โควิด-19 : ภูมิใจไทยปัดข่าวลือยุบศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ กับข่าวจริงฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ตำรวจบุรีรัมย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปล่อยขบวนรถไฟส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาใน 7 จังหวัดอีสานใต้ เมื่อ 27 ก.ค.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ปล่อยขบวนรถไฟส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาใน 7 จังหวัดอีสานใต้ เมื่อ 27 ก.ค.

นายกรัฐมนตรีเรียกผู้เกี่ยวข้องหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของไทย สั่งปรับแนวทางให้บริการประชาชน ห้ามวอล์กอินตั้งแต่ 1 ส.ค. หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องการยุบศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

สองรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ควงคู่กันออกงานในช่วงเช้า เพื่อปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษขบวนแรก จัดส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 135 ราย เข้ารับการรักษาตัวในภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ

รถไฟขบวน 971 นี้ เป็นรถไฟโดยสารเชิงพาณิชย์ขบวนใหม่ รุ่น CNR ออกเดินทางในเวลา 09.00 น. จากสถานีรถไฟรังสิต จ.ปทุมธานี ปลายทาง จ.อุบลราชธานี

การปรากฏตัวของนายอนุทิน หัวหน้าพรรค ภท. และนายศักดิ์สยาม เลขาธิการพรรค ภท. เกิดขึ้นท่ามกลาง 2 ข่าวใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ภท.

ข่าวแรก เกิดขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ ว่าด้วย "วัคซีนก้นขวด" ที่นำมาฉีดให้นายตำรวจ

อีกข่าว เกิดขึ้นที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กทม. โดยปรากฏกระแสข่าวยุบศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งนี้

รถไฟขบวน 971 เป็นรถไฟขบวนแรกที่นำผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา โดยออกเดินทางจากสถานีรถไฟรังสิต จ.ปทุมธานี ปลายทางอุบลราชธานี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, รถไฟขบวน 971 เป็นรถไฟขบวนแรกที่นำผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา โดยออกเดินทางจากสถานีรถไฟรังสิต จ.ปทุมธานี ปลายทางอุบลราชธานี

นายอนุทินออกมาปฏิเสธทันควันว่าไม่เป็นความจริง เพราะถ้าดูยอดการฉีดวัคซีนของสถานีกลางบางซื่อ ณ วันที่ 26 ก.ค. สามารถฉีดให้ประชาชนได้มากถึง 1 ล้านคนแล้ว

"จะยุบได้อย่างไร ไม่ต้องกังวล เราทำสิ่งที่ดีแล้ว" นายอนุทินกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องผ่านระบบวีดิโอคอนฟีเรนซ์ นอกจากนายอนุทิน, นายศักดิ์สยาม ยังมี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

มีรายงานว่า ที่ประชุมมีมติให้ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อปรับแนวทางโดยการดำเนินการ โดยใช้มาตรการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด และตั้งแต่ 1 ส.ค. ประชาชนที่จะเข้ารับวัคซีน ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้เตรียมย้ายโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อิมแพคเมืองทองธานี ไปใช้อาคารสนามบินสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงกลางเดือน ต.ค. เนื่องจากหมดสัญญากับทางเมืองทองธานี

ข่าวลือ-ข่าวปล่อย ปิดศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ

ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ จุดฉีดวัคซีนใหญ่ที่สุดของไทย ตกเป็นข่าวระดับพาดหัวไม้ของหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 27 ก.ค. ด้วยข้อความว่า "ศบค. เล็งยกให้ กทม. คุมแทน สธ. หึ่งยุบฉีดบางซื่อ"

นอกจากมติชน ยังมีสื่ออีกอย่างน้อย 2 สำนักคือ ข่าวสด และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันโดยอ้างแหล่งข่าวว่าผู้บริหาร ศบค. ส่งสัญญาณให้หยุดฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ และใช้คำพาดหัวข่าวทำนองว่า สะพัด ลด-เลิก-ปิด-ยุบ สถานีฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อลดความหวาดระแวงทางการเมือง แล้วจัดทีมแพทย์ไปฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแทน"

ทว่าไม่มีการขยายความว่า "ความหวาดระแวงทางการเมือง" ที่ว่านั้น หมายถึงอะไร

สถานีกลางบางซื่อ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ตลอดทั้งวันจันทร์ที่ 26 ก.ค. ชื่อศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อถูกหยิบยกมาพูดคุยในที่ประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19

เช้า คุยกันในวงศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน

บ่าย คุยกันในวงหารือที่ สธ. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. เป็นประธาน

ในระหว่างการแถลงข่าวรายวัน พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงปัญหาความแออัดที่จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ โดยระบุว่า ศปก.ศบค. ได้หารือกันมาตลอด เพราะนอกจากประชาชนในกรุงเทพฯ ยังมีประชาชนจากต่างจังหวัดเข้ารับบริการด้วย อาทิ ราชบุรี สุพรรณบุรี หลังทราบข่าวว่าเปิดวอล์กอินให้ฉีดวัคซีนได้ สธ. มีความเป็นห่วงว่าขณะนี้เราอยู่ในมาตรการห้ามเคลื่อนย้าย/เดินทาง โดยเฉพาะการเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้มยังเป็นข้อห้าม แต่การฉีดวัคซีนก็เป็นนโยบายที่เร่งระดมให้ฉีดวัคซีน

"ขอฝากไปยังสถานีกลางบางซื่อ อาจมีการทบทวนเรื่องของการชะลอ เพราะตอนนี้เห็นประชาชนออกมากันออกันเยอะ การจัดระเบียบ การเว้นระยะห่าง ก็ทำได้ค่อนข้างจำกัด ในที่ประชุมจะหารืออย่างเร่งด่วน เพราะตอนนี้ยังอนุญาตให้วอล์กอินมาฉีดวัคซีนได้ แต่ขอให้ประชาชนทราบว่ามีแออัดพอสมควร หากชะลอได้ในช่วงนี้อาจต้องชะลอก่อน" ผช.โฆษก ศบค. กล่าว

กลุ่มเปราะบาง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เกือบทันทีทันใด นายอนุทินให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง โดยชี้ให้เห็นความสำเร็จในเชิงปริมาณของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • ตั้งแต่ 24 พ.ค.-25 ก.ค. ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 988,788 โดส
  • มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ 422 คน ซึ่งได้ตรวจหาเชื้อเป็นระยะ ๆ "ที่ผ่านมา ยังไม่พบบุคลากรที่ให้บริการติดเชื้อ"
  • กระทรวงคมนาคมได้เข้าไปวางระบบให้มีการเว้นระยะห่างเพิ่มเติมเพื่อลดความแออัด, ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมหน้ากาก 100% และมีจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ภารกิจหลักของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. คือเปิดให้กลุ่มเปราะบางที่นายอนุทินเรียกว่ากลุ่ม "602" อันหมายถึง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้มีน้ำหนักเกิน 100 ก.ก. และหญิงตั้งครรภ์ วอล์กอินเข้ารับบริการได้จนถึง 31 ก.ค.

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค. จะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่จองคิวฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 โดยลงทะเบียนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และไม่ให้วอล์กอินเพื่อลดความแออัด โดยรับฉีดวันละ 20,000 คน

ภายหลัง ผู้ควบคุมศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อออกมาโชว์ศักยภาพในการให้บริการประชาชน ก็มีกระแสข่าวลือ-ข่าวปล่อยตามหลังมาว่า ศบค. จ่อยุบศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ ณ สถานีกลางบางซื่อ ในวันคิกออฟฉีดวัคซีนทั้งประเทศ (7 มิ.ย.)

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อ ณ สถานีกลางบางซื่อ ในวันคิกออฟฉีดวัคซีนทั้งประเทศ (7 มิ.ย.)

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศภารกิจปูพรมฉีดวัคซีนทั้งประเทศเมื่อ 7 มิ.ย. มาแล้ว

สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ บริหารจัดการโดยกรมการแพทย์สังกัด สธ. และกระทรวงคมนาคม โดย 2 กระทรวงนี้ มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ภท. เป็นเจ้ากระทรวง และน่าจะเป็นพื้นที่เดียวในเมืองหลวงที่นายอนุทินแวะไปตรวจเยี่ยมและติดตามการบริหารจัดการวัคซีนบ่อยที่สุด และด้วยความสบายใจ

ท่ามกลางปรากฏการณ์ "วัคซีนไม่มาตามนัด" หรือ "หมอพร้อม ประชาชนพร้อม แต่วัคซีนไม่พร้อม" ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดให้ประชาชนอย่างสม่ำเสมอราว 10,000 โดส/วัน เคยให้บริการสารพัดกลุ่มเป้าหมาย อาทิ บุคลากรด่านหน้าด้านขนส่งสาธารณะ, กลุ่มองค์กรเอกชนที่ประสานงานไปยัง สธ. (เช่น สมาคมภัตตาคารไทย), กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา, กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และเป็นจุดฉีดวัคซีนเดียวที่เปิดให้ประชาชนวอล์กอินได้ จนนำไปสู่ภาพประชาชนแห่ไปรอเข้ารับวัคซีนต้านโควิด-19 และทำให้ ศบค. ส่งสัญญาณให้ "ชะลอ"

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษก ภท. แสดงความตกใจต่อกระแสข่าวที่ออกมา โดยระบุว่า จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อเกิดขึ้นเพราะความไร้ระบบของการฉีดวัคซีนใน กทม. เบียดแบ่งเอาโควตาวัคซีนของคนต่างจังหวัดเพื่อฉีดให้คน กทม. สุดท้ายคน กทม. ก็ไม่ได้ฉีดเท่าที่ควร พร้อมเปรียบเปรยจุดฉีดวัคซีนแห่งนี้ว่า "โอเอซีส วัคซีนของคน กทม."

ในระหว่างที่คนไทยกำลังต่อสู้กับ "สงครามโรคระบาด" และผู้มีอำนาจกำลังเปิด "ศึกชิงวัคซีน" บรรดา ลูกพรรค ภท. สลับกันออกมาปกป้อง "หัวหน้าหนู" เป็นระยะ ๆ โดยยืนยันว่านายอนุทินเป็น รมว.สธ. ที่ไม่มีอำนาจในการจัดหาและจัดการวัคซีนตั้งแต่ 9 เม.ย. ไม่ว่าวัคซีนหลักหรือวัคซีนทางเลือก เพราะโดน ศบค. ยึดอำนาจไปแล้ว โดย สธ. เป็นเพียงผู้รับคำสั่ง แต่กลับถูกวิจารณ์และกล่าวหาอย่างร้ายแรง

"อนุทินวันนี้ กลืนเลือด ไม่ท้อ ไม่ถอย ยอมให้ด่าทุกเรื่อง แต่อดทน เพราะอาสามาทำงานเพื่อประชาชน เป็นหัวหน้าพรรคที่บอกลูกพรรคที่ห่วงใยว่ากลับไปหาประชาชน ไม่ต้องห่วงผม" นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 18 ก.ค.

นายอนุทิน กับลูกพรรคของเขา ในสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายอนุทิน กับลูกพรรคของเขา ในสภา

วัคซีนก้นขวดที่บุรีรัมย์

ไม่ว่าบังเอิญ หรือจงใจ ข่าวลือยุบศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ถูกปล่อยออกมาในจังหวะที่เมืองหลวงของ ภท. อย่าง จ.บุรีรัมย์ กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่าทำไมถึงมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 3 ไปฉีดให้นายตำรวจในพื้นที่แล้ว และแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขด่านหน้าได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วหรือยัง

ข่าวนี้เป็นข่าวจริง ที่ปล่อยออกมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานรัฐเอง โดยปรากฏภาพชายหัวเกรียนกำลังฉีดวัคซีน พร้อมคำบรรยายภาพว่า "วันที่ 23 ก.ค. พ.ต.อ. สุเอก ฉินธนทรัพย์ ผกก.สภ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ได้รับการประสานการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า กับทางสาธารณสุขอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ. ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับข้าราชการตำรวจแล้วจำนวน 11 นาย อาการผลข้างเคียงไม่มี"

ข้อความและภาพต่าง ๆ ได้รับการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก "สถานีตำรวจภูธรบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์" ก่อนที่โพสต์จะปลิวหายไป หลังถูกผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเหตุใดวัคซีนที่คนไทยรอคอย ถึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

ผลที่ตามมาคือ

  • 23 ก.ค. พล.ต.ต. ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และโฆษกตำรวจภูธรภาค 3 ชี้แจงว่า ตำรวจทั้ง 11 นายนี้ทำหน้าที่ "พลขับยานพาหนะที่มีจิตอาสา" คอยรับและส่งตัวผู้ติดเชื้อเพื่อไปส่งสถานพยาบาลต่าง ๆ จึงได้แจ้งให้สาธารณสุขอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ทราบ ทางสาธารณสุขอำเภอจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมวัคซีนมาฉีดให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 11 นายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม
  • 23 ก.ค. สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ได้จัดเตรียมวัคซีน 7,964 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ให้บริการด่านหน้าและได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบริการด่านหน้า 3,533 คน
  • 25 ก.ค. นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เป็นประธาน และให้สรุปข้อเท็จจริงให้ผู้ว่าฯ ทราบโดยด่วน และได้ทำหนังสือแจ้งปลัด สธ. ให้ทราบแล้ว
  • 26 ก.ค. สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน, ไทยรัฐ, ไทยโพสต์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต. รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จ.) บุรีรัมย์ ที่ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้เบียดบัง หรือไปเอาโควตาวัคซีนของหมอหรือพยาบาลมา แต่จำนวนวัคซีนที่ลงไปเป็นวัคซีนของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง กับกลุ่มเสี่ยงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งวัคซีนขวดหนึ่งสามารถนำไปแบ่งฉีดได้ 11-12 โดส และโดยทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์สามารถบริหารส่วนนี้ได้ ส่วนที่เป็นเศษ 1 หรือ 2 ได้ กรณีที่มีเศษ เจ้าหน้าที่พิจารณากันแล้วว่าตำรวจก็มีส่วนเป็นด่านหน้าเช่นเดียวกัน และสาธารณสุขแต่ละอำเภอรู้ว่ามีตำรวจคนไหนบ้างที่เข้าโครงการกลับภูมิลำเนา จึงประสานมาและตำรวจทั้ง 11 นายนี้ได้เข้าไปฉีด ซึ่งตำรวจชุดนี้อยู่ในโครงการ "ทำดีด้วยหัวใจ สู้ภัยโควิดด้วยศรัทธา" และมีผลการปฏิบัติหน้าที่จริง ๆ
  • 26 ก.ค. ฝ่ายการเมือง อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกรองให้รัฐบาล และ สธ. ชี้แจงว่า ตำรวจจังหวัดอื่นได้ฉีด "วัคซีนก้นขวด" เข็มที่ 3 กันบ้างแล้วหรือยัง "หากยังก็แสดงว่ามีการเลือกปฏิบัติจริง ๆ" และแสดงความวิตกว่า "รัฐบาลจะพังกับวัคซีนก้นขวด"
  • 27 ก.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ประกาศยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนและวินิจฉัย กรณีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับตำรวจใน จ.บุรีรัมย์ เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 47 และอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.

"รมว.สธ. และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ จ.บุรีรัมย์ต้องมีคำตอบให้กับสังคมในเรื่องนี้" นายศรีสุวรรณกล่าวและว่า หากปล่อยให้การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปโดยอำเภอใจของฝ่ายการเมืองและข้าราชการเส้นใหญ่บางจำพวก หรือพวกมือที่มองไม่เห็น การกระจายวัคซีนที่ควรจะเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมให้กับคนทั้งประเทศก็คงจะบิดเบี้ยวต่อไป