โควิด-19: นายกฯ สั่งเปิดประเทศใน 120 วัน ภาคธุรกิจเชื่อว่าทำได้ แต่หมอหวั่นใจ

บรรยากาศที่วัดพระแก้ว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะสามารถ "เปิดประเทศ" ภายใน 120 วันได้จริงตามที่ลั่นวาจาผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) เพราะถ้าทำไม่ได้ก็คง "ไม่ประกาศเช่นนั้น" ขณะที่แพทย์ รพ.จุฬาฯ ฝาก 3 เรื่องให้รัฐบาลพิจารณาให้ดีก่อนคิดจะเปิดประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์แถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อเวลา 18.00 น.วานนี้ว่าเขาตั้งเป้าหมายว่าต้องมีการเปิดประเทศภายในเวลา 120 วัน โดยจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กว่า 17% ของจีดีพีมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

"ผมรู้ดีว่าการตัดสินใจของผมวันนี้ มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะเมื่อเราเปิดประเทศ ไม่ว่าเราจะเตรียมการป้องกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเราประเมินสถานการณ์ และคิดถึงความอยู่รอดในการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง" นายกฯ กล่าว

การประกาศนับถอยหลังสู่การเปิดประเทศของนายกฯ มีขึ้นขณะที่ไทยยังคงเผชิญกับการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 อย่างหนักหน่วงโดยยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันไม่ต่ำกว่า 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 20-40 คนเกือบทุกวัน ขณะที่ประชาชนหลายคนถูกแจ้งเลื่อนกำหนดฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจากความไม่แน่นอนของกำหนดส่งมอบวัคซีนของบริษัทผู้ผลิต

นักวิเคราะห์หุ้นหลายสำนักเห็นตรงกันว่าคำว่า "เปิดประเทศ" ของนายกฯ ส่งผลจิตวิทยาเชิงบวกและส่งสัญญาณหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เห็นได้จากหุ้นกลุ่มโรงแรมรายใหญ่มีทิศทางเป็นบวกในช่วงเปิดตลาดเช้านี้ (17 มิ.ย.)

แต่นอกจากจิตวิทยาเชิงบวกช่วงสั้น ๆ ในตลาดหุ้นแล้ว เป้าหมายเปิดประเทศของนายกฯ จะเป็นจริงได้หรือไม่ และมีความเสี่ยงอะไรที่อาจตามมาบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก

คำบรรยายภาพ, นายกฯ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ประกาศเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 50 ล้านคนใน 2 เดือนคือเป้าหมายที่อยากเห็น

บีบีซีไทยถามความเห็นของ นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต่อเป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกฯ

นพ.ธีระวัฒน์ตอบคำถามด้วยการชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่รัฐบาลและสังคมไทยควรพิจารณาเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ 3 ประเด็น คือ

1. สถานการณ์การระบาดที่แท้จริง: นพ.ธีระวัฒน์เห็นว่าข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก คนที่รักษาหายและผู้เสียชีวิต ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานทุก ๆ วันนั้นไม่ได้สะท้อนสถานการณ์การระบาดที่แท้จริง ดังนี้

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ - เป็นการพบจากการสุ่มตรวจเท่านั้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงจึงอาจมีมากกว่าที่รายงาน

ผู้ที่รักษาหายแล้ว - ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการที่รักษาอยู่ใน รพ.สนามหรือฮอสปิเทล การที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับบ้านได้จึงไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้กระทบกับระบบสาธารณสุขมากนัก

ผู้ป่วยหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจ - ตัวเลขที่ ศบค.รายงานค่อนข้างนิ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ดี แต่อาจเป็นเพราะไอซียูของ รพ. มีผู้ป่วยอยู่เต็มแล้ว อีกทั้งผู้ป่วยไอซียูมักครองเตียงนาน ตัวเลขผู้ป่วยหนักหรือใส่ท่อช่วยหายใจจึงแทบไม่ขยับหรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ดังนั้นจึงต้องดูที่อัตราการเสียชีวิตว่าลดลงจริงหรือไม่

2. ภัยจากสายพันธุ์เดลตา: นพ.ธีระวัฒน์วิเคราะห์ว่าการตัดสินใจทางนโยบายสำหรับอนาคตอันใกล้จะต้องคำนึงถึงไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการระบาดได้ทุกเมื่อ อย่างเช่นในขณะนี้ที่ไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ว่าพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 20 จังหวัด

"เฉพาะของ รพ.จุฬา เราก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้หลายราย แสดงว่าสายพันธุ์อินเดียที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น variant of global concern ซึ่งทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง เพราะมันแพร่กระจายได้ไวมาก ติดง่าย ดังนั้นสัดส่วนของสายพันธุ์อินเดียที่พบตอนนี้จะมีมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษและจีนที่เคยพบมาแต่เดิม"

นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่าสายพันธุ์เดลตานี้ยังทำให้อังกฤษต้องประกาศเลื่อนการเปิดประเทศจากเดือน มิ.ย. เป็น ก.ค. หลังจากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและยังพบอีกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โดยหลายรายอาการหนักและเสียชีวิต

คำบรรยายวิดีโอ, โควิด-19 : เชื้อกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร วัคซีนจะป้องกันได้ไหม

3. แผนฉีดวัคซีนทันสถานการณ์หรือไม่: นพ.ธีระวัฒน์ให้ข้อมูลว่า การระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ทั้ง "ติดง่ายและตายง่าย" ทำให้อังกฤษและหลายประเทศในยุโรปย่นระยะเวลาระหว่างวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 มาเป็น 2 เดือน เพื่อทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่ตลอดเวลาในระดับที่น่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้

ดังนั้น นพ.ธีระวัฒน์สรุปว่าในขณะที่ไทยกำลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลควรปรับแผนการฉีดวัคซีนจากที่เว้นระยะเวลาระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 มากสุดถึง 4 เดือน มาเป็น 2 เดือน และนี่คือเป้าหมายที่รัฐบาลควรจะมีและทำให้ได้ มากกว่าจะตั้งเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน

"ถ้าไทยคิดจะเปิดประเทศในอีก 120 วัน ต้องให้ประชากรอย่างน้อย 50-60 ล้านคนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ละเข็มต้องห่างกันแค่ 2 เดือน ไม่ใช่ 4 เดือน...มันต้องทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาประเมินสถานการณ์"

"เชื่อว่าท่านนายกฯ ทำได้"

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททัวร์หลักที่นำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า ทางการคงพิจารณาถ้วนถี่แล้วสำหรับเป้าหมายดังกล่าวซึ่งเข้าใจว่าการเปิดประเทศได้ก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้คนไทยได้ครอบคลุมประชากร 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

"ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ น่าจะทำได้ ชายชาติทหาร น่าจะทำได้ ไม่งั้นไม่ประกาศเช่นนั้น" นายศิษฎิวัชรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า การที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ครบตามจำนวนโดสที่กำหนดโดยครอบคลุมประชากรไทยอย่างน้อย 70% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 50 ล้านคน และจำนวนโดสที่ต้องการจากวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้จากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค คือ ทุกคนต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม

ก่อนที่จะถึงวันที่ 120 ตามที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมาย นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวเสนอแนะให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" เป็นต้นแบบของการศึกษาและวิเคราะห์ผลการกระทบและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเปิดประเทศซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงกลางเดือน ต.ค. นี้

แผนภูมิแสดงลำดับการฉีดวัคซีนตามข้อเสนอภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โมเดล

ที่มาของภาพ, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

คำบรรยายภาพ, แผนภูมิแสดงลำดับการฉีดวัคซีนตามข้อเสนอภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โมเดล

นอกจากนี้เขาเห็นว่า การเปิดประเทศต้องพิจารณานโยบายของรัฐบาลประเทศต้นทางและความพร้อมของนักท่องเที่ยวในแง่ของการได้รับวัคซีนด้วย รวมทั้งความพร้อมของผู้ประกอบการ ประชาชนในประเทศว่ามีความปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือไม่ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะคาดเดาไม่ได้ เช่น การระบาดระลอกใหม่ เป็นต้น

"หากว่าเราใช้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ก.ค. นี้ เป็นโครงการนำร่องได้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่า การเปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัยและมีการท่องเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน ก็จะเป็นต้นแบบที่เราสามารถใช้ไปกับพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งโปรโมตในต่างประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต" นายศิษฎิวัชรกล่าว

จิตวิทยาเชิงบวกต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

กลุ่มนักวิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากหลายสำนักเห็นตรงกันว่า แถลงการณ์ในช่วงค่ำวานนี้ (16 มิ.ย.) ของนายกฯ เป็นการส่งสัญญาณหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในรายงานว่า การเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจไทยคึกคักขึ้น และฟื้นตัวได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ และเสียชีวิตก็มีโอกาสจะสูงขึ้น ดังนั้นแผนการบริหารจัดการและฉีดวัคซีนให้คนในประเทศจะต้องทำได้อย่างมีประสิทธิผล ก็จะช่วยป้องกันได้ โดยคาดว่าประกาศดังกล่าวจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มการบริหารสนามบิน โรงแรม สายการบิน ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า รวมทั้งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลที่รับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เคซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุตรงกันว่า การประกาศเรื่องนี้จะเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

นักวิเคราะห์จาก บล. เคจีไอ ระบุเพิ่มเติมในรายงานว่า เรื่องนี้จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในครึ่งปีหลัง และจะเปิดโอกาให้กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าหลังจากมีกรอบเวลาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงเช้าวันนี้ พบว่ากลุ่มโรงแรมรายใหญ่มีทิศทางเป็นบวก สอดรับกับนักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ภูเก็ตพร้อม

นายเฉลิมศักดิ์ มณีศรี นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองบอกกับบีบีซีไทยถึงความพร้อมในการเปิดประเทศตามเป้าหมายที่นายกฯ ประกาศว่า ประชาชนและผู้ประกอบการทั้งในป่าตองและภูเก็ตน่าจะได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นเพราะทางจังหวัดมีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่จะทำให้ภูเก็ตเตรียมความพร้อมเปิดเมืองก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเปิดประเทศในอีก 120 วัน

"ตอนนี้ชาวบ้านก็เดือดร้อนมาเกือบ 2 ปีแล้ว ผมคิดว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากน่าจะเปิดเมือง เพราะป่าตองขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว "ป่าตองพร้อมแล้วสำหรับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แล้วต่อจากนั้นก็ไปได้ยาวเลย"

สภาพความว่างเปล่าในบริเวณหาดป่าตอง ในภูเก็ต ที่ครั้งหนึ่งคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ถ่ายเมื่อ 2 เม.ย. 2564)

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สภาพความว่างเปล่าในบริเวณหาดป่าตอง ในภูเก็ต ที่ครั้งหนึ่งคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ถ่ายเมื่อ 2 เม.ย. 2564)

ตอนนี้ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้หมดแล้วทั้งการปรับปรุงถนนหนทาง นำสายไฟและสายเคเบิ้ลลงใต้ดิน ทำความสะอาดชายหาดและทะเล และปรับปรุงทัศนียภาพทั่วเมือง

นายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่กำลังจะเริ่มจะปูทางไปสู่การเปิดประเทศในอีก 120 วันซึ่งจะทำให้ทั้งเกาะภูเก็ตมีความพร้อมมาก ทั้งเรื่องของคนที่ได้รับวัคซีนและเมืองที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวมาก่อนประเทศเปิดแล้ว

"ตอนนี้ที่ป่าตองมีผู้ประกอบการที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 70% ตอนนี้ที่ยังตกค้างอยู่ก็ยังมีพนักงานโรงแรมบางส่วนที่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา แต่ถ้าเข้ามาในพื้นที่แล้วต้องได้รับการฉีด 100%" นายเฉลิมศักดิ์กล่าว