โควิด-19: ราชทัณฑ์ยืนยัน "ไมค์ ภาณุพงศ์” ติดโควิด คาด "รุ้ง ปนัสยา" ติดเชื้อหลังปล่อยตัว

ภาณุพงษ์ จาดนอก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายภาณุพงษ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำและผู้ปราศรัยของกลุ่ม "ราษฎร" ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในเรือนจำ เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยวันนี้ (13 พ.ค.) ว่ามีสูงถึง 4,887 ราย ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดอีกครั้งนับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดในไทยเมื่อเดือน ม.ค. 2563 เนื่องจากมีการนำจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเรือนจำมารวมด้วย

ศบค. รายงานว่าในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 4,887 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 2,036 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย และเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ 2,835 ราย

ขณะที่นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาของผู้ต้องขังใน "กลุ่มเรือนจำลาดยาว" กรุงเทพฯ ได้แก่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีผู้ต้องขังติดเชื้อ 1,794 ราย และทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย

นอกจากนี้ นพ. วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังยืนยันด้วยว่านายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์" จำเลยในคดี ม.112 ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้รับการตรวจพบว่าติดโควิด-19

การเปิดเผยจำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาของกรมราชทัณฑ์มีขึ้นหลังจากที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาและแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ซึ่งศาลเพิ่งให้ประกันตัวในคดี ม.112 และได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 6 พ.ค. แจ้งผ่านบัญชีทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) ว่าผลการตรวจโควิด-19 เป็นบวก พร้อมกับเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ

เรือนจำกลางคลองเปรม

ที่มาของภาพ, Reuters

"ไมค์ ภาณุพงศ์" ติดโควิด-19

เช้าวันนี้ (13 พ.ค.) นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์" แกนนำกลุ่มราษฎร แจ้งว่านายภาณุพงษ์ติดโควิด-19 ในเรือนจำ

นายภาณุพงศ์ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์จากการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีและถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.

"วันนี้ผมได้ทราบข่าวว่าไมค์ติดโควิดในเรือนจำไม่รู้ว่าสภาพอาการป่วยจะเป็นอย่างไรบ้าง ทีมทนายความจะไปยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวไมค์ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ หากศาลอนุญาตให้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวไมค์ก็คงได้มีโอกาสออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลข้างนอก แต่ถ้าศาลไม่อนุญาตให้ไต่สวนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ไมค์คงต้องกลับไปเผชิญกับชะตากรรมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักซึ่งเราไม่มีทางรู้ชะตากรรมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง" นายนรเศรษฐ์ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว

เขาระบุด้วยว่าครอบครัวและทีมทนายมีความกังวลต่อสุขภาพของนายภาณุพงศ์มากเนื่องจากเขามีโรคประจำตัวคือโรคหอบมานาน 6-7 ปี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนหากติดเชื้อโรคโควิด-19

"ชีวิตและชะตากรรมของไมค์ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในวันนี้" ทนายความระบุ

ต่อมา นพ. วีระกิตติ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้แถลงยืนยันว่านายภาณุพงศ์ติดเชื้อจริง และได้รับการรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีของ น.ส. ปนัสยานั้น นพ.วีระกิตติ์กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจคัดกรองโรคให้ น.ส. ปนัสยาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งขณะนั้นผู้ต้องขังถูกควบคุมในพื้นที่แดนแรกรับ ผลปรากฏว่าไม่มีเชื้อและมีการตรวจคัดกรองในแดนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าเธออาจติดเชื้อหลังจากได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 พ.ค.

Protest leader Panusaya "Rung" Sithijirawattanakul, who has spent eight weeks in detention on charges of insulting the country"s king, shows a three-finger salut as she leaves after she was granted bail at the Central Women"s Correctional Institute in Bangkok, Thailand, May 6, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, 59 วันหลังถูกจับกุมคุมขัง รุ้ง-ปนัสยาได้รับอิสรภาพคืนเมื่อวันที่ 6 พ.ค.

ยกระดับการคัดกรอง-เตรียมระดมฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง

นายอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าหลังจากรู้ผลว่ามีผู้ต้องขังติดโควิด เจ้าหน้าที่ได้ย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการกระจายผู้ป่วยไปยัง รพ.สนามที่ได้จัดตั้งเพิ่มเติม และมีการขยายผลสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อไปยังผู้ต้องขังอยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย 100% และมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในเวลา 7 วันและ 14 วัน ตามมาตรฐานทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

นายอายุตม์กล่าวว่า นอกจากผู้ต้องขังแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดเชื้ออีก 5 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 1 ราย

ด้าน นพ. วีระกิตติ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายถึงเหตุผลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำเป็นจำนวนมากว่าเนื่องจากที่ผ่านมาการคัดกรองยังไม่ครอบคลุมจึงยังไม่ได้จำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อทั้งหมด จนกระทั่งมีรถตรวจรถพระราชทานตรวจโควิด-19 เข้ามาช่วยตรวจเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมาจึงได้ตัวเลขทั้งหมดที่ผ่านมา จึงแจ้งกับศบค. ให้ทราบ

สำหรับส่วนภูมิภาคนั้น ได้สั่งการถึงทัณฑสถานทั่วประเทศว่าหากตรวจพบผู้ต้องขังที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือผู้ติดเชื้อ "สีเขียว" และมีความจำเป็น สามารถดำเนินการจัดตั้ง รพ.สนามในเรือนจำได้โดยขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด

จำเลยคดี 112 ยืนหน้าเรือนจำ

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ซ้าย) และสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดี 112 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ

"สำหรับกลุ่มเรือนจำลาดยาวใช้พื้นที่ภายในเรือนจำกลางคลองเปรมรองรับผู้ต้องขังชาย เป็น รพ.สนาม และอาคารที่เคยเป็นแดนพยาบาลเก่ารองรับ และดำเนินการปิดแดนทุกแดน และปิดแดนบางแดนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในระดับสีเขียว" เขากล่าว

ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้สั่งการไปยังเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ลดการรับผู้ต้องขัง พร้อมกับสั่งงดเยี่ยมญาติ แต่สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ ส่วนการฝากขังหรือการไต่สวนจะใช้ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน

แม้ว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะยอมรับว่า มีข้อจำกัดทางบุคลากรทางแพทย์ แต่ในขณะนี้ ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการมาตรการคัดกรองให้เร็วที่สุดโดยใช้วิธี Swap และ เอ็กซ์เรย์ปอดผู้ต้องขังทุกราย และเมื่อพบจะแยกผู้ต้องขังที่ติดเชื้อออกไปยังโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำที่จัดไว้ พร้อมกับให้ยารักษาโรคไว้ก่อน นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังมีคำสั่งให้ผู้ต้องขังสวมหน้ากากตลอด 24 ชั่วโมง ล้างมือให้สะอาด โดยจะใช้นราธิวาสโมเดลมาเป็นมาตรการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์จะเร่งจัดเตรียมหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เครื่องตรวจหาเชื้อ ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ 5-15 เครื่อง และยาต้านไวรัสสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมกับเสนอเตรียมแผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูง โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง

นพ. วีระกิตติ์กล่าวว่า การระบาดภายในเรือนจำนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่แตกต่างในการระบาดระลอกนี้เป็นที่น่ากังวลใจ เนื่องจากว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ครั้งนี้มีความไวต่อการติดเชื้อค่อนข้างสูง เพราะเมื่อปีที่แล้วกรมราชทัณฑ์ใช้ระบบของการควบคุมกักตัวอย่างเต็มที่และมีการระบาดน้อยมากในปี 2563 มีเพียงไม่ถึง 10 รายทั่วประเทศ ขณะที่ในส่วนกลางถือว่าน้อยมากเพียง 1-2 ราย

สำหรับกรณีที่ น.ส.ปนัสยาตรวจพบว่าติดเชื้อหลังจากออกจากเรือนจำได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ นพ.วีระกิตติ์ชี้แจงว่าทางเรือนจำได้ดำเนินการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 ให้ น.ส. ปนัสยาไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.

"ในขณะนั้นน้องรุ้งถูกควบคุมอยู่ในแดนแรกรับที่มีผู้ต้องขังจำนวน 1,500 คน ได้มีการตรวจปูพรมไปแล้ว ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดที่ติดเชื้อโควิด-19 ในแดนแรกรับ" นพ. วีระกิตติ์กล่าว

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่าวันที่ 8 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจปูพรม 100% ของพื้นที่ทัณฑสถานหญิงกลางรวมทั้งแดนแรกรับใหม่ ซึ่ง น.ส.ปนัสยาได้ถูกควบคุมตัวอยู่จนถึงวันที่ 6 พ.ค. นั้นก็ไม่พบว่ามีผู้ต้องขังรายใดที่ติดเชื้อโควิด-19

ผู้ต้องขังการเมืองที่กลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19

ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค. มีแกนนำและแนวร่วมราษฎรที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 3 ราย โดยมีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

  • 24 เม.ย. กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่านายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน แนวร่วมราษฎร ติดโควิด-19 หลังเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากบริเวณหลังโพรงจมูก (SWAB) ของนายชูเกียรติไปตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ เมื่อ 23 เม.ย. ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นบวก จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาภายใน รพ.ราชทัณฑ์
  • 6 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่านายอานนท์ นำภา แกนนำราษฎร ติดโควิด-19 โดยสันนิษฐานว่าติดเชื้อจากจัสติน จากการกักตัวร่วมกันในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังเข้าใหม่-รับย้าย และออกศาล ซึ่งนายอานนท์เคยได้รับการตรวจหาเชื้อไปแล้วครั้งแรก แต่ผลเป็นลบ ต่อมาได้ตรวจหาเชื้อซ้ำในช่วงระหว่างกักตัวและพบการติดเชื้อ พร้อมกับผู้ต้องขังอีก 1 รายที่เป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ก่อนยืนยันผลบวก 2 ราย จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ทว่าต่อมาญาติได้ขอย้ายตัวนายอานนท์ออกไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์
  • 11 พ.ค. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรื "พอร์ท ไฟเย็น" ผู้ต้องขังคดี 112 ได้ทราบผลตรวจเชื้อโควิดช่วงบ่าย และพบว่าติดเชื้อ ทำให้ถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ พร้อมระบุว่า "ขณะนี้มีรายงานผู้ต้องขังคดีการเมืองติดเชื้อแล้วถึง 7 คน โดยทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีการแถลงภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
  • 12 พ.ค. รุ้ง-ปนัสยา อดีตผู้ต้องขังภายในทัณฑสถานหญิงกลาง แจ้งว่าเธอเป็นผู้ป่วยโควิด-19 โดยได้รับการยืนยันผลบวกเมื่อ 11 พ.ค.
  • 13 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า "ไมค์ ภาณุพงศ์" ติดโควิด-19 เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีก่อนที่ศาลจะอนุมัติให้ย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.

ศบค. เผย 11 เขตในกรุงเทพฯ "ระบาดเข้มข้น"

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. วันที่ 13 พ.ค. มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่ 4,887 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 2,036 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย และเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ 2,835 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 76,811 ราย
  • จำนวนผู้ป่วยสะสมของการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 64,931 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 32,661 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 20,451 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,209 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 406 ราย และยังมีผู้ป่วยอีก 12,210 ราย รักษาอยู่ใน รพ.สนาม
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,069 ราย) สมุทรปราการ (197 ราย) ปทุมธานี (105 ราย) นนทบุรี (78 ราย) และสุราษฎร์ธานี (73 ราย)
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 32 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 17 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 424 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.65%

Nope

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า ตัวเลขผู้ป่วยสะสมที่เพิ่มขึ้นวันนี้นั้น เกิดจากการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีจำนวน 2,835 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลตัวเลขสะสมเป็นกลุ่มก้อน

สำหรับสถานการณ์ของกรุงเทพฯ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่าแนวโน้มการระบาดคงตัว ไม่ลดลงและพบผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น

สำหรับพื้นที่พบการระบาด "เข้มข้น" ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมีทั้งสิ้น 11 เขต คือ ดินแดง วัฒนา ลาดพร้าว พระนคร ราชเทวี สวนหลวง ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย จตุจักร และหลักสี่

จัดเที่ยวบินอพยพคนไทยในอินเดีย

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าววันนี้ (13 พ.ค.) ว่าสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยในอินเดียท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานใกล้ชิดกับกงสุลใหญ่ ณ เมืองเชนไน นครมุมไบ และกัลกัตตา เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีได้จัดสิ่งของยังชีพและเวชภัณฑ์ไปมอบให้ชุมชนคนไทย และในเดือน พ.ค.นี้จะมีเที่ยวบินสำหรับนำคนไทยในอินเดียกลับไทยอีก 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินแรกจะมาถึงในวันที่ 15 พ.ค. มีผู้โดยสารคนไทย 150 คน และหลังจากนั้นจะมีเที่ยวบินวันที่ 22 พ.ค. ออกเดินทางจากกรุงนิวเดลี และเที่ยวบินวันที่ 4 มิ.ย. ออกเดินทางจากเมืองเชนไน ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับลงทะเบียนผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

นายธานียังแจ้งด้วยว่าขณะนี้ทางการไทยได้ระงับการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry-CoE) และการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ (ยกเว้นนักการทูตและชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักถาวรในไทย) ที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศนอกเหนือจากอินเดียที่ระงับไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ ปากีสถาน บังกลาเทศและเนปาล เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย