ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 12 ก.ค. นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน

คนเข้าคิวตรวจโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนจำนวนมากต่อแถวรอเข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ที่ ตลาดมหานาค เขตดุสิตเมื่อวันที่ 9 ก.ค. โดยประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางมารอคิวตั้งแต่ช่วงค่ำของคืนวันที่ 8 ก.ค. เนื่องจากหน่วยบริการจุดนี้สามารถให้บริการตรวจประชาชนได้จำนวน 500

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด และยกระดับมาตรการควบคุมโรครวม 10 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 2 เดือนไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการแก้สถานการณ์โควิด-19

ในการประชุมวันนี้ ศบค. ได้พิจารณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการะบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา โดยล่าสุดวันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ขยับเข้าใกล้หลักหมื่น คือ 9,276 ราย ทำลายสถิติต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 72 ราย ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นอันดับที่ 62 ของโลก

มาตรการที่ ศบค. อนุมัติในวันนี้ครอบคลุมตั้งแต่การจำกัดการเดินทาง การออกนอกเคหสถาน กำหนดเวลาการเปิด-ปิดร้านค้าและเวลาให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ การทำงานที่บ้าน การปิดสถานที่ ซึ่ง พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ไม่ได้บอกว่ามีระยะเวลาบังคับใช้นานแค่ไหน แต่ระบุว่ารายละเอียดทั้งหมดจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วที่สุด

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. อธิบายว่าการยกระดับมาตรการควบคุมโรคในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1) จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุดหรือ "ล็อกดาวน์" 2) กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว และ 3) เร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาลและการเยียวยา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ,

ไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เพื่อเป็นก้าวแรกของการเปิดประเทศภายใน 120 วันหรือราวเดือน ต.ค. นี้ นายกฯ ก็จำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่และขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 2 เดือน

มาตรการที่อนุมัติวันนี้จะบังคับใช้ในพื้นทีกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้รวม 10 จังหวัดที่ถูกจัดเป็น "พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด" ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

สำหรับมาตรการที่บังคับใช้ในแต่ละพื้นที่มีดังนี้

มาตรการ 1: จำกัดการเคลื่อนย้ายและดำเนินกิจกรรมของบุคคล

มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)

  • ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการ 21.00-03.00 น.
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินอาหารหรือดื่มสุราในร้าน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ปิดสถานที่เสี่ยงติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
  • สวนสาธารณะเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ทั้งรัฐและเอกชนทำงานที่บ้านมากที่สุด
  • ห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไปหากการรวมกลุ่มนั้นไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบอาชีพ กิจกรรมศาสนาหรือประเพณี

มาตรการ 2: ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น

มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส)

  • ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00 น. - 04.00 น. ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น เจ็บป่วย การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภค
  • ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ให้มีผลตั้งแต่ 10 ก.ค.
  • สถานศึกษาให้จัดการเรียนออนไลน์เท่านั้น

มาตรการ 3: ด้านการแพทย์

มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)

  • เร่งรัดการให้บริการตรวจหาเชื้อ ด้วยการเพิ่มจุดตรวจ เพื่อแยกคนป่วยออกจากชุมชน
  • สธ. ปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยจะเร่งฉีดผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายใน 2 สัปดาห์
  • จัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ ทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซนเนก้าให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ชาวต่างชาติที่อายุเกิน 60 ปีและมีโรคประจำตัว และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
  • ให้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เป็น booster dose ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด
  • เพิ่มขีดความสามารถการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยการจัดตั้ง รพ.สนาม ไอซียูสนาม การแยกกักในชุมชน (community isolation) และการแยกกักที่บ้าน (home isolation) รวมถึงการให้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงที่อยู่ระหว่างแยกกัก

เคอร์ฟิวคืนแรกที่แม่สอด

บรรยากาศใน อ. แม่สอด จ. ตาก เมื่อ คืนวันที่ 8 ก.ค. เป็นไปอย่างเงียบเหงา บรรดาร้านค้าต่างปิดก่อนกำหนด หลัง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ออกคำสั่งที่ 2267 / 2564 เรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) จังหวัดตาก เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด ห้ามแรงงานต่างด้าวออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น. - 04.00 น. , ห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายหรือห้ามเคลื่อนย้ายข้ามตำบล, ขอความร่วมมือประชาชนคนไทย งดหรือชะลอการเดินทาง 23.00 - 04.00 น.,

ข้อห้ามอื่น ๆ เช่น ห้ามจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง ตามประเพณีนิยม ยกเว้น งานบวชให้จัดได้เฉพาะพิธีสงฆ์ภายในพระอุโบสถ และงานศพ ทั้งนี้ ต้องไม่ให้มีผู้ร่วมงานมากกว่า 50 คน , ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการ และบริโภคในร้านได้ ไม่เกินเวลา 20.00 น. หลังจากนั้น ให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น และห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

ตลาดแม่สอด

ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer

นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด พร้อมด้วย นายสัญญา เพชรเศษ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นำสมาชิกอาสาสมัคร ร่วมกับ ตำรวจ สภ.แม่สอด และเทศบาลนครแม่สอดออกตรวจตามคำสั่งจังหวัดตากที่ประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่บริเวณตลาดสด และสถานประกอบการต่างๆ ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สถานการณ์การระบาดของโควิด จังหวัดตาก แจ้งเมื่อว 8 ก.ค. พบผู้ป่วยใหม่ 48 ราย สะสมระลอกใหม่ ( 1 เม.ย.64-8ก.ค.64) จำนวน 1,614 ราย อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 1,129 ราย รักษาหาย จำนวน 429 ราย สำหรับพื้นที่การระบาดสูงสุดคือ ที่ อ.แม่สอด ผู้ป่วยสะสม จำนวน 1,217 ราย อันดับ 2 อ.วังเจ้า 223 ราย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ. ตาก กล่าวว่า ทางจังหวัดระดมการสร้างโรงพยาบาลสนามไปแล้ว 8 แห่ง มีผู้ป่วย 900 คน ผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลัก 3 แห่ง จำนวน 260 คน นอกจากนี้ยังรีบดำเนินการโรงพยาบาลสนามอีก 3 แห่ง ตามสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาใน อ.แม่สอด และ อ.เมืองตาก รวมทั้งสนามกีฬา 5 อำเภอชายแดนตาก ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด

แม่สอด

ที่มาของภาพ, BBC Thai stringer