โควิด-19: ศบค. เผยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 2 ราย ก่อนทราบผลตรวจ ขณะที่รัฐบาลรับลูกเอกชนตั้งทีมงานจัดหา-กระจายวัคซีนทางเลือก

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Reuters

สถานการณ์การระบาดโควิดระลอก 3 ยังคงน่าเป็นห่วง ยอดผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่อง ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุพบมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด 2 ราย ในระหว่างการรอผลการติดเชื้อ

ขณะที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสั้งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะร่วมภาครัฐ-หอการค้าไทยดำเนินการแผนการกระจายวัคซีนและจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับเอกชน รวมถึงหาช่องทางปรับกฎหมายต่าง ๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วหลังการหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

ในการแถลงข่าวของ ศบค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวยอมรับว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่เป็นผู้ติดเชื้อที่ปรากฏเป็นข่าว ว่าเสียชีวิตระหว่างรอการตรวจเชื้อเป็นเวลา 3 วัน และเมื่อทำการตรวจก็ยืนยันพบเชื้อ

นอกจากนี้นั้นในข้อมูลระหว่างการแถลงข่าว ยังปรากฏข้อมูลที่ว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย มีการเสียชีวิตก่อนทราบผลติดเชื้อ และ 2 รายเสียชีวิตวันเดียวกับที่ทราบผล

สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 15 ราย มีดังนี้

  • เพศชาย 11 ราย หญิง 4 ราย
  • ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วน ไทรอยด์ และอัลไซเมอร์
  • ส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อภายในครอบครัว นอกจากจากนั้นมีปัจจัยเสี่ยง คือ สัมผัสผู้ป่วยในที่ทำงาน ไปสถานบันเทิง สัมผัสผู้ป่วยในฟิตเนส เป็นต้น
  • ค่ามัธยฐานของอายุ คือ 61 ปี (อายุระหว่าง 35-88ปี)
  • ค่ามัธยฐานของระยะเวลาทราบผลยืนยัน จนถึงเสียชีวิต คือ 7 วัน

ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งไปที่ 178 ราย คิดเป็น 0.29% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย.นี้ เสียชีวิตสะสมกว่า 84 ราย คิดเป็น 0.26%

นอกจากนี้จากข้อมูล ยังพบว่า มีผู้ป่วยอาการหนักถึง 695 ราย และกว่า 199 รายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงข้อมูลผู้ป่วยจากโคฮอร์ทวอร์ดของกรมการแพทย์ ในวันที่ 27 เม.ย. จากจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 9,645 ราย ว่ามีกว่า 319 รายที่เป็นผู้ป่วยอาการหนัก และอีกว่า 1,271 รายอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรงปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ.เทานั้น

Nope

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่พบในขณะนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคลัสเตอร์สมุทรสาคร ซึ่งในเวลานั้นกว่า 90% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ในเวลานี้ผู้ป่วยมีความต้องการเตียงที่มากขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม "เอราวัณ 2" แห่งที่ 4 ของกทม. พร้อมรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม "เอราวัณ 2" แห่งที่ 4 ของกทม. พร้อมรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย.

"สถานการณ์ในตอนนี้เป็นลักษณะที่ รพ.สนามมีการเปิดเพิ่ม แต่ในบางพื้นที่ เช่น กทม.อาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีการคัดแยกกลุ่มอาการแล้วพบว่าเขาเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการปานกลาง หรือหนัก หรือจำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ"

ผู้ติดเชื้อแตะสองพันต่อเนื่อง

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,012 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,001 ราย (โดย 1,893 รายพบจากการเฝ้าระวัง, จากการค้นหาเชิงรุก 108 ราย) และเดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 61,699 ราย
  • กำลังรักษาตัวอยู่ 27,119 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในรพ. นอกจากนั้นอยู่รพ.สนามและอื่น ๆ
ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

โดยยอดผู้ติดเชื้อ 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ตามรายงานของ ศบค.ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (830),สมุทรปราการ(161), ชลบุรี (108), นนทบุรี (71),สมุทรสาคร (59)

รัฐบาลรับลูกเอกชนตั้งทีมงานจัดหา-กระจายวัคซีนทางเลือก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่า หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่าง ๆ กับภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบโดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่านายกฯ ได้สั่งการ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐ และหอการค้าไทยในการดำเนินการแผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว

คณะทำงานร่วม 4 คณะประกอบด้วย

1. ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน

  • ระยะแรก ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร
  • ระยะที่สอง จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง
  • ระยะที่สาม จะนำต้นแบบของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2. ทีมการสื่อสาร

คณะทำงานนี้จะทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ โดยคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline

3. ทีมเทคโนโลยีและระบบ

คณะทำงานนี้จะทำหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ

4. ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เบื้องต้นมี 2 คณะย่อย คือ

คณะสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. ) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป

หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน ต่อนายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน ต่อนายกฯ

คณะทำงานเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

"นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ" นายสนั่นกล่าว

แอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันส่งมอบวัคซีนได้ทัน มิ.ย. นี้

ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าภายในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ล่าสุด นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ยืนยันพร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ให้แก่รัฐบาลไทยตามกำหนดภายในเดือนมิ.ย. นี้

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

ที่มาของภาพ, บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

"แอสตร้าเซนเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เราตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน เพื่อส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับรัฐบาลไทยใช้ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด" เขากล่าวในเอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

ที่มาของภาพ, บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

คำบรรยายภาพ, นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้แอสตร้าเซนเนก้ายังระบุถึงผลการทดลองทางคลินิกที่ยืนยันว่า ผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถทนต่อผลข้างเคียงของวัคซีนได้ดีและวัคซีนยังช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในทุกระดับความรุนแรง นอกจากนี้ จากข้อมูลการใช้วัคซีนในประชากรหลายสิบล้านคนทั่วโลกยังแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้มากถึง 80% หลังจากการฉีดเข็มแรก

หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป รวมไปถึงองค์การอนามัยโลกให้ข้อสรุปว่าประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์