รัสเซีย ยูเครน : 1 เดือนของสงครามส่งผลกระทบปากท้อง-เศรษฐกิจไทยอย่างไร

food processing factory

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สงครามในยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นจากการบุกโจมตีโดยรัสเซียส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของโลก ซึ่งรวมถึงห่วงโซ่การผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกมีต่อรัสเซีย กลายเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากที่ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 มายาวนานกว่าสองปี

ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งวิเคราะห์ว่าวิกฤตด้านพลังงานอันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะกลายเป็นแรงกดดันและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

สำนักวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากเดิม 3.7% ลงมาเป็น 2.8% ขณะที่งานวิจัยของ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจชะลอตัวแรง ชัดเจนขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น 4% ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง

นั่นเป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปก็ต้องเผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน บีบีซีไทยรวบรวม 5 เรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ส่งผลอย่างไรต่อเงินในกระเป๋าและปากท้องของคนไทย ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และหากว่าสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก คนไทยต้องเตรียมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงอะไรบ้าง

1. อาหาร ปลากระป๋อง เครื่องปรุง จ่อปรับราคาขึ้น

ณ ขณะนี้ แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผันผวน และสงครามได้ก่อให้เกิดผลกระทบในทางอ้อม แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาสินค้าหลายรายการ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย เป็นต้น

supermarket in bangkok

ที่มาของภาพ, Getty Images

ทว่า ผู้ประกอบการผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ที่ยังไม่เห็นการขยับของราคาอย่างมีนัยสำคัญก็เพราะยังมีวัสดุที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำรองไว้ส่วนหนึ่ง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกก็อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากราคาแผ่นเหล็กทำกระป๋อง ที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี

นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป บอกกับบีบีซีไทยว่า ต้องการเห็นสันติภาพโดยเร็ว เพราะหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ ในช่วงกลางไตรมาสที่สองจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้กระป๋อง ทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง อาหารพร้อมรับประทานและเครื่องปรุงรส ในเวลาเดียวกันต้นทุนการทำการเกษตรและการประมงกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าขนส่ง ค่าปุ๋ย หรืออาหารสัตว์ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะทำให้สินค้าข้างต้นปรับราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งประชาชนจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด

"อย่างปลากระป๋อง ปัจจุบันถือเป็นสินค้าโปรตีนที่ราคาย่อมเยาสำหรับประชาชน และที่สำคัญยังส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar and Vietnam) และยังเป็นที่ต้องการ หากว่าต้องปรับราคาขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว ผู้บริโภคคงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีก เพราะถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น" นายธรรศกล่าว

คำบรรยายวิดีโอ, การคว่ำบาตรคืออะไร ?

แม้ว่าผู้ผลิตปลายทางจะยังคงควบคุมต้นทุนได้ แต่สำหรับผู้ผลิตอาหารสัตว์กลับพบว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้พุ่งสูงขึ้นแล้ว และยังมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปจากการชะลอส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศคู่สงคราม

ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระบุว่าการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ในไทยต้องปิดลง เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกัน 29% ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นจาก 8.91 บาทต่อกิโลกรัมในปีที่ผ่านมา เป็น 12.75 บาทต่อกิโลกรัมแล้วในขณะนี้ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลต่อการผลิตปศุสัตว์ และจะทำให้ราคาเนื้อสัตว์เพิ่งสูงขึ้นตามมาด้วย

2. ราคาก๊าซ-ไฟฟ้าจ่อแพงขึ้นอีก

ต้นทุนการขนส่ง ซึ่งผันแปรตามราคาเชื้อเพลิง เช่น ค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้ม เป็นหนึ่งในเหตุผลผลักที่ทำให้ราคาอาหาร สินค้า และวัสดุ ล้วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีก 15 บาท สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม จาก 318 บาท เป็น 333 บาท โดยให้เหตุผลว่าได้มีการตรึงราคามาแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2563 ระหว่างที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยราคาก๊าซแอลพีจีขณะนั้น ในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ที่ 968 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุน

มิเตอร์ไฟฟ้า

ที่มาของภาพ, Watchiranon Thongtep/BBC Thai

ขณะที่ค่าไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงานมีแผนจะปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ "ค่าเอฟที" เพิ่มขึ้นเพื่อให้สะท้อนตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีกำหนดจะปรับขึ้น 16 สตางค์ต่อหน่วย ในงวดเดือน พ.ค. นี้

ทว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อก๊าซหุงต้มและช่วยเรื่องค่าไฟฟ้ารวมอยู่ด้วย

1px transparent line

10 มาตรการเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

1. เพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน จากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน

2. ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน

4. ตรึงราคาขายก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

5. ขายก๊าซราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน

6. ลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. จากนั้นรัฐจะช่วยอุดหนุน 50% ของราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

8. ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป

9. ลดอัตราการจ่ายเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตาม ม. 33 จาก 5% เหลือ 1%

10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน ม. 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตน ม. 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

1px transparent line

อย่างไรก็ตาม น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีแบบรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรได้ถึงเดือน พ.ค. ตามที่เคยให้สัญญาไว้ และจะสิ้นสุดการตรึงราคาสิ้นเดือน เม.ย.นี้ รวมถึงจะทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้มตามมา จึงออกมาตรการช่วยเหลือแบบกระปริบกระปรอยเพื่อแก้ขัด

3. ค่าก่อสร้างบ้านแพงขึ้นอีก 5-8%

หนึ่งในข่าวร้ายท่ามกลางวิกฤตยูเครนสำหรับผู้ที่วางแผนจะปลูกบ้านใหม่คือ ค่าก่อสร้างบ้านกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกจากค่าขนส่งที่ถีบตัวสูงขึ้นทำให้วัสดุในการก่อสร้างก็ต้องขยับราคาขึ้นตาม ในขณะที่เหล็กเส้นรูปพรรณที่นำมาใช้ขึ้นโครงสร้างบ้านที่นำเข้าจากทั้งยูเครนและรัสเซียก็ขาดแคลนทำให้ราคาปรับสูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าจะสัดส่วนการนำเข้าเหล็กรูปพรรณจากทั้งสองประเทศไม่มากนักคิดเป็นราว 2% ของมูลค่าการนำเข้าก็ตาม

ข้อมูลของสมาคมฯ ชี้ว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท หนึ่งในสี่หรือราว 2 แสนล้านบาทเป็นตลาดบ้านสร้างเอง

ที่มาของภาพ, สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

คำบรรยายภาพ, ข้อมูลของสมาคมฯ ชี้ว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท หนึ่งในสี่หรือราว 2 แสนล้านบาทเป็นตลาดบ้านสร้างเอง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านบอกกับบีบีซีไทยว่า ที่จริงแล้วราคาวัสดุมีการปรับขึ้นมาแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปี 2564 และการผ่อนคลายมาตตรการล็อกดาวน์เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2565 ถือเป็นสัญญาณดี แต่วิกฤตสงครามยูเครน ส่งผลต่อราคาน้ำมันซึ่งเป็น ต้นทุนหลักในการขนส่งวัตถุดิบ

"ผลที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาต่อต้นทุนการก่อสร้างบ้าน คาดว่าจะทำให้ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปผู้ประกอบการสร้างบ้านคงต้องปรับค่าสร้างบ้านขึ้นราว 5-8% หรืออธิบายง่าย ๆ คือ หากราคาบ้านราคา 1 ล้านบาท ลูกค้าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกราว 80,000 บาทต่อหลัง" นายวรวุฒิอธิบาย

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต้องการสร้างบ้านใหม่ราคาราว 3-5 ล้านบาทมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงที่ต้องการสร้างบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป อาจจะไม่ได้มีผลมากนัก

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

ที่มาของภาพ, สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน

คำบรรยายภาพ, "คาดว่าจะทำให้ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปผู้ประกอบการสร้างบ้านคงต้องปรับค่าสร้างบ้านขึ้นราว 5-8% หรืออธิบายง่าย ๆ คือ หากราคาบ้านราคา 1 ล้านบาท ลูกค้าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกราว 80,000 บาทต่อหลัง" นายวรวุฒิอธิบาย

ข้อมูลของสมาคมฯ ชี้ว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท หนึ่งในสี่หรือราว 2 แสนล้านบาทเป็นตลาดบ้านสร้างเอง ซึ่งส่วนใหญ่กระจายตัวในต่างจังหวัดด้วยมูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายวรวุฒิประเมินว่า หากสงครามยืดเยื้อออกไปอาจทำให้ประชาชะลอการตัดสินใจในการสร้างบ้าน และจะส่งผลต่อธุรกิจรับสร้างบ้านที่อาจต้องหดตัวลง สวนทางกับต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในแทบทุกด้าน

4. ปุ๋ยเคมีต้นทุนพุ่ง 36-49% จากปี 2564

รัสเซียและยูเครนถือว่าแหล่งผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยแต่ละปีนำเข้าราว 5 ล้านตัน จากตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย และ แคนาดา เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามระหว่างสองชาติผู้ผลิตปุ๋ยเคมีดังกล่าว ผนวกกับผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีต้องขยับขึ้นตามราว 36-49% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 2563

farmers

ที่มาของภาพ, Getty Images

นี่จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีในไทยให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลนปุ๋ยเคมี ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มผู้จัดจำหน่าย รวมถึงเกษตรกรผู้จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในการเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ส่วนผลการหารือระหว่างผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีกับกรมการค้าภายในเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา คือ กรมการค้าภายในจะพิจารณาปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีเป็นราย ๆ ไป เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน

5. ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ปัญหาทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่หลัก ๆ อย่าง พัทยา และภูเก็ตที่เปิดรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาช้ากว่าที่ประเมินไว้

Russians tourists in Phuket

ที่มาของภาพ, Napasin Samkaewcham/BBC Thai

รายงานวิจัยของ KKP Research ชี้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบทางลบต่อภาคการท่องเที่ยวจากทั้งราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ต้นทุนในการเดินทางปรับตัวสูงขึ้น นักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ในช่วงนี้และเศรษฐกิจยุโรปที่อาจชะลอตัวลง

สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ปี 2564. ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมีสัดส่วน 7% ขณะที่ช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ที่  3% .  .

โดยหากนับเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซีย แม้ในช่วงก่อนโควิดจะมีสัดส่วนไม่มาก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป ทำให้ในช่วงปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางไปไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นป็นราว 7% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 427,869 คนในปี 2564 และในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวรัสเซียยังมีสัดส่วนสูงเกือบ 10% จึงมีโอกาสสูงที่การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้