ซุนโดคุ: ศิลปะแห่งการซื้อหนังสือที่สุดท้ายไม่ได้อ่าน

เมื่อคุณซื้อหนังสือแต่ไม่ได้อ่าน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คุณมีพฤติกรรมชอบซื้อหนังสือ ที่สุดท้ายไม่มีโอกาสได้อ่านหรือเปล่า ? ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่ทำเช่นนี้อย่างแน่นอน

คำว่า "ซุนโดคุ" (tsundoku) ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำที่ใช้อธิบายคนที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจำนวนมาก และมันถูกใช้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เกิร์สเทิล ผู้สอนวิชาภาษาญี่ปุ่นยุคก่อนสมัยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน อธิบายว่าคำดังกล่าว ไม่ได้เพิ่งบัญญัติขึ้น แต่ถูกพบในตัวหนังสือครั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวญี่ปุ่นใช้คำนี้มาแล้วก่อนหน้านั้นอีก

เขาอธิบายว่า คำว่า 'อาจารย์ซุนโดคุ' (tsundoku sensei) ปรากฏในตัวหนังสือตั้งแต่ปี 1879 "ซึ่งน่าจะเป็นการใช้เพื่อเสียดสีเกี่ยวกับอาจารย์ผู้ซึ่งมีหนังสือจำนวนมากแต่ไม่ได้อ่าน"

การอ่านหนังสือ

ที่มาของภาพ, Getty Images

เกิร์สเทิลกล่าวว่า คำว่า "โดคุ" (doku) สามารถใช้เป็นคำกริยา ซึ่งแปลว่า "อ่าน" ได้ ขณะที่ "ซุน" (tsun) ในคำว่า "tsundoku" มาจากคำว่า "tsumu" ซึ่งมีความหมายว่า "วางกองไว้"

ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน "ซุนโดคุ" จึงมีความหมายว่า การซื้อหนังสือและนำมาวางกองไว้ และถึงแม้นั่นอาจฟังดูเหมือนมีความหมายในแง่ลบ ศาสตราจารย์เกิร์สเทิล กล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นไม่ได้มีความรู้สึกแย่กับคำนี้

ความหมายที่แตกต่างจากคำว่า Bibliomania ?

นอกจาก "ซุนโดคุ" แล้ว หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า บิบลิโอมาเนีย (bibliomania) หรือที่หลายคนเรียกว่าเป็นอาการคลั่งหนังสือ

"Bibliomania" เป็นชื่อของนิยายยุคศตวรรษที่ 19 โดยโธมัส ฟร็อกแนลล์ ดิบดิน ซึ่งพยายามค้นหาลักษณะอาการของ "ความบ้าหนังสือ" ซึ่งทำให้ไม่สามารถหยุดสะสมวรรณกรรมได้

ตามความหมายของเขา ผู้ที่มีอาการนี้จะมีความคลั่งไคล้อย่างมาก ต่อหนังสือซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เล่มที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก หรือฉบับที่มีภาพประกอบ เป็นต้น

แต่ 200 ปีหลังจากนั้น คำว่า "bibliomania" ได้มีความหมายเปลี่ยนไปจาก "ความคลั่งไคล้หรือหมกมุ่น (obsession)" กลายมาเป็น "ความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า ในการสะสมและครอบครองหนังสือ" ตามนิยามในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับอ๊อกซ์ฟอร์ด

ทำอย่างไรถึงจะอ่านหนังสือได้จำนวนมากขึ้น

ที่มาของภาพ, PA

ถึงแม้คำว่า บิบลิโอมาเนีย และซุนโดคุ อาจดูเหมือนมีความหมายคล้าย แต่ทั้งสองคำยังมีข้อแตกต่างอยู่ นั่นก็คือ บิบลิโอมาเนีย อธิบายถึงความตั้งใจและพยายามที่จะเสาะแสวงหาหนังสือมาสะสมหรือครอบครอง ขณะที่ ซุนโดคุ เป็นความตั้งใจที่จะซื้อเพื่ออ่าน แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นของสะสมอย่างไม่ตั้งใจ

ทำอย่างไรถึงจะอ่านหนังสือได้จำนวนมากขึ้น

ว่ากันว่า นักเขียนชื่อดังอย่าง อกาธา คริสตี อ่านหนังสือปีละมากกว่า 200 เล่ม ขณะที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก อ่านหนังสือจบเล่มภายในคืนเดียว เช่นเดียวกับ อดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลท์ของสหรัฐฯ ผู้อ่านหนังสือได้วันละเล่ม และอาจเพิ่มเป็น 2 -3 เล่มในวันที่เขามีเวลาว่างยามค่ำคืน

ฮันนาห์ แซนเดอร์ ผู้เขียนบทความของบีบีซี แมกกาซีน ได้สำรวจวิธีอ่านหนังสือของนักอ่านมืออาชีพหลายคน ที่คนทั่วไปอาจนำมาเป็นแนวทางในการอ่านหนังสือได้

จอห์น ซุทเธอร์แลนด์ นักเขียน นักวิจารณ์หนังสือ และอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณกรรมอังกฤษสมัยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน อ่านหนังสือได้ราว 150 เล่มในปี 2015

เขาอ่านหนังสือส่วนใหญ่ผ่านแทบเล็ต ที่ช่วยให้พลิกหน้าหนังสือได้อย่างรวดเร็ว

"วิธีนี้คุณไม่ต้องใช้นิ้วชี้เปียก ๆ และยังลดโอกาสส่งต่อวัณโรคให้กับผู้อ่านคนต่อไปอีกด้วย" ซุทเธอร์แลนด์ กล่าวพร้อมหัวเราะ

"คำแนะนำของผม คือทำให้ตัวเองรู้สึกเบื่อ ... ชีวิตของผมแต่ก่อนนั้นน่าเบื่อมาก การอ่านจึงเป็นวิธีที่ดีในการเติมเต็มเวลาที่น่าเบื่อเหล่านั้น"

ซื้อหนังสือ แล้วไม่ได้อ่าน

ที่มาของภาพ, Yvan Cohen/Getty Images

ขณะที่ โทนี บูซาน ผู้มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคการจดจำและวิธีอ่านอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจำนวนหนังสือที่แต่ละคนอ่านตลอดช่วงชีวิตนั้น นั้นมีความสำคัญอย่างมาก

บูซานเคยพัฒนาความสามารถการอ่านของเขาให้เร็วขึ้น โดยการฝึกฝนการอ่านหนังสือเร็วที่บ้าน รวมทั้งค้นคว้าเรื่องลักษณะกายภาพของตา รวมทั้งเรียนรู้วิธีการเพ่งสายตาไปที่ใดที่หนึ่ง รวมทั้งวิธีการอ่านทีเดียวทั้งพารากราฟได้อย่างรวดเร็ว และเขาเชื่อว่าหากมีการออกกำลังเพื่อเพิ่มสมรรถนะทางกายจะสามารถเพิ่มความเร็วในการอ่านของทุกคนได้

"แทนที่จะอ่านหนังสือได้แค่ 1,000 เล่มในช่วงชีวิตของผม ผมก็อาจจะอ่านได้ถึง 2,000 เล่ม และมันสามารถเปลี่ยนชีวิตของผมได้" บูซานกล่าว

คุณภาพหรือปริมาณ ?

คนส่วนมากอ่านหนังสือได้ด้วยความเร็วราว 300 คำต่อนาที นั่นแปลว่าคุณอาจใช้เวลาประมาณ 1 นาทีในการอ่านหนังสือหนึ่งหน้า หรือ 35 ชั่วโมงต่อหนังสือหนึ่งเล่ม

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคนเชื่อว่า จำนวนหนังสือที่คุณอ่านได้ อาจไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของหนังสือเหล่านั้น รวมถึง เจนนี รัสเซลล์ นักวิจารณ์หนังสือและคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทม์ส

"ตลอดชีวิตของฉัน ฉันก็จะสามารถอ่านหนังสือได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น และฉันจะไม่เสียเวลาไปกับหนังสือที่ไม่ดี" รัสเซลล์ กล่าว

สมัยเด็ก รัสเซลล์อ่านหนังสือมากกว่า 20 เล่มในแต่ละสัปดาห์ ปัจจุบันเธออ่านเพียง 3 เล่มต่อเดือน

"สมัยที่เราเป็นเด็ก เรามีความสงสัยอันแรงกล้าเกี่ยวกับชีวิตของผู้อื่น สิ่งที่คนอื่นคิดและรู้สึก สภาพจิตใจของพวกเขา แต่มาถึงตอนนี้ นักเขียนจะต้องมีทักษะและความเข้าใจที่ยอดเยี่ยม เพื่อจะดึงความสนใจของฉันเอาไว้ได้"