ภาษีผ้าอนามัย : ผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุม แต่ผู้ใช้บางคนบอกว่า "แพง"

ผ้าอนามัย

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผ้าอนามัยราคาขายยกโหลที่โลตัส ภูเก็ต

เรื่องผู้หญิงว่าด้วยผ้าอนามัย กับการเข้าถึงในมิติด้านราคาและค่าใช้จ่ายที่ผู้หญิงต้องแบกรับ เริ่มถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในเมืองไทยในช่วงปีมานี้ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกยกเลิกภาษีผ้าอนามัย หรือแจกฟรีให้กับประชาชนกันแล้ว บีบีซีไทยชวนมาดูว่า ผ้าอนามัย ที่กำลังเกิดกรณีข่าวการเก็บภาษีนั้น มีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง และการเป็นสินค้าควบคุมของผ้าอนามัยจะช่วยผู้บริโภคในแง่ใด

"ผ้าอนามัย 1 ห่อ ประมาณ 40-60 บาท แบบสอดประมาณ 80 บาท ตอนกลางวันบางคนมามากต้องใช้แบบตอนกลางคืน (ซึ่งการมามากมาน้อยขึ้นอยู่กับบุคคล) แต่ผ้าอนามัยควรเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อสุขอนามัยที่ดี เฉลี่ยใช้วันละ 7 แผ่น เมนส์มาประมาณ 4-7 วันแล้วแต่คน เฉลี่ยแล้วเมนส์มา 1 ครั้งใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 กว่าแผ่น... ก็ประมาณ 400 บาทต่อเดือน"

ย่อหน้าข้างบน คือ ส่วนหนึ่งของคำอธิบายของการรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org ที่ชื่อว่า "อยากให้รัฐออกมาตรการควบคุมสินค้าประเภทผ้าอนามัย เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้" เพื่อร้องเรียนกับกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร

การรณรงค์นี้ มี จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เป็นผู้เริ่ม เธอออกมาเสนอว่า รัฐควรมีมาตรการราคาแนะนำแก่สินค้าอย่างผ้าอนามัย และใช้มาตรการทางภาษีเพื่อแทรกแซงให้ราคาถูกลง

"สินค้าควบคุม"

ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าที่ติดตามดูแล (Watch List - WL) จำนวน 205 รายการ ประจำเดือน ธ.ค. ซึ่งจะมีการติดตามภาวะราคาและสถานการณ์สินค้าและบริการ เป็นประจำทุกปักษ์ (15 วัน) รวมทั้งตรวจสอบและกำกับดูแลมิให้มีการฉวยโอกาส เอาเปรียบผู้บริโภค โดยกองตรวจสอบและปฏิบัติการของกรมการค้าภายใน

ผ้าอนามัย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ราคาขายปลีกที่ร้านสะดวกซื้อ
สินค้าควบคุม

ที่มาของภาพ, กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

รายการเหล่านี้อยู่ในประกาศฉบับล่าสุดของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ประกาศฉบับนี้บังคับใช้เป็นระยะเวลาหนึ่งปีจนกว่าจะมีประกาศใหม่

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบายให้บีบีซีไทยฟังว่า การที่จะดูว่าสินค้าตัวไหนเป็นสินค้าควบคุม กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นผู้พิจารณาติดตามราคาสินค้าว่า สินค้าอันไหนจำเป็นต่อค่าครองชีพ มีการเคลื่อนไหวของราคาหรือปริมาณที่ผิดปกติ

สำหรับผ้าอนามัย ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2551 และมีการทบทวนขยายมาจนถึงปัจจุบัน

นายประโยชน์ กล่าวว่า หากสินค้านั้นจะเปลี่ยนแปลงราคา ต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในแจ้งล่วงหน้า 15 วัน อย่างผ้าอนามัย หรือนมเป็นสินค้าควบคุม เพราะจำเป็นต่อการครองชีพ การขอเปลี่ยนแปลงราคาต้องขออนุญาต

ผ้าอนามัย

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ถ้าเขาขอขึ้นราคา ต้องแสดงต้นทุน ทางเราจะมีหน่วยงานวิเคราะห์ว่า ต้นทุนที่แจ้งเหมาะสมไหม เช่น ราคาน้ำมัน วัตถุดิบ ภาวะเศรษฐกิจ ครบทุกด้าน ถ้าไม่เห็นด้วยจะเชิญมาคุย เราก็มีสิทธิโต้แย้ง แต่ส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือดี" รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวกับบีบีซีไทย

" (ผ้าอนามัย) เท่าที่ดูเป็นไปตามสถานการณ์ ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวา เขาก็ไม่ขอขึ้นทุกปี"

ผ้าอนามัยในฐานะ "สวัสดิการที่รัฐต้องมอบให้ผู้ที่จำเป็น"

จิตติมา เจ้าของกระทู้ทาง change.org กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เวลาพูดว่าผ้าอนามัยแพงหรือไม่ อยู่ที่ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ บางคนจ่าย 300 บาทต่อการมีประจำเดือนหนึ่งครั้งอาจไม่แพง แต่สำหรับเด็กผู้หญิงในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กในชนบทอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"พูดในมิติของราคา แพงไม่แพง ต้องกลับไปดูผ้าอนามัยในฐานะอะไร หากรัฐเข้าใจเรื่องนี้ในฐานะการดูแลสุขภาวะอนามัยการเจริญพันธุ์ของประชาชน รัฐต้องมองว่าเป็นสวัสดิการที่ทำให้คนเข้าถึงได้"

ผ้าอนามัย

ที่มาของภาพ, Getty Images

นักกิจกรรมจากสมาคมเพศวิถี เปรียบเทียบเรื่องนี้กับ นโยบายสุขภาพและการป้องกันการคุมกำเนิด ที่ปัจจุบันบรรจุ ถุงยางอนามัย เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือในสิทธิบัตรทองด้วย ซึ่งผู้ใช้สิทธิสามารถขอตามสถานพยาบาลได้ฟรี

นอกจากนี้ จิตติมายังเสริมว่า ราคาผ้าอนามัยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งยังมาจากโจทย์ของตลาดและตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำงานกับ "จุดเจ็บปวด" (pain point) ของผู้หญิงต่อการมีประจำเดือน ผู้ผลิตจึงผลิตผ้าอนามัยซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นมาและสิ่งที่ตามมาคือราคาที่แพงขึ้น

จิตติมาระบุว่า ทางที่น่าจะเป็นคือการมีราคาแนะนำหรือราคากลางเพื่อให้เกิดมาตรฐานทางด้านราคา รวมถึงการใช้มาตรการภาษีเข้ามาแทรกแซง เช่น ลดภาษี หรือยกเลิกภาษี เพื่อให้ราคาถูกลง

"เราควรจะมีมาตรฐานในเชิงสินค้าหรือไม่ และเรื่องราคา น้ำดื่มยังมีมาตรฐานที่ อย. เข้ามาดูแล มีราคาที่จับต้องได้สมเหตุสมผล"

รัฐเก็บแค่ภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าทั่วไป

ทั้งกรมการค้าภายใน และกรมสรรพสามิต ต่างออกมายืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า ผ้าอนามัย ไม่ได้ถูกจัดเก็บภาษีร้อยละ 40 เพราะว่าเป็นเครื่องสำอางและเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ภายหลัง น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ ออกมาระบุว่ารัฐเก็บภาษีสูงเพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

อันที่จริงแล้วทั้งผ้าอนามัยแบบที่ใช้ภายนอกและผ้าอนามัยที่ใช้ภายในชนิดสอด ล้วนแล้วแต่ถูกนิยามว่าเป็นเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยผ้าอนามัยชนิดสอด เพิ่งจะมี มติ ครม. เห็นชอบให้จัดเข้ามาอยู่ในหมวดเครื่องสำอางจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 โดยหลังจากนั้นได้ออกเป็นกฎกระทรวงในปีเดียวกัน

เหตุที่อาจทำให้มีคนตีความไปว่าจะมีการเก็บภาษี เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น เนื่องจาก เมื่อถูกนิยามว่าเป็นเครื่องสำอาง เอกสารศุลกากรระบุว่า เครื่องสำอางเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมีพิกัดภาษีร้อยละ 40 แต่มีการขึ้นหรือเก็บภาษีผ้าอนามัย เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่นั้นไม่เป็นความจริง ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ออกมาชี้แจ้งวานนี้ (16 ธ.ค.) ว่าที่ผ่านมากรมสรรพสามิตไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยถึงร้อยละ 40 เนื่องจากไม่ได้ถูกระบุในพิกัดการจัดเก็บภาษีของสรรพสามิต แต่ผ้าอนามัยถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่น

นายกฯ บอก เฟคนิวส์

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการจัดการกับข่าวลวง หรือ เฟคนิวส์ ว่า ข่าวลือเรื่องการขึ้นภาษีผ้าอนามัยปล่อยมาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งโฆษกรัฐบาลได้ชี้แจงไปแล้ว

"ใครเสนอข่าวเฟคนิวส์ออกมา ถ้ามันมีผลกระทบมากๆ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมีอยู่ ถ้าไม่ทำ ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ"