โควิด-19: เป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ ครึ่งทางผ่านไป เกิดอะไรขึ้นบ้าง

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ถึงเป้าหมายในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน จนถึงวันนี้ (16 ส.ค.) ผ่านไปแล้ว 60 วันหรือครึ่งทางสู่การเปิดประเทศ ตัวเลขต่าง ๆ ล้วนบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่หนักขึ้น

วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเปิดประเทศเมื่อ 2 เดือนก่อนนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 2,000 คน และผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่หลักสิบ ทว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ผู้ติดเชื้อรายวันได้ขึ้นหลัก 20,000 รายต่อวันต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 3 และ ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 180-200 คนต่อวัน

การประกาศหลักหมาย 120 วัน ถูกวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ทำให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่า "ไม่ใช่การนับถอยหลัง" แต่เป็นเพียงหลักการที่หากจังหวัดใดพร้อมก็ทยอยเปิดก่อน ยกตัวอย่าง จ.ภูเก็ต ที่มีความพร้อมในการเปิดจังหวัดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา

เป้าหมายเปิดประเทศ 120 วัน ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังหมายรวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน

ทว่าเส้นทางของการจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนก็ประสบปัญหาเป็นระยะ ทำให้มีการเลื่อนนัดหมายการฉีดในศูนย์ฉีดและโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ รวมไปถึงการจัดกลุ่มยุทธศาสตร์ผู้รับวัคซีนที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ในเดือน ก.ค. ท่ามกลางการรุกระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เข้ามาเป็นตัวเร่งทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 60 วันที่ผ่านมา

"ถ้าไทยคิดจะเปิดประเทศในอีก 120 วัน ต้องให้ประชากรอย่างน้อย 50-60 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ละเข็มต้องห่างกันแค่ 2 เดือน ไม่ใช่ 4 เดือน...ต้องทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาประเมินสถานการณ์" นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา บอกกับบีบีซีไทยเมื่อเดือน มิ.ย.

จนถึงวันนี้ ผ่านไปแล้วครึ่งทางของการประกาศที่เป็นเสมือน "สัญญาประชาคม" ที่ผู้นำประเทศบอกแก่ประชาชน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ผู้ติดเชื้อรายวันจาก 2,000 เป็น 20,000 คน กับโศกนาฏกรรม "เสียชีวิตคาบ้าน"

ตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเปิดประเทศ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ระดับ 2,000 ราย แตะระดับ 10,000 ต่อวัน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา และถึงระดับ 20,000 ราย ในวันที่ 4 ส.ค.

ในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. ยังมีสถานการณ์ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคาบ้านก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการรักษา และผู้ป่วยรอเตียงจำนวนมาก

ผู้เสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการรักษาหรือแม้แต่ตรวจหาเชื้อจากการรายงานของ ศบค. ที่เกินวันละ 20 ราย มีเช่น

  • 29 ก.ค. มีผู้เสียชีวิต 165 ราย เสียชีวิตคาบ้าน 21 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต ที่ จ.สมุทรปราการ 12 ราย
  • 9 ส.ค. มีผู้เสียชีวิต 149 ราย เสียชีวิตคาบ้าน 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ 24 ราย
bbc

ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 7 ฉบับ

เพียง 10 วันของการประกาศนับถอยหลังเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของกฎหมายฉบับนี้ให้พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัดและ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด นับเป็นข้อกำหนด

เนื้อหาสำคัญของข้อกำหนดฉบับนี้ซึ่งเป็นฉบับที่ 25 ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ออกมาเพื่อควบคุมโควิด-19 คือ สั่งปิดแคมป์คนงาน หยุดการก่อสร้าง และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 30 วัน

กำหนดมาตรการควบคุมโรคเฉพาะสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น, ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าให้ปิดบริการในเวลา 21.00 น., โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม เปิดได้ตามปกติ แต่ห้ามจัดประชุม สัมมนาหรือจัดเลี้ยง, ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่

ส่วนมาตรการรวมทั้ง 10 จังหวัด ที่รวมถึงสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ให้มีการตั้งจุดตรวจและจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเข้าออกพื้นที่ 10 จังหวัดอย่างเข้มงวด

ส่วนประกาศข้อกำหนดที่ตามมาอื่น ๆ อีก 6 ฉบับ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ที่เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ และการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สีแดงเข้ม

ล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวเพิ่มเป็น 29 จังหวัด

ในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 มีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เป็นเวลา 14 วัน ห้ามประชาชนใน 10 จังหวัดสีแดงเข้มออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.

20 ก.ค. นายกฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 28 ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวต่อไปอีกพร้อมกับเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด จังหวัดที่เพิ่มมา ได้แก่ ฉะเชิงทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา

2 ส.ค. นายกฯ ออกข้อกำหนดฉบับที่ 30 ขยายเวลาล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. และประกาศให้อีก 16 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมเป็น 29 จังหวัด พร้อมประกาศเปลี่ยนแปลงเรื่องมาตรการร้านอาหาร สามารถเปิดในห้างได้ แต่ให้เฉพาะการสั่งแบบเดลิเวอรี

กรุงเทพฯ ปริมณฑล 4 จังหวัดชายแดนใต้ ล็อกดาวน์มาแล้ว 36 วัน

ประกาศการขยายเวลาล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ที่ออกประกาศในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 30 ทำให้ในพื้นที่ 10 จังหวัดแรกที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว จนถึงวันนี้เป็นเวลา 36 วันแล้ว และเมื่อยึดตามประกาศล่าสุดจนถึง 31 ส.ค. 10 จังหวัดนี้ รวมระยะเวลา 51 วัน

เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ 1 เดือน ต้องประกาศคุมเข้า-ออกจังหวัด

1 ก.ค. 2564 เป็นวันเปิดตัวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือการทดลองนำร่องเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ จ.ภูเก็ต มีโอกาสต้อนรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของในไทยตั้งแต่ปี 2563

"แซนด์บ็อกซ์" อันหมายถึงพื้นที่ทดลอง หรือ สนามทดสอบไอเดียดำเนินการมาแล้วกว่าเดือนครึ่ง จนถึงวันที่ 15 ส.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสะสม 21,336 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 59 คน

สำหรับยอดจองห้องพัก ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. อยู่ที่เกือบ 4 แสนรูมไนท์

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน ก.ค. สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของภูเก็ต มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุขของโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ระบุว่า หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่เกิน 90 คนในรอบ 1 สัปดาห์ จังหวัดต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามแผนเผชิญเหตุที่ได้นำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ณ ช่วงปลายเดือน ก.ค. ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต รอบ 1 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20-26 ก.ค. เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 126 คน ทำให้ในวันที่ 30 ก.ค. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ประเมินสถานการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดในพื้นที่ พบว่ามีการกระจายเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ จึงมีมติยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ด้วยการคัดกรองและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค.

และวานนี้ (15 ส.ค.) ได้ขยายมาตรการคัดกรองเข้า-ออกจังหวัดอย่างเข้มงวดต่ออีก 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-31 ส.ค. นี้ ยกเว้นกลุ่มประชาชน 16 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้เดินทางมาตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และผู้ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งต้องมีเอกสารยืนยันจึงจะเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของภูเก็ต ข้อมูลของวันที่ 15 ส.ค. เพิ่มขึ้น 50 ราย

วัคซีนฉีดเข็มแรกฉีดไปแล้ว 17 ล้านโดส จากเป้า 50 ล้านโดส

หนึ่งในเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา คือ การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน

ผ่านไปแล้วครึ่งทาง จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 15 ส.ค. ไทยฉีดวัคซีนไปแล้วรวม 23,592,227 โดส ใน 77 จังหวัด เป็นการฉีดเข็มแรก 17,996,826 ราย

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อยู่ที่ 5,109,476 ราย

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นหลักทั้งสิ้น 485,925 ราย

สำหรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยที่รัฐบาลประกาศมาโดยตลอดคือจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของประชากรภายในปี 2564

สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะเป็นวัคซีนหลัก มีเป้าการจัดหา 61 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 11.3 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. (เดือน ก.ค. ส่งมอบ 5.3 ล้านโดส)

ระหว่างทางภายหลังการประกาศของนายกฯ ดังกล่าว นอกจากตัวเลขสถิติต่าง ๆ แล้ว ยังมีการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเป็นแบบไขว้ชนิด ให้เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่สองเป็นแอสตร้าเซนเนก้า และการได้รับวัคซีนจากการบริจาคของต่างประเทศ ได้แก่ ซิโนแวคจากจีน แอสตร้าเซนเนก้าจากญี่ปุ่น และไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ซึ่งจัดสรรให้เป็นเข็มกระตุ้นแก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นหลักและกำลังเป็นประเด็นเรื่องการจัดสรรในเวลานี้