แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน

ป้ายอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มีมติเสียงส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนให้ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ประจำปี 2564 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 -31 ก.ค. 2564 โดยในวันนี้ (26 ก.ค.) คณะกรรมการได้พิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน ของไทยได้รับการบรรจุเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ข่าวครั้งนี้มีขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค. คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้เรียกร้องยูเนสโกไม่ให้ขึ้นสถานะมรดกโลกให้แก่ผืนป่าแห่งนี้ จากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงทันทีที่ทราบผล แสดงความยินดีต่อข่าวนี้ โดยกล่าวว่า กว่า 6 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2558, พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 นี้

นายวราวุธ ระบุว่า เป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก

กลุ่มป่าแก่งกระจาน ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

โดยกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่กว่า 200 กิโลเมตร

Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ค้านขึ้นทะเบียน "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" เป็นมรดกโลก

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ภาคีเซฟบางกลอยจัดกิจกรรมด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนให้ได้ก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็น "มรดกโลก" ทางธรรมชาติ หรือไม่ก็ชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป

กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนประกาศยุติในเวลา 11.15 น. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนประกาศยุติในเวลา 11.15 น. ที่ผ่านมา

กิจกรรมดังกล่าวใช้ชื่อว่า "มรดกโลก มรดกเลือด" เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ของสิทธิชุมชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้ว่าจะต่อสู้มาแล้วกว่า 25 ปี การจัดกิจกรรมนี้เกิดขึ้นระหว่างที่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 16 -31 ก.ค. ที่ประเทศจีน

ภาพ "ปู่คออี้" ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้เป็นหลายชายที่ถูกบังคับสูญหายจากการต่อสู้เพื่อสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ภาพ "ปู่คออี้" ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้เป็นหลายชายที่ถูกบังคับสูญหายจากการต่อสู้เพื่อสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกคำเตือนส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวเนื่องจากมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าว ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมรดกโลกได้ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานไปแล้ว 2 ครั้งในปี 2559 และ 2562

ก่อนที่่จะมาถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

การดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและการบังคับย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่กลับขึ้นไปทำกินยังถิ่นฐานเดิม ตาม "ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร" ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลับไม่มีผลข้างเคียงต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติไทยของแก่งกระจาน

หมู่บ้านบางกลอย

ที่มาของภาพ, Facebook/มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ยุทธการเอาคนออกจากป่าต้นน้ำของอุทยานฯ แก่งกระจานเริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในมหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่ "ป่าใจแผ่นดิน-บ้านบางกลอย" คือการเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554

ต้นเดือน มี.ค. ความขัดแย้งได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่ออุทยานฯ แก่งกระจานได้แจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าและสนธิกำลังจับกุมชาวบ้าน 22 คน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. และบังคับโยกย้ายชาวบ้าน 85 คน ลงมาจากบ้านบางกลอยบน

ขณะที่ทางอุทยานฯ เดินหน้าเอาคนออกจากป่าต้นน้ำ แก่งกระจานก็อยู่ในกระบวนการยื่นเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งการพิจารณาครั้งล่าสุดเมื่อปี ก.ค. 2562 ที่ยูเนสโก มีมติไม่รับรองให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และให้สถานะ "ส่งเรื่องกลับ" (Referral)

"แก้ไขข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก" เป็น 1 ใน 3 ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก

เมื่อเดือนก.ย. 2019 พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร​ รองอธิบดีดีเอสไออธิบายแผนผังจำลองวัตถุพยานคาดว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ บริเวณสะพานแขวนแก่งกระจาน และเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงการหายตัวไปของบิลลี่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เมื่อเดือนก.ย. 2019 พ.ต.ท. กรวัชร์ ปานประภากร​ รองอธิบดีดีเอสไออธิบายแผนผังจำลองวัตถุพยานคาดว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ บริเวณสะพานแขวนแก่งกระจาน และเป็นหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงการหายตัวไปของบิลลี่

ข้อเสนออีก 2 ข้อจากยูเนสโก คือ ให้ปรับปรุงแนวขอบเขตที่อาจกระทบเส้นเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมา และให้จัดทำเอกสารศึกษาเปรียบเทียบในเชิงคุณค่าเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี ในการเสนอเอกสารเพิ่มเติม

คำแนะนำของยูเนสโกที่ให้ทางการไทยดำเนินการแก้ไขข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เป็นจุดอ่อนไหวในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้กลับมามีนัยสำคัญต่อผืนป่าแก่งกระจานอีกครั้ง ท่ามกลางการบังคับโยกย้ายชาวกะเหรี่ยงระลอกใหม่และการจับกุมชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดชาวบ้านบางกลอยได้ส่งจดหมายร้องเรียนถึงองค์การยูเนสโก ซึ่งยูเนสโกได้ตอบจดหมายข้อร้องเรียนจากชาวบ้านบางกลอยแล้ว

ลำดับเหตุการณ์บางกลอย-ใจแผ่นดิน

2539 มีการอพยพย้ายชาวบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอย ลงมาครั้งแรก และไปเจรจากับชาวบ้านที่อยู่บริเวณใจแผ่นดิน เพื่อบอกให้ชาวบ้านย้ายลงมาทั้งหมด 57 ครอบครัว อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ย้ายลงมา บางส่วนลงมาแล้วขึ้นไป

2554 ในยุคที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือ ไชยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ผลักดันชาวบ้านบริเวณใจแผ่นดินลงมาอีกครั้ง เนื่องจากภายหลังที่ชาวบ้านถูกย้ายลงมาครั้งแรก พวกเขาไม่มีที่ทำกินอย่างเพียงพอ

การย้ายชาวบ้านที่นำโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ถูกมองว่าเป็น "สายเหยี่ยว" เกิดขึ้นภายใต้ปฏิบัติการที่ชื่อว่า "ยุทธการตะนาวศรี" เกิดกรณีการเผาบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยง 98 หลัง ทำให้กลายเป็นปฏิบัติการของรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มชาติพันธุ์

2560-2561 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ยกที่ดินเพิ่มเติมให้ชาวบ้านบางส่วน ระหว่างนั้นรัฐได้นำโครงการหมู่บ้านปิดทองหลังพระ ขึ้นไปด้านบน

2561 ศาลปกครองสูงสุด สั่งชดใช้สินไหมให้ ปู่คออี้ และชาวบ้านบางกลอย ที่ถูกเผาบ้านเรือน และชี้ว่าการกระทำของอุทยานฯ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ม.ค.2564 ชาวบ้านบางกลอยบน ทั้งหมด 37 ครอบครัว กลับขึ้นไปทำกินถิ่นฐานเดิม

มี.ค. 2564 แจ้งข้อหาดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยง 30 คนข้อหาบุกรุกป่า