โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีรับวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยซึ่งมาถึงวันที่ 30 ก.ค.

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีรับวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยซึ่งมาถึงวันที่ 30 ก.ค.
  • Author, ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นับตั้งแต่จีนพบไวรัสมรณะชนิดใหม่เมื่อปลายปี 2562 จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ขณะนี้ทั่วโลกผลิตวัคซีนได้แล้วไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านโดสภายในเวลาอันสั้น แต่การเข้าถึงวัคซีนนั้นยังเป็นปัญหาหลักที่ทำให้การควบคุมเชื้อไวรัสนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก

ผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมั่งคั่งที่ถูกตำหนิว่ากักตุนวัคซีนเกินความจำเป็น ขณะที่ชาติกำลังพัฒนาและประเทศยากจนยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรต่ำมาก พร้อมกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ๆ

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ชาติร่ำรวยแบ่งปันวัคซีนให้ประเทศที่ยากจน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือที่เรียกว่า จี 7 ได้ประกาศเมื่อกลางเดือน มิ.ย. ในอังกฤษว่าจะร่วมกันบริจาควัคซีนโควิดให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 1,000 ล้านโดส โดยส่วนใหญ่จะผ่านทางโครงการโคแวกซ์ (Covax) หลังจากที่จีนซึ่งไม่ได้อยู่ในสโมสรเศรษฐีนี้บริจาควัคซีนไปแล้ว 23 ล้านโดสทั่วโลก

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในปัจจุบัน โดยในช่วงต้นปีนี้เขาบอกว่า มีการให้วัคซีนกว่า 39 ล้านโดสแล้วในประเทศที่ร่ำรวยอย่างน้อย 49 ประเทศ แต่ประเทศที่ยากจนกว่ามีการให้วัคซีนไปแค่ 25 ล้านโดส

การช่วงชิงตำแหน่ง "ผู้ให้" ของชาติร่ำรวย ผ่าน "การทูตวัคซีน" เพื่อการขยาย "พลังอ่อน" (soft power) ของโลกเสรี มาพร้อมกับคำถามว่าใครจะได้รับประโยชน์มากกว่ากันระหว่างผู้ให้หรือผู้รับ

ไบเดน

ที่มาของภาพ, Getty Images

สหรัฐฯ ยอมรับขยับช้ากว่าจีน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. วัคซีนไฟเซอร์ที่บริจาคโดยรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวน 1,503,450 โดส ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยในช่วงแรกทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะบริจาควัคซีนให้ประเทศไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.5 ล้านโดส แต่พอเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยมีความรุนแรง วุฒิสมาชิก แทมมี ดักเวิร์ธ จึงเห็นว่าสหรัฐฯ ควรบริจาควัคซีนเพิ่มให้อีก 1 ล้านโดส

หลังจากที่จีนได้เริ่มทำการทูตวัคซีนผ่านการบริจาควัคซีนซิโนแวคไปทั่วโลกนำหน้าสหรัฐฯ ไปก่อนหน้านี้ หลาย ๆ คนมีคำถามว่าสหรัฐฯ มีความล่าช้าในการเล่นเกมการทูตวัคซีนนี้ไปหรือไม่ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เน้นการทูตวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก

นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ตอบกับสื่อมวลชนในช่วงการแถลงข่าวออนไลน์เรื่องการบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ว่าเหตุที่บริจาคได้ล่าช้าเพราะสหรัฐฯ เองก็เพิ่งผ่านวิกฤตทางด้านสาธารณสุขมาด้วยเช่นกัน

"ในเรื่องของการบริจาควัคซีน เราก็หวังว่าเราจะสามารถบริจาคได้เร็วกว่านี้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าทางสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเราได้เสียประชากรไปกว่าครึ่งล้านคน" นายฮีธกล่าว

"นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราจำเป็นที่จะต้องพยายามฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศของเราให้มากที่สุด เพราะเศรษฐกิจเราที่มีความสำคัญที่สุดของโลกฟื้นคืนกลับมาได้เร็วที่สุด เศรษฐกิจทั่วโลกยังต้องพึ่งเศรษฐกิจของเรา เราจึงจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจของเราโดยการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของเรา"

นายฮีธกล่าวเสริมว่าสหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะเป็น "โรงงานผลิตวัคซีนของโลก" โดยได้ร่วมมือกันกับหุ้นส่วนทั่วโลก เพื่อผลักดันให้เกิดเครือข่ายการผลิตวัคซีนขึ้นโดยเร็ว

ส่วนกรณีที่เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ของไทยแสดงความกังวลเรื่องความโปร่งใสในการกระจายวัคซีนล็อตบริจาคว่าอาจไม่ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนกระตุ้น และได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายฮีธเมื่อวันที่ 27 ก.ค. นั้น อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่ต้องดูแลจัดสรรเรื่องนี้เอง

"เช่นเดียวกับกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สหรัฐฯ บริจาค (วัคซีน) ให้ไทยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่ต้องดูแลจัดสรร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยบอกว่าจะให้ความสำคัญกับคนไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานในด่านหน้าที่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับโควิด-19 ในทุกวัน รวมทั้งผู้สูงวัยเพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด" นายฮีธกล่าว

"ทางสหรัฐฯ ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ในการเข้าไปควบคุมหรือจัดการ (วัคซีน) ของรัฐบาลไทย ประชาชนต้องติดตามให้มั่นใจว่า (การกระจายวัคซีน) เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่จัดไว้ เราอยากจะเห็นการลงทะเบียนและจัดสรรวัคซีนที่มีความยุติธรรม มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน เราไม่ได้เน้นว่าวัคซีนจะไปถึงใครเป็นพิเศษแต่อยากให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน" รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุ

วัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ บริจาคให้ไทย

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ, วัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยมาถึงเมื่อวันที่ 30 ก.ค.

"อเมริกากลับมาแล้ว"

ก่อนการประชุมกลุ่มจี 7 เว็บไซต์ของทำเนียบขาวเผยแพร่ประกาศของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงวันที่ 3 มิ.ย. ว่าจะบริจาควัคซีนให้หลายประเทศทั่วโลกจำนวน 80 ล้านโดส โดย 25 ล้านโดสแรกจะบริจาคให้ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือและใต้ และทวีปเอเชียซึ่งประเทศไทยติดอยู่ในรายชื่อผู้รับบริจาคด้วย

ทั้งนี้ วัคซีนที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทยเป็นวัคซีนของ บ.ไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส มาถึงไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค.

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ บอกกับบีบีซีไทยว่าท่าทีการแสดงตนเป็นผู้ให้ของสหรัฐฯ ออกมาเพื่อตอกย้ำคำกล่าวที่ไบเดนเคยพูดเอาไว้ว่า "America is back" หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อน นำสหรัฐฯออกจากเวทีโลกมาหลายปี

"พอเรามองการเมืองระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่าตัวแสดงที่สำคัญ ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงโควิดคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและก็จีน เราก็จะเห็นว่าสองประเทศนี้มีความขัดแย้งกันมาตลอด" ดร.ประพีร์อธิบาย

"พอมาถึงปีที่แล้วที่โควิด-19 แพร่ระบาด โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีแนวทางที่ชัดเจนเลยว่าจีนคือศัตรู พอมาถึงยุคของไบเดน ก็ยังมองจีนว่าเป็นศัตรูอยู่"

หลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี นายโจ ไบเดน เร่งแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ อย่างจริงจัง ระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนจนมีอัตราส่วนต่อประชากรสูงเป็นอันดับต้นของโลก พร้อมกับการกลับมาทวงคืนบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การกลับเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) และการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อน

โคแว็กซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

น้ำใจจากประเทศมั่งคั่ง

หลังประกาศบริจาค 80 ล้านโดสไปแล้ว ไม่กี่วันต่อมา นายไบเดนได้ประกาศที่การประชุม จี 7 ในสหราชอาณาจักรว่าสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีน 500 ล้านโดสให้ประเทศยากจนและฐานะปานกลางแบบไม่มีเงื่อนไขโดยแบ่งเป็น 200 ล้านโดสภายในปีนี้และอีก 300 ล้านโดสภายในไม่เกินกลางปีหน้า

หลังจากนั้นประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกจี 7 ต่างก็ประกาศความร่วมมือระดับโลกนี้ผ่านการบริจาควัคซีนในโครงการโคแว็กซ์และการแบ่งปันผ่านทวิภาคี

  • นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศในวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย. ว่าจะบริจาควัคซีนส่วนเกิน 100 ร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกภายในปีหน้า โดยจะเริ่มบริจาคระยะแรก 5 ล้านโดส ภายในเดือน ก.ย. นี้
  • นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานกรรมาธิการยุโรป (EU) กล่าวว่าสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดสให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาของฝรั่งเศสและเยอรมนีที่จะบริจาคประเทศละ 30 ล้านโดส โดยอิตาลีจะบริจาค 15 ล้านโดส
  • ฝรั่งเศสประกาศว่าได้บริจาควัคซีนของแอสตร้าเซเนกา 184,000 โดสให้กับเซเนกัลผ่านโครงการโคแว็กซ์
  • สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 20 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศ โดยตั้งเป้าจะกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก
  • นายโทชิมิทสึ โมเทกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงเมื่อ 15 มิ.ย. ว่าญี่ปุ่นจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้าให้กับ 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) และวัคซีน 30 ล้านโดสให้แก่โครงการโคแวกซ์

สหรัฐฯช่วยอะไรไทยบ้าง

เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ เผยแพรสรุปความช่วยเหลือด้านโควิด-19 ต่อประเทศไทย จนถึง 4 มิ.ย. มี ดังนี้

  • รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศกรอบความร่วมมือเพื่อแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ในแผนการส่งมอบวัคซีน 25 ล้านโดสแรก จะมีวัคซีนจำนวน 7 ล้านโดสที่มอบให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะมอบให้กับโครงการ COVAX
  • รัฐบาลสหรัฐฯ มอบความช่วยเหลือให้ไทยเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 30 ล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน
  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (U.S. CDC) ได้มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 13 ล้านเหรียญ โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย
US Embassy Bangkok

ที่มาของภาพ, US Embassy Bangkok

"สงครามเย็นภาค 2"

ดร.ประพีร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาศึกษาบอกว่า การทูตวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของโลก การแพร่กระจายพลังอ่อนผ่านการบริจาค การให้ทุนการศึกษา การให้กู้เงิน หรือผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์หรือบทเพลงเป็นสิ่งที่มีให้เห็นมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้

"มันเป็นเหมือนภาคต่อมาจากสงครามเย็นภาค 2 เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากสงครามมาเป็นการสู้กันว่าใครเข้าถึงวัคซีน และคิดค้นวัคซีนได้มากกว่ากัน" ดร.ประพีร์กล่าว

เมื่อจีนคิดค้นวัคซีนได้ก่อนและเริ่มบริจาคและขายไปทั่วโลกก่อนประเทศอื่น ก็ทำให้คนหลายคนลืมไปว่าจีนเป็นต้นตอของการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพราะจีนรีบแก้ภาพลักษณ์ได้เร็วผ่านการบริจาคทั้งเครื่องมือการแพทย์และวัคซีน ทำให้ภาพความเป็นผู้ให้มากลบภาพผู้ร้ายไปได้

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตั้งแต่ตอนที่ไบเดนไปประชุมจี 7 ก็กล่าวขึ้นมาว่าต้องการให้มีการสืบสวนใหม่ว่าที่แท้แล้วต้นตอของโควิดมันมาจากไหนกันแน่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าไม่ธรรมดาแล้วเกมนี้" ดร.ประพีร์อธิบาย

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล

ที่มาของภาพ, ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อธิบายว่าการทูตวัคซีนเป็นการแพร่กระจายพลังอ่อนผ่านการบริจาค

การบริจาคของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่อยู่ในกลุ่มจี 7 และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่บริจาคทั้งวัคซีนและเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นก็หันมาเล่นบทผู้ให้ในเกมการทูตวัคซีนเช่นกัน

ดร.ประพีร์บอกกับบีบีซีไทยว่าก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีเทคโนโลยีอันก้าวหน้าและทันสมัย อีกทั้งมีสภาพทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งกว่าประเทศอื่นในแถบเดียวกัน

"ตอนนี้พอจีนขึ้นมาปุ๊บ กลายเป็นว่าญี่ปุ่นเหลือนิดเดียวเอง การเติบโตขึ้นมาของจีนมันทำใหประเทศต่าง ๆ และภูมิภาคกลังวล" ดร.ประพีร์กล่าว "ประเทศไทยเราใกล้อเมริกามาก่อน เป็นเพื่อนกันมาก่อน จีนก็เป็นเพื่อนเรา แต่การที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจขึ้นมาแบบนี้ทำให้หลายคนอึดอัด"

ผู้นำกลุ่มจี 7 กำลังหารือกันในเมืองคอร์นวอลล์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, ผู้นำกลุ่มจี 7 ซึ่งกำลังหารือกันในเมืองคอร์นวอลล์ ของอังกฤษ ได้พยายามหาจุดยืนที่มีต่อจีนร่วมกัน

เล่นบทเดียวกันแต่ภาพลักษณ์ไม่เหมือนกัน

จีนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผู้ที่ผลิตวัคซีนออกมาได้ก่อน และเริ่มบริจาคไปยังประเทศต่าง ๆ เป็นผู้เริ่มเปลี่ยนฐานะมาเป็นผู้ให้ของโลกก่อนใคร ในขณะเดียวกันที่สหรัฐฯ ที่ผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพสูงกว่าเพิ่งเริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ให้ได้ไม่นานนี้

ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้กำลังใช้วัคซีนเพื่อการทูตเหมือนกัน แต่ด้วยความที่จีนช่วงชิงตำแหน่งได้เร็วกว่า ทำให้คนมองจีนในแง่ดี ในขณะที่สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นผู้กักตุนวัคซีน

ดร.ประพีร์ให้ความเห็นว่าจีนมีภาพของความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์มาก่อน โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าคนสมัยก่อน ๆ จะมองประเทศคอมมิวนิสต์ว่าน่ากลัว ซึ่งมีผลทำให้ไม่ค่อยมีคนเชื่อถือจีนมากเท่าไหร่ และยังมองจีนว่าหวังผลประโยชน์จากผู้อื่นหากคบค้าสมาคมด้วย

"คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่านอกจากจีนจะต้องการผลประโยชน์อะไรแล้วจีนกำลังขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่อเมริกาให้ได้ การที่มันขึ้นมารวดเร็วแบบนี้ทำให้คนหวาดระแวง" ดร.ประพีร์กล่าว

"ถ้าจีนเข้ามาเล่นบทบาทแทนอเมริกาได้ มันจะยิ่งส่งให้ความเป็นประเทศมหาอำนาจของจีนเลื่อนสถานะสูงขึ้นไปได้ เพราะว่าตรงนี้มันเป็น soft power มันทำให้ประเทศที่ตัวเองเข้าถึงใจคนได้"

จีนบริจาควัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, จีนบริจาควัคซีนซิโนฟาร์มให้ซีเรียเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
กราฟิก