Polar Vortex : กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงสาเหตุอุณหภูมิทั่วไทยลดลงในหน้าร้อนไม่ใช่อิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก

อากาศหนาว ภาพ บีบีซีไทย บีบีซี

ที่มาของภาพ, Gettyimages

คำบรรยายภาพ, คาดกันว่าชิคาโกอาจหนาวกว่าที่แอนตาร์กติกาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

หลังจากสื่อมวลชนหลายสำนักและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสาเหตุของอุณหภูมิทั่วทุกภาคในช่วงต้นเดือน เม.ย. ลดลงมาจาก "ปรากฏการณ์ Polar Vortex" หรือ "กระแสลมวนขั้วโลก"

ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนเกิดจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ไม่ใช่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว

กรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ

หากมวลอากาศเย็นนี้มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 วันเท่านั้น

กรมอุตุนิยมวิทยายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ปรากฏการณ์ Polar Vortex มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรคคือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้ จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) แต่อย่างใด

เอกสารชี้แจง

ที่มาของภาพ, กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่คำชี้แจ้งนี้หลังจากที่สื่อมวลชนหลายสำนัก รวมทั้งผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ อ้างถึงข้อความที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กโดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (วันที่ 3 เม.ย.) ที่ระบุถึงสภาพอากาศที่เย็นลงในไทยแบบวูบวาบ เป็นผลมาจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "Polar Vortex" ซึ่งส่งผลสะเทือนมาถึงพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทั้งนี้มีผู้แชร์ข้อความไปแล้วกว่า 830 ครั้ง

อากาศหนาว ภาพ บีบีซีไทย บีบีซี

ที่มาของภาพ, Gettyimages

คำบรรยายภาพ, สภาพตึกสูงที่นครชิคาโก ในวันที่อุณหภูมิติดลบ 20 องศาฯ

ปรากฏการณ์ Polar Vortex ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ทำให้ชาติตะวันตกในทวีปอเมริกา ยุโรป เผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นจัด

ในขณะนั้น มีรายงานว่าที่สหรัฐฯ ประชาชนกว่า 55 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากกระแสลมวนในเขตขั้วโลก หลายพื้นที่มีอุณหภูมิติดลบกว่า 20 องศาเซลเซียส มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายรัฐ ทางการแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ส่วนหลายประเทศในยุโรป แม้จะไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับพายุหิมะ อย่างที่อังกฤษ เที่ยวบินหลายเที่ยวต้องถูกยกเลิก เนื่องจากนักบินไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ ส่วนเบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย หลายพื้นที่ของประเทศก็ถูกปกคลุมไปด้วยสีขาวจากหิมะเช่นกัน