน ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่

เธอยังจำความรู้สึกเมื่อต้องออกไประงับเหตุครั้งแรกได้ดี

"เจอเคสแรก ตื่นเต้น แต่งตัวไม่ค่อยทัน" เธอบอกพร้อมกับให้ข้อมูลว่า หลังได้รับแจ้งเหตุและต้องออกไปปฏิบัติงาน นักดับเพลิงจะต้องแต่งตัวให้เสร็จภายใน 1 นาที

เครื่องแต่งกายของนักดับเพลิงจะประกอบไปด้วยชุดป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment หรือ PPE) ซึ่งจะสั่งตัดให้พนักงานแต่ละคน เป็นชุดกันความร้อนหนา 3 ชั้น พร้อมด้วยหมวก ถุงมือ หน้ากาก ถังออกซิเจน ไฟฉายและวิทยุสื่อสาร

สิ่งที่เธอต้องทำเมื่อถึงที่เกิดเหตุมีทั้งถือหัวฉีดดับเพลิง บุกตะลุยเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อหาจุดต้นเพลิงซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดในการดับไฟ รวมถึงฉีดน้ำสกัดการลุกลามของไฟ

พนักงานดับเพลิง

ที่มาของภาพ, ดาราณี เดวาหมัด

ดาราณีเล่าถึงเหตุไฟไหม้ครั้งหนึ่งซึ่งเธอเข้าในอาคารขณะที่ยังไม่มีการตัดไฟ เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยอื่นมาถึงสถานที่เกิดเหตุ

"ตอนนั้นกระแสไฟยังไม่ได้ตัด เราก็เข้าไปมันก็ระเบิด ตู้ม ตู้ม ตู้ม...เราก็กลัว ใจเราก็เสีย" โชคดีทีเพื่อนร่วมทีมรีบประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เร่งตัดไฟได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทีมนักเพลิงปลอดภัย

นอกจากการเสี่ยงชีวิตในกองเพลิงแล้ว ปัจจุบันนักดับเพลิงยังมีอีกหลายหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัย อาทิ การจับงู จับตัวเงินตัวทอง จับตุ๊กแก หรือช่วยชีวิตสัตว์ที่มีประชาชนโทรเข้ามาแจ้ง

คนจับงู

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

เหนื่อยแต่สุขใจ

นักดับเพลิงเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยความเสียสละ เวลาเข้างานก็ยาวนานและไม่เหมือนเวลาออฟฟิศทั่วไป ดาราณีคำนวณดูแล้วพบว่าเธอทำงาน 300 ชั่วโมงใน 1 เดือน ขณะที่ลาหยุดได้ 10 วันต่อปี

การทำงานของแต่ละสถานีจะมีการแบ่งทีม ๆ ละ 8-9 คน เพื่อสลับกันเข้าเวร เวรเช้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 8.00-20.00 น. ขณะที่เวรกลางคืนปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 20.00-8.00 น. ของอีกวัน

นักดับเพลิงสาวยอมรับว่าเธอรู้สึกเหนื่อยบ้างเป็นบางครั้ง แต่มันก็เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่ได้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

"การเป็นนักดับเพลิงให้อะไรกับเรา หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง...มันคือความสุขของเราที่ได้ช่วยเหลือประชาชน ถึงเราจะเหนื่อย แต่มันคือความสุข"