ซิโนฟาร์ม : อย. อนุมัติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดการนำเข้าล็อตแรก 1 ล้านโดส

ซิโนฟาร์ม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ซ้าย) กับ รมว.สาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวหลัง อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นที่เรียบร้อย ในวันเดียวกันกับที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งโต๊ะแถลง "แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก ซิโนฟาร์ม" ซึ่งจะนำเข้ามาในไทย 1ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.

"ไม่ทราบว่าวันนี้ จะเป็นเหตุบังเอิญ หรือเป็นนิมิตหมายอันดี ทางเลขาธิการ อย. ได้ประชุม ก็ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์นิธิ (มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) ว่าซิโนฟาร์มได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว ซึ่งก็จะทำให้ภารกิจราชวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์อย่างแน่นอน" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างร่วมงานแถลงข่าววันนี้ (28 พ.ค.)

ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ที่ได้รับอนุมัติจาก อย. โดยมีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนและจะเป็นผู้นำเข้า และถือเป็นวัคซีนสัญชาติจีนยี่ห้อที่ 2 ที่จะนำมาฉีดให้คนไทย นอกเหนือจากวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่กระจายอยู่ในปัจจุบัน

นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. เล่าว่า "อนุมัติก่อนเที่ยงวันนี้ 3 นาที สด ๆ ร้อน ๆ เลย" พร้อมระบุสาเหตุที่ อย. พิจารณาได้เร็วว่าเป็นเพราะบริษัทผู้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน ส่งเอกสารให้ครบถ้วน และเป็นเอกสารชุดที่เสนอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองการขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และได้รับการอนุมัติแล้ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งใน อย. และภายนอก เห็นชอบให้วัคซีนซิโนฟาร์ม (แบบที่ผลิตที่กรุงปักกิ่ง) เป็นวัคซีนตัวที่ 5 สำหรับคนไทย

vaccine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, วัคซีนซิแวคที่นำมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้สำเร็จเป็นรายการที่ 5 เป็นแบบผลิตขึ้นโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง

เปิดเบื้องหลังดีลซิโนฟาร์ม

เบื้องหลังการนำเข้า "วัคซีนทางเลือก" ตัวแรกของไทย ได้รับการเฉลยโดย ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า ทางราชวิทยาลัยได้ติดต่อบริษัทซิโนฟาร์มเพื่อขอนำเข้าวัคซีน แต่มอบหมายให้บริษัทไบโอจีนีเทคช่วยดำเนินการยื่นเอกสารขออนุญาตจาก อย. เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และเคยเป็นผู้นำเข้าและเก็บรักษาวัคซีนอื่น ๆ ของซิโนฟาร์มมาแล้ว

รัฐบาลประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น "วาระแห่งชาติ" ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคน จากทั้งหมด 70 ล้านคน ได้รับวัคซีนภายในปีนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มี "วัคซีนหลัก" อยู่ 2 ยี่ห้อกระจายฉีดให้คนไทยคือ วัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) 6 ล้านโดส และจะมาเพิ่มอีก 3 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 117,000 โดส และนับจากเดือนหน้า วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) จะทยอยส่งมอบวัคซีนจนครบ 61 ล้านโดส

วัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังจะนำเข้ามา จึงถือเป็น "วัคซีนทางเลือก" ยี่ห้อแรกที่จะฉีดให้คนไทย

วัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

"เขาสัญญาว่าจะมาได้ 1 ล้านโดสในเดือน มิ.ย. แต่จะมาเมื่อไร กำลังดูระบบขนส่งอยู่ เพราะเพิ่งทราบว่าได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว" ศ.นพ. นิธิเปิดเผยผลการพูดคุยกับบริษัทซิโนฟาร์ม

ส่วนสาเหตุที่เลือกนำเข้าซิโนฟาร์ม ศ.นพ.นิธิตอบว่า "ง่าย ๆ เลย เลือกเพราะเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO และจะเกิดความง่ายและสะดวกที่ อย. จะพิจารณา"

แผนบริหารจัดการวัคซีนเบื้องต้น

อย่างไรก็ตามผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้ง ศ.นพ. นิธิ และ พล.อ.ต. นพ. สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัย ยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับแผนกระจายวัคซีนทางเลือกสัญชาติจีน ในระหว่างตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน

ราคาฉีดเข็มละเท่าไร

ตกลงกันอยู่ เพราะต้องการทราบปริมาณที่ชัดเจนก่อน แต่ราคาวัคซีนตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างกันมาก โดยรวมต้นทุนในการจัดซื้อ การขนส่ง และการจัดเก็บ แต่ในฐานะหน่วยในกำกับของรัฐ คงไม่ได้เอากำไรอะไร ส่วนใครจะไปคิดค่าฉีดกันเองเท่าไหร่ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ใครมีโอกาสได้รับวัคซีนนี้บ้าง

ถ้าเรารู้จำนวนแน่นอนว่าจะมาถึงเมื่อไรในเดือน มิ.ย. และต่อ ๆ ไป ถึงจะถามว่ามีกลุ่มไหนบ้างต้องการรับวัคซีนนี้ไปใช้ก่อน แต่เบื้องต้นมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง แสดงความจำนงมา แต่ต้องคุยรายละเอียดอีกครั้ง

โควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วัคซีนล้านโดสแรก จะฉีดที่ รพ.จุฬาภรณ์เท่านั้น หรือกระจายไปที่อื่นด้วย

ไม่ใช่ฉีดที่ รพ.จุฬากรณ์ ใครที่จะมาซื้อวัคซีนนี้ไปฉีดที่ไหนก็ได้ เพราะ รพ.จุฬาภรณ์มีศักยภาพในการฉีดราว 4,000-5,000 คนต่อวัน จึงไม่คิดว่า "จู่ ๆ จะมาจัดฉีดวัคซีนในสถานที่เดียวกัน ทั้งวัคซีนของรัฐ และวัคซีนทางเลือก เพราะจะทำให้สับสน"

สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนไว้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก่อนหน้านี้ราว 5-6 แสนคน ทาง รพ. ก็จะใช้วัคซีนที่รัฐจัดให้ฟรี ไม่ว่าจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค ไม่เกี่ยวกับซิโนฟาร์มที่กำลังจะนำเข้ามา

ใครคือผู้รับผิดชอบหากเกิดผลข้างเคียงขึ้นกับผู้รับวัคซีน

วัคซีนนี้ เราจะรวมค่าประกันอยู่ในค่าวัคซีนที่เราขายออกไปด้วย

หากต้องการวัคซีนซิโนฟาร์ม ต้องติดต่อที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เท่านั้นใช่หรือไม่

ใช่ ต้องติดต่อเราเท่านั้น ถ้าได้ยินข่าวใครแอบเอาไปขาย บอกด้วย แต่ย้ำว่า "เราไม่ได้หากำไรนะ ไม่หากำไรเด็ดขาด และเป็นหน่วยงานที่พระองค์ท่าน [สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี] ดูแลอยู่ ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ทำกี่ครั้ง ๆ ผมขาดทุนหมด อันนี้ก็ขาดทุน"

ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพิ่งแจ้งประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีนที่รัฐจัดหาว่ามีแต่วัคซีนซิโนแวคให้บริการเท่านั้น หากใครประสงค์จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถเลื่อนนัดไปก่อนได้

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพิ่งแจ้งประชาชนที่ลงทะเบียนขอรับวัคซีนที่รัฐจัดหาว่ามีแต่วัคซีนซิโนแวคให้บริการเท่านั้น หากใครประสงค์จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สามารถเลื่อนนัดไปก่อนได้

ยืนยันหรือไม่ว่าไม่รู้จักบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่เสนอและอ้างตัวว่าสามารถนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มได้ 20 ล้านโดส

ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น จากนั้น ศ.นพ. นิธิได้ยืนขึ้น พร้อมกล่าวว่า "ต้องยืนและยันว่าไม่เกี่ยว"

รู้จักซิโนฟาร์ม

เอกสารข่าวของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้บรรยายประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยอ้างอิงข้อมูลจาก เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 79%

ทว่า ศ.นพ. นิธิหลีกเลี่ยงการตีประสิทธิภาพเป็นตัวเลข โดยหลุดปากบอกว่า "ไร้สาระ" และย้ำว่า "วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพป้องกันการระบาดทั้งสิ้น อย่าไปฟังที่ใครพูด 72% 88% มันดีกว่ากัน... มันสามารถป้องกันการระบาดของเชื้อได้ จบแค่นั้น สั้น ๆ"

Sinopharm

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • มีชื่อทางการว่า "BBIBP-CorV" เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย คิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพแห่งปักกิ่ง
  • กลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนนี้คือผู้อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ โดยให้ฉีด 2 เข็ม ในเวลาห่างกัน 21-28 วัน
  • ผลข้างเคียงไม่ต่างจากวัคซีนยี่ห้ออื่น อาทิ ปวด บวม มีรอยแดงบริเวณที่ฉีด, อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว, คลื่นไส้, มีไข้ และอ่อนเพลีย
  • เป็น 1 ใน 6 วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน (เฉพาะแบบที่ผลิตที่ปักกิ่ง) โดยถือเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกที่ได้รับการรับรอง
  • เป็น 1 ใน 5 วัคซีนที่ อย. ไทยอนุมัติขึ้นทะเบียน นอกเหนือจากซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโมเดอร์นา
  • มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้า ซึ่งนอกจากซิโนฟาร์มแล้ว บริษัทนี้ยังยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโคแวกซินของบริษัท ภารัต ไบโอเทค สัญชาติอินเดีย ด้วย
  • ปัจจุบันมีอย่างน้อย 45 ประเทศฉีดวัคซีนนี้ให้ประชาชนของตนเอง รวมกว่า 65 ล้านโดส อาทิ จีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อียิปต์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, โมร็อกโก, ปากีสถาน และฮังการี ฯลฯ

บทบาทของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

การแสดงบทบาท "ผู้นำเข้า" วัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในครั้งนี้ ได้รับการชี้แจงจากเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าเป็นไปตาม "ภารกิจ" ซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 โดยสามารถออกประกาศ "เพื่อนำเข้าวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์" ได้ ทว่าจะใช้อำนาจในช่วงวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ศ.นพ. นิธิกล่าวว่า เมื่อวัคซีนที่ผลิตในไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ราชวิทยาลัยจะค่อย ๆ ลดปริมาณวัคซีนทางเลือกลง ซึ่งเขายอมรับว่า "ไม่ทราบ" ว่าคือเมื่อไร เพราะไม่รู้เรื่องการผลิตวัคซีนในประเทศนี้ แต่เวลาทำอะไรต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก

เขายังย้ำในบทบาทการเป็น "เครื่องมือสนับสนุน" รัฐบาล และ สธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ประสานงานกับ สธ. ด้วยดีมาโดยตลอด

"เป็นวัคซีนที่เราพิจารณาว่าจะไปช่วยประเทศตรงจุดไหน มีบางองค์กรที่ไม่สามารถหยุดการดำเนินงานได้ เราเลยต้องการไปอุดช่องว่างตรงนี้ เพราะ สธ. มีภาระหนักต้องฉีดให้ประชาชนที่เป็นปัจเจกอยู่แล้ว ไม่สามารถจัดให้จุดใดจุดหนึ่งครบ 100% เช่น โรงเรียนที่จะเปิดอยู่แล้ว เดี๋ยวเราจะไปแบ่งภายในว่าหน่วยไหน ลักษณะกิจการ/กิจกรรมใด เพราะเราจะช่วยเสริมให้ สธ." ศ.นพ. นิธิกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อ 26 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ในการดำเนินการต่าง ๆ จะเป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมี ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ และใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั้งหมด

ในระหว่างการแถลงข่าว นายอนุทินได้กล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ ที่พระองค์ท่านไม่เคยทรงทอดทิ้งพสกนิกร และทรงพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยสามารถมีความมั่นคงแข็งแกร่ง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขาไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในหลายโอกาส ทั้งยา เครื่องมือแพทย์ และพระราชทานพระดำรัสซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชน

ส่วนกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นตัวอย่างที่เปิดทางให้สถาบันอื่น ๆ เช่น รพ. ของสถาบันการศึกษาอื่นนำเข้าวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น ๆ ได้หรือไม่นั้น คำตอบจาก ศ.นพ. นิธิคือ ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเป็นเหมือนกันทั้งโลก เขาจะคุยกับหน่วยงานของรัฐหรือตัวแทนรัฐบาลเท่านั้น ราชวิทยาลัยฯ ไม่ใช่ รพ. เอกชน เราเป็นหน่วยงานของรัฐ มี พ.ร.บ. จัดตั้งชัดเจน ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนทางเลือก ถึงไปคุยกับซิโนฟาร์มได้

"ไม่ใช่รัฐบาลห้ามนะครับ นี่ผมตอบแทน รัฐบาลไม่ได้ห้าม พวกเอกชนไปไม่ได้ ท้าให้ไปเลย ผมทำมาหลายที่แล้ว ยากมาก เขาไม่คุยด้วย" ศ.นพ. นิธิกล่าว

สำหรับบทบาทของผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือกโดยทั่วไป มีดังนี้

  • องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้บริหารจัดการและประสานกับบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายวัคซีน และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย (Product Liability)
  • เอกชนที่ประสงค์นำเข้าวัคซีนทางเลือก ต้องแจ้งยอดที่ต้องการไปยังภาครัฐ และต้องชำระเงินจองวัคซีนทางเลือกล่วงหน้าให้แก่ อภ. เต็มจำนวนมูลค่าการสั่งซื้อ (100%)
  • ผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือกต้องจัดทำประกันสำหรับกรณีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้ประชาชน