รู้จักกลุ่ม ศปปส. ผู้เดินหน้าฟ้องคดีด้วย ม.112 แล้วกว่า 100 คดี

อานนท์และพวก

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อานนท์ พร้อมหน้าด้วยทีมงานแอดมินของ ศปปส. ที่ทำหน้าที่หาหลักฐานผู้โพสต์ละเมิด ม.112 ตามสื่อสังคมออนไลน์
  • Author, จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

“ฝ่ายเราบางคนก็หาว่าผมแรงเกินเวลาไปแจ้งความ ม.112 [แต่ผม] ไม่หยุด เด็ก คนแก่ หรือแม้แต่พระ ผมยังแจ้งความเลย มีฝ่ายเดียวกันบอกว่าพอแล้ว แต่ผมไม่หยุด” อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ผู้ปรากฏบนหน้าสื่ออีกครั้งจากเหตุเผชิญหน้ากับกลุ่มทะลุวังเมื่อวันที่ 10 ก.พ. กล่าวกับบีบีซีไทย

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศปปส. เดินหน้าแจ้งความด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปมากกว่า 100 คดี พวกเขาถือว่านี่คือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้การไล่ฟ้องเช่นนี้จะถูกอีกฝั่งมองว่าเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก

บีบีซีไทย พูดคุยกับอานนท์ อดีตการ์ด กปปส. ที่ผันตัวมาเป็นประธานกลุ่ม ศปปส. ผู้นี้ เกี่ยวกับบทบาทของ ศปปส. และจุดยืนเกี่ยวกับการพิทักษ์ปกป้องสถาบันของเขา

การเผชิญหน้ากับกลุ่มทะลุวัง กรณีขบวนเสด็จฯ

กลุ่มทะลุวัง นำโดย ตะวัน – น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้จัดกิจกรรมอ่านแถลงการณ์เพื่อยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพการตั้งคำถามของประชาชนต่อขบวนเสด็จฯ บริเวณลานน้ำพุของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทันได้เริ่มอ่านแถลงการณ์ เธอกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ก็ต้องเผชิญหน้ากับสมาชิกของกลุ่ม ศปปส. จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งทำร้ายร่างกายกันขึ้น ซึ่งอานนท์บอกว่า เขาไม่ได้ตั้งใจเข้าไปทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง โดยอ้างว่าต้องการเข้าไปห้ามชายคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม ศปปส. ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายสมาชิกกลุ่มทะลุวัง แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับบานปลายจนกลายเป็นการชกต่อยกัน

อานนท์บอกกับบีบีซีไทยว่า เหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้มีแค่กลุ่ม ศปปส. เท่านั้นที่ไปดักรอกลุ่มทะลุวังเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว แต่มีประชาชนคนอื่น ๆ ที่สั่งสมความไม่พอใจจากเหตุเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. 2567 ซึ่ง น.ส.ทานตะวัน และเพื่อน ปะทะคารมและบีบแตรใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปิดการจราจรบางส่วน เพื่อถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งอานนท์มองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็น “ความเหิมเกริม”

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในวันที่ 7 ก.พ. ทางกลุ่ม ศปปส. นำโดยนายอานนท์ได้เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา รัชดา ให้พิจารณาถอดถอนการประกันตัว น.ส.ทานตะวัน แต่ทางศาลยืนยันว่าให้รอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงประมาณ 15 วัน ทำให้กลุ่มของเขารู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกรณีเร่งด่วน ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. ทางกลุ่มจึงไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อติงการถวายความอารักขาขบวนเสด็จฯ ของตำรวจ

“การไปยื่นหนังสือของผมเนี่ย ก็เพื่อบอกตำรวจว่าให้ไปยื่นถอนการประกันตัว [ตะวัน] คุณทำยังไงก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก พอวันที่ 9 เราเห็นเฟซบุ๊กว่าเขาจะไปทำกิจกรรมที่ลานน้ำพุ [พารากอน] ถ้าเรามองออกไปข้างหลังก็คือวังสระปทุมใช่มั้ย ไปทำโพลตรงนั้นมันหมายความว่ายังไง เราก็เลยรวมตัวกันเพื่อที่จะไม่ให้เขาทำกิจกรรม แต่บังเอิญว่ามันเกิดการปะทะคารมกัน”

ก่อนหน้าที่ทางกลุ่มทะลุวังจะจัดกิจกรรมเมื่อวันเสาร์ที่ 10 ก.พ. พบข้อความข่มขู่ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งบนสื่อสังคมออนไลน์ แต่นายอานนท์ยืนยันว่าผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม ศปปส. และตนเองก็ไม่ใช่ “นายกสมาคมปกป้องสถาบัน” เพราะกลุ่มปกป้องสถาบันมีหลายกลุ่ม ส่วนตัวจึงทำได้เพียงกำชับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เท่านั้น และไม่ขอก้าวก่ายการแสดงออกของกลุ่มอื่น ๆ

อานนท์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อานนท์ กลิ่นแก้ว (คนใส่แว่นดำ) จากอดีตผู้ต้องขัง สู่การ์ด กปปส. และล่าสุดคือ ประธานกลุ่ม ศปปส.

จากอดีตผู้ต้องขัง สู่การ์ด กปปส.

ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ศปปส. วัย 54 ปีคนนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เขาเล่าย้อนชีวิตในวัยเด็กให้บีบีซีไทยฟังเกี่ยวกับความรักและความผูกพันที่เขาและครอบครัวมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

“บ้านผมที่นครฯ จะมีอุทกภัยทุกปี แล้วหมู่บ้านผมมันมีฝนตกและพายุลงมาใช่ไหม ที่นี้มันมีคนผู้ใหญ่รุ่นแม่ผมนี่แหละ โดนไม้ทับ ผมจำได้ว่าแม่ผมเล่าให้ฟังว่า ไม้ที่มันพังลงมา มันทับลงบนหัวคนแล้วอาการหนักมา การจราจรติดขัดหมด สุดท้ายแม่บอกว่าพระเจ้าแผ่นดิน... ที่บ้านผมเขาเรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินน่ะ พระเจ้าแผ่นดินให้เอาเฮลิคอปเตอร์มารับคน ๆ นี้”

อานนท์บอกว่าหมู่บ้านที่เขาอยู่ มีไฟฟ้าใช้ไม่ทั่วถึง และจำได้ว่าแต่ละหมู่บ้านมีโทรทัศน์เพียง 1-2 เครื่องเท่านั้น เป็นโทรทัศน์ขาวดำแบบชาร์จแบตเตอรี พอตกกลางคืนเขาจะได้รับชมข่าวในพระราชสำนักซึ่งเผยแพร่พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ จึงทำให้เขาซึมซับว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงงานช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง

เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อานนท์มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อเรียนต่อ แต่ด้วยความเกเรทำให้ชีวิตไม่เป็นไปตามแผน และสุดท้ายชีวิตของเขาต้องลงเอยที่เรือนจำหลายแห่งเพื่อชดใช้ความผิดเป็นเวลากว่า 6 ปี จากโทษจำคุกทั้งหมด 15 ปี อย่างไรก็ดี อานนท์ไม่ขอเปิดเผยถึงรายละเอียดคดีที่เคยเกิดขึ้น แต่เขาเปิดเผยเรื่องนี้กับบีบีซีไทยเป็นที่แรก

ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ นอกจากจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพต่าง ๆ แล้ว เขายังได้ศึกษาธรรมะ เรื่องการใช้ชีวิตกับสังคมภายนอก รวมถึงศาสตร์พระราชาด้วย

“จะมีโรงเรียนอยู่ข้างใน พอเรียนเสร็จแล้วก็สวดมนต์เข้านอน เคารพธงชาติ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ทำแบบนี้ทุกวัน ๆ มันก็ปลุกจิตสำนึกเรา แล้วพ้นโทษเพราะได้รับการพระราชทานอภัยโทษ เราก็ยิ่งปลาบปลื้ม รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ของพระมหากษัตริย์ ของพระเจ้าแผ่นดิน ผมตั้งใจว่า ถ้าผมพ้นโทษออกมา ผมจะเป็นคนดีของสังคม”

pdrc

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมของ กปปส. ช่วงปี 2556

ด้วยความสนใจในการเมืองเป็นทุนเดิม อานนท์ได้เข้าร่วมการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในขณะนั้น คือชนวนหนึ่งที่ช่วยจุดติดม็อบ กปปส. เพราะผู้ประท้วงมองว่าเป็นความพยายามฟอกขาวนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชายและอดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศอยู่ในขณะนั้น

จากผู้ชุมนุมที่ไปร่วมม็อบ กปปส. ทุกวัน อานนท์ได้กลายเป็นการ์ดคอยรักษาความปลอดภัยให้กับแกนนำ กปปส. ในเวลาต่อมา ด้วยบุคลิกน่าเกรงขาม พร้อมท้าชนทุกอย่างที่จะเข้ามาทำอันตรายหรือรบกวนขบวนผู้ประท้วง

ต่อต้านการแก้ไข ม.112 และไม่รับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ

การชุมนุมในช่วงปี 2563 ซึ่งนำโดยกลุ่มราษฎร มาพร้อมกับ 3 ข้อเสนอหลัก ๆ คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกฯ, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

อานนท์บอกกับบีบีซีไทยว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มราษฎรมาโดยตลอด เขารับไม่ได้กับข้อเสนอดังกล่าว จึงติดต่อไปยังอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. หลายคนว่า ควรออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่ไม่มีแกนนำคนใดตอบรับคำเชิญชวนของเขา ซึ่งอานนท์ยอมรับว่า “ผิดหวัง” กับท่าทีดังกล่าว แต่มาเข้าใจในภายหลังเมื่อตนเองต้องเผชิญกับคดีต่าง ๆ มากมาย หลังขึ้นเป็นแกนนำกลุ่ม ศปปส.

อานนท์เล่าต่อว่า เมื่อชวนอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. ไม่สำเร็จ เขาจึงชวนเพื่อน ๆ ที่เคยร่วมการชุมนุม กปปส. ในอดีต มาร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม ศปปส. ขึ้นมา โดยประธานกลุ่ม ศปปส. ระบุว่าพวกเขามีผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กมากกว่า 80,000 คน และอ้างว่าสามารถระดมสมาชิกจากทั่วประเทศได้ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพันคน หากมีกิจกรรมสำคัญ

เขายืนยันว่าสมาชิกของกลุ่มทุกคนมาด้วยใจ กิจกรรมทุกอย่างมาจากกำลังทรัพย์ของสมาชิก ศปปส. เอง และไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง “ไม่มีหรอกนายทุน เราอยากจะหานายทุนด้วยนะ ถ้าใครอยากเป็นนายทุนให้ เราก็ยินดีนะ” อานนท์ตอบพร้อมกับหัวเราะทิ้งท้าย

ศปปส

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในช่วงเริ่มแรก กิจกรรมของกลุ่ม ศปปส.เป็นไปในลักษณะตอบโต้ม็อบกลุ่มราษฎรในทำนอง “ถ้าเขาออกไปจัดกิจกรรม ไปตั้งเวที พวกเราก็ออกไปเลย ไปจัดของเรา บางทีก็มีปากเสียงกัน” โดยอานนท์มองว่าหากการชุมนุมของกลุ่มราษฎรแตะต้องเพียงการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขาชื่นชอบ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับเขา เพราะเข้าใจว่าเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งสามารถทำได้ แต่การชูข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น “ย่ำยีหัวใจ” ของพวกเขามากเกินไป

“พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนคนไทย ใครจะล่วงละเมิดมิได้ สมมติว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันฯ ก็ขอให้มันเป็นไปตามอายุขัย ไม่ใช่เพราะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้ามาทำลาย โดยที่พวกเราซึ่งรักสถาบันพระมหากษัตริย์จะยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้”

ต่อมา ทางกลุ่มราษฎรเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่มักเรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวถูกนำไปใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง และขอบเขตการใช้กฎหมายก็ถูกขยายออกไปมากกว่าที่ตัวกฎหมายระบุไว้ แต่ทางกลุ่ม ศปปส. ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้

“จุดยืนของกลุ่ม ศปปส. ยืนยันมาตลอดว่าไม่มีการแก้ไข ม.112 แล้วเราก็ต่อต้านพวกแก้ไข ม.112 ที่จริงพวกนี้ไม่ได้ต้องการแก้ไข ม.112 คือเขาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พอโดนคดีไปด้วย เรียกร้องไปด้วย ก็เริ่มมาเรียกร้องให้แก้ไข ม.112”

สำหรับอานนท์ เขามองว่าไม่มีความจำเป็นต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันประชาชนอยู่ร่วมกับสถาบันฯ อย่างมีความสุขอยู่แล้ว

“พระมหากษัตริย์ก็อยู่ส่วนพระองค์ เราเป็นชาวบ้านธรรมดา เราจะล่วงละเมิดพระองค์ทำไม มันก้าวก่ายเกินไปไหม?” แกนนำกลุ่ม ศปปส. ผู้นี้ระบุ

นอกจากนี้ การเสนอแก้ไข ม.112 โดยระบุว่าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องเอง ไม่ใช่ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้องร้องนั้น เป็นข้อเสนอที่ “พวกคุณกำลังดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน” โดยเขามองว่าหากจะแก้ไข ม.112 ควรแก้ไขขยายความคุ้มครองไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น และเพิ่มโทษจากเดิมที่จำคุก 3-15 ปี เป็น 5-20 ปี

อานนท์คนรักเจ้า

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อานนท์สนับสนุนให้แก้ไข ม.112 ด้วยการเพิ่มโทษและขยายขอบเขตความคุ้มครอง

เดินหน้าฟ้องนักกิจกรรมด้วย ม.112 กว่า 100 คดี

นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กลุ่ม ศปปส. คือผู้เดินหน้ากล่าวโทษฟ้องร้องนักกิจกรรมและประชาชนในข้อหาละเมิด ม.112 มากกว่า 100 คดี ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากอานนท์ โดยเขาบอกว่าชีวิตทุกวันนี้ ต้องเดินทางไปศาลไม่ต่างจากบ้านหลังที่สอง

“อย่าง สส. เนี่ย ทุกคนนะที่โดน ม.112 ก็คือเราเป็นโจทก์ บางคนเราก็เป็นพยานในคดี แม้กระทั่งพวกศาสดาของพวกสามกีบ ก็เรานี่แหละที่เป็นคนแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในชั้นศาล พวกศาสตราจารย์ต่าง ๆ นักวิชาการที่อยู่ตามมหาวิทยาลัยที่โดน ม.112 ก็เราเหมือนกัน”

“ฝ่ายเราบางคนก็หาว่าผมแรงเกินเวลาไปแจ้งความ ม.112 [แต่ผม]ไม่หยุด เด็ก คนแก่ หรือแม้แต่พระ ผมยังแจ้งความเลย มีฝ่ายเดียวกันบอกว่าพอแล้ว แต่ผมไม่หยุด ในเมื่อเราตั้งใจจะทำ วันนี้เราเป็นปลาทวนน้ำ แต่ปลาทวนน้ำคือปลาเป็น แสดงว่าผมยังมีชีวิตอยู่ ปลาตายคือปลาที่ไหลตามกระแสน้ำ”

ประธานกลุ่ม ศปปส. บอกว่า ในตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งใจใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือปกป้องสถาบันฯ แต่จากกรณีที่มีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วง 8 โมงเช้าของวันที่ 14 ต.ค. 2563 ได้ชูสามนิ้วและตะโกนโห่ร้องขณะที่มีขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านบริเวณทำเนียบฯ ในช่วงเย็น เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่ม ศปปส. เริ่มใช้ ม.112 กับนักกิจกรรมทางการเมือง

“เหตุการณ์วันนั้นวุ่นวายมาก สุดท้ายเราก็ไปแจ้งความ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแจ้งข้อหาอะไรได้ ก็ไปเล่ารายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟัง ให้ประเมินว่าสามารถแจ้งข้อหาอะไรได้บ้าง เหมือนกับว่าเค้าจะแจ้งว่ามันเกี่ยวกับมาตรา 112 เกี่ยวกับการประทุษร้ายราชินีนะ ต้องโทษมันสูงสุด พอหลังจากแจ้งความแล้ว เรากลับไปมองว่า เออ การที่เราไปจัดม็อบเผชิญหน้ากันเนี่ย มันสร้างความรุนแรงให้สังคม ซึ่งสังคมจะมองว่าเราก้าวร้าวรุนแรงกับคนที่มาเรียกร้องทางการเมืองใช่ไหม เราก็เลยหันกลับมาดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีแทน”

อานนท์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

อานนท์เปิดเผยว่าทางกลุ่มมีทีมงานหลังบ้านซึ่งเรียกว่าแอดมิน (admin) ประมาณ 10 คน คอยช่วยกันถอดเทปคำปราศรัย เพื่อถอดคำพูดแต่ละคำของผู้ปราศรัยในการชุมนุมกลุ่มราษฎร เพื่อนำไปแจ้งความว่าด้วย ม.112

“ส่วนหนึ่งที่เขาไปเรียกร้องทางการเมืองก็มีใช่ไหม แต่ในข้อเรียกร้องทางการเมืองของพวกเขาก็จะมีหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วย” อานนท์ กล่าว

เมื่อรวบรวมคำปราศรัย คลิปวิดีโอ ภาพนิ่งต่าง ๆ ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่อาจเข้าข่ายละเมิด ม.112 ได้แล้ว ทางกลุ่ม ศปปส. จะนำหลักฐานเหล่านี้ส่งให้กับตำรวจ ซึ่งทางตำรวจจะกลั่นกรองอีกทีว่าเข้าข่ายผิด ม.112 จริงหรือไม่ จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงทำสำนวนส่งให้อัยการ หากอัยการเห็นชอบให้ส่งฟ้องจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลต่อไป

ไม่ใช่แค่คำปราศรัยและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในที่ชุมนุมเท่านั้นที่ทางกลุ่ม ศปปส. นำไปแจ้งความกับตำรวจ แม้แต่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นหลักฐานขั้นต้นที่นำไปสู่การแจ้งความมาตรา 112 ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในความเห็นของประธานกลุ่ม ศปปส. ทีมงานแอดมินของ ศปปส. จึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากผู้พิทักษ์สถาบันฯ ในโลกออนไลน์

แต่หากผู้โพสต์เป็นเยาวชนหรือเด็ก อานนท์เลือกจะประสานงานผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่ที่เด็กเรียนอยู่ เพื่อติดต่อขอพูดคุยกับโรงเรียนและผู้ปกครอง โดยอานนท์ยืนยันว่าเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมอย่างไร ไม่ใช่การข่มขู่ และการพูดคุยกับเด็กทุกครั้งก็มีผู้ปกครองอยู่ด้วย ต่อมาเขาพบว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว จะหยุดโพสต์ข้อความในทำนองนั้นทันที ถึงแม้ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้ว “ในใจเด็กคิดอะไรอยู่ก็ตาม”

ในปี 2564 บรรณารักษ์ห้องสมุดแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี และผู้ป่วยจิตเวช วัย 34 ปีจาก จ.ลำพูน ต้องเดินทางไป อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาละเมิดมาตรา 112 โดยมีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ซึ่งอาศัยอยู่ใน จ.นราธิวาสเป็นผู้กล่าวหา อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เป็นสมาชิก ศปปส.

เมื่อบีบีไทยสอบถามอานนท์ว่า การฟ้องร้องมาตรา 112 ที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกลเพื่อไปรายงานตัวที่ศาลซึ่งอยู่ต่างจังหวัด จนทำให้เสียเวลาและเสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นนั้น ถือว่าเป็นการกลั่นแกล้งผู้ถูกฟ้องหรือไม่ นายอานนท์ไม่เห็นด้วยและอธิบายว่า “ไม่ได้ฟ้องแกล้ง ถ้าผมแกล้งนะ เราเป็นคนฟ้อง เราต้องไปขึ้นศาลทุกครั้ง ไม่ใช่เราไม่ต้องไป เพราะฉะนั้น เราอยู่กรุงเทพฯ เราก็ฟ้องที่กรุงเทพฯ คนที่อยู่พัทลุง เมื่อเขาไปเจอข้อมูลในคอมพิวเตอร์ซึ่งเข้าที่พัทลุง เขาก็ไปฟ้องที่พัทลุง อีกคนเขาอยู่สุไหง-โกลก เขาไปเปิดคลิปปราศรัยฟังที่นั่น เขาก็ฟ้องที่นั่น ถ้าเขาอยู่กรุงเทพฯ แล้วนั่งเครื่องไปฟ้องที่พัทลุง นครศรีธรรมราช เชียงราย ผมถามว่าใครอยากจะทำ ไปฟ้องเนี่ย ไม่ได้ตังค์นะ เสียเวลาด้วย เค้าก็ต้องจ่ายตังค์กันเอง เพราะฉะนั้น เจอที่ไหนก็ฟ้องที่นั่น”

อานนท์และพวก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, อานนท์และสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แสดงความดีใจหลังได้ฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567

“เราทำถูกแล้ว”

อานนท์บอกว่าพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวอยู่เสมอนับตั้งแต่กลุ่มเคลื่อนไหวมา เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่จะให้ความร่วมมือ หลายครั้งพวกเขาถูกเพิกเฉยเมื่อพยายามไปยื่นหนังสือตามสถานที่ราชการต่าง ๆ แต่ทุกครั้งที่รู้สึกเช่นนั้น เขากับพวกพ้องก็จะปลอบใจกันว่า “พวกเขายังพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยที่เขารักได้เลย ประชาธิปไตยจอมปลอมอันนั้นน่ะ ทำไมพวกเราที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จะเสียสละเพื่อในหลวงไม่ได้”

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เขารู้สึกท้อถอยทางจิตใจมากขึ้น เมื่อพรรคก้าวไกลซึ่งเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 ชนะการเลือกตั้ง สวนทางกับความพยายามของพวกเขาที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้ไข ม.112 และเมื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รอดจากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี เขาก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าพิธาและพรรคก้าวไกลอาจจะรอดจากคดีล้มล้างการปกครองซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินห่างกันเพียงหนึ่งสัปดาห์

อย่างไรก็ดี วันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่นำเสนอการแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายหาเสียงของพรรค

อานนท์ที่เดินทางไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเองในวันนั้น บอกว่าเขารู้สึกถึง “พลังบวกของชีวิตที่เติมเข้ามาเรื่อย ๆ” ระหว่างฟังคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่า “เราทำถูกแล้ว”

“ผู้สื่อข่าวเขาก็บอกนะ ทำไมผมดีใจแต่หน้าตาผมไม่ดีใจเลย คือเราดีใจมาก แต่จะให้เรากระโดดโลดเต้นก็ทำไม่ได้ไง จะให้เราไปกรี๊ดๆ มันก็ไม่ได้ แต่ในใจเรากรี๊ด บางคนกอดกัน แบบร้องไห้ใช่ไหม ด้วยความน้อยใจ คิดว่าเราจะผิดหวังอีกแล้ว แต่วันนั้นมันพลิกว่าเราไม่ผิดหวัง”

อานนท์ยืนยันว่าต่อจากนี้เขาจะเดินหน้าใช้ ม.112 กับผู้ที่อาจกระทำการเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไป รวมถึงต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะครอบคลุมผู้มีความผิด ม.112 ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยเขาบอกว่า “ผมเดินเรื่องแจ้งความมา 3 ปี [ถ้าไม่ต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม] ผมก็สูญเปล่าสิ” พร้อมกับเห็นว่าผู้กระทำผิดสมควรต้องเข้าสู่กระบวนการรับผิดตามกฎหมาย มากกว่าแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พ้นโทษจากความผิด