งบ 2565 : ส.ส. ก้าวไกลเสนอแผนบูรณาการงบสถาบันกษัตริย์ สกัดพวกแอบอ้าง-ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

RamaX

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการจัดทำแผนบูรณาการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็น "แม่งาน" ในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการหลวงทั้งหมด พร้อมเปิดข้อมูลในช่วง 9 ปี มีการตั้งงบกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อขอทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวยืนยันว่า ข้อเสนอของเธอและพรรคต้นสังกัดไม่ได้เกินเลยไปกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารตามระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เสนอทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำรงอยู่อย่างมั่นคงสถาพร โดยไม่ถูกนำมาใช้แอบอ้างให้เสื่อมเสียพระเกียรติยิ่งขึ้น

ส.ส. หญิงพรรคฝ่ายค้านรายนี้เปิดอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ค่ำวันที่ 1 มิ.ย.

ผ่านมาถึงบ่ายวันที่ 2 มิ.ย. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำกับดูแลกรมชลประทานที่ถูก น.ส. เบญจาพาดพิงเกี่ยวกับโครงการหลวง 2 โครงการ ยังไม่ได้ลุกขึ้นชี้แจงข้อมูล

ขณะที่แกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ที่เคลื่อนไหวนอกสภา เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ อย่างนายอานนท์ นำภา ผู้ได้รับการประกันตัวหมาด ๆ ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "ขอบคุณ ส.ส. เบญจา ที่อภิปรายงบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ขยับเพดานการพูดถึงสถาบันแบบมีวุฒิภาวะ เป็นการทำหน้าที่ผู้แทนได้อย่างสมภาคภูมิ"

น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ก้าวไกลผ่างบปี 65 พบงบสถาบันฯ 3.3 หมื่นล้านบาท

น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อย่างน้อย 33,712 ล้านบาท ไม่รวมงบที่อาจซ่อนอยู่ในรายการอื่น ๆ ซึ่งเธอย้ำว่า "ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นคือแต่ละโครงการควรจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่งบประมาณถูกปรับลด ประชาชนทั้งประเทศต้องอยู่อย่างยากแค้นแสนสาหัส สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว"

งบส่วนราชการในพระองค์ . .  .

ภายใต้วงเงิน 33,712 ล้านบาท ส.ส. หญิงพรรคก้าวไกลจำแนกงบออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 629 ล้านบาท เช่น โครงการ "รวมใจเทิดไท้สถาบันพระมหากษัตริย์" ของกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
  • งบถวายความปลอดภัย 6,938 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งภายใต้ผลผลิตการถวายความปลอดภัยด้านการบินและการบริหารความมั่นคงของรัฐบาล ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  • งบส่วนราชการในพระองค์ 8,761 ล้านบาท
  • งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระปณิธาน หรืองบโครงการหลวงต่าง ๆ 15,203 ล้านบาท
  • งบอื่น ๆ เช่น งบพระราชทานเพลิงศพ งบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2,179 ล้านบาท

เผยกรมชลฯ ใช้ "รายงานเท็จ" ขอผ่านงบโครงการพระราชดำริ

เฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่าง ๆ น.ส. เบญจาตรวจสอบพบว่ามีการตั้งงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการกว่า 50 โครงการ กระจายอยู่ภายใต้ 7 แผนงาน ใน 30 กรม และอีกกว่า 7,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบางโครงการเป็นโครงการที่รัฐบาลได้รับพระราชทานพระราชดำริ หรือมีประชาชนถวายฎีกาขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน อาจต้องมีการศึกษาใหม่หรือไม่ว่าพื้นที่นั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

น.ส. เบญจาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หน่วยงานราชการบางหน่วยพยายามผลักดัน "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" โดยไม่ได้ศึกษาความเปลี่ยนไปของสภาพพื้นที่และสภาพปัญหาให้ถ่องแท้ ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเธออ้างว่า "ไม่ใช่การกล่าวหา แต่มีเอกสารและมีหลักฐานในมือ" จากนั้นได้แจกแจงรายละเอียดบางโครงการ ได้แก่

โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 เสนอให้ตัดงบประมาณ ซึ่งปรากฏว่าเอกสารรายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่กรมชลประทานเร่งจัดทำขึ้นเพื่อผลักดันโครงการ "มีข้อผิดพลาด" เนื่องจากไปคัดลอกเอารายงานของ จ.เพชรบูรณ์ มาเปลี่ยนชื่อเป็น จ.พัทลุง แต่ลืมแก้ไขข้อมูลพื้นฐานสำคัญ อย่างลักษณะทางภูมิศาสตร์และพืชเศรษฐกิจหลัก จนถูกประชาชนคนทั่วไปจับผิดได้

"แม้กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นรายงานฉบับเก่า แต่จะฉบับเก่าหรือฉบับใหม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญคือการจัดทำรายงานที่เป็นเท็จ ซึ่งการเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาใช้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันฯ การแอบอ้างเช่นนี้เป็นการเหมาะสมแล้วหรือไม่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของสถาบันฯ เสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์หรือไม่" น.ส. เบญจากล่าว

โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อปี 2552 อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างภายใต้วงเงิน 9,078 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2553-2561) แต่ผ่านมา 11 ปีก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

น.ส. เบญจากล่าวว่า กรมชลประทานในฐานะหน่วยขอรับงบประมาณได้เลื่อนการขอใช้งบประมาณผูกพันของโครงการนี้มาโดยตลอด ตอนปีงบประมาณ 2563 ก็ชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2564 พอปีงบประมาณ 2564 ก็ชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 มาปัจจุบันก็ระบุว่าจะแล้วเสร็จปี 2566 สรุปแล้วโครงการนี้ติดปัญหาที่ตรงไหน ทำไมถึงไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้

"เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของตัวโครงการ พบว่าโครงการห้วยโสมงเป็นโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้กรมชลประทานนำไปดำเนินการไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2521 หรือเมื่อ 40 กว่าปีก่อนแล้ว จึงเกิดความเป็นกังวลว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ โครงการห้วยโสมงยังตอบโจทย์คนในพื้นที่หรือไม่ ในเมื่อสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของพี่น้องประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว" น.ส. เบญจากล่าว

เสนอ กปร. ตรวจสอบ-ลดความซ้ำซ้อนโครงการหลวง

น.ส. เบญจาจึงกล่าวเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เข้าตรวจสอบโครงการเหล่านี้ หากพบว่าตัวโครงการมีปัญหา ทั้งจากเหตุความไม่โปร่งใส ความล่าช้า หรือจากสภาพความต้องการของพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว กปร. ก็ควรพิจารณาเพิกถอนสถานะโครงการนั้นเสีย เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความต้องการของประชาชนและเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ส.ส. หญิงฝ่ายค้านรายเดิมยังกล่าวด้วยว่า มีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานเจ้าภาพ เช่น กองทัพอากาศขอรับการจัดสรรงบโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กองทัพเรือขอรับงบโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, กองบัญชาการกองทัพไทยของบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ

น.ส. เบญจาจึงเสนอให้มีการตั้ง "แผนบูรณาการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ" เป็นการเฉพาะ โดยให้ กปร. รับเป็น "แม่งาน" ในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อ "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" และ "โครงการหลวง"ทั้งหมด เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน และเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ "ไม่ให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีแอบอ้างนำสถาบันฯ มาใช้เป็นเกราะกำบังอันจะส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ได้"

เผย 9 ปี หน่วยงานใช้งบทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 2 พันล้าน

นอกจากนี้ น.ส. เบญจายังอภิปรายถึง "งบเทิดพระเกียรติ" เช่น งบจัดงานหรือจัดนิทรรศการในวันสำคัญ ๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา ทั้งที่เปิดเผยและกระจายอยู่ตามกรมกองต่าง ๆ แบบเหวี่ยงแห และเป็นเบี้ยหัวแตก 1 ล้านบาทบ้าง 5 ล้านบาทบ้าง ทั้งนี้ในช่วงปี 2554-2563 พบโครงการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติกว่า 7,000 โครงการ กระจายอยู่ใน 3,600 หน่วยงาน ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

คนยืนถวายพระพรหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

ที่มาของภาพ, Getty Images

เธอเสนอให้รวมงบประมาณเหล่านี้เป็นก้อนเดียว แล้วมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม โดยให้นำงบจัดงานให้สมพระเกียรติ โดยอาจเป็นการจัดงานแบบออกร้าน หรือแบบส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทย นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกทางหนึ่ง และสมเหตุสมผลมากกว่าที่แต่ละหน่วยจะนำงบประมาณไปจัดทำซุ้มตั้งตามสี่แยก หรือสะพานลอย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ในช่วงท้าย น.ส. เบญจายังบอกด้วยว่าในปีงบประมาณก่อน ๆ การพิจารณาโครงการที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ในชั้น กมธ. มักถูกละเลย ไม่ได้รับการตรวจสอบจาก กมธ. หลายครั้งถูกปล่อยผ่านโดยไม่ดูรายละเอียด ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาพระเกียรติของพระองค์ งบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ควรเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามปกติ เปิดเผยข้อมูลเหมือนที่หน่วยขอรับงบปกติทำกัน

"ดิฉันขอฝากถึงหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยที่จะเข้ามาชี้แจงงบประมาณในวาระ 2 ว่าขออย่าให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีงบประมาณนี้ หน่วยรับงบอย่างส่วนราชการในพระองค์จะส่งตัวแทนมาร่วมชี้แจงต่อ กมธ. เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ" น.ส. เบญจากล่าว